Skip to main content
sharethis

นักรัฐศาสตร์ชี้ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ที่เกิดขึ้นในไทยไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ข้อกังวลอยู่ตรงที่รัฐบาลอำนาจนิยมหลายแหล่งพยายามลอกโมเดลจีน ซึ่งเป็นผู้นำร่องเพื่อควบคุมพลเมือง ทางออกคือพยายามเรียนรู้เท่าทัน พร้อมกับสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาโต้กลับ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ (ที่มาภาพ : Aftershake, Thai PBS )

เมื่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ปฏิกิริยาของสาธารณชนแสดงออกมาในหลากหลายรูปแบบ บางกลุ่มอาจกังวลว่า หลัง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ประกาศใช้ รัฐบาลอาจสามารถสอดส่องข้อมูลส่วนตัวของพลเมืองได้มากขึ้นและเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล บางกลุ่มเย้ยหยันระบบราชการไทยที่ไร้ประสิทธิภาพเกินกว่าจะทำอะไรชาวเน็ตได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง หรือบางกลุ่มก็อาจชอบให้รัฐบาลเข้ามาจัดระเบียบและเห็นว่าถ้าไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องกลัวอะไร ทุกกลุ่มอาจจะพูดถูกทั้งหมด แต่ประเด็นก็คือ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ เป็นที่สนใจมากขึ้นในสายตาของสาธารณชน อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ที่ถูกประกาศใช้กลับเป็นกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย และประชาชนไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจแม้แต่น้อย

สิ่งที่เกิดขึ้นถัดมาในอีกส่วนหนึ่งของมุมโลกก็คือการประท้วงในฮ่องกง ซึ่งเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศจีน แนวรบไซเบอร์มีความสำคัญมากขึ้นทุกที ผู้ประท้วงฮ่องกงจะซื้อของโดยใช้เงินสดเท่านั้น ทั้งยังต้องปิดหน้าปิดตาระหว่างประท้วง เพื่อป้องกันไม่ให้หลงเหลือร่องรอยดิจิทัล ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลติดตามตัวได้ในภายหลัง การที่ผู้ประท้วงใช้แอปพลิเคชันเทเลแกรมในการสื่อสาร ยังช่วยให้รัฐบาลจีนดักจับสอดแนมการสื่อสารของผู้ประท้วงได้ยากขึ้นด้วย ในแง่นี้ จะเห็นได้ว่าการต่อสู้กับรัฐบาลอำนาจนิยมที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และพยายามยึดกุมโลกไซเบอร์ให้ได้นั้น เป็น​เรื่องยากเย็นขึ้นทุกที

แล้ว พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ของไทย เกี่ยวข้องกับการประท้วงในฮ่องกงอย่างไร ? จากการพูดคุยกับ จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยและอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสันติศึกษา ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง และความมั่นคงมนุษย์ พบว่า พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ที่เกิดขึ้นในไทยไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลอยู่ตรงที่รัฐบาลอำนาจนิยมต่าง ๆ พยายามลอกโมเดลตามประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำร่องในการพยายามใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อควบคุมพลเมืองในสังคมแทนที่จะพิทักษ์สิทธิ์ แม้ว่ากฎหมายไซเบอร์ของไทยจะไม่ละเมิดสิทธิพลเมืองไซเบอร์มากเท่ากับของจีน แต่ก็มีลักษณะเดียวกัน ดังนั้น ชะตาของพลเมืองไทยจึงอาจจะมีชะตาคล้ายคลึงกับชาวฮ่องกงในอนาคตได้เช่นกัน

ชาวเน็ตไทยควรรับมือกับแนวโน้มอย่างไร จากการพูดคุยพบว่า ทางออกสำหรับพลเมืองเน็ตไทย อาจเป็นการพยายามเรียนรู้เท่าทัน พร้อมกับสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาโต้กลับ

0000000

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในบริบทความมั่นคงไซเบอร์ของโลก?

จันจิรา: ดิฉันไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ แต่ในฐานะนักรัฐศาสตร์สิ่งที่ดิฉันสนใจ คือผลกระทบของมันต่อภาคประชาสังคม ในแง่ที่สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องหนึ่งคือกฎหมายไซเบอร์ต่าง ๆ มันทำให้กิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ถูกควบคุมมากน้อยแค่ไหน แนบเนียนมากน้อยแค่ไหน

ในโลกนี้ กฎหมายไซเบอร์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เริ่มอย่างนี้ก่อนเพราะว่ามันมีภัยคุกคามด้านไซเบอร์จริง ๆ เช่น สิ่งที่เราเรียกว่า Identity Theft ก็คือคนที่มาขโมยข้อมูล ทุกวันนี้เราใช้สมาร์ทโฟน หรือกิจกรรมทางการเมืองของเราทุกอย่างมันถูกบันทึกข้อมูล ทีนี้มันก็มีคนที่สามารถขโมยข้อมูลเหล่านี้และสามารถขโมยรหัสของเราได้ แล้วก็เอาไปใช้ทำอะไรต่าง ๆ ได้ที่มันเลวร้าย อันนี้แหละที่เรียกว่าเป็นอาชญากรรมไซเบอร์ แล้วมันก็มีอะไรอย่างอื่นอีกเยอะแยะ อันนี้แหละที่เรียกว่าเป็นอาชญากรรมที่มาจากพลเรือน

แล้วมันก็มีจะภัยคุกคามที่มาจากรัฐ เช่น ตอนนี้มันมีสิ่งที่เรียกว่า hybrid war หรือสงครามผสม ที่รัฐเริ่มโจมตีกันด้วยการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ หรือส่งคนเข้าไปสร้างกระแสในโลกโซเชียลของอีกประเทศหนึ่ง ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง จากนั้นค่อยเข้าแทรกแซง อันนี้คือตัวอย่างคลาสสิกของรัสเซียในยูเครน

อีกอันหนึ่งคือภัยคุกคามที่มาจากรัฐต่อพลเรือน เรามักจะคิดว่าเวลาที่กฎหมายไซเบอร์ออกมานี้ เป็นเรื่องภัยต่อรัฐเท่านั้น แต่ว่ามันมีกรณีที่รัฐเป็นภัยต่อพลเรือนด้วย เช่น มันมีบริษัทที่ขายซอฟต์แวร์ให้รัฐต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ซอฟต์แวร์เหล่านี้เอาไว้ใช้ทำอะไร ซอฟต์แวร์เหล่านี้เอาไว้ใช้แฮกสมาร์ทโฟน และแฮกข้อมูลต่าง ๆ ที่มันเป็นของส่วนตัวของพลเมือง นี่เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยรับรู้เท่าไหร่ แล้วรัฐบาลไทยก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของเจ้าของซอฟต์แวร์เหล่านี้

สามอันนี้ก็คือความกังวล กลับไปเรื่องกฎหมายไซเบอร์ในระดับโลก ข้อมูลจาก UN ชี้ว่ากว่า 70% ของโลกมีกฎหมายไซเบอร์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูล (Data Protection) กับคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ที่ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่ออกในประเทศโลกตะวันตก มีอยู่ประมาณ 58% หรือกฎหมายที่ส่วนใหญ่มีอยู่ 70% คือกฎหมายเพื่อที่จะป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ อันนี้เป็นเรื่องปกติในโลก

จันจิรา สมบัติพูนศิริ (แฟ้มภาพ : ประชาไท)

ถ้า พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ไม่ใช่เรื่องแปลก แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน?

ประเด็นที่เข้าใจว่าหลายคนกังวลคือถึงแม้ว่ากฎหมายไซเบอร์จะมีเนื้อความเหมือนรัฐคุ้มครองคนถ้าเรามองในฐานะพลเมืองทั่ว ๆ ไป ปัญหาของดิฉันไม่ได้อยู่ที่เนื้อกฎหมายเสียทีเดียว ปัญหาคือใครใช้ ใครใช้หมายถึงรัฐแบบไหนที่ใช้ รัฐแบบไหนที่ร่างกฎหมายขึ้นมา มันก็มีรัฐอยู่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นรัฐที่มีธรรมาภิบาล เป็นรัฐที่มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่เข้มแข็ง มีศาล มีองค์กรอิสระ มีภาคประชาสังคมที่ตรวจสอบกลับได้ เป็นต้นว่าเกาหลีใต้ก็มีกฎหมายไซเบอร์ครบทุกประเภทเลย แต่ว่ามันมีองค์กรตรวจสอบ และรัฐบาลมันค่อนข้างมีธรรมาภิบาล

รัฐอีกกลุ่มที่ค่อนข้างมีปัญหา เราเรียกว่าเป็น China Model หมายความว่ามันไม่ใช่จีนเป็นคนผลิตโมเดลนี้นะ แต่ว่าอยากให้เห็นรูปแบบซึ่งจีนเป็นพีค เป็นอะไรที่ซับซ้อนที่สุด มีทักษะที่สุดในการจัดการกับของแบบนี้ เดี๋ยวเอาไว้ค่อย ๆ ขยายความ แต่ว่าโมเดลจีนหมายความว่าเป็นกลุ่มรัฐที่มีการปกครองแบบอำนาจนิยม กึ่งอำนาจนิยม หรือระบอบผสม รัฐแบบนี้มักจะมีกฎหมายอื่น ๆ อยู่แล้วที่เอาไว้ใช้ปราบปรามคนเห็นต่าง เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายความมั่นคง กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย หรือว่ามาตรา 112 ในกรณีประเทศไทย เป็นต้น มันมีของพวกนี้อยู่แล้วในสิงคโปร์และมาเลเซียก็มีกฎหมาย sedition ที่เรียกว่าเป็นกฎหมายต้านขบถ พ.ร.บ.ไซเบอร์ที่ออกกันมาโดยกลุ่มรัฐอำนาจนิยมเหล่านี้เป็นเครื่องมือเสริมเพิ่มกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง 

ปัญหาคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ไซเบอร์ภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็นพื้นที่ซึ่ง contentious (ขับเคี่ยวกันมาก)ที่สุด หนึ่งคือเป็นพื้นที่ซึ่งระดมผู้ประท้วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สองคือเป็นพื้นที่ซึ่งรัฐคุมลำบาก anything goes (อะไร ๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น) อะไรอย่างนี้ ของที่อันตรายก็เยอะ คนที่แสดงความเห็นอะไรในโลกออฟไลน์ไม่ได้ก็จะมาในโลกออนไลน์ เพราะฉะนั้นรัฐก็จะคุมลำบากมากเวลาที่ไม่มีกฎหมายที่ช่วยให้สามารถปิดปากคนในโลกไซเบอร์ได้ ปัจจัยที่สามที่ส่งผลให้กฎหมายไซเบอร์ออกมาทั่วโลกก็คือช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขาค้นพบว่าการประท้วงของประชาชนเป็นสาเหตุหลักของสิ่งที่เรียกว่า authoritarian exit หรือการขับไล่ระบอบอำนาจนิยมและผู้นำอำนาจนิยม ไล่ไปตั้งแต่อาหรับสปริงจนถึง color revolution (ปฏิวัติสี) ทั้งหมดนี้ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์โลก จีน รัสเซีย หรือประเทศอื่น ๆ ก็เกิดความกังวลว่าประชาชนจะออกมาขับไล่ แล้วก็อาศัยพื้นที่ไซเบอร์ในการระดมคนและระดมความเห็น รวมถึง จากมุมของเขาคือตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลตะวันตกในการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง หรือ regime change

ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ ช่วงหลัง ๆ มานี้ ตีซักหลัง 2010 ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มอำนาจนิยมเริ่มออกกฎหมายความมั่นคงมากขึ้น ไล่ตั้งแต่รัสเซีย จีนก็มี Great China Wall อยู่แล้ว แล้วก็ไล่มาประเทศต่าง ๆ กระจิ๊บกระจ้อย จนกระทั่งถึงในกรณีประเทศไทย เราก็รู้กันดีอยู่ในปี 2007 มีการออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แล้วก็มีการแก้ไขในปี 2016 ล่าสุดก็มีการออก พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ทั้งหมดนี้เป็นเทรนร่วมกันทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาคด้วย เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกประเทศมีกฎหมายไซเบอร์ ทีนี้มันก็กลับมาที่ระบอบการเมืองการปกครองในประเทศนั้นว่าจะใช้ พ.ร.บ. นี้ไปในรูปแบบไหน เช่น ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียเป็นสองประเทศที่ยังเป็นประชาธิปไตย จะดีจะชั่ว สมบูรณ์ไม่สมบูรณ์อย่างไร แต่กฎหมายไซเบอร์ในประเทศเหล่านี้ถูกใช้อย่างจำกัด

อย่างในประเทศอินโดนีเซีย คดีความที่เป็นเทรนส่วนใหญ่เป็นการใช้เพื่อกำกับพฤติกรรมของกลุ่มเคลื่อนไหว LGBTQ หรือกลุ่มเคลื่อนไหวด้าน secular พวกที่เป็น atheist (อเทวนิยม)ทั้งหลาย แต่ว่าความถี่ของการใช้ก็ไม่มากเท่าไหร่ ฟิลิปปินส์ก็เหมือนกัน ฟิลิปปินส์ออกกฎหมายไซเบอร์มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอาควิโน ปี ค.ศ.2016 แต่ว่าเริ่มมีการใช้ทำลายศัตรูทางการเมืองในสมัยดูเตอร์เต คือสมัยข่าว Rappler ของฟิลิปปินส์ถูกฟ้องร้องแล้วก็เข้าใจว่า บก.คนสำคัญ ของสำนักข่าวโดนจับด้วยฐานหมิ่นประมาทในโลกไซเบอร์ มันก็เริ่มมีการใช้ แต่ว่ากลับไปดูที่ความถี่ของคดีความต่อศัตรูทางการเมืองเหล่านี้ มันไม่ถี่เท่ากับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามใช้ถี่มาก อันที่จริงเวียดนามมีกฎหมายอื่น ๆ ในการเล่นงานคนอยู่แล้ว แล้วเวียดนามก็มีเริ่มกฎหมายด้านเทคโนโลยีออกมาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มีคนถูกจับเป็นร้อย บล็อกเกอร์อะไรต่าง ๆ ก็ถูกจับ

เวียดนามเมื่อปลายปีที่แล้วเพิ่งออกกฎหมายเหมือนเราเลย เรียกว่าเป็นกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์เหมือนกัน แต่ประเด็นหลักของเขาเน้นเรื่องการป้องกันการโจมตีระบบ แล้วระบบของเขาก็เน้นเรื่อง data localization ก็คือเฟสบุ๊ค ยูทูป ทวิตเตอร์ บริการเหล่านี้ศูนย์ใหญ่ของมันคือระดับโลก ข้อมูลของมันถูกเก็บอยู่ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลเหล่านี้ (จริง ๆ ประเทศจีนเป็นตัวเริ่มต้น ตามมาด้วยรัสเซีย) ขอให้บริษัทเอกชนเหล่านี้ หากไม่ถูกแบนเสียก่อนก็จะขอให้เก็บข้อมูลอยู่ที่รัฐนั้น ๆ แทนที่จะไปอยู่ที่ศูนย์ใหญ่ของบริษัท เพราะฉะนั้นในแง่นี้ การเก็บข้อมูลไว้ที่ประเทศตัวเองเป็นสิ่งที่เรียกว่า cyber sovereignty หรือเป็นการสร้างอำนาจอธิปไตยของไซเบอร์ อันนี้เป็นข้อมูลของประชาชนในรัฐฉัน คุณจะเอาไปได้ยังไง แต่ปัญหาคือรัฐบาลก็ต้องการเก็บข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ใช้สอดคล้องพลเมืองของตัวเองเหมือนกัน ว่าเกิดอะไรขึ้น ใครทำอะไรบ้าง มีการแลกเปลี่ยน มีการเตรียมจัดชุมนุมที่ไหน เขาคุยกันเรื่องอะไร ก็มีความตั้งใจแบบนี้

พม่าก็เพิ่งออกกฎหมายไซเบอร์ มาเลเซียปีที่แล้วก่อนที่จะมีการเลือกตั้งแล้วพรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งก็มี พ.ร.บ. ต่อต้านข่าวปลอม แต่เราก็รู้กันอยู่ว่าส่วนใหญ่แล้วฝ่ายค้านจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนกระจายข่าวปลอมไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาล แต่ความเป็นจริงแล้วข่าวปลอมมาจากทั้งสองฝ่าย แต่ฝ่ายรัฐบาลจะไม่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งข้อมูลของข่าวปลอม อันนี้ก็เป็นสถานการณ์ในภูมิภาค กลับมาที่ประเทศไทย โมเดลแบบนี้ก็ไปสอดคล้องกับแนวโน้มของการใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ. ไซเบอร์ในสังคมไทย มันถูกใช้เพื่อปราบปรามคนเห็นต่าง สอดส่องพฤติกรรมประชาชน หรือกระทั่งพยายามจะโน้มน้าวความเห็นสาธารณชนผ่านกลไกดิจิทัลต่าง ๆ อันนี้เป็นเรื่องการแบน การมอนิเตอร์ การสอดแนมสอดส่อง”

จีนพีคที่สุดในด้านนี้ หมายความว่าอย่างไร?

มันเริ่มมีอีกมิติหนึ่งที่เริ่มปรากฏขึ้น แล้วก็อันนี้จีนเป็นผู้บุกเบิกสำคัญ ซึ่งน่ากังวลแล้วก็ค่อนข้างอันตรายพอสมควร เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า Social Credit จีนเริ่มใช้ข้อมูลที่พวกเราปล่อยกันสะเปะสะปะ โดยไม่มีใครสนใจ data privacy ดิฉันก็ทำ คนที่เป็นบุคคลสาธารณะในสังคมอื่น ๆ ที่สำคัญกว่าดิฉันก็ทำกันหมดเลย คือไม่มีใครสนใจเรื่อง data privacy รัฐบาลจีนก็ฉกฉวยโอกาสตรงนี้แหละ เก็บรวบรวมข้อมูล บริษัทเอกชนของจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลจีน ฉะนั้นรัฐบาลจีนก็ขอให้บริษัทเอกชนเหล่านี้รวบรวมข้อมูลไว้ แล้วก็ทำอย่างไร ลองออกแบบอัลกอริทึม ออกแบบโปรแกรมที่จะจัดข้อมูล เช่น เวลามีคนคุยกันเรื่องนี้ มีการทำกิจกรรมในโลกไซเบอร์กันเรื่องนี้ มันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแนวโน้มการประท้วงอย่างไร หรือว่าแนวโน้มในการจัดกิจกรรมที่เป็นภัยต่อรัฐบาลอื่น ๆ อย่างไร

เนื่องจากดิฉันไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค สิ่งที่พอจะอธิบายได้ก็คือมันเป็นการประสานกันระหว่างข้อมูลกับปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่ใช้บริหารใช้วิเคราะห์ข้อมูลออกมาว่าข้อมูลเหล่านี้เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์อะไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พอเป็นอย่างนี้รัฐบาลจีนก็จะคาดการณ์ได้แล้วก็ป้องกันได้ เช่น ตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่งเห็นคือเรื่องตั๋วรถไฟ เดี๋ยวนี้ในจีน เวลาคุณไปไหนมาไหนด้วยรถไฟ คุณก็จะซื้อตั๋วรถไฟด้วยการใช้เลขที่บัตรประชาชนของตัวเอง รัฐบาลจีนก็จะมีข้อมูลเหล่านี้เก็บอยู่ในคลังของตัวเอง ทีนี้ข้อมูลเหล่านี้ก็ถูกจัดถูกวิเคราะห์ว่าเจ้าของเป็นใคร รัฐบาลก็มีข้อมูลเหมือนกันว่าใครเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือเป็นภัยต่อสถานภาพของผู้นำรัฐบาล ก่อนที่แอคติวิสต์คนนี้กำลังจะเดินทางขึ้นรถไฟ รัฐบาลรู้แล้วว่าเขาจะไปไหน และจะไปทำอะไร เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ถูกจับก่อนที่จะขึ้นรถไฟ นี่ก็คือการใช้สอยประโยชน์จาก big data ที่มันมีอยู่

มิติที่สองคือสิ่งที่ดิฉันเรียกว่า digital governmentality คือการตัดไฟแต่ต้นลม อย่าให้คิดต่างหรือเห็นค้านกับรัฐบาลตั้งแต่แรกไปเลย มันก็เริ่มมีการใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปในการดูว่าใครมีพฤติกรรมอย่างไร แล้วใครเป็นคนที่มีพฤติกรรมดีเป็นประโยชน์ต่อระเบียบของพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อระเบียบของรัฐบาล หรือเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคง ต่อเสถียรภาพ ต่อความสามัคคีของคนจีน อะไรอย่างนี้ก็ว่าไป ก็จะได้รับรางวัล เช่น ช่วงนี้ก็เริ่มมีการทดลองใช้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ถูกใช้อย่างจริงจัง แต่มีแผนที่จะใช้ ก็คือ Social Credit สมมติว่าคุณทำบุญให้กับหน่วยงานจิตอาสาของรัฐบาลท้องถิ่น คุณก็จะได้รับรางวัล ทีนี้แต้มนี้คุณเอาไปใช้ทำอะไรได้ เช่น คุณเอาไปใช้กู้ยืมเงินโดยได้ภาษีหรือดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือว่าคุณเอาไปใช้ลดหย่อนค่าเทอมบุตร เอาไปใช้ลดหย่อนค่าหาหมอ

เพราะฉะนั้นคนที่มีพฤติกรรมออกนอกลู่นอกทาง อันที่หนึ่ง เช่น ไปเที่ยวที่ไหนแล้วมีพฤติกรรมเสื่อมทราม หรือว่าฝ่าไฟแดงในประเทศ คือมีพฤติกรรมแบบไม่เป็นระเบียบ อันที่สองคือมีพฤติกรรมต่อต้านรัฐบาล อันหลังคือชัดเจน แต่ว่ารัฐบาลเริ่มตั้งแต่พฤติกรรมไร้ระเบียบก่อนเลย ฉะนั้น คนเหล่านี้ก็จะถูกหักแต้ม หักแต้มแล้วพาไปไหน พอหักแต้มไปเรื่อย ๆ คุณจะซื้อตั๋วเครื่องบินไม่ได้ เป็นต้น เพราะบัตรเครดิตของคุณไม่ถูกยอมรับโดยสายการบิน หรือว่าคุณเข้าร้านอาหารบางร้านไม่ได้ เพราะว่าคุณไม่มี Social Credit ที่เพียงพอ เรียกว่าไม่มีความน่าเชื่อถือทางสังคม หรือถึงจุดที่เช่น คุณถูกไล่ออกจากงาน คุณกู้เงินไปซื้อบ้านไม่ได้ คุณกู้เงินไปลงทุนอะไรไม่ได้ คุณกู้เงินไปเป็นค่าเทอมลูกไม่ได้ หรือกระทั่งว่าเมียคุณก็ถูกไล่ออกจากงาน หรือลูกคุณจะถูกไล่ออกจากโรงเรียนหรือเปล่า มันเป็นเรื่องงานคุณ คนในครอบครัวคุณทั้งหมด แล้วมีคนโดนแล้วด้วย

มันมีนักข่าวคนหนึ่ง เขียนข่าวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันของรัฐบาลท้องถิ่นนี่แหละ แล้วก็ปรากฏว่าอยู่ ๆ Social Credit ของเขาก็ถูกตัดจนติดลบ แล้วถูกไล่ออกจากงาน เขาทำธุรกรรมก็ไม่ได้ ออกนอกประเทศก็ไม่ได้ เพราะว่าซื้อตั๋วเครื่องบินไม่ได้ ไปทำวีซ่าก็ไม่ได้ ไปขอหนังสือเดินทางก็ไม่ได้ คือแทนที่รัฐบาลจะจับคุณ อาศัยข้อมูลต่าง ๆ ที่เขามี ลงโทษคุณด้วยมาตรการทางสังคม และเพราะเราพึ่งพาของเหล่านี้ รัฐบาลทำอย่างไรให้คุณไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ ชีวิตคุณก็จะยากลำบาก จนกระทั่งคุณเหมือนคนพิการ คุณทำอะไรไม่ได้เพราะคุณไม่มีทรัพยากรทางสังคมเหล่านี้”

ประเทศไทยไปไกลขนาดไหนแล้วในแง่การทำตาม China Model อันนี้?

น่าสนใจว่าจีนประกาศตัวว่าจะเป็นมหาอำนาจด้านไซเบอร์เมื่อสองปีที่แล้ว จริง ๆ สิ่งที่จีนทำก็เหมือนที่สหรัฐอเมริกาทำ ในแง่ของการเผยแพร่ของอุดมการณ์ของตัวเองเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน อะไรอย่างนี้ จีนก็ทำเหมือนกัน ก็คือเรียกคนมาให้ทุนสื่อ มาให้ทุนตัวแทนรัฐบาล มาประชุมที่จีน มาดูการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมคน เขาคงไม่ได้บอกว่าใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมคน แต่อาจจะเรียกว่าจัดการความเห็นของสาธารณะ

ส่วนนี้เข้าใจว่าเป็นจุดที่เราเกี่ยวข้องด้วย แล้วก็ค่อนข้างเป็นที่รู้กัน มันมีกิจกรรมอย่างอื่นอีกที่มันไม่เป็นข่าว แล้วดิฉันก็ไม่มีแหล่งข้อมูลภายในยืนยันมากเพียงพอว่าเราไปถึงจุดนั้นไม๊ เช่น อย่างในแอฟริกา รัฐบาลจีนก็มีการทำสัญญากับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อให้มีการถ่ายโอนข้อมูลของคนในประเทศนั้น ๆ ให้กับรัฐบาลจีน อันนี้ดิฉันก็ไม่รู้ แต่ดิฉันคิดว่าประเทศไทยยังไม่ไปถึงจุดนั้น แต่ก็ไม่แน่นะคะในอนาคต

จีนอาศัยถังเงินที่เขามีหว่านเงินลงทุนไปทั่วเลย และพยายามที่จะทำให้หลาย ๆ ประเทศเป็นหนี้เขา พอดอกเบี้ยสูงมาก จ่ายหนี้ไม่ไหวก็เหมือนเป็นบุคคลล้มละลาย คุณก็ถูกยึดนู่นยึดนี่ รวมไปถึง อำนาจอธิปไตยของประเทศ และอำนาจอธิปไตยเหนือข้อมูลของคนในประเทศ มันก็มีความเป็นไปได้ ทีนี้ รัฐบาลอำนาจนิยมของไทยมีแนวโน้มที่จะไปเหมือนประเทศจีน คือเราได้รับแรงบันดาลใจมาจากเขา แล้วเราก็เอามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในท้องถิ่น อย่าง พ.ร.บ. ไซเบอร์ที่เพิ่งออกมา ชื่อมันเหมือน พ.ร.บ. ไซเบอร์ของจีนเลย ออกมาเมื่อปี 2016 เพิ่งออกมาเมื่อสองปีที่แล้ว เพียงแต่ว่าบทลงโทษมันครอบคลุมและมีปัญหากว่าของเราเยอะ ของเรายังถูกปั้นแต่งมาพอสมควร ก็คือทำให้มันเข้มข้นน้อยลงหน่อย

อย่างไรก็ดี เป้าหมายของมันคือใช้ลงโทษคนที่โจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของหลวงหรือของรัฐ เขากำลังพูดถึงใครเป็นหลัก คุณจำเหตการณ์ ddos เมื่อสองปีก่อนได้ไหม ที่มันมีการกด F5 พูดในภาษาของดิฉันคือเอาไว้จับคนที่ปฏิบัติการประท้วงรัฐบาลด้วยสันติวิธีบนพิ้นที่ไซเบอร์ คือมันเคลียร์ในแง่นั้น ถึงแม้ว่าเขาจะบอกว่าเขาเอาไว้ใช้เพื่อป้องกันอาชญากรรมอื่น ๆ เอาไว้ป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ระหว่างประเทศ แต่ว่าพูดจริง ๆ นะ เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ในประเทศไทย เวลาที่รัฐจะใช้ป้องกันหรือสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ให้กับคน คือมันถูกเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว สมมติว่าคนที่ก่ออาชญากรรมมีเส้นสายกับคนในรัฐบาล เขาก็รอดอยู่แล้ว หรือว่าภัยคุกคามระหว่างประเทศ ถ้าเราจะถูกโจมตี จริง ๆ เราก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้มีเทคโนโลยีที่สูงขนาดนั้น แต่ว่าแน่นอนว่ากฎหมายแบบนี้มันเป็นอาวุธในการปราบปรามคนที่เห็นต่าง และมันชัดเจนขึ้นเมื่อมันถูกใช้โดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย”

เราพอจะมียุทธศาสตร์อะไรในการสู้กลับสิ่งเหล่านี้ได้บ้าง?

เท่าที่ดิฉันเห็น คือคนมันเริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า digital literacy เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ น่าสนใจมากนะคือมันมีงานวิจัยในอเมริกา ตอนนี้ยังไม่มีงานวิจัยประเภทนี้ในไทยจริงจัง ในสหรัฐอเมริการะหว่างคนรุ่น baby boomers ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป กับคนรุ่น millennial (จริง ๆ ดิฉันเป็น millennial รุ่นปลาย) ช่วงอายุ 30 ปลาย ๆ ลงมาถึงรุ่นประมาณ 20 คนรุ่น millennial ไล่ลงมาถึงรุ่น Gen Z จริง ๆ แล้วคนรุ่นนี้มีความสามารถในการตรวจสอบแล้วก็เข้าใจว่าข้อมูลในโลกไซเบอร์มันมีความหลากหลาย มันต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่าเชื่อทั้งหมด ต้องฟังหูไว้หู คนรุ่นนี้มี digital literacy มากกว่าคนรุ่นก่อน เพราะว่าเราโตมากับอินเทอร์เน็ต เราโตมากับการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วแบบนี้

คนรุ่นก่อนจึงเป็นเหยื่อของ clickbait เยอะมาก เผลอ ๆ เข้าไปเล่นกงเล่นเกมแล้วก็เอาข้อมูลของตัวเองให้คนอื่น คนรุ่นนี้จริง ๆ มีความรู้เรื่อง digital politics หรือกิจกรรมไซเบอร์ค่อนข้างน้อย อันนี้เป็นมิติหนึ่งว่าจะทำอย่างไรให้เราเพิ่ม digital literacy เหล่านี้ในคนรุ่นต่าง ๆ แล้วก็พยายามให้คนพยายามตรวจสอบข้อมูลแหล่งต่าง ๆ เอาข้อมูลมาแย้งกัน อันนี้ดิฉันเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ทำมากขึ้นเวลามีข่าวปลอม มีการพยายามเอาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งแล้วเอามาแย้งกัน เพราะว่าอันนี้คือโลกไซเบอร์ ข่าวสารมันหลากหลายมาก แล้วมันก็เปิดโอกาสให้เราโต้แย้งกัน คุณลองไปดูวิกิพีเดียสิ ใครจะเข้าไปแก้อะไรก็ได้ คนที่อ่านข้อมูลจะต้องตระหนักว่า อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ แม้แต่ข้อมูลที่เขาเอามาแย้ง มันก็ต้องฟังหูไว้หูเหมือนกัน ความระวังพวกนี้มันทำให้ข่าวปลอมมันได้รับความน่าเชื่อถือน้อยลง อันนี้อย่างที่หนึ่ง

อันที่สองคือดิฉันเริ่มเห็นคนที่อย่างในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากอเมริกันเจอข่าวปลอมเยอะมาก หรือกิจกรรม trolling ในโลกไซเบอร์ค่อนข้างเยอะในช่วงเลือกตั้งทรัมป์ เพราะฉะนั้นก็เริ่มมีกลุ่มที่ออกมาลาดตระเวนในโลกไซเบอร์ เป็นกลุ่มที่คอยจับตาดู hate speech ในโลกไซเบอร์ เริ่มจากดูว่าใครเป็นเจ้าของ hate speech นั้น ๆ แล้วก็ดูว่าที่มามาจากไหน มีแหล่งทุนมั้ย หรือเป็นเอกชนหรือบุคคลที่ทำเอง จากนั้นคนก็เอาข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ว่าถ้าเป็นการจัดตั้งมาจากไหน ก็เริ่มมีการเปิดโปงแหล่งข่าวปลอมมากขึ้น ให้พูดก็คือเป็นการลาดตระเวนกันเองของกลุ่มพลเมืองไซเบอร์ อันนี้ไม่ได้บอกว่าให้ไปด่าโต้กลับเขาในโลกไซเบอร์นะ เพียงแต่ว่ามันเป็นการลาดตระเวนสอดส่องอีกทีว่า เรากำลังเผชิญกับอะไรอยู่ hate speech เหล่านี้หลายครั้งมันไม่ได้มาจากความเกลียดชังจากหัวใจของคน แต่มันเป็นการจัดตั้ง ถ้าคุณรู้แบบนั้น คุณอย่าไปหลงเป็นเหยื่อ คุณอย่าไปหลงโต้ตอบ แล้วก็อย่าไปเชื่อฟังอารมณ์ อย่าให้ถูกพาไปง่าย ๆ

อีกอันหนึ่ง ตอนนี้กิจกรรมตรวจสอบข่าวปลอมมันเริ่มเป็นกิจกรรมที่ข้ามพรมแดนมากขึ้น มันก็มีอะไรให้เราขยายเครือข่ายแล้วก็เรียนรู้จากประเทศอื่น ๆ ว่าเขาเผชิญอะไรแล้ว เขาจัดการกับมันอย่างไร อาจจะต้องมีการทำคู่มือออกมาว่าเช่นตอนนี้เริ่มมีการแชร์ข้อมูลกันในหมู่นักกิจกรรมทั่วโลก เช่น แอปที่ใช้แชท อะไรที่จะช่วยให้รอดพ้นจากเครื่องมือแฮคของรัฐบาลทั้งหลาย แล้วก็เริ่มมีความร่วมมือกับ digital entrepreneur ก็คือเป็นที่คิดแอปเหล่านี้ แต่ว่าเป็นนักกิจกรรม คนจำนวนมากเริ่มคิดแอปเพื่อที่จะเอามาสู้กับเครื่องมือควบคุมของรัฐบาล เช่น รัฐบาลอยากสอดส่อง เราสร้างห้องแชทที่มัน VPN ที่หนาแน่นมาก แล้วก็ให้ความรู้คนเรื่อง digital security มีการฝึกอบรมกัน มีการฝึกอบรมให้สร้าง application ใหม่ ๆ อะไรอย่างนี้มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net