ZIJ POJ NIAM : ประเพณีฉุดสาวม้งในกระแสการเปลี่ยนแปลง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อพูดถึงชาวม้ง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงอะไร? แน่นอนว่าหากคุณเป็นในภาคเหนือก็คงจะคุ้นเคยกับภาพชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนยอดดอยสูงอย่างดอยสุเทพ-ปุย ผู้คนแต่งกายด้วยชุดผ้ากำมะหยี่สีดำปักลายพร้อมเครื่องประดับเงินเต็มตัว เป็นผู้ปลูกพืชผลเมืองหนาวอย่างกะหล่ำปลีและสตรอเบอร์รี่ เปิดร้านขายเครื่องประดับหรือยืนรอถ่ายรูปตามสถานที่ท่องเที่ยวกับนักท่องเที่ยว อย่างวัดพระธาตุดอยสุเทพและไนท์บาร์ซา อย่างไรก็ตาม นอกจากภาพที่คุ้นเคยเหล่านี้ ชาวม้งนั้นยังมีประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการโยนลูกช่วงจีบกันของหนุ่มสาวในงานปีใหม่หรือประเพณีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงประเพณีหนึ่งที่พวกเราอาจจะไม่คุ้ยเคยนั่นคือการฉุดสาวไปเป็นภรรยา ซึ่งยังมีการปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันทั้งในเมืองไทยและชุมชนชาวม้งในต่างแดน การฉุดสาวไปเป็นภรรยานี้เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่จะทำให้เห็นว่ากระแสความเป็นสมัยใหม่ได้สร้างให้เกิดการตั้งคำถามถึงการมีอยู่และความสำคัญของประเพณีนี้ในหมู่ชาวม้งซึ่งไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันแต่ประกอบไปด้วยผู้คนหลายกลุ่ม หลายบทบาท และหลายเจนเนอเรชั่น เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและผู้เขียนจะได้นำมาเสนอในงานเขียนชิ้นต่อ ๆ ไป

ความเป็นมาและระบบสังคมม้ง

ก่อนจะเข้าถึงเรื่องการฉุดของชาวม้ง ผู้เขียนจะขอพูดถึงที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์นี้เสียก่อน ม้ง (Hmong/Miao/Meo ตามแต่ละท้องถิ่นจะเรียกกัน) เป็นกลุ่มชาวเขาซึ่งมีทั้งเรื่องเล่าและข้อสันนิฐานมากมายถึงต้นกำเนิด แต่ข้อสันนิษฐานที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือคือม้งได้อาศัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่มาหลายพันปีแล้ว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภาษาสาสตร์และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ผ่านการตรวจ DNA (Gary, 2007) บางการศึกษาอ้างว่าชาวม้งในจีนได้อาศัยอยู่แถบมณฑลกวางโจ เสฉวน ยูนนาน ก่อนที่ต่อมาได้เกิดการสู้รบปราบปรามชนเผ่าต่างๆของรัฐบาลจีนอย่างรุนแรงในหลายแห่ง เช่น ในเมืองพังหยุนในปี ค.ศ.1,466 และการต่อสู้ในมณฑลไกวเจาในระหว่าง ค.ศ. 1,733 – 1,735 และการต่อสู้ในมณฑลเสฉวนในระหว่าง ค.ศ. 1,763 – 1,775 (มูลนิธิกระจกเงา, อ้างถึงใน openbase.in.th) ซึ่งในช่วงนี้เอง (ค.ศ. 1,640-1,919) ที่ชาวม้งในจีนได้เริ่มอพยพเข้ามาในฝั่งประเทศกลุ่มอินโดจีนเช่นเวียดนาม ลาว และไทย โดยเฉพาะในช่วงปี ค.ศ.1,970-1,975 ที่ภัยคอมมิวนิสต์และสงครามเวียดนามได้ทวีความรุนแรง ชาวม้งบางส่วนที่เข้ากับฝั่งอเมริกาจึงได้ติดตามเหล่าทหารบินข้ามทวีปไปตั้งรกรากอยู่ที่รัฐมินเนสโซต้า ในขณะที่บางส่วนก็หนีลงมายังประเทศไทยมากขึ้น จากนั้นจึงอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายตามยอดเขาของภาคเหนือในประเทศไทย (Li, อ้างโดย เลอภพ)

สังคมชาวม้งเป็นสังคมที่ยึดถือชายเป็นใหญ่ อยู่รวมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ยึดถือกันด้วยระบบเครือญาติโดยมีแซ่ (ตระกูล) หลักอยู่ประมาณ 18 แซ่ สืบสกุลกันทางฝ่ายผู้ชาย ชาวม้งเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณและการนับถือผีบรรพบุรุษ มักประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังเป็นสังคมที่ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน จึงไม่น่าแปลกใจที่บางครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ฝ่ายชายอาจมีภรรยามากกว่าหนึ่งหรือสองคนก็เป็นได้

ประเพณีการฉุดสาวมาเป็นภรรยา

เมื่อพูดถึงการแต่งงาน ชาวม้งจะมีธรรมเนียมในการแต่งานอยู่ 4 แบบหลัก ๆ คือ 1) การแต่งงานปกติผ่านความชอบพอของคู่บ่าวสาว 2) การแต่งงานที่พ่อแม่จัดการให้แบบคลุมถุงชน 3) การหนีตามกันของคู่ชายหญิง และ 4) การฉุดหญิงสาวที่ต้องการมาเป็นภรรยาของตน การฉุดนั้นคือหนึ่งในวิธีการที่ชายหญิงจะได้อยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องผ่านประเพณีการแต่งงานตามปกติ หากแต่ทำโดยให้ฝ่ายชายใช้กำลังฉุดหญิงสาวที่ตนหมายปองมาโดยที่ฝ่ายหญิงนั้นอาจจะไม่เต็มใจหรือจะเป็นการตกลงกันล่วงหน้าระหว่างทั้งสองแล้วก็ได้

จากเรื่องเล่าของเพื่อนฝูงชาวม้งและข้อสันนิษฐานของผู้เขียน อาจจะพอเป็นไปได้ว่าในอดีตชาวม้งอาศัยอยู่ตามเทือกเขาต่าง ๆ ซึ่งการเดินทางทำได้ยากและตามธรรมเนียมของเผ่าที่ห้ามแต่งงานกับคนแซ่เดียวกัน เมื่อถึงหน้าเทศกาลหรือเมื่อมีเวลาว่างชายชาวม้งจำต้องออกไปจากหมู่บ้านเดินเท้าข้ามเขาไปยังอีกชุมชนหนึ่งที่มีคนแซ่อื่นอยู่เพื่อเสาะหาหญิงสาวที่จะมาเป็นคู่ครองของตน ซึ่งในอดีตคนที่เดินทางไปมาหาสู่เพื่อพบปะเครือญาติเพื่อนฝูงมักจะเป็นผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่ของบ้านที่มีลูกชายโสดได้ยินข่าวว่าบ้านไหนมีลูกสาวที่สวยและดีก็จะเข้าไปติดต่อสู่ขอให้มาเป็นภรรยาของลูกชายตน ซึ่งพิธีการนี้มักจะเป็นการคลุมถุงชนซึ่งบ่อยครั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะได้พบหน้ากันเป็นครั้งแรกก็ในงานแต่งงานของทั้งคู่ นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ชายหญิงหลายคู่ไม่ประสงค์จะแต่งงานผ่านการจัดหาของพ่อแม่ และนำไปสู่การหนีตามกันหรือการกระทำที่รุนแรงกว่าเช่นการฉุดหญิงที่ตนหมายปองมาเป็นภรรยา

ในการฉุดสาวนั้น ได้มีเรื่องเล่าถึงธรรมเนียมและวิธีการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ในส่วนของพื้นที่ศึกษาของผู้เขียนนั้น การฉุดมักจะทำกันโดยกลุ่มผู้ชายทั้งวัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคน โดยจะนัดหมายกลุ่มเพื่อนพ้องของตนให้ไปดักฉุดหญิงสาวต่างแซ่มาเป็นภรรยา นั่นหมายความว่าใครที่มีเพื่อนมากหรือมีบารมีมากการฉุดก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วย ในการฉุดหญิงนั้นเรื่องแซ่จะเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะชาวม้งนั้นนับเครือญาติกันผ่านแซ่ หากไปฉุดสาวแซ่เดียวกันก็จะเหมือนกับเป็นการไปฉุดญาติของตนเองและจะนำไปสู่การถูกประณามจากผู้ใหญ่ในแซ่และชุมชนได้ ฝายชายจึงต้องแน่ใจว่าผู้ที่ตนจะไปฉุดนั้นเป็นคนละแซ่กับตน

เมื่อนัดหมายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วฝ่ายชายทั้งหมดก็จะขึ้นรถกระบะไปยังหมู่บ้านของหญิงสาวที่ตนหมายตา จากนั้นจึงรอให้หญิงสาวออกมาอยู่นอกบ้านเพราะตามธรรมเนียมแล้วจะไม่อนุญาตให้ไปฉุดผู้หญิงในบ้านของเธอ ผู้ฉุดจะทำการส่งเสียงเรียกเชื้อเชิญฝ่ายหญิงออกมาพูดคุยกันในกรณีที่รู้จักกันมาก่อนเพื่อทำการตกลง หรือจะเข้าไปใช้กำลังฉุดเธอขึ้นรถกระบะเลยก็ได้ ในขั้นตอนนี้ฝ่ายหญิงก็จะต้องตะโกนขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องของตน (ขั้นตอนนี้ยังมีความสำคัญมากที่จะแสดงว่าฝ่ายหญิงนั้นมิได้เต็มใจ และยังเป็นหญิงที่รักนวลสงวนตัว เพราะหากยินยอมไปโดยง่ายจะถือว่าเป็นหญิงใจง่าย) หากญาติๆและเพื่อนๆ ของเธอวิ่งออกมาช่วยทันจะถือว่าการฉุดนั้นล้มเหลว และฝ่ายชายจะถูกเรียกให้ผู้ใหญ่ทางบ้านมารับผิดชอบจ่ายค่าปรับ ในทางตรงกันข้ามหากญาติ ๆ ของฝ่ายหญิงออกมาช่วยเธอไม่ทัน ฝ่ายชายก็จะนำเธอกลับไปอยู่ที่บ้าน 1-3 คืนโดยประมาณ จากนั้นก็จะส่งตัวแทนกลับมาบอกญาติของฝ่ายหญิงว่าตนได้ทำการฉุดลูกสาวของบ้านนี้ไปเป็นภรรยาแล้ว ขอให้ทางบ้านไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย จากนั้นจึงทำการต่อรองสู่ขอกันตามธรรมเนียม ซึ่งหากทางฝ่ายพ่อแม่เรียกร้องให้ส่งคืนลูกสาว พวกเขาก็จะได้เธอกลับไปในฐานะแม่หม้ายหรือหญิงที่ผ่านการมีสามีมาแล้ว

การฉุดสาวในกระแสความเปลี่ยนแปลง

หากเราสรุปความตามที่กล่าวมานี้ หลายคนคงรู้สึกตกใจและตีตราแล้วว่าการฉุดนั้นช่างเป็นพิธีกรรมที่เลวร้ายและลิดรอนสิทธิมนุษยชนของฝ่ายหญิงเป็นอย่างมาก หากแต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันนี้การฉุดสาวของม้งเริ่มที่จะไม่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ (ตัวอย่างเช่นในพื้นที่ศึกษาของผู้เขียน) เพราะถึงแม้จะมีหลายคู่ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ดีหลังจากโดนฉุด แต่ก็มีอีกหลายคู่ที่ประสบกับชีวิตการแต่งงานที่ล้มเหลวซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ทั้งในระดับส่วนตัวและระดับครอบครัว เช่น การทำร้ายตัวเองและความขัดแย้งในหมู่เครือญาติและครอบครัวของทั้งสองฝ่าย ชาวม้งในปัจจุบันมีวิธีการการเลือกคู่ตามความต้องการของตนซึ่งก็มีความแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในระดับปัจเจกมากขึ้นและแน่นอนว่าได้สั่นคลอนประเพณีการเลือกคู่แบบดั้งเดิมของชุมชนรวมถึงการฉุดสาวนี้ด้วย กระแสความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเคลื่อนย้ายไปมาของผู้คน การติดต่อสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่ม การศึกษาสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับแนวคิดสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมหรือสตรีนิยม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนอีกกลุ่มในสังคมม้งมองว่าประเพณีฉุดสาวมาเป็นภรรยาเป็นความล้าหลังและความรุนแรงและนำมาซึ่งความต้องการจะยกเลิกประเพณีนี้เสียโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่

แน่นอนว่าปัจจุบันการฉุดสาวแบบขืนใจได้ลดน้อยลงมากหากเทียบกับในอดีต แต่ก็ยังปรากฏการฉุดในเชิงสัญลักษณ์ตามประเพณีที่เกิดจากการตกลงของทั้งสองฝ่ายล่วงหน้า เนื่องจากการฉุดยังเป็นช่องทางที่สะดวก รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการแต่งงานตามประเพณีปกติหลายเท่า อีกทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยงจากพิธีกรรมการแต่งงานที่มากมายและยาวนานอีกด้วย ในกรณีการสมรสเกิดจากการฉุด ฝ่ายชายเมื่อฉุดฝ่ายหญิงสำเร็จก็จะส่งตัวแทนไปบอกพ่อแม่ของฝ่ายหญิงว่าบุตรสาวของตนนั้นได้มาอยู่กับฝ่ายชายเป็นที่เรียบร้อยแล้วและขอจัดพิธีแต่งงานแบบเรียบง่ายไม่หรูหราฟุ่มเฟือยมาก หากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงไม่ยินยอมจะให้จัดพิธีใหญ่โตหรือเรียกร้องค่าสินสอดมากมาย ฝ่ายชายอาจคืนตัวเจ้าสาวกลับไปในฐานะ “แม่ม่าย” หรือหญิงที่ไม่บริสุทธิ อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูลของฝ่ายหญิง

ยิ่งไปกว่านั้นชายหญิงบางคู่มีการตกลงว่าจะให้ฝ่ายชายมาฉุดเพื่อลบคำครหาว่าเป็น “หญิงใจง่าย” เพราะหากผู้หญิงจะหนีตามผู้ชายไปเองโดยไม่รอการสู่ขอก็จะถูกตีตราจากชุมชนว่าเป็นหญิงไม่ดี ดังนั้นการฉุดจึงเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อรักษาภาพพจน์ของฝ่ายหญิงเอาไว้ อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นได้คือหากฝ่ายหญิงมีคนที่ตนหมายปองไว้อยู่แล้วแต่พ่อแม่ได้ตกลงยกลูกสาวให้กับอีกครอบครัวหนึ่งผ่านการคลุมถุงชน ฝ่ายหญิงอาจจะเลือกให้ฝ่ายชายมาฉุดเธอไปตัดหน้าเพื่อจะได้อยู่กินด้วยกันและบรรเทาความเสียหายของครอบครัวจากการตกลงกับอีกฝ่ายไว้แล้ว

 

อ้างอิง

มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์. (2007). อ้างถึงใน http://www.openbase.in.th/node/751

Li Ting Gui. (..) อ้างโดยเลอภพ. (2536). จาก https://sites.google.com/site/hmongthestory/pra-wati-mng

Gary Yia Lee. (2007). Diaspora and the Predicament of Origins: Interrogating Hmong Postcolonial History and Identity. Hmong Studies Journal, 8: 1-25.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: พิสิษฐ์ โรจน์คณรัชต์ ปัจจุบันเป็นครูประจำการอยู่โรงเรียนแห่งหนึ่งบนพื้นที่สูง เริ่มรับราชการมาตั้งแต่ปี 2557 และเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชาพหุวัฒนธรรมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมของชาวม้งในสังคมร่วมสมัย

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายศึกษา http://multied.sri.cmu.ac.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท