Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้ผมต้องการวิจารณ์ “ข้อเขียน” ของวินทร์ เลียววาริณ ที่เขาโพสต์ยาวๆ ในเฟสบุ๊ค เนื้อหาทั้งหมดปรากฏตามที่มาของภาพประกอบข้างบน

ประเด็นที่ผมมีคำถามคือ ที่วินทร์เขียนว่า “เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายก็เป็นไข้ เป็นกลไกของชีวการเมืองบ้านเราเช่นนี้เอง”  แปลว่า วินทร์มองความจริงของกลไกทางชีวภาพของร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินไปตาม “กฎธรรมชาติ” กับความจริงของระบบทางสังคมและการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินไปตาม “กฎทางสังคมและการเมือง” ในระดับเดียวกัน หรือมองเป็น “เรื่องแบบเดียวกัน” แต่ที่จริงแล้วสองเรื่องนี้อยู่ในปริมณฑลของความรู้ที่ต่างกัน อย่างแรก อยู่ในขอบเขตความรู้ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น ชีววิทยา ประสาทวิทยา วิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น อย่างหลัง อยู่ในขอบเขตความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เช่น ปรัชญาการเมือง สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ เป็นต้น

ดังนั้น ความจริงที่ดำเนินไปตามกลไกทางชีวภาพของร่างกาย กับความจริงที่ดำเนินไปตามกฎหรือระบบทางสังคมและการเมือง จึงมีความซับซ้อนแตกต่างกันมาก ควรใช้ศาสตร์คนละประเภทมาทำความเข้าใจ และใช้หลักเกณฑ์คนอย่างมาวินิจฉัยตัดสิน

ตัวอย่างเช่น การใช้ความรู้วิทยาศาสตร์วินิจฉัยเชื้อโรคทางร่างกาย ไม่เกี่ยวอะไรกับการตัดสินถูก ผิดทางศีลธรรม และความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่เหมือนที่ใช้ในทางการเมือง เพียงแต่หา “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับสาเหตุของโรค และใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์รักษาให้หายเท่านั้น แต่เรื่องทางสังคมและการเมืองไม่ใช่เรื่องของการหาข้อเท็จจริงเท่านั้น จึงไม่ใช่พบข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลประชาธิปไตยทำผิดและพบข้อเท็จจริงว่ามีรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะการทำผิดนั้น แค่นี้จบ เพราะมันต้องถามต่อไปว่ามีระบบที่ถูกต้องชอบธรรมในการจัดการกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ทำผิดอย่างไรบ้าง รัฐประหารใช่วิธีการที่ถูกต้องชอบธรรมไหม เป็นต้น

แต่อันที่จริงแล้ว จากข้อความที่ว่า “เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายก็เป็นไข้ เป็นกลไกของชีวการเมืองบ้านเราเช่นนี้เอง” เท่ากับวินทร์ได้แสดงบทเป็นหมอวินิจฉัยโรคที่เกิดกับระบบชีวภาพทางการเมืองแล้วว่า มาจาก “รัฐบาลประชาธิปไตยทำผิด” ดังที่เขาเขียนต่อมาว่า “เหตุหนึ่งที่ผมเลือกไม่ส่งเสียงต่อต้านก็เพราะว่า ถ้าจะด่าคณะรัฐประหาร ก็ต้องด่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร”  ตรรกะนี้เท่ากับวินทร์บอกว่า “ถ้าใครบอกว่ารัฐประหารผิด คุณก็ต้องบอกด้วยว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารก็ผิด” ส่วนเขาเองไม่ต้องการยุ่งกับเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างผิดนี้

แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า “สร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร” หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา มันมีความซับซ้อนมากและมีคำถามมากว่า พรรคการเมืองพรรคไหนบ้าง มวลชนกลุ่มไหนบ้าง สื่อค่ายไหนบ้าง นักวิชาการ นักเขียนค่ายไหน กลุ่มไหนบ้าง กลุ่มอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้กลุ่มไหนบ้าง สถาบันต่างๆ เช่น องคมนตรี ตุลาการภิวัตน์ แม้แต่สถาบันศาสนา มีส่วนในการสร้างเงื่อนไขดังกล่าวมากบ้างน้อยบ้างด้วยหรือไม่

หรือถ้าพูดอย่าง “ซีเรียส” จริงๆ แล้ว ลำพังการทำผิดของรัฐบาลประชาธิปไตยมันเพียงพอจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารได้ด้วยหรือ ในเมื่อประเทศประชาธิปไตยต่างๆ ในโลกก็มักจะมีรัฐบาลที่ทำถูกทำผิดกันมากบ้างน้อยบ้างทั้งนั้น เช่น รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ทำสิ่งที่ถูกวิจารณ์ว่าขัดหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยหลายอย่าง หรือสืบสาวไปในอดีตยุคแบ่งแยกสีผิว ก็มีรัฐบาลต่างๆ ของสหรัฐฯ เคยทำผิดหลักการประชาธิปไตย กระทั่งมีปัญหาทุจริต ซื้อเสียงและอื่นๆ มาแล้วทั้งนั้น แต่เขาเคยแก้ด้วยรัฐประหารไหม ถ้าไม่ ก็แปลว่า รัฐประหารไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ต้องตามมาอย่างจำเป็นจากการทำผิดของรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างที่ชอบพูดกันแบบนี้มากในบ้านเรา เพราะเรารับเอา “ตรรกะของเผด็จการ” มาผลิตซ้ำอย่างขาดการวิพากษ์

แต่ถ้าถามต่อว่า ทำไมในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เขาจึงไม่ใช้รัฐประหารแก้ปัญหาการเมือง ก็เพราะเขาไม่มี “ระบบอำนาจพิเศษ” ที่อยู่เหนือรัฐบาลประชาธิปไตยคอยอ้าง “อภิสิทธิ์” ในการทำรัฐประหารได้เสมอไงครับ หากกลุ่มอำนาจพิเศษเช่นนี้เห็นว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยกระทบต่อ “ความมั่นคง” แห่งสถานะและอำนาจพิเศษ (ที่อยู่เหนือหลักสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน) ของพวกเขา พวกเขาย่อมทำรัฐประหารได้เสมอ

วินทร์เองมองไม่เห็นหรือแสร้งมองไม่เห็นครับว่า แกนนำพรรคอนาคตใหม่เขาทำอะไรผิด “หลักความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย” (เช่นทำแบบรัฐบาลประชาธิปไตยที่คุณคิดว่าผิด) หรือยังครับพวกเขาถึงถูกขจัดทุกวิถีทาง

ปัญหาสำคัญของวินทร์ก็คือ ถ้าคุณแสดงบทเป็นหมอวินิจฉัย “โรคทางชีวภาพการเมือง” คุณก็เป็นหมอที่ขาดความสามารถโดยสิ้นเชิงในการมองเห็น “สมุฏฐานของโรค” คุณเป็นหมอที่มองเห็นแค่อาการของโรคเท่านั้น

แต่ถ้าใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผล ก็ต้องโยนตรรกวิบัติเรื่องเปรียบเทียบโรคทางร่างกายกับโรคทางชีวภาพการเมืองทิ้งไปเลย หันมายึด “หลักความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย” เป็นเกณฑ์ตัดสิน เมื่อยึดหลักการนี้ก็ชัดเจนว่า มันย่อมไม่มี “จุดยืนที่เป็นกลาง” ระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตยกับเผด็จการที่ทำรัฐประหารได้เลย เพราะคุณต้องวิจารณ์การทำผิดของรัฐบาลประชาธิปไตยพร้อมๆ กับการยืนยันการเอาผิดตามกฎหมายและตามกระบวนการที่ชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยเสมอ ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ให้กับรัฐปะหาร

พูดอีกอย่าง ถ้าคุณยืนยันว่า เพราะรัฐบาลประชาธิปไตยทำผิดจึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร ราวกับว่าการทำผิดนั้นให้ความชอบธรรมกับการเกิดรัฐประหาร มันจะต่างอะไรกับการที่คุณกำลังยืนยันว่า “ถ้า (สมมติ) คุณถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติด ต่อให้ข้อกล่าวหานั้นจริง แล้วมีกองกำลังของอำนาจพิเศษบุกเข้ามาพังประตูบ้านคุณ กระทืบคุณ นำคุณขึ้นศาลเตี้ยที่พวกเขาตั้งคณะบุคคลมาตัดสินเอาผิดคุณโดยเฉพาะ” คุณก็โอเคใช่ไหม หากคุณใส่ใจเฉพาะ “เป้าหมาย” จริงๆ อย่างที่คุณเขียน คุณก็คงโอเค ถ้าเช่นนั้นก็แปลว่า เมื่อลูกคุณไปชกต่อยลูกคนอื่น แทนที่จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนความยุติธรรมที่ชอบธรรมและเป็นกลาง ฝ่ายตรงข้ามจะรุมกระทืบลูกคุณเพื่อแก้แค้นก็สมควรแล้วเช่นนั้นหรือ ผมเชื่อแน่ว่าคุณคงไม่มีวันคิดแบบนี้ เพราะจริงๆ คุณย่อมเข้าใจอยู่แล้วว่า “เรื่องทางสังคมและการเมือง” เราไม่อาจมองที่ “เป้าหมาย” เท่านั้น โดยไม่ยืนยัน “กระบวนการ/วิธีการที่ชอบธรรม” ได้จริงๆ ดอก

อย่างไรก็ตาม ต่อให้คุณยืนยันว่า “รัฐบาลประชาธิปไตยก็ผิดที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร เผด็จการที่ทำรัฐประหารก็ผิดเช่นกัน ผมไม่เอาด้วยกับทั้งสองฝ่าย และไม่ด่าทั้งสองฝ่าย” นี่ก็ยังเป็นตรรกะที่ผิดหลักการอยู่ดี เพราะมันเป็น “สามัญสำนึก” ของพลเมืองที่เคารพความเป็นคนของตัวเอง เคารพหลักสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่จะปฏิเสธและต่อต้านรัฐประหารในทุกวิถีทางที่ชอบธรรมที่เราสามารถทำได้ เหตุผลเพราะรัฐประหารไม่ใช่แค่ล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่ทำผิดเท่านั้น แต่มันยังฉีกรัฐธรรมนูญ ปล้นอำนาจอธิปไตย สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของคุณเองและประชาชนทุกคนไป

ดังนั้น มันจึงไม่เคยมี “จุดยืนที่เป็นกลางทางการเมือง” ระหว่างตัวคุณเองกับเผด็จการที่ปล้นอำนาจ สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของคุณและประชาชนทุกคนไป

อันที่จริง หากวินทร์แสดงความเห็นเช่นนี้สู่สาธารณะในขณะที่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้น เรายังพอจะเข้าใจได้ว่า ในสถานการณ์ชุลมุนทางความคิดเช่นนั้น อาจเป็นไปได้ที่เขา (และคนอีกจำนวนมาก) อาจจะยังไม่ได้ไตร่ตรองในเรื่องหลักการและเหตุผลชัดเจนดีพอ แต่นี่กว่าสิบปีมาแล้ว ผ่านรัฐประหารที่กระทำโดยเครือข่ายอำนาจกลุ่มเดิมๆ ถึงสองครั้ง และผลตามมาก็เห็นชัดแจ้งว่าเป็นอย่างไร

มันจึงยากที่จะเข้าใจได้ว่า หากแม้แต่เด็กนักเรียนในอำเภอห่างไกลทางภาคอีสาน ก็ยังทำพานไหว้ครูส่งเสียงต่อต้านความไม่ชอบธรรมของเผด็จการ แต่นักเขียนนวนิยายเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” ของบ้านเรา ยังออกมาแสดงเหตุผลให้ความชอบธรรมกับการที่ตนเองไม่ส่งเสียงต่อต้านเผด็จการ

ไม่ใช่ว่าผมกำลังเรียกร้องให้ทุกคนต้องออกมาต่อต้านเผด็จการ ถ้าเขาพูดตรงๆ ว่า “เขากลัว” เขาจึงไม่ต่อต้าน ผมย่อมเคารพเขา แต่การไม่ต่อต้านแล้วยังพยายามแสดงเหตุผลต่อสาธารณะและแสดงมุมมองทางศาสนธรรมให้ความชอบธรรมกับการไม่ต่อต้าน นี่ย่อมสมควรถูกตั้งคำถามและวิจารณ์ ไม่ใช่ผมไม่เคารพสิทธิที่จะคิดและเชื่อเช่นนั้นของวินทร์ เขามีสิทธิเต็มที่ แต่สิทธินั้นก็ไม่ได้อยู่เหนือการถูกตั้งคำถามและวิจารณ์จากทุกคนที่เห็นต่าง

มันจึงอาจไม่จริงอย่างที่วินทร์เขียนว่า “วันนี้เราอยู่ในยุค ‘ความคิดกูถูก ความคิดมึงผิด’ วันนี้เราอยู่ในโลกของปรากฏการณ์ปั้นน้ำเป็นป้ายแขวนคอใครก็ตามที่คิดต่าง แต่ว่าก็ว่าเถอะ ‘ความคิดกูถูก ความคิดมึงผิด’ ก็คือเผด็จการชนิดหนึ่ง”  เพราะเสมือนคุณกำลังคิดว่า “นรกคือคนอื่น” ที่ตัดสิน “ความคิด” ที่คุณแสดงออกสู่สาธารณะ โดยไม่ยอมรับความจริงว่า การแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกทางการเมืองมันมีถูก มีผิดหลักการที่ชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยอยู่จริง ไม่งั้นคุณจะเอาอะไรไปตัดสินว่ารัฐบาลประชาธิปไตยและเผด็จการถูกหรือผิด หรือคุณจะใช้ตรรกะทางศาสนธรรมการปล่อยวางแบบ “อาจารย์เซน” ที่เป็นเรื่อง “มุมมองส่วนบุคคล” เป็นกรอบในการมองเรื่องถูก ผิดตามหลักการสาธารณะอย่างสมเหตุสมผลได้อย่างไร

อันที่จริง ต่อให้มีบางคนคิดผิดๆ ว่า “ความคิดกูถูก ความคิดมึงผิด” มันก็ยังไม่ใช่ “เผด็จการ” อยู่ดี ตราบที่เขาไม่มีอำนาจตาม ม.44 (เป็นต้น) ไปบังคับใครให้เชื่อตาม หรือเอาผิดกับคนที่แสดงความคิดเห็นและอุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากเขาได้แบบที่เผด็จการไทยๆ ยัดคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยเข้าคุกและดำเนินคดีไม่รู้กี่ร้อยรายในช่วงกว่าทศวรรษมานี้ คนเหล่านี้ต่างหากที่เป็น “ฝ่ายถูกกระทำ” อย่างอยุติธรรมเห็นตำตา ไม่ใช่แค่ใครถูกวิจารณ์และด่าเพราะแสดงความเห็นทางการเมืองสู่สาธารณะแล้วโอดครวญทำนองว่าตนถูกกระทำ

กล่าวโดยสรุป ความเห็นแบบวินทร์ สะท้อนปัญหาทางความคิดของคนที่มีชื่อเสียงจำนวนมากในบ้านเราที่นิยมอ้างมุมมองทาง “ศาสนธรรม” อันเป็นมุมมองส่วนบคคลมาปนเปกับการตัดสินถูก ผิด ชอบธรรม ไม่ชอบธรรมตาม “หลักการสาธารณะ” สุดท้ายแล้วก็มักจะนำไปสู่ข้อสรุปที่สับสนว่า ตกลงคุณกำลังยืนยันหรือปฏิเสธหลักการสาธารณะที่ชอบธรรม หรือกำลังยืนยันสัจธรรมตามมุมมองส่วนบุคคลกันแน่ และเมื่อคุณยืนยันมุมมองส่วนบุคคลเชิงศาสนธรรม ก็มักหนีไม่พ้นที่คุณจะยึดอุปาทานในทัศนะแบบ “นรกคือคนอื่น” ผ่านบทบาทผู้นำเสนอการรู้แจ้งสัจธรรมและการปล่อยวาง

 

 

ที่มาภาพ: Facebook Win Lyovarin

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net