ภาคีนานาชาติ 8 องค์กรจัดเวทีหารือ ถอดบทเรียนรับมือข่าวลวง ข้อมูลบิดเบือน

ภาคี 8 องค์กร วิชาชีพ วิชาการ จัดเวทีนานาชาติ รับมือข่าวลวง ข่าวปลอม (Fake News) ถอดบทเรียนไต้หวัน เวทีความเห็นบ่ายเรื่องนโยบายสาธารณะ เสนอมีองค์กรอิสระสร้างช่องทางตรวจสอบข่าวสารบนการทำงานแบบมีส่วนร่วมทุกฝ่าย เน้นรวดเร็ว ฉับไว เข้าถึงง่าย รัฐต้องหนุนเพื่อสร้างการตื่นรู้ในสังคม

ภาพบรรยากาศในงาน

18 มิ.ย. 2562 เว็บไซต์สำนักเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รายงานว่า เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย. 2562) งาน International Conference on Fake News ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จัดขึ้นเมื่อ 17 มิ.ย. 62

การแลกเปลี่ยนและระดมความเห็นช่วงบ่ายในหัวข้อ “นโยบายสาธารณะเพื่อกำกับดูแลข่าวลวงข่าวปลอมในยุคดิจิทัล” (Public Policy in Handling Mis /Disinformation in Digital Era) มีผู้ให้ความเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นที่สอดคล้องกันว่า การสร้างพลเมืองที่ “ตื่นรู้” และ “เท่าทัน” ข้อมูลข่าวสาร มีความสำคัญและจำเป็น โดยรัฐบาลต้องมีบทบาทและหน้าที่ในการสนับสนุนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อให้เกิดการเท่าทันดังกล่าว รัฐต้องทำให้ประชาชนเกิดความ “ไว้วางใจ”และเชื่อมั่น อีกทั้งมีข้อเสนอให้เกิด “องค์กรอิสระ” ที่โปร่งใส เชื่อถือได้ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอม ข่าวลวง ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอันอาจนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังหรือใช้ความรุนแรง เป็นการทำงานบนฐานของ “การมีส่วนร่วม”จากทุกฝ่ายในสังคม

ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล จากไต้หวัน กล่าวว่า การรับมือกับโลกของความขัดแย้งและข่าวลวง นั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาจัดการคัดกรองและประมวลผล โดยทำงานอย่างมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลาย ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเปิดกว้างเพื่อจะ “รับฟัง” ความเห็นจากประชาชนและสร้างความ “ไว้วางใจ” ให้เกิดขึ้นให้ได้

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการไม่มีข้อมูลข่าวสาร แต่ปัญหาหนึ่งคือ ข่าวสารมากจนเกินไป แต่ในหลายๆครั้ง การไม่เชื่อใครเลยอาจดีกว่าการเชื่ออย่างงมงาย มืดบอด (Blind trust is worst than no trust) สิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นคือให้คนสามารถสืบค้นข้อมูลที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้ การให้ข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข่าวนั้นต้องก็ทำอย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์”

รมต.ดิจิทัลไต้หวันกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าการจัดการข่าวลวงที่ได้ผลนั้น รัฐบาลต้องเปิดกว้าง สนับสนุนและสร้างพื้นที่/ช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข่าวสารที่ถูกต้องด้วย

ด้าน มาริโอ แบรนเดนเบิร์ก สมาชิกสภานิติบัญญัติ (Bundestag) เยอรมนีกล่าวว่ารัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ส่งเสริมให้พลเมืองได้รับ “ข้อเท็จจริง” เพราะข่าวลวงเป็นปัญหาที่เกิดในสังคมซึ่งเราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นสำคัญคือการตรวจสอบข้อมูลพยายามแสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงคืออะไร และจำเป็นต้องมีวัฒนธรรมของ “การฟัง” คนอื่นให้มากขึ้นด้วย

“ไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องออกกฎหรือระเบียบที่เข้มงวดกวดขันแต่ต้องให้เครื่องมือที่จำเป็นกับประชาชนเพื่อใช้สร้างความรู้เท่าทันสื่อ ต้องสร้างประชาธิปไตยในยุคดิจิทัลที่ยืดหยุ่น แต่สิ่งที่รัฐต้องทำคือตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรวดเร็ว”

สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ พบว่าขณะนี้ปัญหาจากข่าวลวงมีมากในกลุ่มของยาและสุขภาพ การหลอกลวงและโกงเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้นต้องมีหน่วยตรวจสอบความจริงที่ “เชื่อถือได้” เพื่อให้คนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องโดยมีภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมด้วย เป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย ที่สำคัญต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันประเด็นที่กระทบต่อสังคม ไม่ต่างคนต่างทำเหมือนตอนนี้ พลังเลยยังไม่มากพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องออกจากประเด็นของตัวเองแล้วมาทำงานร่วมกัน
“แม้อยากจะเท่าทันข้อมูล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาแหล่งข้อมูลมาตรวจสอบข้อเท็จจริงความถูกต้อง เพราะอาจมีประเด็นที่ข้อมูลแย้งกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเชื่อถือได้ทั้งคู่ ดังนั้นการจัดการ “ข้อมูล”ที่เป็นความจริง ให้ผู้บริโภครับรู้ เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ซึ่งก็รวมถึงประเด็นทางการเมืองด้วย”

คุณสารียังตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของสื่อมวลชนซึ่งเคยเป็นที่พึ่งของสังคม แต่ปัจจุบันกำลังมีปัญหา บางส่วนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุนไปแล้วจึงทำให้ไม่นำเสนอประเด็นที่อาจกระทบผลประโยชน์ต่อองค์กร หรือการไปเอาเนื้อหาจากคนทั่วไปทางออนไลน์มาสร้างเป็นข่าวโดยไม่ต้องลงทุน

วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า การกำกับดูแลและตรวจสอบข่าวลวงนั้นทำได้หลายวิธีแต่สิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นมีอย่างน้อย 3 ประเด็นคือ ต้องมีองค์กรอิสระที่เชื่อถือได้ โปร่งใส เป็นฝ่ายที่ 3 (Third party) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวสาร โดยประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและกว้างขวาง/ ต้องทำงานบนฐานของการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่าง ๆ เป็นเครือข่ายสื่อสารมวลชนและองค์กรในสังคม ทั้งตรวจสอบนโยบายทางการเมืองและผลประโยชน์รัฐ รวมทั้งการตรวจสอบสื่อกันเองด้วย เพื่อสร้างการตระหนักแก่คนในสังคม (public awareness)

“หัวใจสำคัญคือองค์กรแบบนี้ต้องเป็นอิสระ ไม่อยู่ใต้กำกับของใคร มีความโปร่งใสทุกด้าน ทั้งการหาทุนและด้านอื่น ๆ โดยอาจทำงานร่วมมือกับฝ่ายวิชาการ พร้อมรายงานผลการตรวจสอบต่อสาธารณะเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากสังคม”

ผู้อำนวยการฯ ไทยพีบีเอส ยกตัวอย่างว่าตอนนี้องค์กรกำลังจัดทำ Data System และ Data Journalism ระบบข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข่าวสารต่าง ๆโดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดักกรองข้อมูล

ด้านอาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยืนยันว่า บทบาทของรัฐต้องมีหน้าที่ในการช่วยเหลือ ดูแลคนที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือเสี่ยงอาจถูกละเมิดจากปัญหา fake news แต่ด้านหนึ่งรัฐต้องมีหน้าที่ในการคุ้มครองเสรีภาพด้วย

“สองด้านนี้ไม่มีสิ่งใดเหนือกว่ากัน หน้าที่ของรัฐคือ ทำให้ความรู้เท่าทันสื่อเกิดขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนเท่าทันสื่อ รัฐจำกัดเสรีภาพได้หากจำเป็น แต่ต้องมีสัดส่วน แต่ห้ามเซ็นเซอร์ การกำกับแบบนี้คือ กำกับช่องทางไปถึงคน เช่น วิดีโอโป๊ ไม่ใช่ไม่ให้มี แต่ต้องไม่ให้เด็กเข้าถึงได้ง่ายต่างหากหลักการคือ ไม่กำกับเนื้อหา นี่ต่างหากที่ต้องทำ รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะทำเรื่องใดก่อนหลังเกี่ยวกับข่าวลวง ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องเครื่องมือและใช้เทคโนโลยีให้คนเข้าถึงช่องทางการตรวจสอบได้ง่าย สำคัญที่สุดคือทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเขาจะไม่ถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นจึงจะทำให้เกิดการตรวจสอบข่าวลวงได้”

ฐิติรัตน์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันแม้จะมีหน่วยงานต่าง ๆร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงมากขึ้น แข่งขันกันมากขึ้น แต่ต้องระวังการใช้อคติส่วนตัวไปตัดสินในประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกัน จนกลายเป็นการด่วนตัดสินอีกฝ่าย ทั้งนี้ต้องตรวจสอบ “ข้อเท็จจริง” ไม่ใช่ “ความเห็น”

จิราภรณ์ วิทยศักดิ์พันธ์ อดีตคณบดีคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยยังขาดการส่งเสริม “ความเป็นพลเมือง” จึงเป็นอีกบทบาทที่รัฐไทยต้องส่งเสริมเรื่องนี้ด้วย

“รัฐไทย” ไม่ให้ความสำคัญกับความเป็น “พลเมือง” ทำให้ประชาชนอ่อนแอและต้องเชื่อรัฐตลอดเวลา คนจึงขาดวิธีคิดวิพากษ์ และเลือกเชื่อเรื่องที่ใกล้กับความคิดตัวเอง เมื่อเห็น ถูกใจก็กดไลค์แล้วแชร์ส่งต่อทันทีโดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง กลไกจะเกิด Third party เลยทำได้ยาก เพราะขาดองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็ง รัฐต้องสร้าง ต้องส่งเสริมให้มีบรรยากาศที่จะเกิดการ “ฟูมฟัก” พลเมืองเหล่านี้ ได้ร่วมคิดและพัฒนา ดูแลประเทศ รักษาสิทธิของตัวเอง “พลเมือง”และ “ความเป็นพลเมือง” สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย หากรัฐบาลไม่มีมาตรการกลไกส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งได้ ยากมากที่จะต่อกรกับ fake ภาควิชาการก็ต้องร่วมสร้าง “พลเมือง” ที่มีคุณภาพนี้ออกมาด้วย”

พนา ทองมีอาคม กรรมการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ข่าวลวงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลังเนื่องจากการขยายตัวและเติบโตของอินเตอร์เน็ตและสื่อใหม่ ดังนั้นจึงเป็นข้อจำกัดที่องค์กรกำกับดูแลไม่อาจทำงานได้ทั่วถึง จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้คนรับสารได้มีความรู้เท่าทันเพื่อป้องกันตัวเอง ต้องทำงานร่วมกันทุกฝ่าย

ในช่วงท้ายของการเสวนา มีผู้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีข้อเสนอสอดคล้องกันว่า รัฐบาลควรมีบทบาทในการส่งเสริมให้ประชาชนได้ตื่นรู้ เท่าทันและทำหน้าที่เป็นผู้สร้างสนับสนุนให้มีเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อตรวจสอบข่าวลวงแทนการควบคุมด้วยกติกาที่เคร่งครัดจนอาจละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น อีกทั้งยังมีข้อสังเกตให้มีมาตรการเพื่อดูแลผู้ตกเป็น “เหยื่อ”ของ ข่าวลวงโดยไม่เจตนา ซึ่งการจัดการข่าวลวงนี้จะสำเร็จได้ต่อเมื่อทุกฝ่ายในสังคมทำงานร่วมกัน สร้างสังคมให้ตื่นรู้กับข่าวในระยะยาวฃส่งเสริมให้เกิดการ “เท่าทัน” ข่าวสารในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าของ platform สื่อออนไลน์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ข่าวลวงเผยแพร่ด้วย

การสัมมนานานาชาติครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการร่วมลงนามและประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมของ 8 องค์กรเจ้าภาพที่ได้ประกาศต่อสาธารณะไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท