ดูฮ่องกงผ่านประวัติศาสตร์การประท้วง กับวัฒนธรรมที่จะไม่ทนถูกลิดรอนเสรีภาพ

ในช่วงที่มีการประท้วงใหญ่ของผู้คนนับล้านในฮ่องกง เดอะการ์เดียนนำเสนอรายงานระบุถึงประวัติศาสตร์ของฮ่องกงที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาด้วยการประท้วงจำนวนมาก เริ่มจากประเด็นเล็กๆ อย่างการขึ้นค่าตั๋วเรือไปจนถึงเรื่องการเมืองที่ไม่ยอมให้จีนแผ่นดินใหญ่ใช้อำนาจลิดรอนเสรีภาพ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ชาวฮ่องกงกังวลว่ากฎหมายฉบับใหม่จะมาทำลายสิทธิในการแสดงความไม่พอใจของพวกเขา

ผู้ชุมนุมต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ที่ย่านแอดมิรัลตี ใกล้กับรัฐสภาและที่ทำการของรัฐบาลฮ่องกง เมื่อ 12 มิ.ย. 62 (ที่มา:Facebook/HKFP)

15 มิ.ย. 2562 ในฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของจีนตามแนวคิดหนึ่งประเทศ สองระบอบ ประชาชนมีเสรีภาพแทบทุกด้านยกเว้นอยู่อย่างเดียวคือสิทธิในการเลือกผู้นำของตัวเอง คริส แพตเทน ผู้ว่าการฮ่องกงที่มาจากอังกฤษคนสุดท้ายเคยพูดถึงฮ่องกงไว้ว่าเป็นสถานที่ๆ "มีเสรีภาพแต่ไม่มีประชาธิปไตย"

สื่อเดอะการ์เดียนระบุว่าการที่ฮ่องกงมี "เสรีภาพแต่ไม่มีประชาธิปไตย" ทำให้การประท้วงกลายเป็นทั้งเครื่องมือทางการเมืองและสิ่งที่ทำให้ชาวฮ่องกงแสดงออกอัตลักษณ์ของตัวเองออกมาได้ จากการที่ชาวฮ่องกงมีการเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อแสดงการต่อต้านอำนาจมาตลอดมากกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าอำนาจนั้นจะเป็นอำนาจอดีตเจ้าอาณานิคมอังกฤษ หรืออำนาจจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อต้านทานไม่ให้เข้ามาแทรกแซงการบริหารเมืองฮ่องกงของพวกเขา

และการประท้วงล่าสุดคือการประท้วงใหญ่ต่อต้านกฎหมายการส่งตัวนักโทษข้ามแดนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ กฎหมายใหม่ทำให้พวกเขากังวลว่าจะทำให้มีการส่งตัวนักโทษข้ามแดนให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ได้ง่ายขึ้น เจสัน ฟง อายุ 19 ปี ที่เข้าร่วมประท้วงกับเพื่อนรักเรียนไฮสคูลของเขากล่าวว่าพวกเขาจะสูญเสียสิทธิการชุมนุมประท้วงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมในฮ่องกงถ้าหากกฎหมายนี้ผ่าน

แอนโทนี ดาปิรัน ผู้เขียนหนังสือชื่อ "เมืองแห่งการประท้วง" (City of Protest) ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การต่อต้านขัดขืนในฮ่องกงระบุว่า การประท้วงใหญ่ๆ ในฮ่องกงเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 2509-2510 ที่ประชาชนออกมาชุมนุมบนท้องถนนเพื่อประท้วงเรื่องแผนการขึ้นราคาตั๋วเรือเฟอร์รีระหว่างเกาะฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่การชุมนุมในครั้งนั้นที่ถูกเรียกว่า "การจลาจลสตาร์เฟอร์รี" ก็นำไปสู่การประท้วงในเรื่องอื่นๆ เช่น การประท้วงประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานและเรื่องสภาพความเป็นอยู่

ในช่วงปี 2510 การประท้วงทวีกลายเป็นความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่าย ตำรวจใช้วิธีการควบคุมฝูงชนแบบรุนแรงและฝ่ายผู้ประท้วงก็เริ่มใช้ระเบิดทำมือ มีผู้คนหลายสิบรายถูกสังหาร นับเป็นการนองเลือดครั้งเลวร้ายที่สุดของฮ่องกง การประท้วงในครั้งนั้นก็ส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อชีวิตทั่วไปของผู้อาศัยในฮ่องกง

ดาปิรันระบุว่าการประท้วงในครั้งนั้นทำให้เจ้าอาณานิคมเริ่มเล็งเห็นว่าพวกเขาต้องคำนึงถึงสวัสดิการของคนในฮ่องกงมากขึ้น ทำให้มีการปฏิรูปในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเคหะ การศึกษาภาคบังคับ และสิทธิแรงงาน

ต่อมาในยุค 2513-2523 ก็มีการประท้วงต่อต้านการทุจริตของหัวหน้าตำรวจกรณีสินบน ในช่วงปี 2532 ที่รัฐบาลจีนปราบปรามผู้ประท้วงจัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างโหดเหี้ยมยิ่งทำให้สิทธิการประท้วงในฮ่องกงมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม ฮ่องกงกลายเป็นแหล่งที่ผู้คนจำนวนมหาศาลชุมนุมรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินทุกปีโดยเฉพาะในช่วงครบรอบ 30 ปี ที่ผ่านมาไม่นาน ดาปิรันระบุว่าการชุมนุมเรื่องเทียนอันเหมินในฮ่องกงกลายเป็นการรำลึกและแสดงการเป็นประจักษ์พยาน รวมถึงเป็นการแสดงออกถึงตัวตนความเป็นฮ่องกงให้เห็นว่าชาวฮ่องกงแตกต่างออกไปและจะใช้สิทธิการชุมนุมของตัวเอง

หลังจากที่มีการให้ฮ่องกงกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของจีนในปี 2540 ทางการจีนก็สัญญาว่าจะให้มีการปกครองตนเองแบบ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" การประท้วงในฮ่องกงก็เริ่มเน้นมากขึ้นในเรื่องการปกป้องสิทธิและเสรีภาพชาวฮ่องกง นอกจากนี้การประท้วงยังเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นพื้นที่แสดงออกถึงความไม่พอใจทางการเมืองในระบบที่พวกเขาไม่มีสิทธิเลือกผู้ว่าการเขตปกครองของตนเอง

ที่ผ่านมาการประท้วงที่ได้ผลมากที่สุดหลังถูกส่งมอบให้จีนเห็นจะเป็นการประท้วงต่อต้านกฎหมายมาตรา 23 ในปี 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายอ้างเรื่องการสั่งห้ามการก่อกบฏ การแยกตัวเป็นอิสระ การปลุกระดม และการล้มล้าง นักการเมืองฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและประชาชนในยุคนั้นเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวจะทำลายสิทธิและเสรีภาพของพวกเขา ทำให้มีประชาชนมากกว่าครึ่งล้านออกมาเดินขบวนเพื่อต่อต้านมัน ทำให้ทางการต้องระงับกฎหมายนี้อย่างไม่มีกำหนด อีกทั้งยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผู้นำฮ่องกงในยุคนั้นด้วย

ในปี 2555 ผู้ประท้วงในฮ่องกงก็ประสบความสำเร็จในการบีบให้รัฐบาลกลับลำในแผนหลักสูตรการเรียนการสอนภาคบังคับที่ถูกฝ่ายต่อต้านวิจารณ์ว่าเป็นการล้างสมอง ในการประท้วงนี้เองที่กลายเป็นเบ้าหลอมนักเรียน-นักกิจกรรมอย่างโจชัว หว่อง ที่ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ ในขณะเดียวกันการประท้วงครั้งนั้นก็อาจจะกลายเป็นการส่งสัญญาณให้ทางการจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มไหวตัวด้วย ในยุคสมัยภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงนั้น เขาใช้อำนาจควบคุมสังคมจีนอย่างเข้มงวด ทั้งการปราบปรามนักกิจกรรม และปล่อยให้มีการคุมขังสอดแนมชาวซินเจียงซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก นอกจากนี้รัฐบาลฮ่องกงยังแข็งข้อต่อฝ่ายต่อต้านมากขึ้นด้วย

และในปี 2557 ถึงเริ่มมีการประท้วงครั้งสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งถึงแม้ว่าจะถูกปราบปรามในเวลาต่อมาแต่ก็ปักหลักประท้วงยาวนานเป็นเวลามากกว่า 2 เดือน ขณะที่ผู้จัดการชุมนุมและผู้นำที่มีชื่อเสียงของการชุมนุมในครั้งนี้ก็ถูกดำเนินคดีในชั้นศาล

ดาปิรันกล่าวว่าทางการจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ต้องการให้ชาวฮ่องกงคิดว่าตัวเองประท้วงแล้วจะได้ผลอยู่เรื่อยๆ

ในการประท้วงล่าสุดก็เช่นเดียวกันถึงแม้ว่าจะมีการเตรียมการประท้วงมากขึ้นก็มีนักวิเคราะห์เพียงไม่กี่คนที่มองว่ารัฐบาลปัจจุบันของฮ่องกงจะยอมให้กับฝูงชนในเรื่องกฎหมายการส่งตัวนักโทษข้ามแดน มายา หวัง นักวิจัยอาวุโสด้านจีนของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ท่ามกลางการประท้วงใหญ่ของประชาชนรัฐบาลฮ่องกงก็มีทีท่าว่าจะเดินหน้ามากกว่าจะถอยในเรื่องการทำลายการเป็นอิสระของฮ่องกง

เรียบเรียงจาก

Taking to the streets: how protests have shaped Hong Kong's history, The Guardian, Jun. 13, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท