รู้จัก ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ ทหารประชาธิปไตย (เคย) มีอยู่จริง

ครบรอบ 87 ปี ประชาธิปไตยในประเทศไทย ในปี 2562 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดซีรีส์เสวนาว่าด้วย ปฏิวัติ 2475 : อยากจำ vs อยากลืม (1932 Revolution : Remembering or Forgetting)

เสวนาครั้งแรกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย ภายใต้หัวข้อ ‘นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา : คณะราษฎร ทหารประชาธิปไตย’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562 ส่วนครั้งต่อไปจะว่าด้วย มรดกคณะราษฎร

กษิดิศ: ทหารประชาธิปไตย (เคย) มีอยู่จริง

กษิดิศ อนันทนาธร เป็นบรรณาธิการหนังสือในโครงการป๋วยฯ 100 ปี และเจ้าของรวมบทความเชิงประวัติศาสตร์ไทย ใน The101.World กล่าวว่า เขาจะหยิบยกประเด็นที่คนอื่นมักไม่ค่อยพูดถึง อย่างเรื่องตระกูล-สาแหรก ความเป็นมาทางเครือญาติของพระยาพหลฯ ก่อนจะพูดเรื่องมิติทางการเมือง

กำเนิด – เครือญาติ

พระยาพหลฯ เดิมชื่อ พจน์ มีพ่อชื่อนายกิ่ม (มีชื่อยศศักดิ์คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา เช่นกัน) มีแม่ชื่อ นางจับ ปู่ของพระยาพหลฯ ชื่อว่านายฉ่ำ เป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 5 มีภริยาชื่อนางอิ่ม นายฉ่ำมีพ่อชื่อ พัฒนอากร เป็นคนจีนฮกเกี้ยน แซ่หลิม มาสำเภาเดียวกับพระยาอินอากร (อิน ทำหน้าที่เก็บภาษีอากร) ต่อมาสามารถสืบสาแหรกความสัมพันธ์ไปยัง ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ ดังนั้นนี่จึงแสดงให้เห็นภูมิหลังของพระยาพหลฯ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับชนชั้นปกครองอยู่ในระดับหนึ่ง

เนื่องจากนายกิ่ม พหลโยธิน มีภรรยาหลายคน ข้อมูลส่วนนี้ไม่ได้ระบุอย่างแน่ชัด แต่แม่ของพระยาพหลฯ (นางจับ) ตามข้อมูลที่กษิดิศใช้ในการอ้างอิงคือ ภรรยาคนที่ 5

บุคคลที่มีความสำคัญต่อพระยาพหลฯ คือ พลโท พระยาพหลโยธินรามนิทราภักดี (นพ พหลโยธิน) บุตรคุณหญิงสาหร่าย นพถือเป็นพี่ชายต่างมารดาของพระยาพหลฯ หรือบุคคลอย่าง จมื่นสุรฤทธิ์พฤฒิไกร (ฝั่ง) พี่น้องต่างมารดาอีกคนที่ต่อมามีบทบาททางการเมืองต่อพระยาพหลฯ มากก็เป็นบุตรของเจ้ากัลยา ราชธิดาของเจ้าหลวงลาว กับนายกิ่ม พหลโยธิน

พี่ชายผู้เป็นเสมือนพ่อ

พระยาพหลโยธินรามนิทราภักดี (นพ) เป็นผู้ที่ส่งเสียเลี้ยงดูพระยาพหลฯ (พจน์) หลังจากที่นายกิ่มเสียชีวิตลง ขณะนั้นพจน์ยังเป็นเด็ก และนพก็มีตำแหน่งทางราชการเป็นหลวง ทั้งนี้ พระยาพหลโยธินรามนิทราภักดียังเป็นพ่อของนายแนบ พหลโยธิน (1 ใน 7 คณะราษฎร 7 คนแรกที่ประชุมกันที่ปารีส) นอกจากนั้นเขายังมีความสัมพันธ์กับสายตระกูลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผ่านทางพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ในฐานะเพื่อนร่วมสาบานกัน ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสกุลพหลโยธิน กับ เจ้านายทางวังกรมขุนวรจักร ถือว่าเป็นพระญาติซึ่งเรียกว่า ‘พระญาติบางสะแก’

นอกจากนี้พระยาพหลโยธินรามนิทราภักดียังเป็นผู้ไปขอพระราชทานนามสกุลกับรัชกาลที่ 6 จึงได้นามสกุล พหลโยธิน ใช้เรื่อยมา

นิมิตประหลาดที่ญี่ปุ่น

พระยาพหลฯ เรียนหนังสือจบจากเยอรมัน พอกลับมาประเทศไทยก็ได้ชื่อว่าเป็นทหารที่จบเมืองนอกคนแรก ในช่วงทศวรรษ 2470 ก่อนปี 2475 พระยาพหลฯ ถูกส่งให้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เรื่องราวทางประวัติศาสตร์กระแสหลักมักบอกเล่าถึงช่วงเวลานี้ว่า ตอนพระยาพหลฯ ไปเดินสวนสาธารณะที่ญี่ปุ่นเห็นรูปปั้นของบารอน ไซโง (ไซโง ซากาโมริ) ซึ่งมีโครงหน้าคล้ายคลึงพระยาพหลฯ มาก ล่ามญี่ปุ่นเล่าว่า บารอน ไซโง เป็นหนึ่งในซามูไรผู้ทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของญี่ปุ่น ขจัดอำนาจโชกุน ให้พระมหากษัตริย์มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ล่ามยังกล่าวว่า พระยาพหลฯ หน้าเหมือนขนาดนี้ต่อไปในอนาคตอาจได้ทำแบบนี้ในเมืองท่านก็ได้

ผู้อภิวัฒน์

เวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มักพูดถึงสมาชิกผู้ก่อการ 7 คนที่อยู่ในการประชุมในกรุงปารีส ฝรั่งเศส โดยเฉพาะคุณแนบ พหลโยธิน ที่ถูกเก็บเป็นตัวละครลับในเวลานั้น เผื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่สำเร็จ คุณแนบจะเป็นผู้ดูแลและสนับสนุนครอบครัวของสมาชิกคนอื่นที่เป็นผู้ริเริ่ม อย่างไรก็ตาม มีข้อพิสูจน์ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า คุณแนบไม่ได้เป็นผู้ชักชวนพระยาพหลฯ ให้มาร่วมเป็นผู้ก่อการตามที่ผู้คนเข้าใจ นรนิติ เศรษฐบุตร เองก็เคยเขียนข้อมูลเกี่ยวกับคุณแนบไว้ในสารานุกรมของสถาบันพระปกเกล้าว่า คุณแนบไปเรียนอยู่ที่อังกฤษและฝรั่งเศส กลับมาเมืองไทยปี 2474 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนิดเดียว ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะมาชวนพระยาพหลฯ ให้มาร่วมก่อการ

กษิดิศได้กล่าวถึงบันทึกของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ได้สัมภาษณ์พระยาพหลฯ ว่าด้วยเบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 พระยาพหลฯ ชี้แจงไว้ว่า ผู้ชักชวนให้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ น้องชายต่างมารดาที่ชื่อ พันโท จมื่นสุรฤทธิ์พฤฒิไกร (ฝั่ง) ซึ่งรู้จักกับคุณประยูร ภมรมนตรี และกำลังหาหัวหน้าในการก่อการ จึงชวนตนเองมาเป็นหัวหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาพหลฯ เองก็เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จริง จึงได้ตอบรับข้อเสนอในการเป็นหัวหน้า

นายกรัฐมนตรี

หลังทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้เข้ามาเป็นประธานกรรมการราษฎรคนแรกและเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก โดยกษิดิศได้กล่าวถึงงานเขียนของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ที่ระบุว่ารัฐบาลพระยามโนฯ ทำการปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา จึงเป็นเหตุทำให้พระยาพหลฯ ต้องทำการยึดอำนาจซ้ำอีกรอบเพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาได้และใช้รัฐธรรมนูญได้ตามปกติ

การรัฐประหารหรือยึดอำนาจจากพระยามโนฯ ในครั้งนั้นจึงเป็นไปเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ใช่การฉีกรัฐธรรมนูญ กษิดิศมองว่าเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากคนในสังคมไทยมักจะเข้าใจผิดว่าพระยาพหลฯ เป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็มาเป็นผู้ที่ทำการรัฐประหารเหมือนจะอยากรักษาอำนาจไว้ แต่ความจริงคือเพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นระบอบใหม่

พอทำการรัฐประหารพระยามโนฯ ก็มีปัญหาการหาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ จึงเสนอตัวเองเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 10-15 วัน เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อครบกำหนดก็ขอลาออก หนึ่งในเหตุผลคือ พระยาพหลฯ มองว่าตัวเองไม่ได้เป็นนักกฎหมายหรือนักปกครอง แต่เป็นทหาร ไม่ถนัดในงานบริหารประเทศ ไม่ได้เรียนการเมืองการปกครองอาจจะไม่มีความรู้ความสามารถพอ

ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2477 รัชกาลที่ 7 ทรงตอบจดหมายลาออกของพระยาพหลฯ โดยมีเนื้อความคือ ไม่ยอมให้พระยาพหลฯ ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี รัชกาลที่ 7 ได้พูดถึงลักษณะอันสำคัญยิ่งของนายกรัฐมนตรี คือ “เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือ ไว้วางใจของประชาชนพลเมือง และเป็นผู้ที่สามารถยึดเหนี่ยวน้ำใจของคนทั้งหลาย ประสานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ช่วยให้ราชการดำเนินไปได้ด้วยดี ปราศจากอุปสรรค และเป็นประโยชน์อันดีงามแก่ชาติบ้านเมือง ในเวลาบัดนี้จะหาผู้ใดนอกจากท่านเจ้าคุณ ที่จะบริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติดังว่านี้ยากนัก”

กษิดิศได้ยกตัวอย่างว่าพระยาพหลนั้นลาออกอยู่หลายครั้ง เช่น กรณีที่ถูกตั้งกระทู้ถามในสภา เรื่องการเอาที่พระคลังข้างที่มาขายในราคาถูก พระยาพหลฯ จึงลาออกและให้มีการสืบสวนกัน กรณีที่แพ้โหวตในสภาเรื่องการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาเรื่องการค้ายางพารา และแพ้โหวตประเด็นเรื่องการแสดงรายรับรายจ่ายพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีแบบลงรายการรายละเอียด ซึ่งพระยาพหลฯ บอกทำไม่ได้ ถ้าทำก็ต้องลาออก

พระยาพหลฯ ออกตามวิถีทางของระบอบรัฐสภา มีปัญหาแพ้โหวตก็ออก
มีปัญหาความไม่ชอบธรรมในการบริหารประเทศก็ยอมลาออก
ไม่ใช่ทหารที่อยากอยู่ในอำนาจตลอด
ถึงแม้จะอยู่ 5 ปีเหมือนกัน แต่ท่านออก 3 ครั้ง...
พระยาพหลฯ มีคุณสมบัติพิเศษในการประสานรอยร้าว
อะไรแบบนี้ก็เป็นลักษณะสำคัญของนายทหารที่เป็นผู้นำคน 
ไม่ใช่ใช้แต่อำนาจบาตรใหญ่พูดอะไรไม่เข้าเรื่อง" กษิดิศกล่าว

เชษฐบุรุษ

ในบันทึกของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ปี 2490 ได้กล่าวถึงความมีสัตย์ของพระยาพหลฯ โดยยกกรณีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีและต้องมีคนมาดำรงตำแหน่งต่อ มีกระแสที่บอกว่าให้พระยาพหลฯ กลับมาเป็นนายกแทนในเวลานั้น แต่พระยาพหลฯ ตอบกลับทำนองว่า เห็นจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเคยบอกหลวงพิบูลฯ ไว้แล้ว

“เมื่อผมได้ลั่นวาจาไว้แล้ว แต่กลับไปรับตำแหน่งต่อจากเขา เขาก็อาจจะคิดว่าผมพยายามจะเข้ามาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาไป และวาจาผมก็จะไม่เป็นวาจาสัตย์ ผมอยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้ใหญ่ ก็ตั้งใจจะไม่ให้ผู้มาทีหลังเขาดูแคลนวาจาของเราได้”

กษิดิศกล่าวสรุปโดยหยิบยกคำกล่าวของพระยาพหลฯ ที่ว่า “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ” ดังนั้น พจน์ พหลโยธิน จึงเป็นผู้ที่ทำตามสัญญา ขอเวลาไม่นานก็คือไม่นาน พูดแล้วก็รักษาคำพูด  

ประเด็นสุดท้ายกษิดิศได้ชวนคิดว่า ต่อไปในอนาคตบทบาทและพื้นที่ทางประวัติศาสตร์เรื่องคณะราษฎรยังจะมีอยู่อีกหรือไม่ เพราะในการศึกษากระแสหลักก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์หรือให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรเลย ข้อมูลความรู้ต่างๆ ก็กระจัดกระจายตามหนังสืองานศพและอื่นๆ

ชานันท์: บทบาทผู้หญิงก่อน-หลัง 2475

ชานันท์ ยอดหงส์ ผู้เขียนหนังสือเรื่องนายใน และนักประวัติศาสตร์ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง แม่บ้านการเมือง: แม่บ้านการเรือนและครอบครัวกับการปฏิวัติ 2475 กล่าวถึงพระยาพหลฯ ในอีกแง่มุมหนึ่ง

กำเนิดคณะราษฎร

กลุ่มคณะราษฎร์ถือว่าเป็นชนชั้นกลาง กระฏุมพีที่เกิดขึ้นมาใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางสังคม และการได้รับวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้คนกลุ่มนี้มีสำนึกชาตินิยมซึ่งแตกต่างไปจากชนชั้นสูงในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีสำนึกการมีคู่รักที่ไม่ใช่มีเมียหลายคนแบบในยุคนั้นที่มองว่าเมียเป็นบริวาร จะเห็นได้ว่าผู้หญิงหลายคนที่แต่งงานกับสมาชิกคณะราษฎรล้วนจบจากโรงเรียนมิชชันนารี ซึ่งก็จะรับแนวความคิดแบบตะวันตกเข้ามา

ขณะเดียวกันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มีการเกิดขึ้นของทหารประชาธิปไตย เนื่องจากสถาบันการศึกษาของทหารถือว่าเป็นสถาบันที่เป็นสมัยใหม่มาก ทำให้ทหารได้รับแนวคิดจากตะวันตกจนมีความคิดหัวก้าวหน้าจนเกินไป กระทั่งเกิดกบฏ ร.ศ.130 หลังจากนั้นมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อให้ทหารฉลาดน้อยลง เพราะกลัวจะกระด้างกระเดื่องต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

คณะราษฎรหลายคนเรียนจบจากตะวันตกทำให้ต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองเพราะอยากให้สยามศิวิไลซ์มากขึ้น จึงมีการบัญญัติหลัก 6 ประการขึ้น ต่อมาหลักดังกล่าวเป็นหัวใจหลักของนโยบายของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาและมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัวที่จะไม่มีการสมรสซ้อน คือ ต้องมีผัวเดียวเมียเดียว ไม่ใช่ระบอบการปกครองแบบเก่าที่ชนชั้นนำเก่ามักจะมีหลายเมียและที่ผ่านมาชนชั้นนำก็ถูกโจมตีอย่างมากเรื่องการกดขี่สตรี แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในขณะนั้นก็มีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่จะต้องแก้ไขหลายประเด็น เช่น ผู้ชายมีสิทธิ์จะฟ้องหย่าได้ แต่ก็ยังไม่ระบุว่าผู้หญิงมีสิทธิ์ฟ้องหย่าหรือไม่ และมีการแก้ไขกฎหมายภายหลังใน พ.ศ.2519

ความไม่เท่าเทียมทางเพศ

อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ของสยามก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นั่นคือ ผู้หญิงมีการศึกษาในโรงเรียนมิชชันนารี เป็นโรงเรียนหญิงล้วน จึงเกิดอาชีพครูขึ้นมา ครูต้องเป็นผู้หญิงเพราะจะได้สอนนักเรียนหญิง ในขณะนั้นรัฏฐาธิปัตย์ก็ยังไม่ให้ความสำคัญกับผู้หญิงในเรื่องการศึกษา เพราะเรียนจบไปก็ไปเป็นเมีย ไม่ได้ใช้ความรู้ ผู้หญิงจึงต้องเรียนรู้กันเอง จนกระทั่งครูผู้หญิงเริ่มมีมากขึ้นแต่ก็ประสบปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ ไม่ได้รับเงินเดือนเท่าครูผู้ชาย แม้จะประกอบอาชีพมาอย่างยาวนาน ไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญตามตำแหน่ง ในขณะนั้นยังมีหนังสือนิตยสารสตรี พูดถึงเรื่องสิทธิความเป็นครูผู้หญิงที่ควรได้รับเท่ากับครูผู้ชายด้วย

จนกระทั่งในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ออกพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2479 ซึ่งเป็นการปรับปรุงอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนใหม่ ทำให้ข้าราชการหญิงมีสถานะเท่ากับข้าราชการชาย จนกระทั่งยุคของรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม เสนอวันข้าราชการสตรีเพื่อระลึกถึงบทบาทความสำคัญของคณะราษฎรในขณะนั้น

จะเห็นได้ว่าพระยาพหลพลพยุหเสนามีบทบาททางการเมืองเยอะแต่กลับได้รับการพูดถึงน้อยกว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามหรือปรีดี พนมยงค์ ในรัฐบาลพระยาพหลฯมีการยกเลิกพระราชบัญญัติสมุด เอกสารและหนังสือพิมพ์ที่บัญญัติไว้ในรัชกาลที่ 7 และได้เปิดหนังสือพิมพ์ “ไทยใหม่” และ “ประชาชาติ” ซึ่งถูกปิดในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา รัฐบาลพระยาพหลฯ เป็นมิตรกับสื่อ เหมือนกับว่าเป็นความร่วมมือของสื่อกับรัฐบาลเพื่อให้สยามเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

ภริยาของพระยาพหลพลพยุหเสนา

ภริยาคนแรกของพระยาพหลพลพยุหเสนา คือ คุณหญิงพิชญ์ เป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรี พระยาพหลฯ เคยอาศัยอยู่ในจังหวัดนี้จนรู้จักกัน คุณหญิงพิชญ์มีน้องสาวชื่อ คุณบุญหลง ต่อมาได้เป็นภริยาคนที่สองของพระยาพหลฯ โดยพระยาพหลฯ อุปการะเลี้ยงดูอย่างดีจนมีลูกด้วยกัน 7 คน คุณหญิงบุญหลงมีอุปนิสัยที่เรียบง่าย สนใจในธรรมะ เธอออกตัวเสมอว่าเธอไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองเท่าไร แม้คุณหญิงบุญหลงจะมีชีวิตเรียบง่ายแต่ก็ยังมีข่าวลือมากมายเช่นเดียวกับภริยาของคณะราษฎรอีกหลายๆ คนว่าเป็นคนขับเคลื่อนหรืออยู่เบื้องหลังทางการเมือง เช่น ข่าวลือเรื่องคุณหญิงบุญหลงเป็นตัวแทนของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไปขอร้องจอมพลป.ให้ลาออก แม้กระทั่งช่วงปลายรัฐบาลของจอมพลป.ก็มีข่าวลือว่าคุณหญิงบุญหลง พยายามจะก่อตั้งพรรคและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคซึ่งเธอปฏิเสธเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามบทบาทของภริยาทั้งหลายของคณะราษฎรมักจะมีบทบาทชัดเจนในเรื่องความพยายามในการชำระประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยคณะราษฎรผ่านกิจกรรมสาธารณกุศลต่างๆ

เมื่อมีคนมาวิจารณ์คณะราษฎร บางครั้งทนไม่ได้จึงได้โต้ตอบกลับอยู่หลายครั้ง
ว่าความจริงคืออะไร และถ้ามีใครไปแก้ไข บิดเบือน ทำลาย รัฐธรรมนูญ 2475
ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่บริสุทธิ์
และเป็นประชาธิปไตยที่สามีเสี่ยงหัวขาด 7 ชั่วโคตร
ต้องเผชิญกับภัยพิบัติ อุปสรรคต่างๆ ก็ขอสาปแช่งไว้” บุญหลงกล่าว

ศรัญญู: การเขียนถึงพระยาพหลฯ 4 เวอร์ชั่น

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ นักวิชาการด้านการเมืองและวัฒนธรรม กล่าวถึงผลงานประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับพระยาพหลฯ

ข้อสังเกตเกี่ยวกับงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับพระยาพหลฯ จะพบว่า มีปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับงานผู้นำที่สำคัญของคณะราษฎร เช่น ปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อาจเป็นเพราะเขามีลูกศิษย์น้อย หรือเครือข่ายค่อนข้างจำกัด 

งานที่เกี่ยวกับประวัติของพระยาพหลฯ เริ่มปรากฏช่วงทศวรรษ 2480 ในรูปแบบหนังสือที่ระลึก หนังสืออนุสรณ์ สารคดีการเมือง เริ่มมีงานของนักวิชาการเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2520  โดยอาจารย์สมศักดิ์ จิระสกุล ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า

กระแสแรกคือ ‘กระแสเชียร์คณะราษฎรโจมตีเจ้า’ กระแสนี้เกิดก่อน 2490 ที่คณะราษฎรเรืองอำนาจ มีคำอธิบายพระยาพหลฯ ในฐานะที่เป็นนักปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ซึ่งส่วนนี้จะมองด้านบวก กระแสที่สองคือ  ‘โจมตีคณะราษฎรและเชียร์เจ้า’ ส่วนนี้เป็นงานของฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม อนุรักษ์การปฏิปักษ์ โดยอธิบายการปฏิวัติ 2475 ขึ้นมาใหม่หลังจากที่คณะราษฎรหมดอำนาจลง

กระแสที่สามคือ ‘โจมตีทั้งคณะราษฎรและโจมตีทั้งเจ้า’ เช่น งานของฝ่ายซ้ายในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นงานที่แทบจะไม่พูดถึงพระยาพหลฯ เลย แต่จะไปพูดถึงจอมพล ป. พิบูลสงครามมากกว่า เพราะในด้านหนึ่งคือดูโครงสร้างเศรษฐกิจกับกลุ่มอำนาจนิยมต่างๆ

พระยาพหลฯ หลากเวอร์ชั่น

หากลงไปในรายละเอียดของสถานการณ์ในช่วงต่างๆ จะพบว่า ช่วงแรกเริ่มงานเขียนเกี่ยวกับพระยาพหลฯ เกิดขึ้นในหมู่นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ราวทศวรรษ 2480 เป็นช่วงที่คณะราษฎรเริงอำนาจ ลักษณะเด่นคือ เป็นการเล่าแบบพรรณนาไปเรื่อยๆ มีการใช้หลักฐานจากการสัมภาษณ์พระยาพหลโดยตรง และมีการแสดงทัศนะยกย่องในฐานะผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยไทย เป็นผู้นำของประเทศที่เสียสละเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2500 – 2510 เป็นกระแสโจมตีพระยาพหลฯ ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของอนาธิปไตย และทำให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง ซึ่งเป็นผลมาจากการตีความแบบผิดฝาที่เชื่อมโยงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร ว่าสืบทอดอำนาจมาจากคณะราษฎร และมีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจ 2475 ด้วย

หลังจากพระยาพหลฯ ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2490 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมาย งานศพของพระยาพหลฯ ถือเป็นงานครั้งสุดท้ายที่คณะผู้ก่อการทั้งสายทหารและพลเรือนที่เคยแตกออกในช่วงสงครามโลกได้กลับมาร่วมงานพร้อมกัน และกลายเป็นจุดปิดฉากของคณะผู้ก่อการด้วย หลังจากนั้นวันที่ 8 มิถุนายน 2490 เกิดการรัฐประหารของผิน ชุณหะวัณ ซึ่งนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังมองว่า นี่คือจุดสิ้นสุดของคณะราษฎร อุดมการณ์ของคณะราษฎรหลังจากนี้ได้หายไปหมดแล้ว  

ขณะเดียวกันแม้คณะราษฎรจะสิ้นสุดบทบาททางการเมืองหลังรัฐประหารปี 2490 แต่ยังมีการระลึกถึงพระยาพหลฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างอนุสรณ์สถานพระยาพหลฯ เปลี่ยนชื่อถนนจากประชาธิปัตย์เป็นถนนพระยาพหลฯ ซึ่งปัจจุบันคือ ถนนพหลโยธิน สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ มีการเปิดโรงพยาบาลและเปิดอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ในปี 2496 ที่โรงพยาบาลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะที่เขามีบทบาทในการพัฒนาเมืองกาญจนบุรี

งานตอบโต้จากอดีตกบฏบวรเดช             

การเผยแพร่งานพระยาพหลฯ จะปรากฏในสารคดีทางการเมือง งานที่น่าสนใจ คือ งานของ ศิริ เปรมสิทธิ์ เรื่องเบื้องหลังชีวิต 8 นายกรัฐมนตรีซึ่งนำเสนอชีวิตทางการเมืองที่สำคัญ การเชียร์คณะราษฎร พร้อมรวบรวมเอกสารเพิ่มเติม อาทิ การอธิบายประวัติพระยาพหลฯ นอกเหนือจากการใช้โครงเรื่องหลักจากหนังสืองานศพแล้วก็มีการเอาหลักฐานอื่นๆ เช่น คำพิพากษาศาลพิเศษ เพื่ออธิบายความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับกลุ่มกษัตริย์นิยม

อย่างไรก็ตามก็มีงานตอบโต้ด้วยเช่นกัน คือ งานของกลุ่มอดีตนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นอดีตกบฏบวรเดช    เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลพระยาพหลในระบอบใหม่ งานชิ้นนี้คือ ‘ประชาธิปไตย 17’ ของหลุย คีรีวัต เป็นทัศนะของผู้เขียนที่โจมตีคณะราษฎรและเชียร์เจ้า โดยมองว่า 2475 แทบจะไม่มีอะไรดีเลย เป็นงานที่โจมตีพระยาพหลฯ แบบสุดขั้ว และมองพระยาพหลฯ ว่าเป็นกบฏยึดอำนาจจากรัชกาลที่ 7 และก่อกบฏอีกครั้งในปี 2476 มีรัฐมนตรีเป็นคอมมิวนิสต์ คือ ปรีดี พนมยงค์ และนำไปสู่การต่อต้านจากทหารหัวเมือง จนทำให้เกิดกบฏบวรเดช

งานที่น่าสนใจคือ รอง ศยามานนท์  เพราะกล่าวถึงผลงานรัฐบาลพระยาพหลฯ เป็นหลัก มีการให้ข้อสรุปเกี่ยวกับรัฐบาลพระยาพหลว่า “เป็นรัฐบาลที่ต้องเผชิญกับการต่อต้านและวิกฤตต่างๆ แต่ก็สามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมืองเอาไว้ได้ระดับหนึ่ง ประกอบกับพระยาพหลฯ เป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่การงาน ไม่ประสงค์คุมอำนาจปกครองไว้เป็นระยะอันยาวนาน แม้ว่าต้องจะเผชิญกับการต่อต้าน” งานนี้ถึงแม้ว่าจะมองพระยาพหลฯ เป็นกลางๆ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่งานชิ้นนี้ก็มีปัญหาพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการโจมตี ปรีดี พนมยงค์ กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สุดท้ายปรีดี พนมยงค์ ทำการยื่นฟ้องและชนะคดี ทำให้หนังสือเล่มนี้ต้องถูกเก็บไว้

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2520 เริ่มปรากฏคำอธิบายกระแส 2475 ในลักษณะที่มีการประนีประนอมมากขึ้นในลักษณะที่เชียร์ทั้งคณะราษฎรและเชียร์เจ้า สะท้อนได้จากการเขียนประวัติของปรีดี พนมยงค์ ที่ลดทอนความรุนแรงลง ลดความเป็นซ้ายของปรีดี และสามารถอยู่กับสถาบันกษัตริย์ได้ ซึ่งการเขียนประวัติพระยาพหลฯ ก็มีลักษณะมองในด้านบวกมาก ขณะเดียวกันมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับคณะราษฎร 2475 ก็เริ่มมีการตีความใหม่ เช่นงานของ นเรศ นโรปกรณ์ เรื่อง 100 ปีพระยาพหลฯ งานของธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เรื่อง การรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476  ซึ่งแต่เดิมก็มีความเข้าใจผิดมากๆ แต่ธำรงศักดิ์อธิบายว่า ‘นี่คือการโต้การรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์ และนำระบอบประชาธิปไตยให้ดำเนินอีกรอบหนึ่ง’ งานของกษิระ ศรีเจริญ และงานของวีระชัย ภู่เพียงใจ ได้ศึกษาพระยาพหลฯ ในฐานะที่เป็นผู้มีภาวะผู้นำทางการเมืองและพฤติกรรมทางการเมือง โดยอธิบายลักษณะของพระยาพหลฯ ว่า ‘เป็นผู้ที่มีความอาวุโส มีความซื่อสัตย์ สร้างความสามัคคีประนีประนอมในหมู่คณะ เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง มีความรู้ความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจนได้รับการยกย่องและเชิดชูจากนักการเมืองในสมัยนั้น’

ขณะที่ช่วงทศวรรษ 2550 จะมีการผลิตงานพระยาพหลฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น งานของจำนง ทองประเสริฐ อธิบายพระยาพหลฯ ว่า ‘เป็นเชษฐบุรุษที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย’ งานของพลตรีไพบูล กาญจนพิบูลย์ มีการรวบรวมข้อมูลหลักฐานใหม่ๆ และข้อมูลใหม่ๆ ที่ได้รับจากครอบครัวพระยาพหลฯ  ขณะเดียวกันการเปิดหลักฐานใหม่ในช่วงไม่นานมานี้ คือ การนำเอาภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับพระยาพหลฯ มาเผยแพร่ เช่น งานของธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

“งานส่วนใหญ่จะให้ภาพพระยาพหลฯ ในด้านบวกในฐานะผู้นำในการปฏิวัติ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 เป็นนายกฯ ที่ซื่อสัตย์เรียบง่าย ซึ่งก็ไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับปรีดี พนมยงค์ หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะเดียวกันก็จะเป็นผู้วางรากฐานระบอบประชาธิปไตยในระยะแรก”

“พระยาพหล ฯ ได้กลับมาโลดแล่นทางการเมืองอีกครั้งหลังการรัฐประหาร 2549 เมื่อมีการเชื่อมโยงพระยาพหลฯ บทบาทของคณะราษฎรกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตย มีการเชื่อมโยงและมีการสร้างภาพให้พระยาพหลฯ ใหม่ ในฐานะทหารประชาธิปไตย หัวหน้าคณะราษฎร และผู้พิทักษ์การปฏิวัติ และเชื่อมโยงอุดมการณ์เข้ากับการเคลื่อนไหว เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย” ศรัญญูกล่าว

นริศ: พุทธศาสนาหลังการปฏิวัติ 2475

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เป็นนักวิชาการอิสระเชี่ยวชาญด้านการเมืองและศาสนา ได้บรรยายถึงการหลอมรวมของธรรมยุตนิกายกับมหานิกายว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มระบอบเก่าไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.สงฆ์ 2484 ที่ผลักดันโดยคณะราษฎร์

ในแง่ของมหานิกาย เขามองว่าเป็นคนส่วนมากแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร หลัง 2475 จึงนำมาสู่การพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องกฎเกณฑ์การปกครองคณะสงฆ์ แต่สุดท้ายแล้ว พ.ร.บ.สงฆ์ 2484 ของคณะราษฎรถูกฉีกทิ้งในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วเราก็ไม่เห็นพ.ร.บ.สงฆ์นี้อีกเลย แม้พยายามที่จะดึงกลับมาและพูดถึงหลัง 14 ตุลา แต่ทุกอย่างก็หายไปเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นในมิติของพุทธจักรเราจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าอาณาจักรไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่พอ

ย้อนการเมืองและศาสนาพุทธสยามเมื่อ พ.ศ. 2475

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งพระพุทธทาสและพระพิมลธรรม ล้วนสนิทกับปรีดี พนมยงค์ และมีส่วนผลักดันความเจริญด้านอาณาจักรและพุทธจักรร่วมกัน

วันที่ 19 กรกฎาคม หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพียงเดือนเดียว ท่านเจ้าคุณอุบาลีหรือจันทร์ สิริจนฺโท มรณภาพ ท่านเป็นผู้ที่สามารถผลักดันให้ธรรมยุตสำเร็จในอีสาน การมรณะของท่านเจ้าคุณจันทร์มีผลให้ยุติบทบาททางสายธรรมยุตพอสมควร

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มียุวสงฆ์อยู่ประมาณ 300 รูปจากวัดมหานิกายต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องของความเท่าเทียมในนิกาย หลักคณะปกครองคือเพื่อความเสมอภาคของคณะสงฆ์ และเพื่อการรวมนิกายสงฆ์ให้มีสังวาสเสมอกัน ให้มีการอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน ยุวสงฆ์เหล่านี้เลยส่งตัวแทนผ่านการแนะนำของนายถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรที่สำคัญในยุคก่อนและหลัง 2475 ดังที่เห็นในบริบทนี้

“...ไปบ้านป้อมเพชร ท่านปรีดีนุ่งกางเกงแพรดำ ใส่เสื้อป่านกุยเฮงสีขาว ลงมารับหน้าตึก เมื่อขึ้นไปนั่งบนบ้าน ท่านจุดไฟแช็คให้แก่พระสงฆ์ทุกรูปแล้วก็กล่าวว่า เรื่องของพระคุณนั้นผมทราบโดยตลอดเพราะสันติบาลรายงานให้ผมทราบเป็นระยะ ผมเห็นด้วยที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยนำร่างพระราชบัญญัติเข้าเสนอสภาให้เข้ารูปเข้ารอย ผมจะให้ขุนสมาหาร นำคดีมาแนะนำในการร่างพระราชบัญญัตินี้”

พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2484 ‘หลอมนิกาย’

เมื่อคุยกับอาจารย์ปรีดีแล้วก็เกิดการผลักดัน ‘พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2484 หลอมนิกาย’ ขึ้นมา พ.ร.บ.นี้เริ่มเข้าสภาประมาณปลายรัฐบาลพระยาพหลฯ ครั้งแรกนำเสนอโดย ส.ส.ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ซึ่งเป็นส.ส.จังหวัดธนบุรีคนแรกและเป็นส.ส.ที่ดำริสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช หลักการของพ.ร.บ.สงฆ์  2484 มี 2 อย่างคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะสงฆ์ จากเดิมที่เคยรวมศูนย์ที่มหาเถรสมาคมแล้วบริหารเป็น 3 ส่วนคือตุลาการ นิติบัญญัติ บริหาร ช่วงนั้นก็จะมีการดันสังฆราชขึ้นไปเหมือนพระมหากษัตริย์ มีการตั้งสังฆนายกขึ้นมาเหมือนนายกรัฐมนตรี ในขณะที่สังฆนายกจะมีรัฐมนตรีอีก 4 กระทรวง รวมแล้วจะมีรัฐมนตรีอยู่ประมาณ 9 รูป แล้วก็มีสังฆสภาอยู่ 45 รูปโดยจะคัดพระเก่งๆ มาเป็นสังฆสภา แล้วก็จะมีวินัยธรซึ่งก็จะเหมือนกับตุลาการ สามอันนี้ก็จะถ่วงดุลกัน นี่คือหลักๆ ของพ.ร.บ.สงฆ์ 2484 ที่สำคัญ

ข้อที่ 2 คือการหลอมรวมธรรมยุตกับมหานิกายให้เบ็ดเสร็จภายใน 8 ปี หลังพ.ร.บ.นี้ใช้แล้ว และหลัง 2475 เป็นครั้งแรกที่การตั้งสมเด็จพระสังฆราชนับจากอาวุโสสมณะศักดิ์ ไม่ได้สลับกันระหว่างธรรมยุตกับมหานิกาย พูดง่ายๆ คือในตอนนั้นใครขึ้นสมเด็จก่อนถึงจะได้เป็นพระสังฆราช

วัดพระมหาศรีธาตุ บางเขน

คณะราษฎรมีการจัดตั้งวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน วัดนี้เดิมจะพยายามตั้งชื่อว่าเป็นวัดประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการดำริของพระยาพหลฯ ซึ่งได้รับการเนรมิตจากงบประมาณของรัฐและเรี่ยไรในสมัยหลวงพิบูลสงคราม วัดนี้สร้างเมื่อปี 2483 แล้วเสร็จเมื่อปี 2484 ในปีนี้ขณะที่ พ.ร.บ.สงฆ์ถกกันอย่างเข้มข้น ด้วยท่านศรัทธาในพุทธศาสนาอยู่ด้วยจึงถือโอกาสออกบวชที่วัดนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นการบวชที่สำคัญคือเป็นการหลวมรวมธรรมยุตและมหานิกายลงพระอุโบสถพร้อมกันโดยไม่ต้องไปบวชซ้ำแบบธรรมยุตอีก ในพระอุโบสถนั้นคือการบวชพระยอดเยี่ยมที่สุดของสังคมไทยทั้งหมด และการสร้างวัดพระมหาศรีธาตุฯ บางเขนหลักๆ มี 2 จุดคือ พระเจดีย์กับพระอุโบสถออกแบบโดยพระพรมวิจิตร เป็นลูกศิษย์ของกรมพระยานริศ ข้างในจะบรรจุอัฐิของคณะราษฎรเกือบทั้งหมด

 

หมายเหตุ : 9.45 น วันที่ 22 มิ.ย.62 ประชาไทมีการปรับแก้เนื้อหาบางส่วนของนริศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท