Skip to main content
sharethis

ประสบการณ์จากคุก เรื่องเล่าจากแดนหญิง แดนชาย และงานวิจัย ที่สะท้อนว่าคุกไทยไม่อาจแก้ปัญหาและฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลับคืนสู่สังคมได้ คุกยังเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จที่ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมีความเด็ดขาดเกินไป เชื่อว่าคน 70-80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ควรต้องอยู่ในคุก

  • ผู้ต้องขังหลายคนต้องติดคุกเพราะเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ต้องขังเข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆ ที่ควรต้องมีในฐานะมนุษย์
  • เรือนจำไทยมีคนเข้ามากกว่าคนออก
  • เรือนจำไทยเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จซึ่งทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมีความเด็ดขาดเกินไป

ในงาน ‘ประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน...ประชากรกลุ่มเฉพาะ’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12-13 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ เมืองทองธานี มีวงเสวนาวงหนึ่งที่พูดถึงเหล่าผู้คนหลังกำแพงคุกในชื่อว่า ‘นานาทัศนะต่อคุกไทย สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ควรจะเป็น’ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยจินตนา แก้วขาว ชาวบ้านจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตนักการเมืองพรรคไทยรักไทย สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิจัยอิสระที่ทำเรื่องเกี่ยวกับคุกมากว่า 10 ปี

เรื่องเล่าจากแดนหญิง

จินตนา แก้วขาว เล่าถึงประสบการณ์ที่เธอต้องโทษจำคุก 2 เดือนในเรือนจำประจวบฯ ว่า

“ในคุกมีคนที่ไม่ควรติดคุกเยอะมาก บางคนไม่ได้ทำผิด แต่ผิดเพราะคำตัดสินก็มีเยอะมาก และเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม อันแรกที่เห็นคือไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ ไม่มีสิทธิ์ตั้งทนาย ไม่ใช่ร้องเรียนแล้วออกมาได้เลย ต้องผ่าน ผบ.แดนหญิง แล้วก็ ผบ.แดนชาย ถ้าใครคนใดคนหนึ่งไม่อนุมัติหนังสือก็ไม่ผ่าน แล้วไม่ใช่ทนายไปจะพบได้เลย ต้องขอห้อง ต้องพิจารณาจากหลายส่วน

“สองคือสภาพของการกดขี่ สิ่งแรกที่เห็นคือผู้ต้องขังทุกคนต้องนั่งคุกเข่าคุยกับผู้คุม เราเห็นว่าไม่สมควรจะมีแล้ว ทำไมต้องคุกเข่า ทำไมต้องใช้คำว่านาย คำว่าแม่ ที่เราสงสัยทุกวันว่าเมื่อผู้คุมกินข้าว ทำไมล้างจานไม่เป็น ต้องเก็บจานเหล่านั้นให้นักโทษล้าง”

จินตนาเล่าต่อว่าการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในเรือนจำเป็นเรื่องลำบาก ผู้ต้องขังที่ป่วยจะเป็นฝ่ายเดินไปรับยาด้วยตัวเอง ขณะที่แดนหญิงที่เธออยู่ไม่มีแพทย์ มีเพียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข บางคนป่วยหนักแต่ก็ไม่อยากออกไปโรงพยาบาลเพราะรู้สึกอับอายที่สังคมต้องรู้ว่าตนเองเป็นนักโทษ

“มีงบประมาณจัดการเรื่องชุดชั้นใน ผ้าอนามัย แต่ใน 2 เดือนมีแจกผ้าอนามัยครั้งเดียว แล้วก็เป็นแบบห่อเล็กสี่ชิ้นห้าชิ้น แล้วเป็นชิ้นบางๆ มันไม่พอ สอง-เกิดการขโมยชุดชั้นในในเรือนจำ เรามองว่าถ้าไม่ขโมยแล้วจะเอากางเกงในที่ไหนใส่เวลามีรอบเดือน เพราะผู้ต้องขังบางคนไม่มีญาติหรืออยู่จังหวัดอื่น ก็ต้องขโมยของเพื่อน ถ้าถูกจับได้กลางคืนก็จะถูกตี เรากดกริ่งเรียก ผู้คุมก็ได้แต่มาชะโงกมอง แต่ไม่สามารถไขได้ เราก็ถามว่าไม่ไขเข้าไปแยกคนที่ตีกัน เขาบอกว่าหลัง 6 โมง กุญแจแดนหญิงจะไปอยู่ที่แดนชาย เราก็ถามว่าถ้าไฟไหม้ทำยังไง กลางคืนเรายังดับยาสูบอยู่เลย”

เรื่องเล่าจากแดนชาย

นพ.สุรพงษ์เคยต้องโทษจำคุกที่เรือนจำกลางกรุงเทพเป็นเวลา 10 เดือน เขาสรุปปัญหา 4 ข้อใหญ่ของคุกไทยว่า หนึ่ง-มีคนเข้ามากกว่าคนออก กรมราชทัณฑ์ต้องใช้งบประมาณปีละประมาณ 1 หมื่นล้านในการจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่มากกว่าหลายๆ กระทรวง

ข้อที่ 2 ออกยากกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากกระบวนการพักโทษและอภัยโทษทำได้ยากขึ้นเป็นเหตุให้เกิดการสะสมตัวของผู้ต้องขัง

“ข้อที่ 3 อัตราการเพิ่มของนักโทษมากกว่าผู้คุม หลายคดีไม่จำเป็นต้องอยู่ในนั้นเลย จะด้วยความล้าสมัยทางกฎหมายก็ได้จึงต้องตัดสินด้วยการจำคุก มาสู่ข้อที่ 4 ว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย แต่กรมราชทัณฑ์น่าจะอยู่ในยุคที่ล้าสมัยมาก หลายสิ่งน่าจะปรับปรุง อย่างกำไลอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างจริงจัง”

นพ.สุรพงษ์ เล่าอีกหลายเรื่อง เช่นการเข้าไม่ถึงสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง การฝึกอาชีพที่ไม่จริงจัง ห้องสมุดมีแต่หนังสือเก่าและไม่ให้อ่านหนังสือพิมพ์

“เราเรียกกรมราชทัณฑ์ว่า Department of Correction แต่ไม่เห็นกระบวนการ Correction ผมเรียนว่าไม่มีวันได้เห็นของจริง ถ้าไม่ได้ไปอยู่ ทุกอย่างจะถูกจัดฉากหมด เวลาใครจะเข้าไปทีหนึ่งจะมีการล้างเรือนจำกันขนานใหญ่ ตัวผู้คุมก็จะกำหนดพื้นที่ให้นักโทษต้องอยู่ในแดนนี้เท่านั้น ผู้ต้องขังจะนั่งกันเรียบร้อยเพราะถูกกำชับไว้แล้ว และสภาพแวดล้อมจะสะอาดมากซึ่งของจริงจะไม่เป็นอย่างนั้น”

นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่าสิทธิการประกันตัวเป็นเรื่องสำคัญมาก เขาพบเห็นคดีจำนวนไม่น้อยที่จำเลยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว บางคนถูกจำคุกประมาณปีกว่า โดยไม่ได้ขึ้นสืบพยานแม้แต่ครั้งเดียวในศาลชั้นต้น ซึ่งเรื่องนี้เชื่อมโยงกับสิทธิต่างๆ ของผู้ต้องขัง เพราะถ้าเป็นคดีที่ยังอยู่ในศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์ แล้วไม่ได้ประกันตัว ซึ่งเรียกว่าอยู่ในคดีระหว่าง ผู้ต้องขังระหว่างเหล่านี้จะขยับจากนักโทษชั้นกลางเป็นชั้นดี จากชั้นดีเป็นชั้นดีมากไม่ได้เพราะคดียังไม่สิ้นสุด ทำให้ไม่มีสิทธิในการพักโทษหรืออภัยโทษ

“ทัศนคติของคนภายนอกต่อคนในเรือนจำที่มองว่าเป็นคนมีปัญหา น่ากลัว ไม่ควรได้รับโอกาสใดๆ พอมีประกาศอภัยโทษก็จะแตกตื่น ผมเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่ไม่ควรไปอยู่ในนั้นเลย หมอบางคนจ่ายเช็คเด้งไปอยู่ในเรือนจำปีครึ่ง ดังนั้น วิธีการลงโทษอาจต้องปรับปรุงใหม่หรือไม่”

เรื่องเล่าจากงานวิจัย

ด้านนภาภรณ์ เปิดใจจากการทำวิจัยมาเกือบ 10 ปีว่า ในขณะที่ทำก็มีทั้งความสิ้นหวังและความหวังเล็กๆ ความสิ้นหวังเกิดจากตัววิธีคิดหรือระบบที่ถูกสร้างมาค่อนข้างมาก มากเสียจนรู้สึกว่าถ้าเอาออกไม่ได้ การแก้ไขปัญหาเรือนจำจะไม่สำเร็จ

“เรื่องแรกคือมีคนมากเกินไป เราต้องกลับไปดูวิธีคิดระบบการลงโทษ แต่ปรากฏว่ายิ่งทำไปมันเหมือนกับเราแก้ปัญหาสังคมด้วยการใช้การจำคุกเป็นตัวแก้ไข เช่น ยาเสพติดเยอะก็ออกกฎหมายให้เข้มงวดเข้าไว้ ถ้าเจอยาเสพติดในรถ คน 5 คนในรถก็ติดคุกหมด โอกาสที่จะหลุดบอกได้เลยว่าน้อยมาก คนที่เข้าไปเขารู้สึกว่าเขาไม่ผิด มันเกี่ยวกับระบบคิดที่มองว่าไม่สามารถจะทำอะไรได้ ก็เอาเข้าคุกเข้าไว้ก่อน ส่วนตัวคิดว่ามันทำให้แก้ตัวได้ว่าฉันได้ปราบปรามยาเสพติดแล้ว แล้วมันจริงหรือไม่ คนเข้าไปอยู่ในคุกเยอะแยะ แต่ยาเสพติดก็เยอะแยะไปหมด

“ระบบยุติธรรมทางอาญา โดยส่วนตัวมองเสมอว่าคำพิพากษาต้องเปลี่ยน เช่น จะพิพากษาใครสักคน ท่านจะอ่านมายาวมาก มีแต่ความเลว มันทำให้สังคมเห็นว่าคนที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นคนไม่ดี ซึ่งจะต่างจากหลายประเทศที่เขาเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว ในยุโรปจะไม่ใช้วิธีอ่านคำพิพากษาแบบนี้ เขาอาจเป็นคนที่ตัดสินใจผิดพลาดและทำผิดกฎหมาย ห้ามใช้คำว่าเป็นคนเลว แต่เมื่อมีความผิดนี้ กฎหมายเป็นอย่างนี้ เขาก็จะเคลื่อนย้ายคนจากสังคมเข้าไปอยู่ในเรือนจำ”

นภาภรณ์กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวเธอเห็นว่าคนอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในคุก และสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาคือวิธีคิดเกี่ยวกับเรือนจำ ซึ่งหากเปลี่ยนแปลงได้ เธอคิดว่ามี 3 ประเด็นที่ต้องเปลี่ยน

“ประเด็นแรกคือการอยู่อย่างมีสุขภาวะที่ดี ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องวิถีการดำรงชีวิต ทำไมเราต้องทำให้คนที่อยู่ในเรือนจำมีวิถีการดำรงชีวิตต่างจากคนที่อยู่ข้างนอก ควรทำให้วิถีชีวิตข้างในเรือนจำเหมือนวิถีชีวิตข้างนอกให้มากที่สุด อะไรที่ทำไม่ได้ ไม่เป็นไร แต่ทุกวันนี้มันเริ่มจากการทำให้ต่างที่สุด

“ประเด็นที่ 2 เรือนจำเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ หมายความว่าทันทีที่คุณเดินเข้าเรือนจำ คุณถูกยึดหมดทุกอย่าง ทุกอย่างเรือนจำจะเป็นคนจัดหาให้ ไม่ว่าจะเสื้อชั้นใน ผ้าอนามัย อาหาร แน่นอนว่ามีข้อยกเว้นสำหรับคนที่พอมีเงิน แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่เราจะอยู่กันในเรือนจำ ด้วยความที่เป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ มันก็ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเด็ดขาดเกินไป ที่นั่งกับพื้นมันมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ผู้ต้องขังที่อยู่มานานจะพอใจกับการทำแบบนี้ การที่เขาสยบยอมทำให้เขาได้รับความเมตตา ความรักกลับมา ถ้าจะเปลี่ยนตรงนี้ เราต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้คุมกับผู้ที่ถูกคุม ต้องเปิดช่องให้มีความเสมอภาคมากขึ้น

“ประเด็นที่ 3 มีวิธีของผู้บัญชาการเรือนจำจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าการฝึกวินัยอย่างเข้มข้นเป็นวิธีการหนึ่งที่จะ Correction เพราะฉะนั้นเราจะเจอวิธีการทำโทษ โดยเฉพาะผู้ชาย แบบโหดร้ายทารุณมากคือให้อยู่กลางแดดตลอดเวลา นี่คือการละเมิดสิทธิ์ บางเรื่องการลงโทษมีกฎอยู่แล้ว แต่ไม่ทำ เช่น ผู้หญิงห้ามเฆี่ยน แต่กลับใช้กระบอง บางอย่างไม่มีกฎก็ต้องออกกฎ”

ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ทำให้หน่วยงานที่ต้อง ‘แก้ไขให้ถูกต้อง’ หรือ ‘Correction’ ไม่อาจทำสิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้องได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net