Skip to main content
sharethis

บอร์ด สปสช.รับย้ายพ่อแม่พนักงานแบงก์ออมสินใช้สิทธิบัตรทอง

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 ม.ย. ที่ผ่านมา ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีมติเห็นชอบให้บิดามารดาของพนักงานธนาคารออมสินที่พนักงานแสดงเจตนาไม่รับสิทธิการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลสำหรับบิดามารดาจากธนาคาร เป็นบุคคลที่มีสิทธิรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 พร้อมมอบ สปสช.กำกับติดตามประเมินผลการเข้าใช้บริการ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ธนาคารออมสินเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้สิทธิประโยชน์การรักษารวมถึงบิดามารดา วงเงินไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี เกินจากสิทธิสวัสดิการมาตรฐานรัฐวิสาหกิจ ปี 2558 มีหนังสือสอบถาม สปสช.ขอให้พนักงานออมสินเลือกใช้สิทธิรักษาบิดามารดาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้หรือไม่ กรณีที่พนักงานไม่เลือกใช้สิทธิตามที่ธนาคารจัดให้ ต่อมา สปสช.ได้ทำหนังสือสอบถามไปกฤษฎีกาและได้ตอบกลับว่าสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าสิทธิในสภาพการจ้างที่กำหนด และพนักงานต้องแสดงความจำนง รวมถึงต้องให้ข้อมูลครบถ้วนกับพนักงานและทำประชาพิจารณ์

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า จากการทำประชาพิจารณ์พนักงานที่เข้าร่วม 15,877 คน ส่วนใหญ่ให้บิดามารดาคงใช้สิทธิเดิม 10,063 คน คิดเป็นร้อยละ 63 มี 5,814 คน คิดเป็นร้อยละ 37 ที่ขอเปลี่ยนสิทธิบัตรทอง จากการเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์การรักษาของธนาคารออมสินคล้ายกับสวัสดิการข้าราชการ แต่จำกัดไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี และเข้ารับบริการที่ใดก็ได้รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน และได้ยกร่างระเบียบใหม่เพื่อรองรับพนักงานที่ขอเปลี่ยนสิทธิการรักษาบิดามารดาแล้ว

นางนุชจรินทร์ ศิริจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล ธนาคารออมสิน กล่าวว่า เป็นความเดือดร้อนของพนักงาน เพราะมีพ่อแม่เจ็บป่วยเรื้อรังและต้องรักษา มีค่าใช้จ่ายเกินเพดานสิทธิ 60,000 บาท ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่ได้โอนสิทธิพ่อแม่พนักงานทั้งหมด เพราะเป็นสัญญาสภาพการจ้าง การยกเลิกต้องทำประชามติและเสียงส่วนใหญ่ยังยืนยันใช้สิทธิรักษาของธนาคาร และในจำนวนพนักงาน 5,814 คนที่ขอย้ายสิทธินั้น มีแค่ 100 คนที่เบิกจ่ายเต็ม 60,000 บาท เพียงแต่คนกลุ่มนี้มองเห็นภาระค่ารักษาในอนาคต นอกจากนี้เมื่อดูสวัสดิการรักษาพ่อแม่ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจะเป็นแบ่ง 3 รูปแบบ คือ 1.ให้สิทธิเบิกไม่จำกัดเช่นเดียวกับข้าราชการ 2.ไม่ให้สิทธิ โดยพ่อแม่ใช้สิทธิบัตรทอง และ 3.ให้สิทธิแต่จำกัดเพดานจ่ายเหมือนออมสินซึ่งมีไม่มาก นอกจากนี้ธนาคารยังกำหนดเงื่อนไขว่า ในการเปิดให้พนักงานเลือกสิทธิรักษาให้พ่อแม่ จะปรับเปลี่ยนภายหลังไม่ได้ โดยการเลือกนี้จะอยู่ถึงอายุงานสิ้นสุดลง

“มีน้องคนหนึ่งปกติคุณพ่อสุขภาพแข็งแรง แต่พอไม่สบายไปตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งระยะที่ 4 ก่อนหน้านี้พ่อเคยได้รับสิทธิบัตรทอง แต่พอน้องเข้าออมสินได้เพียง 2 ปี ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบสิทธิ ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ มีวิธีเดียวคือต้องลาออกจากธนาคาร ตรงนี้น้องเขาเลือกไม่ได้เพราะระเบียบธนาคารมีมาก่อน และสิทธิบัตรทองเป็นสิทธิที่ดี เราขอให้พิจารณาให้พ่อแม่พนักงานใช้สิทธิคนไทยคนหนึ่ง วันนี้ในกลุ่มไลน์ 500 คน กำลังรอคำตอบอยู่” นางนุชจรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้หลังจากที่ประชุมได้ถกเถียงหารือ ศ.นพ.ปิยะสกล ได้สอบถามความเห็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า สิทธิบัตรทองเป็นสิทธิตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการพิจารณาต้องยึดหลักการตามมาตรา 5 ของกฎหมายเป็นหลัก ส่วนสิทธิการรักษาของออมสินถือเป็นสภาพการจ้างระหว่างพนักงานกับนายจ้าง และเป็นสิทธิเฉพาะพนักงานออมสินเท่านั้น จึงไม่เกี่ยวกับสิทธิตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมส่วนใหญ่ต่างเห็นชอบ หากพนักงานลาออกมาก็ต้องใช้สิทธิบัตรทองเช่นกัน และระบบก็ดูแลธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่แล้ว หากเพิ่มผู้มีสิทธิอีก 5,814 คน เมื่อเปรียบกับ 48 ล้านคนในระบบ คงไม่กระทบเท่าไหร่ และหลักการคงปฏิเสธคนไทยด้วยกันไม่ได้ เพราะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพตามกฎหมาย แต่ต้องฝากออมสินด้วยว่า พนักงานที่เข้ามาใหม่จะมีการกำหนดสิทธิสวัสดิการนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

ที่มา: NewTV, 12/6/2562

ก.แรงงาน กำชับแรงงานไทยในอิสราเอลเชื่อฟังเจ้าหน้าที่ ห่วงความปลอดภัยเขตฉนวนกาซ่า

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะผู้ตรวจราชการกรม นายสุวรรณ์ ดวงตา ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน นายชาคริตย์ เดชา ผู้ตรวจราชการกรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนางอุดมลักษณ์ สอนสารี ผู้ตรวจราชการกรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เดินทางไปราชการรัฐอิสราเอล โดยได้พบปะและหารือข้อราชการกับเจ้าหน้าที่ประสานงานความปลอดภัยท้องถิ่นของเขต Eshkol ทางตอนใต้ติดชายแดนอิสราเอล-กาซ่า พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่ม Hamas บริเวณฉนวนกาซ่า มาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แรงงานไทยในพื้นที่ที่มีอยู่ราว 2,500 คน ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานได้แสดงความห่วงกังวลกรณีที่แรงงานไทยมักไม่ปฏิบัติตนตามข้อแนะนำของหน่วยงานความปลอดภัยของอิสราเอลเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และได้ขอให้ทางอิสราเอลดูแลความปลอดภัยให้แก่แรงงานให้เต็มที่ หลังจากนั้นได้พบปะและให้กำลังใจแรงงานไทยทั้ง 7 คน ที่ทำงานในศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตร

จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่ Moshav Ohad ทางตอนใต้ห่างจากชายแดนอิสราเอล-กาซ่า ไม่เกิน 10 กิโลเมตร มีคนงานประมาณ 50 คน ทำงานสวนมะเขือเทศ โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและคณะได้แสดงความห่วงใยในการมาทำงานในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ไม่สงบ โดยได้เน้นย้ำให้แรงงานไทยเชื่อฟังและปฏิบัติตนตามข้อแนะนำของหน่วยงานด้านความปลอดภัยของอิสราเอลอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข ทั้งยาเสพติดและการพนัน ตั้งใจขยันทำงาน และเก็บเงินเพื่อส่งกลับครอบครัว พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่แรงงานไทยก่อนเดินทางกลับอีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลจำนวน 24,783 คน โดยเป็นแรงงานไทยทำงานภาคเกษตรจำนวน 22,539 คน ผู้ทำงานในประเภทผู้เชี่ยวชาญ พ่อครัว/แม่ครัว และช่างเชื่อม ดูแลคนชราหรือผู้พิการ งานก่อสร้าง และอื่น ๆ จำนวน 403 คน ที่เหลือเป็นแรงงานผิดกฎหมายจำนวน 1,841 คน ส่วนแผนอพยพแรงงานไทยกรณีเกิดภัยสงคราม ได้กำหนดจุดรวมพลสำหรับเคลื่อนย้ายแรงงานไทยออกมายังพื้นที่ทางใต้ของอิสราเอล 2 จุดคือ จุดแรกเคลื่อนย้ายแรงงานไทยจากเขต Ashkelon ไปยังโมชาฟ Ramat Nagev อยู่ทางภาคใต้ตอนล่างของอิสราเอล ห่างจากชายแดนประมาณ 100 กิโลเมตร รองรับแรงงานไทยได้ประมาณ 5,000 คน และจุดที่ 2 เคลื่อนย้ายแรงงานไทยจากเขต Eshkol ไปยัง เมือง Bnei Netsarim อยู่ทางตอนใต้สุดของอิสราเอล ติดกับชายแดนประเทศอียิปต์ ห่างจากพื้นที่ที่ประท้วงประมาณ 20 กิโลเมตร สามารถรองรับแรงงานไทยได้ราว 1,000 - 2,000 คน ทั้งนี้ หากแรงงานไทยประสงค์จะเดินทางกลับ ฝ่ายแรงงานฯ จะดำเนินการประสานไปยังสนามบินที่เปิดให้บริการและส่งกลับประเทศไทยต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/6/2562

ข้าราชการ สธ. เตรียมทวงถาม ก.พ. หลังแก้ปัญหา ‘เงินเดือนเหลื่อมล้ำ’ ไม่คืบหน้า

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 นายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขยังคงมีอยู่ ที่ผ่านมาทางชมรมฯ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังกระทรวงสาธารณสุข และทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ใน 2 ประเด็น คือ 1.ขอสิทธิประโยชน์ในการนับระยะเวลาการเป็นพนักงานของรัฐเพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญ หรือให้มีการเยียวยาให้กับพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงานจนถึงปัจจุบัน ในอัตราเทียบเท่าพนักงานมหาวิทยาลัย คือ อัตรา 1.5 เท่าของข้าราชการพลเรือนสามัญ และ 2.ขอให้มีการปรับแก้ไขเงินเดือน อัตราใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จากหลักเกณฑ์การเยียวยา ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 1012.2/ 250 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558

“ในเรื่องของอายุราชการตอนปี 2543 นักเรียนทุนกระทรวงสาธารณสุข พอจบมาก็จะได้รับการจ้างในตำแหน่งพนักงานของรัฐ พอปี 2547 ก็จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ แต่ปรากฏว่าเมื่อบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว กลับไม่นับอายุราชการตอนเป็นพนักงานของรัฐ ทั้งที่เดิมทีบอกว่า พนักงานของรัฐเทียบเท่าราชการทั้งหมด แต่การนับอายุราชการกลับไม่มี เราเพิ่งจะมาทราบจุดนี้เมื่อประมาณปี 2560-2561 เนื่องจากมีประเด็นเยียวยาน้องๆ ที่เข้ารับการบรรจุ โดยปรับหลักเกณฑ์เงินเดือนอัตราใหม่ ไม่ให้เหลื่อมล้ำ แต่ปรากฏว่า เงินเดือนน้องๆ กลับได้ใกล้เคียงหรือมากกว่ารุ่นพี่ที่ทำงานมานาน หลายคนแซงรุ่นพี่ก็มี อย่างน้องบางคนได้หมื่นกว่าบาท ปรับใหม่ได้ร่วม 2 หมื่นกว่าบาท ที่ผ่านมายื่นเรื่องหลายครั้งให้แก้ไขประเด็นเหล่านี้ ล่าสุดทราบเพียงว่า ที่ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม และส่งเรื่องให้ ก.พ. พิจารณาต่อ พวกเราคิดว่า หากยังไม่มีความคืบหน้า ภายหลังจากจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย พวกเราจะขอเดินทางไปสอบถาม ก.พ.ต่อไป” นายมานพ กล่าว

นายมานพ กล่าวว่า ชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการร้องขอความเป็นธรรมจากช่องทางต่างๆ ตั้งแต่ 5 มิถุนายน 2560 รวมหนังสือยื่นถึงหน่วยงานต่างๆมากกว่า 10 ฉบับ ยื่นศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัดทั่งประเทศ ยื่นสมุดปกขาวรายบุคคลไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี มากกว่า 2,500 ฉบับ แต่ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาแต่อย่างใด ทำให้สูญเสียขวัญและกำลังใจเป็นอย่างมาก ส่งผลเสียต่อระบบการปกครองในองค์กร เจ้าหน้าที่ขาดความสุข องค์กรและหน่วยงานสูญเสียสิทธิประโยชน์ กระทบต่อคุณภาพการบริการประชาชน ประชาชนสูญเสียโอกาสการได้รับบริการที่ดี มีประสิทธิภาพสูงสุด และยังส่งผลต่อสุขภาวะประชาชนโดยรวม

นายมานพ กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากการเยียวยา ได้ขยายเป็นวงกว้าง กระทบข้าราชการทุกกลุ่ม ทุกคน เห็นได้จากกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น จากเกณฑ์การเยียวยาข้าราชการเฉพาะกลุ่ม ตาม นร.1012.2/ 250

ที่มา: Hfocus, 11/6/2562

ก.แรงงาน เผยพบสถิติการใช้แรงงานเด็ก 4 แสนคน

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ กสร. เปิดเผยหลังเปิดงานวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ระบุว่าการสำรวจการทำงานของแรงงานเด็กในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีประชากร 66.4 ล้านคน มีสัดส่วนประชากรที่เป็นเด็ก 10.47 ล้านคน พบว่ามีเด็กที่ทำงาน 4.09 แสนคน หรือ 3.9% โดนภาคเกษตรกรรมมากที่สุดถึง 1.89 แสนคน คิดเป็น 46.3% รองลงมาเป็นภาคการค้าและบริการ 1.61 แสนคน และภาคการผลิต 5.8 หมื่นคน ส่วนใหญ่ทำงาน 15-48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีสาเหตุจากความยากจนของครอบครัว จึงต้องนำเด็กไปช่วยแรงงานเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว รวมถึงวัฒนธรรมของคนไทย ที่เด็กต้องช่วยเหลือครอบครัวจึงเป็นการพาลูกหลานไปทำงานด้วย

สำหรับผลการประเมินสถานการณ์แรงงานเด็กของสหรัฐอเมริกา จัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดเจน เป็นระดับสูงสุดต่อเนื่องจากปี 2559 และ 2560 ติดต่อกันเป็น 1 ใน 17 ประเทศ จาก 132 ประเทศ ทั้งนี้ ทางกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อจะนำไปสู่การจัดทำนโยบายการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป

ที่มา: PPTV Online, 11/6/2562

สมาพันธ์แรงงานสื่อสารมวลชนขอทีวีดิจิตัลจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้างพนักงานตามกฎหมายแรงงานและจ่ายเงินเพิ่มกรณีพิเศษ 3 เดือน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเยียวยา เพื่อพิจารณาแผนเยียวยา และคืนเงินช่อง NOW26 และ สปริงนิวส์ 19 ว่าที่ประชุมพร้อมจ่ายค่าชดเชยให้ทั้ง 2 ช่อง รวม 1,175 ล้านบาท ซึ่งกำหนดระยะเวลาการยุติการออกอากาศทั้ง 2 ช่อง จะเกิดขึ้นหลังจากอนุมัติกำหนดเวลาในการยุติการออกอากาศ (15 ส.ค. 2562) ภายใน 60 วัน

ทั้งนี้ การพิจารณาจ่ายเงินค่าชดเชยของช่อง NOW26 เป็นจำนวน 890 ล้านบาท เมื่อหักค้างชำระค่าธรรมเนียมงวดที่ 4 จำนวน 201 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 14 ล้านบาท เหลือเงินชดเชยที่จะจ่ายประมาณ 675 ล้านบาท โดย NOW26 ได้ประมูลคลื่นไปด้วยมูลค่า 2,200 ล้านบาท ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไปแล้ว 3 รวม 1,472 ล้านบาท คิดเป็นค่าธรรมเนียมที่ยังไม่ใช้งาน 951 ล้านบาท หักผลประโยชน์ที่รัฐสนับสนุน ค่ามัค 26 ล้านบาท ค่ามัสแครี 33 ล้านบาท ไม่มีกำไรสุทธิ

ด้านช่องสปริงส์นิวส์ 19 ยอดวงเงินประมูลใบอนุญาต จำนวน 1,318 ล้านบาท มีการจ่ายค่าธรรมเนียมทั้ง 4 งวด จำนวน 878.2 ล้านบาท คิดเป็นเงินชดเชย 567.407 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายเงินสนับสนุนที่รัฐออกให้ (ค่ามัคและค่าออกอากาศดาวเทียม 27 ล้านบาท ค่ามัสแครี 35.4 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิในปี 2562 จำนวน 4.4 ล้านบาท ดังนั้นเงินที่รัฐจะชดเชยจำนวนประมาณ 500 ล้านบาท

ส่วนแผนการเยียวยาพนักงาน ทางช่องสปริงส์นิวส์ จะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและจ่ายเงินเพิ่มกรณีพิเศษอีก 1 เท่าของเงินเดือน แต่ทางสมาพันธ์แรงงานสื่อสารมวลชนได้ทำหนังสือแจ้งให้ กสทช.ขอให้ผู้คืนใบอนุญาตชดเชยเพิ่มพิเศษ 3 เดือน กสทช.จึงขอให้สปริงส์นิวส์กลับไปพิจารณาแผนใหม่ โดยในวันที่ 25 มิ.ย. 2562 เตรียมเสนอที่ประชุมบอร์ด กสทช.ให้กำหนดวันยุติการให้บริการ ในวันที่ 15 ส.ค. 2562 ซึ่งทั้ง 2 ช่องจะจอดำ ในวันที่ 16 ส.ค. 2562 เวลา 00.01 น.

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/6/2562

ทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ข้ามชาติไล่ล่าจับกุมรถตู้โดยสารได้อีก 2 คัน

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2562 เจ้าหน้าที่ชุดศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว เเละป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจเเห่งชาติ ซึ่งมี พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจเเห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนติดตามรถตู้โดยสารสายปัตตานี-สงขลา หลังจากที่สืบทราบว่าจะมารับแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ ต.ทุ่งลุง อ.หาดใหญ่ เพื่อไปส่งที่ จ.ปัตตานี และสกัดจับเอาไว้ได้พร้อม นายยี (ขอสงวนชื่อจริง)คนขับและขยายผลไปจับรถตู้โดยสารสาย ปัตตานี-สุไหงโก-ลก พร้อมคนขับชื่อนายเซ(ขอสวนชื่อจริง) ได้อีก 1 คันซึ่งจะทำหน้าที่รับช่วงต่อเดินทางไปส่งที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

แต่ที่น่าตกใจคือเจ้าหน้าที่ได้เค้นสอบ นายยี คนขับรถตู้สายปัตตานี-สงขลา บอกว่า มีแรงงานเถื่อนชาวเมียนมาอีกจำนวนมากที่นายหน้านำไปกักตัวไว้ในห้องเช่า เลขที่ 79/7 ต.พะตง อ.หาดใหญ่ เจ้าหน้าที่จึงได้นำกำลังไปตรวจสอบพบว่ามีการล๊อคกุญเเจอย่างเเน่นหนาเหมือนกับถูกปิดตาย เมื่อเปิดประตูเข้าไปดูเจ้าหน้าที่ต้องตะลึงเมื่อพบแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาจำนวนมากถึง 38 คน นั่งกันอยู่อย่างแออัดในห้องเช่าซึ่งมืดทึบแต่ละคนอ่อนล้าอิดโรยอย่างหนักเพราะต้องอยู่รวมกันแทบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน

จากการสอบถามผ่านล่ามทราบว่ามีนายหน้านำมาขังไว้ในห้องห้ามส่งเสียงดัง ห้ามเปิดไฟ เเละอดข้าวมาเเล้ว 3 วัน เพื่อรอคนมารับส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวไปสอบสวนที่ สภ.ทุ่งลุง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมสอบสวนและคัดแยกเหยื่อตามกระบวนการของกฏหมาย

เจ้าหน้าที่เผยว่าทางพล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว เเละป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจเเห่งชาติ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เดินหน้าทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ข้ามชาติที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่คล้ายๆกับชาวโรฮิงญา ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้และพบว่ามีแรงงานเถื่อนทะลักเข้ามาอย่างหนักจากต้นทางประเทศเมียนมา ใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย

ที่มา: สยามรัฐ, 10 มิ.ย. 2562

ตลาดแรงงานตึงตัว ห่วงจ้างงานภาคเกษตร-ท่องเที่ยวลด

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปีนี้ ไทยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.9% โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.7 ล้านคน จากจำนวนแรงงานทั้งหมด 38.7 ล้านคน เป็นการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 3.2% ภาคก่อสร้างเพิ่มขึ้น 10.5% ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1% ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารลดลง 0.2% และผู้มีงานทำในภาคการเกษตรลดลง 4.2% ส่งผลให้อัตราการว่างงาน 0.9% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 350,000 คน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำแต่มีแนวโน้มว่าตลาดแรงงานเริ่มตึงตัวมากขึ้น ดังนั้น สศช.ได้แนะนำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ที่จะกระทบต่อการจ้างงานในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะภัยแล้งที่จะกระทบการจ้างงานภาคเกษตร ส่วนสงครามการค้าอาจไม่กระทบการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมมากนัก แต่จะกระทบภาคท่องเที่ยว ซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้นหลังไตรมาสแรกปีนี้ กิจการโรงแรมและภัตตาคารมีการจ้างแรงงานลดลง 0.2% เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีน-สหรัฐฯ มีสัดส่วนท่องเที่ยวไทยรวมกัน 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดมีจำนวนลดลง และแรงงานกลุ่มนี้ยังได้ค่าจ้างงานระยะสั้นหรือรับค่าจ้างรายวัน

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ข้อมูลดัชนีค่าจ้างแรงงาน ที่ครอบคลุมค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา (โอที) โบนัสและผลประโยชน์อื่นที่เป็นตัวเงินของลูกจ้างไทยช่วงไตรมาส 4 ปี 61 ลดลง โดยดัชนีอยู่ที่ 110.37 ลดลงจาก 111.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนค่าจ้างแรงงานไทยที่เป็นตัวเงินชะลอตัวลง โดยค่าจ้างแรงงานภาคเหมืองแร่เหมืองหินและอื่นๆลดลงมากที่สุด โดยดัชนีค่าจ้างแรงงานอยู่ที่ 80.36 ลดลงจาก 92.64 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนภาคการผลิตดัชนีอยู่ที่ 108.88 ลดลงจาก 110.91 ภาคการไฟฟ้าก๊าซและประปาอยู่ที่ 96.41 ลดลงจาก 105.78 ขณะที่ภาคโรงแรมและภัตตาคารอยู่ที่ 116.88 ลดลงจาก 117.32 ส่วนภาคการเงินการธนาคารอยู่ที่ 92.12 ลดลงจาก 93.28 เช่นเดียวกับภาคการค้าอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจให้เช่าและธุรกิจอื่นๆที่ดัชนีค่าจ้างแรงงานลดลงมาที่ 104.58 จาก 106.92 ขณะที่ภาคก่อสร้างและภาคการค้าส่งและค้าปลีกทรงตัว

ธปท.ระบุว่า การลดลงของดัชนีค่าจ้างแรงงาน สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจ คำสั่งซื้อและการผลิตที่ลดลง ทำให้ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา โบนัสและผลประโยชน์อื่นของลูกจ้างลดลง แต่ยังมี 3 ภาคการผลิตที่ดัชนีค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น คือภาคการขนส่งและคมนาคม, ภาคบริการสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งภาคบริการชุมชนและส่วนบุคคล

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 7/6/2562

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net