Skip to main content
sharethis

สื่อ CNN รายงานว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีเหตุการณ์น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับวิกฤตภูมิอากาศโลก จากการที่แผ่นดินน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายในปริมาตร 2,000 ล้านตันภายในวันเดียวจากการละลายของน้ำแข็งในพื้นที่ร้อยละ 40 ของกรีนแลนด์

น้ำแข็งกรีนแลนด์ในส่วนตะวันตกเฉียงเหนือ (ที่มา:วิกิพีเดีย)

19 มิ.ย. 2562 เมื่อไม่นานมานี้ กรีนแลนด์ เกาะขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ส่วนมากเป็นน้ำแข็งเกิดเหตุการณ์ผิดวิสัยในเรื่องการละลายของพื้นที่น้ำแข็งของกรีนแลนด์ โดยถึงแม้ว่าน้ำแข็งในกรีนแลนด์จะมี "ฤดูกาลละลาย" ในช่วง มิ.ย.-ส.ค. แต่น้ำแข็งก็มักจะละลายเป็นส่วนใหญ่ในเดือน ก.ค. จึงเป็นเรื่องผิดวิสัยที่ในปีนี้มีน้ำแข็งละลายเป็นจำนวนมากในเดือน มิ.ย. และละลายในปริมาตร 2,000 ล้านตัน ภายในวันเดียว

มีการเปรียบเทียบว่าปริมาตรน้ำแข็งในกรีนแลนด์ที่ละลายตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2562 จะสูงในระดับมากกว่า 8 เท่าของความสูงอนุสาวรีย์วอชิงตัน (ที่มีความสูง 169 เมตร)

โทมัส โมต นักวิจัยด้านภูมิอากาศกรีนแลนด์จากมหาวิทยาลัยจอร์เจียกล่าวว่าการละลายของน้ำแข็งในกรีนแลนด์ช่วงต้นฤดูกาลละลายมากขนาดนี้ถือเป็นเรื่อง "ผิดวิสัย แต่ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" โมตเปิดเผยว่าการละลายของน้ำแข็งในครั้งนี้เทียบได้กับช่วง มิ.ย. ปี 2555 ที่เกิดสถานการณ์การละลายของน้ำแข็งพุ่งสูงขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน และในครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกที่สามารถรับรู้ได้ถึงการละลายของแผ่นน้ำแข็งเกือบทั้งหมดในทีเดียว

แต่ถึงเรื่องนี้จะเคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่การละลายของพื้นที่น้ำแข็งอยางรวดเร็วขนาดนี้ในช่วงต้นฤดูร้อนของภูมิภาคนั้นก็ถือเป็นสัญยาณไม่ดี โมตอธิบายว่าการที่หิมะและน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วในช่วงต้นฤดูร้อนจะทำให้น้ำแข็งยิ่งละลายได้ง่ายขึ้นในช่วงกลางฤดู เพราะหิมะและน้ำแข็งมีความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปสู่อวกกาศทำให้ลดการสะสมความร้อนบนโลกและช่วยทำให้แผ่นน้ำแข็งคงความเย็นเอาไว้ได้ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า "อัลเบโด" และเมื่อทั้งหิมะและน้ำแข็งลดลงก็ทำให้เกิดอัลเบโดลดลงด้วย น้ำแข็งจึงจะละลายมากขึ้นในช่วงกลางฤดูร้อน

นอกจากโมตแล้วนักวิทยาศาสตร์รายอื่นๆ ก็มองว่าจะเกิดการละลายครั้งใหญ่ของแผ่นน้ำแข็งไอซ์แลนด์ในฤดูร้อนที่จะถึงนี้ เจสัน บ็อกซ์ นักภูมิอากาศวิทยาด้านน้ำแข็งสถานสำรวจทางภูมิศาสตร์ของเดนมาร์กและกรีนแลนด์ก็เคยพยากรณ์ไว้ว่าจะมีการละลายของภูเขาน้ำแข็งครั้งใหญ่ที่กรีนแลนด์ในปีนี้ โดยพวกเขาประเมินจากการที่น้ำแข็งเริ่มละลายมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นเร็วกว่าในปี 2555 สามสัปดาห์ ทำให้พวกเขาประเมินว่าในปีนี้ผืนน้ำแข็งอาจจะยิ่งละลายหนักกว่าในปี 2555

ในแง่ที่ว่าอะไรทำให้เกิดการละลายเร็วกว่าปกตินั้น โมตอธิบายว่ามีความกดอากาศสูงจากแนวสันเขาทางตะวันออกของกรีนแลนด์ที่ดึงอากาศอุ่นชื้นจากใจกลางมหาสมุทรแอตแลนติกเข้ามาสู่ส่วนหนึ่งของกรีนแลนด์ ทำให้เกิดอุณหภูมิอุ่นขึ้นเหนือพื้นน้ำแข็ง นอกจากนี้ความกดอากาศสูงยังทำให้ฝนตกน้อยลง ทำให้อากาศปลอดโปร่งมีแดดจ้า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาสภาพความกดอากาศกรีนแลนด์สูงขึ้นไปอีกเมื่อมีความกดอากาศจากสหรัฐฯ ฝั่งตะวันออกแพร่เข้าไป ทำให้เกิดภาวะร้อนและแห้งติดต่อกันเป็นเวลานานในฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของกรีนแลนด์ช่วงเดือน มิ.ย. นี้

ถึงแม้ปรากฏการณ์นี้จะไม่ใชเรื่องใหม่แต่ถ้าการละลายอย่างหนักที่ละมากๆ ของน้ำแข็งกรีนแลนด์เกิดเป็นประจำก็จะส่งผลสะเทือนต่อโลกในเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นได้ โมตบอกว่ากรีนแลนด์มีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลโลกหนุนสูงขึ้นในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา และส่วนใหญ่ก็มาจากการที่พื้นน้ำแข็งละลาย

เรียบเรียงจาก

Greenland lost 2 billion tons of ice this week, which is very unusual, CNN, Jun. 14, 2019

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขเนื้อความส่วนโปรยให้ตรงกับเนื้อความต้นฉบับภาษาอังกฤษ จากคำว่า คิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 40 ของกรีนแลนด์ เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในกรีนแลนด์จำนวนร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด แก้เมื่อ 19 มิ.ย. 2562 เวลา 20.35 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net