ศรีสุวรรณร้องกกต.สอบ 16 ส.ส.ถือหุ้นสื่อฯ ยื่น ป.ป.ช. สอบจริยธรรม กก.สรรหา สว.

ศรีสุวรรณเดินสายร้อง ขอกกต. สอบ 15 ส.ส.พลังประชารัฐ 1 ส.ส.ชาติพัฒนา ถือหุ้นสื่อ จี้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีจดทะเบียนครอบคลุมธุรกิจสื่อฯ แต่ไม่ได้ทำสื่อฯ ผิดหรือไม่ หวังสร้างบรรทัดฐาน พร้อมยื่น ป.ป.ช. สอบกรณีกรรมการสรรหา ส.ว. ได้เป็น ส.ว. เอง ผิดมาตรฐานจริยธรรม

14 มิ.ย. 2562 เวลา 10.00 น. ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบกรณี ส.ส. 16 คน ประกอบด้วย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 15 คน และ พรรคชาติพัฒนา 1 คน มีรายชื่อเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน อาจถือได้ว่าเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยตนไม่จำเป็นต้องนำหลักฐานอื่นมายื่นแสดงต่อกกต. เพราะดูตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัทและหนังสือบริคณห์สนธิ ประกอบกิจการซึ่งครอบคลุมถึงกิจการหนังสือพิมพ์ เนื่องจากประเทศไทยใช้กฎหมายสารบัญญัติ กฎหมายเขียนไว้อย่างไรต้องดำเนินการไปตามนั้น ไม่ต้องตีความหรือไม่ต้องคำนึงถึงจารีตประเพณี

นอกจากนี้ศาลฎีกาได้มีคำตัดสินในบางคดีไปแล้ว อย่างไรก็ตามยอมรับว่ากรณี ส.ส.ทั้ง 16 คน แตกต่างจากกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถือครองหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ที่ประกอบกิจการ วารสาร หรือนิตยสารจริง ขณะที่ ส.ส. รายอื่นเท่าที่มีข้อมูลบางบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ เพียงแต่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาข้อยุติโดยการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเพื่อเป็นบรรทัดฐาน

“ผมก็คาดหวังให้ กกต.พิจารณาโดยเร็ว ว่าลักษณะการถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนเป็นลักษณะต้องห้ามที่ต้องถูกปลด หรือถูกเพิกถอนจากการเป็น ส.ส.หรือไม่ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ว่า กกต.จะเลือกที่รักมักที่ชังหรือไม่ สำหรับรายชื่อส.ส.ที่ยื่นร้องให้ กกต.ตรวจสอบ จะซ้ำหรือตรงกับคำร้องของพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ก็อาจจะมีที่ซ้ำกันบ้าง การที่มี ส.ส.เข้าไปปฏิบัติหน้าที่แล้วมีลักษณะต้องห้าม หรือผิดกฎหมายจะปล่อยให้ทำหน้าที่ในสภาฯ คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ผมจึงต้องรีบมายื่นเรื่องให้ กกต.เร่งตรวจสอบ” ศรีสุวรรณกล่าว 

สำหรับส.ส. 16 รายชื่อ ที่ศรีสุวรรณ ยื่นร้องให้ กกต.ตรวจสอบ มีพรรคพลังประชารัฐ 15 คน คือ 1.น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี เขต 3 2.น.ส.กุลวดี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 3.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ เขต 6 4.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 5.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส. นครปฐม เขต 4

6.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม.เขต 8 7.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 12 8.น.ส.ภริม พลูเจริญ ส.ส. สมุทรปราการ เขต 3 9.นายวีระกร คำประกอบ ส.ส. นครสวรรค์ เขต 2 10.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร เขต 2

11.นายศาสตรา ศรีปาน ส.ส. สงขลา เขต 1 12.นายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส. กาญจนบุรี เขต 2 13.นายสัมพันธ์ มะยูโต๊ะ ส.ส. นราธิวาส เขต 2 14.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส. พิษณุโลก เขต 3 15.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 18 และ พรรคชาติพัฒนา 1 คน คือ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1

ศรีสุวรรณยังเปิดเผยด้วยว่า จะไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ บ่ายวันนี้ (14 มิ.ย.) เพื่อให้ไต่สวนสอบสวนเอาผิดคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เพราะรับไม่ได้กับรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ทั้ง 10 คน และคิดว่า สังคมก็รับไม่ได้เช่นกัน 

“เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ชัดเจน ไม่ควรมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่คนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหาส่วนใหญ่มีตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรี ที่ยังเป็นสมาชิก คสช.อยู่ แต่กลับมีการมาดำเนินการคัดเลือกตัวเองให้ไปเป็น ส.ว. นอกจากจะขัดรัฐธรรมนูญเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ขัดต่อประมวลจริยธรรม ตามมาตรฐานจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดค่อนข้างจะร้ายแรง” ศรีสุวรรณ กล่าว

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า จากการกระทำของคณะกรรมการสรรหาเข้าข่ายผิดมาตรฐานจริยธรรมข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่

“เรื่องจริยธรรมเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะต้องเสนอศาลฎีกาให้วินิจฉัย และลงโทษตามกฎหมายต่อไป ดังนั้น จะปล่อยให้เรื่องนี้หายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่งไม่ได้ และเรื่องนี้ควรจะเป็นบรรทัดฐานของสังคม เพื่อไม่ให้คนพวกนี้ย่ามใจ และไม่สนใจกระแสของสังคมจนมีการใช้อำนาจอย่างนี้อีก” ศรีสุวรรณ กล่าว

ศรีสุวรรณ ยังกล่าวว่า การที่วิษณุออกมาพูดว่า กลัวว่าหากเปิดเผยรายชื่อตั้งแต่แรก อาจจะทำให้เกิดการวิ่งเต้น และเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องรู้นั้น คิดว่าวิษณุอาจจะเข้าใจผิด หรืออ่านกฎหมายไม่ครบ เพราะการประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ตามคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 มีความจำเป็น เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 269 อนุมาตรา 1 เขียน ไว้ชัดเจน ว่า คสช.ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ ความสามารถ และมีความเป็นกลางทางการเมือง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า คนที่ คสช.แต่งตั้งจะมีความทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ และมีความเป็นกลางทางการเมือง ประชาชนก็ต้องมาช่วยกันดู 

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้อำนวยการฝ่ายอารักษ์ ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการทำประกาศ คสช.ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่การที่ไม่ดำเนินการไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะวัตถุประสงค์ของการนำเอกสารราชการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มี 3 ประการ คือ 1.เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดว่าต้องประกาศ 2.เป็นเรื่องที่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารกำหนดว่าจะต้องประกาศ และ 3.เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ประชาชนควรจะทราบ แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดก็ต้องนำไปประกาศ

“ผมจะไปร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้อำนวยการฝ่ายอารักษ์ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป และหลังจากยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. หากผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ป.ป.ช. ยังไม่ดำเนินการ ผมก็สามารถใช้สิทธิในการไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้อีก” ศรีสุวรรณ กล่าว

 

ที่มาจาก: สำนักข่าวไทย1,

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท