Skip to main content
sharethis

เสวนาสาธารณะ “วิกฤตศรัทธาตุลาการ กับอนาคตประเทศไทย” 'พงศ์เทพ' ชี้วิกฤตเกิดจากตัวศาลหรือองค์กรตุลาการเอง 'ณัฏฐา' ย้ำเป็นวิกฤตกระบวนการยุติธรรม ศาล รธน. และองค์กรอิสระ  'สมยศ' มองอาจจะไม่มีมาตรฐาน แต่ชอบสอน 'Police Watch' อัดเป็นยุติธรรมบนความเท็จหรือข้อมูลไม่ครบถ้วน

ภาพจาก Metha Matkhao

งานเสวนาสาธารณะ “วิกฤตศรัทธาตุลาการ กับอนาคตประเทศไทย” เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตลา (ด้านหลัง) สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย และภาคประชาชน นั้น มีผู้ร่วมเสวนาที่น่าสนใจ เช่น พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตผู้พิพากษาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง สมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) รวมทั้ง ชํานาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

'พงศ์เทพ' ชี้วิกฤตเกิดจากตัวศาลหรือองค์กรตุลาการเอง

พงศ์เทพ กล่าวถึงหลักการโดยทั่วไปของทุกประเทศที่จำเป็นต้องมีองค์กรตุลาการมาวินิจฉัยความขัดแย้งในคดีความต่างๆ โดยเทียบเคียงระหว่างองค์กรตุลาการของสหรัฐอเมริกาที่ระบุลักษณะที่เป็นกลางและมีอิสระอย่างชัดเจน แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบตุลาการไทยที่เปิดช่องว่างให้ผู้พิพากษาใช้ดุลยพินิจ ในการตัดสินซึ่งมาจากการตีความตามหลักฐานสำนวนของแต่ละฝ่าย ซึ่งในกรณีนี้สามารถที่จะทำให้เกิดการตัดสินที่ผิดจากความเป็นจริงได้ เช่น ศาลฎีกาอาจจะตัดสินผิด ศาลชั้นต้นอาจจะตัดสินถูกจากความจริงที่เกิดขึ้น แต่โดยหลักกการแล้วตามกระบวนการให้ยึดถือการตัดสินของการฎีกาเป็นคำตัดสินสูงสุด ซึ่งที่กล่าวมานี้ไม่ได้เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาตุลาการ เพราะศาลเองตราบใดที่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่สุดความสามารถ อ่านสำนวนและตัดสินตามสำนวนที่ได้รับมาจากทั้งสองฝ่ายอย่างตรงไปตรงมาเป็นกลาง ซึ่งโจทย์ จำเลย และสังคมย่อมยอมรับคำตัดสินของศาล

อย่างไรก็ตาม พงศ์เทพ กล่าวต่อไปว่าเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีสิ่งที่เป็นวิกฤตเกิดขึ้นมาเหมือนกันคือวิกฤตศรัทธาตุลาการ ที่เป็นปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นมาจากตัว ศาล หรือองค์กรตุลาการเอง ที่มีอคติ ติดสินบน ไปรับทองเขามา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ กล่าวคือตุลาการจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นกลาง มีความเป็นธรรม ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างเคร่งคัด หรือการแสดออกถึงสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นออกมาให้ผู้อื่นเห็นอย่างชัดเจน แต่ในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำการรวบรัดคดี ที่ไม่มีการฟังเหตุ ไม่ฟังคู่ความ ตั้งธงจะตัดสินอย่างเดียว อย่างในกรณีตัวอย่าง การตัดสินเรื่องการยุบพรรคที่จะต้องให้เวลาในการเขียนแถลงการณ์ปิดคดี ซึ่งโดยปกติใช้เวลา 15 วัน แต่กลับถูกให้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น ทั้งที่คดียุบพรรคเป็นคดีใหญ่ หรือในการใช้เวลาในการวินิจฉัยคดีความที่รวดเร็วเกินไปจนผิดวิสัย มันจึงทำให้เป็นสิ่งที่ทำให้คนในสังคมแคลงใจ

ปัญหาในยุคปัจจุบัน พงศ์เทพ มองว่า ประการแรกคือโครงสร้างทางตุลาการที่ถูก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาแทรกแซงและเข้ามามีผลประโยชน์ร่วมกันทำให้การตัดสินในหลายๆ เรื่องออกมามีความน่าแคลงใจต่อสาธารณชน ประการที่สองคือองค์กรตุลการอื่นหรือองค์กรอิสระอื่น มาผ่านความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่ง สนช.ก็มีผลประโยชน์ร่วมกันกับ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา และหลังการเลือกตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่อีก 5 ท่าน ก็จะมาจากความเห็นชอบของ ส.ว. ซึ่ง ส.ว.ก็มาจากกการสรรหาโดย คสช. ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ โดยประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่อยู่ในคณะ คสช. แต่ในรัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างจัดเจนว่าคุณสมบัติของผู้ที่เป็นประธานสรรหาฯ ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง รวมไปถึงไม่มีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรการสรรหาฯ อย่างชัดเจน ดังนั้นน่าเชื่อได้ว่ากระบวนการสรรหาฯนี้ จึงขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ

พงศ์เทพ ได้นำเสนอทางออกเชิงโครงสร้างผ่านการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญคือ ม.129 ที่ไม่เป็นเพียงแก้ไขเฉพาะฝ่ายตุลาการแต่จะครอบคลุมไปถึงองค์กรอิสระด้วย กล่าวคือ การแก้ไขให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเทียบเคียงและทวงถามเหตุผลในคำตัดสินว่าผู้พิพากษาใช้เกณฑ์หรือดุลยพินิจอะไรในการกำหนดใช้บทลงโทษนั้นๆ ผ่านกรรมาธิการฯ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ และเป็นการถ่วงดุลอำนาจไม่ตุลาการต่างๆ ใช้อำนาจอย่างไม่มีเหตุผล และ ม.124 ที่ทำให้ ส.ส. ไม่มีเอกสิทธิ์ในการอภิปรายและอ้างอิงถึงองค์กรแห่งรัฐและบุคคลอื่นอย่างชัดเจน เช่น กรณีของการที่ มี ส.ส.ได้กล่าวอ้างอิงและอภิปายถึงศาลรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกศาลรัฐธรรมนูญฟ้องกลับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส่และความมีอิสระทางการเมือง

'ณัฏฐา' ย้ำเป็นวิกฤตกระบวนการยุติธรรม ศาล รธน. และองค์กรอิสระ     

ณัฏฐา มองถึงวิกฤตศรัทธาตุลาการว่า ในอีกมิติหนึ่งคือวิกฤตศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมมากกว่า อาจจะไปไฮไลท์ที่ตัวตุลาการหรือว่าศาล ในความเป็นจริงแล้วอันนี้แทบจะเป็นปลายทาง แน่นอนว่าตุลาการมีปัญหาอยู่บางส่วน แต่จะไม่เป็นธรรมถ้าเกิดโยนวิกฤตไปที่ตุลาการเท่านั้น วิกฤตในวันนี้ เป็นวิกฤตศรัทธากระบวนการยุติธรรม และไม่ใช่แค่กระบวนการยุติธรรมในอดีต แต่เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านองค์กรด้วย

กระบวนการยุติธรรมปกติ จะมีตำรวจ มีอัยการ มีศาล ยกตัวอย่างคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง มีการตั้งข้อหาขึ้นโดยง่าย เช่น คดีหมิ่นประมาทคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกิดหลังจากที่ประชาชนเรียกร้องลงชื่อในเว็บเพื่อตรวจสอบการทำงานของ กกต. แต่กลับนำมาสู่การตั้งข้อหา โดยผู้ต้องหาโดนข้อหาที่เป็นถ้อยคำ เช่น คำว่า ’อาจจะทำให้เป็น’ ซึ่งไม่ใช่ถ้อยคำที่เป็นการกล่าวหาด้วยซ้ำ เป็นแค่การตั้งคำถาม อย่างไรก็ตามตำรวจก็คงไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้งถึงแนวโน้มของกฎหมายได้ แต่ผู้ที่มาร้องทุกข์นั้น ก็คือ กกต. ทำให้อาจจะมีความรู้สึกเกรงอกเกรงใจ จนนำมาสู่การตั้งข้อหาขึ้น

นอกจากนั้น ณัฏฐา มองว่า ตำรวจยังมีการทำตามใบสั่ง คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ตำรวจก็โยนความเห็นไปที่อัยการ คดีที่กลุ่มของเราโดนคือ MBK39 ซึ่งในที่นี้มีอยู่ในกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง  คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นแกนนำเยอะถึง 9 คน และ 3 คนในนั้นเป็นคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเลย แต่โดนแจ้งข้อหา ม.116  ยุยงปลุกปั่น เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี  และถัดมาอีกหนึ่งข้อหาที่กลุ่ม MBK39 ถูกกล่าวหาคือ จัดงานใกล้เขตพระราชสถาน ต่ำกว่า 150 เมตร  สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า คดีนี้มันมีใบสั่งและนำไปสู่ศาล ซึ่งศาลคือปลายทาง  สิ่งนี้คือตัวอย่างของวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม  

นอกจากนี้ยังมีศาลรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่วิกฤตศรัทธาในตัวศาลมากมาย ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ และมีกลไกการอนุรักษ์พิทักษ์ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งองค์กรนี้เรียกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ปัจจุบันต้องไปร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะฉะนั้นคำร้องจำนวนมาก แม้จะสมเหตุสมผลและมีน้ำหนักเพียงใด ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินบอกว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็คือจบ  เพราะฉะนั้นวิกฤตศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมที่รวมไปถึงองค์กรอิสระ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เรื่องเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย  และสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาตุลาการขึ้นคือ 1. มีการรับใช้ผู้มีอำนาจ 2. ผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจหลักกฎหมายและไม่เข้าใจหลักสิทธิเสรีภาพ

สำหรับข้อเสนอแนะหรือทางออกของเรื่องนี้ ณัฏฐา เสนอว่าต้องเรียกร้องให้ไม่ยอมรับกับความอยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนอย่าปล่อยให้มันผ่านไปง่ายๆ เราต้องไม่ชินกับการยอมรับ สังคมต้องสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมของการปกป้องความยุติธรรมทุกรูปแบบ เพราะที่ผ่านเป็นการกระทำในรูปแบบของอาชญากรรมโดยรัฐ คอยสร้างความอยุติธรรมให้แก่ประชาชน

'สมยศ' มองอาจจะไม่มีมาตรฐาน แต่ชอบสอน

มองวิกฤตของตุลาการว่าอย่างไรบ้างนั้น สมยศ มอง 2 ประเด็นคือ 1) อาจจะไม่มีมาตรฐาน ตัวอย่างคดี ดร.นิด้าคนหนึ่งบันดาลโทสะใช้ไม้กอล์ฟฟาดภรรยาเสียชีวิต อำพรางคดีพาภรรยาส่งโรงพยาบาลบอกว่าเป็นอุบัติเหตุ โทษเพียง รอลงอาญาไว้มีกำหนด 3 ปี เมื่อแต่อีกคดีหนึ่งต้องติดคุกคือ ผัวกินเหล้า แล้วเมียเอามีดเสียบตายเหมือนกันแต่ติดคุกไป 5 ปี ซึ่งบันดาลโทสะด้วยกันทั้งคู่แต่อีกฝ่ายเป็น ดร. อีกฝ่ายคือคนจน 2) ชอบสอน มีทั้งสองมาตรฐานแต่ก็บรรจุศีลธรรมเข้าไปด้วย กรณีครูข่มขืนเด็กโดยศาลพิจารณาบริบทรอบนอกด้วยครูคนหนึ่งข่มขืนเด็กรับโทษไป 20 ปี อีกคนครูเหมือนกัน แต่ทำคุณความดีต่างๆ เป็นแบบอย่างที่ดีรับไป 5 ปี อีกตรรกะวิบัติอีกเรื่องคือรถไฟความเร็วสูงศาลบอกไม่ให้สร้างเพราะถนนลูกรังยังไม่หมด แต่พอทหารจะทำก็ไม่เห็นว่าใครจะว่าอะไร นี่เป็นเรื่องที่ให้เห็นปัญหาตุลาการบ้านเรา

ตุลาการบ้านเราทำหน้าที่ 3 อย่าง สมยศ กล่าวว่า ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาชัด คือ 1) รับใช้เผด็จการ อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน 2) ตุลาการทำเพื่อตนเองทั้งสิ้น 3) ตุลาการได้รับใช้มือที่มองไม่เห็น  

สำหรับข้อเสนอนั้น สมยศ เสนอว่า 1) คิดว่าอนาคตประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบตุลาการแบบนี้แต่ทางออกเรามี อย่างที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอจะแก้รัฐธรรมนูญ 2 มาตราก็ต้องรอดู เนื่องจากเขาล็อคไว้หลายชั้น คิดว่าต้องรื้อรัฐธรรมนูญใหม่หรือฉีกรัฐธรรมนูญว่าจะใช้แบบไหน จะเอาแบบอเมริกาก็ได้คือเขาตั้งศาลหนึ่ง โดยที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอต่อสภา รับรองแล้วไปเป็นประมุขศาลต่างๆ ได้ มันก็จะทำให้ศาลได้เชื่อมโยงกับประชาชนผ่านสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก็หมายความว่าผู้พิพากษาท่านใดทำงานไม่คงเส้นคงวาหรือไม่ถูกต้องก็จะถูกตรวจสอบโดยระบบสภา อย่างหนึ่งถ้าจะให้แก้รัฐธรรมนูญคือให้ยกเลิก ส.ว. เพราะเรามี ส.ส. ตั้ง 500 คน แล้ว สามารถออกกฎหมายได้แล้ว เนื่องจากในกระบวนการออกกฎหมายก็มีฝ่ายค้านวิจารณ์เรียบร้อย ฉะนั้นไม่ต้องเพิ่ม ส.ว. แล้ว แถมจะได้ประหยับงบประมาณ อีกปัญหาของ ส.ว. มีอำนาจตั้งองค์กรอิสระ แล้ว สว. มาจากไหนก็มาจากเขา หรือคสช. อีก

2) ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ข้อเสนอของ ปิยบุตร ในนามนิติราษฎร์ก็น่าสนใจ ให้ตุลาการมาจากสัดส่วนตุลาการ 3 คนบ้าง สภา 3 คนบ้าง สว. ถ้ายกเลิกแล้วมันขาดก็เปลี่ยนมาเป็นภาคประชาชนก็ได้ อีกประเด็นที่ต้องแก้ไขคือศาลทหารยกเลิกไปก็ได้ เขาใช้เฉพาะทหารอยู่แล้วแต่เขาใช้กรณีพิเศษคือมีกฎอัยการศึกก็ขึ้นศาลทหาร มีอีกกี่นายที่ถูกซ้อมทหารมีปัญหาตรงนี้เยอะ หากมีเรื่องอะไรก็ให้ไปขึ้นศาลยุติธรรม

'Police Watch' อัดเป็นยุติธรรมบนความเท็จหรือข้อมูลไม่ครบถ้วน

พ.ต.อ.วิรุฒ กล่าวว่า ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่ามันมีปัญหาหนัก ไม่มีความยุติธรรม สรรหาแพะ คนไปแจ้งความก็กลายเป็นแกะตั้งเยอะ มันสับสนอลหม่านไปหมด ปัญหาตอนนี้มันมีอยู่ว่ามันไม่ได้ยุติธรรมบนความจริงแต่ยุติธรรมบนความเท็จหรือข้อมูลไม่ครบถ้วน นอกจากจากจะมีปัญหาเรื่องของตัวบุคคลแล้วตัวบทกฎหมายก็มีปัญหาคือเราสามารถแจ้งข้อหาต่อตัวบุคคลได้ง่าย ถ้าใครไปกล่าวหาก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งๆ ที่เราจะผิดจริงหรือไม่ก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ซึ่งมันต่างจากหลักสากลเขาจะแจ้งข้อหาต่อตัวบุคคลก็ต่อเมื่อบุคคลนั่นทำผิดจริงๆ แล้วศาลต้องพิพากษาลงโทษแน่นอนเขาจึงจะแจ้งข้อหา ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนนานมากเขาจึงไม่แจ้งข้อหาง่ายๆ จึงเป็นปัญหาที่ไปแยกพนักงานสอบสวนกับกระบวนการศาลเป็นคนละท่อนกัน

งานสอบสวนในบ้านเราไม่ถูกตรวจสอบ ทุกอย่างอยู่ในมือตำรวจหมดแล้วตำรวจแบบบ้านเราก็มีการปกครองใต้บังคับบัญชา การปกครองแบบกองทัพเช่นเดียวกับทหาร ฉะนั้นถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาคือการตรวจสอบจึงเป็นแบบทหาร จากปัญหากระบวนการสอบสวนและกระบวนการศาลเป็นคนละท่อนกันทำให้ผู้พิพากษาต้องมานั่งอ่านแต่เอกสาร ไม่มีโอกาสเห็นที่เกิดเหตุเลย และตามกฎหมายเขาจะไม่ให้อัยการไปยุ่งในที่เกิดเหตุ เรื่องการฟ้องของบ้านเราคือพยานหลักฐานพอฟ้องได้ก็ฟ้อง แต่ต่างประเทศไม่เป็นเช่นนั้น คือหลักฐานต้องเพียงพอต่อการลงโทษจึงจะฟ้องได้ คือถ้าฟ้องแล้วศาลจะต้องลงโทษ 99% ไม่ใช่ฟ้องแล้วศาลศาลยกฟ้อง 40% เหมือนประเทศไทยเช่นทุกวันนี้

เรื่องที่จะต้องแก้ไข พ.ต.อ.วิรุฒ เสนอว่าคือทำเรื่องงานสอบสวนกับกระบวนการศาลให้เป็นเรื่องเดียวกัน ในต่างประเทศกระบวนการสอบสวนไปดูที่เกิดเหตุทั้งสิ้น จะมีหลักฐานชิ้นใดหายไม่ได้ คดีฆ่าคนตายจะต้องมีหลายฝ่ายเข่มาดูพร้อมกันต้องไม่ปล่อยให้ใครมาทำลายหลักฐานหรือเก็บหลักฐานแบบไม่ครบถ้วนไม่ได้ คิดว่าอันตรายหรือไม่หากให้ตำรวจตรวจอยู่กันฝ่ายเดียว เพียง 2-3 คน

พ.ต.อ.วิรุฒ ยังมองว่า กฎหมายยังเลือกปฏิบัติ เช่น คนจนก็ปล่อยให้ตายฟรี คุณลองไปตีหัวคนรวยสักพันล้านสิแล้วคุณจะถูกจับ ใครจะรักใครเกลียดใครแต่กฎหมายต้องเป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตย ช่องโหว่กฎหมายของกองวิทยาเขาก็ไม่ได้บอกว่าหลักฐานพอจะฟ้องได้ให้ฟ้องแต่อัยการเราเห็นหลักฐานพอฟ้องก็ฟ้อง ที่จริงแล้วเขาเขียนไว้ดีบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2478 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 ปีก็มีการร่างกองวิทยาบอกว่า ถ้าเห็นควรฟ้องก็ให้ฟ้องหมายถึงอัยการต้องเห็นว่าผิดจริงจึงฟ้อง เพียงแต่ไปบัญญัติอำนาจตำรวจกับอัยการเป็นคนละท่อนกันจึงเป็นจุดอ่อน

การรับส่วยนั้น พ.ต.อ.วิรุฒ กล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่ง เนื่องจากเขาไม่ได้คิดว่ามันผิด เขารู้สึกเหมือนเป็นความชอบธรรมที่จะได้นู่นได้นี่ไปแล้วเพราะสังคมเราปล่อย สุดท้าย คสช. 5 ปีที่ผ่านมาได้คุยโม้ว่า 5 ปีที่ผ่านมาออกฎหมาย 500 ฉบับ แต่ล้วนแล้วเป็นกฎหมายที่มันไปกดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น แต่กฎหมายในการตรวจสอบราชการโดยเฉพาะกฎหมายขัดแห่งผลประโยชน์จะเป็นกฎหมายที่ปราบปราบการทุจริตได้ดีที่สุด เพราะป้องกันการนำของหลวง รถหลวง คนหลวงไปใช้ซึ่งมีโทษจำคุก กฎหมายเหล่านี้จึงไม่ผ่าน ส.ว.  ที่สำคัญถ้าปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตุลาการก็จะมีปัญหาให้คนไปวิพากษ์วิจารณ์เพราะศาลต้องพิจารณาหลักฐานที่ปรากฏ ปรากฏแค่ไหนก็แค่นั้น เมื่อหลักฐานไม่พอก็ยกฟ้องซึ่งเป็นหลักสากลก็จริงอยู่ แต่ปัญหามันอยู่ที่ใครมีหน้าที่ทำให้หลักฐานมันครบถ้วน มีประสิทธิภาพ สุจริต มีหลายคดีที่ถูกยกฟ้องนั้นอันตรายมากยิ่งจำเลยไม่มีความผิดเขาก็เสีย และยิ่งถ้ามีความผิดจริง คนผิดก็จะลอยนวลอยู่ในสังคม

ชำนาญ กล่าวว่าถ้อยคำสำนวนที่ใช้ในชั้นศาล เช่น คำว่า “ขอความเมตตาจากศาล” ซึ่งถ้าว่าตามทฤษฎี ศาลควรให้ความยุติธรรมตามกฎหมายอยู่แล้วมิใช่พิจารณาตามความเมตตาหรือไม่เมตตา การเขียนคำฟ้องไม่ต้องใช้ถ้อยคำแบบนี้ก็ได้ และคำว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” เขามองว่าจะใช้คำว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” ไม่ได้ เพราะอย่างไรแล้วศาลต้องพิจารณาคดีตามพยานและหลักฐานมิใช่แล้วแต่จะโปรด

ศาลคือที่พึ่งสุดท้ายแต่ปรากฏการณ์ที่ผ่านมามันไม่ใช่เพราะปัจจุบันการค้างคาใจ ไม่เข้าใจ ศาลคือหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ศาลไม่ได้อยู่เหนืออำนาจอธิปไตย ปัจจุบันเกิดความสงสัยความไม่เป็นกลางของศาล ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 คือระบอบที่ตุลาการเป็นใหญ่ ปกครองโดยตุลาการ เขามีความสงสัยต่อผู้พิพากษา ตุลาการ ในเรื่องความสัมพันธ์ทางความคิด และทัศนคติทางการเมือง คดีที่เขาสงสัยมากที่สุดคือเรื่อง คดีป่าแหว่ง ข้อสงสัยคือ ที่ราบมีเยอะแยะแต่ทำไมเลือกไปอยู่ตรงนั้น และทำไมศาลต้องไปทะเลาะกับประชาชน โดยการฟ้องคนเชียงใหม่ที่กรุงเทพฯ ผู้ถูกฟ้องต้องเดินทางขึ้นให้ปากคำและกว่าคดีจะผ่านซึ่งเขามองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน

กิตติคุณ สกลวิศาลศักดิ์, ภูมิรพี โรจนะบุรานนท์, บุษกร ประวัติศรี และศศิประภา กันฉาย เป็นนักศึกษาที่ร่วมฝึกงานกับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net