'พลังประชารัฐ' จ่อขอศาล รธน.คุ้มครองชั่วคราว ไม่ยุติหน้าที่ 27 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ชี้ต่างกับ ‘ธนาธร’

ทีมกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ จ่อยื่นขอศาลรธน. คุ้มครองชั่วคราวไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ อ้างกระทบงานสภาฯ –รัฐบาล ยันไม่ใช่ 2 มาตรฐาน อย่าเทียบคดีธนาธร ขณะที่วันนี้ ศาล รธน.ประชุมไม่ได้พิจารณาคดี ส.ส. ถือหุ้นสื่อ แม้วานนี้ 'อนาคตใหม่' จะชวนจับตาครบ 7 วันหลัง 'ชวน' ยื่นเรื่อง 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อว่าจะเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับกรณี 'ธนาธร' หรือไม่ ก็ตาม

19 มิ.ย.2562 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐได้เข้าตรวจสำนวน คำร้องที่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า 41 ส.ส.ที่ถือครองหุ้นสื่อ เข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งส.ส.หรือไม่

ทศพล กล่าวว่า วันนี้มาตรวจสำนวนเพื่อจะได้รู้ว่าสภาฯส่งเอกสารอะไรมาบ้างจะได้วางแผนการต่อสู้ถูก แต่ก่อนหน้านี้เราได้มีการแบ่งกลุ่มคดี เป็นกลุ่มคดีที่มีความเสี่ยง กลุ่มคดีกลางๆ และกลุ่มคดีที่มีความคาบเกี่ยวกัน เพราะวิธีการต่อสู้ในแต่ละกลุ่มคดีไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกันทางพรรคได้มีการหารือกับพรรคร่วม ด้วยกันถึงวิธีการต่อสู้คดี ในกรณีของส.ส.พรรคนั้นถูกยื่นร้องด้วย รวมถึงก็จะมีการยื่นร้องส.ส.ของ 7 พรรคที่มีการถือหุ้นสื่อ โดยจะมีอีกทีมงานหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ

หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่กลัวเมื่อศาลรับคำร้องแล้วจะสั่งให้ส.ส.ที่ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่คณะทำงานที่ต้องหาเหตุผลว่า 27 ส.ส.ของพรรคพปชร.ไม่เหมือนกับกรณีอื่น จึงไม่ควรที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็จะมีการเอาข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสิทธิ ภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัครส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.สกลนคร และ คมสัน ศรีวนิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ จ.อ่างทอง ที่มีความแตกต่างกัน มาพิจารณาดูว่าข้อเท็จจริงในคดีมีประเด็นใดบ้างที่ศาลรับฟังและไม่รับฟัง

ดังนั้น เมื่อคดีมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะต้องวางมาตรฐาน ว่าระหว่างวัตถุประสงค์ที่ระบุในเอกสารราชการ กับสิ่งที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง อะไรฟังได้ไม่ได้ และคาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าก็จะยื่นคำร้องพร้อมเหตุผลเพื่อขอคุ้มครองชั่วครองไม่ให้สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ 27 ส.ส. เพราะถ้าหากศาลสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ก็จะได้รับผลกระทบกับการทำงาน เพราะไม่ใช่แค่กระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาลด้วย เพราะว่ารัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบายในรัฐสภา

“ผมมีหน้าที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ 27 ส.ส.ยังสามารถทำหน้าที่อยู่จนจบภารกิจ และไม่อยากให้สังคมเอาไปเปรียบเทียบ กับกรณีสั่งให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐาน เพราะการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในหลายคดีไม่เหมือนกัน การที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาการต่อประชุมสภาฯ แต่ของเรามันจะเกิดปัญหาทางลบยิ่งกว่า คือรัฐบาลจะไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้เพราะขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงจะไปเทียบกับกรณีของธนาธร ไมได้ เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน อย่าเอามารวมกัน กรณีหุ้นสื่อของ 41 ส.ส.ที่ถูกพรรคอนาคตใหม่ยื่นต่อประธานสภาฯ  อาจจะคล้ายกัน คือถือหุ้นสื่อ แต่ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน" ทศพล กล่าว

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า วันเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมเมื่อเวลา 13.30 น.และเลิกประชุม เมื่อ 15.20 น. โดยที่ประชุมได้พิจารณาวาระทั่วไป และคดีอื่นๆ แต่ไม่ได้พิจารณากรณีความเป็นรัฐมนตรีของ 4 รัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ รวมทั้งคดี 41 ส.ส. ถือหุ้นสื่อด้วย

(ที่มา : ข่าวสดออนไลน์, ไทยโพสต์และคมชัดลึก)

อนาคตใหม่จับตาครบ 7 วัน จะเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับกรณี 'ธนาธร' หรือไม่

ขณะที่วานนี้ ที่พรรคอนาคตใหม่ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง, ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์, และ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ทีมรองโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ร่วมแถลงข่าวในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ณัฐชา กล่าวถึงกรณีที่ทีม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นหนังสือต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการนำเรื่องส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในกรณีการถือหุ้นสื่อของ 41 ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล ที่มีลักษณะเดียวกันกับกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งสองรายที่ถูก กกต.ตัดสิทธิ์ไปก่อนหน้านี้ คือภูวเบศร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.สกลนคร และอดีตผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย จ.ลพบุรี นั้น สิ่งที่อยากขอให้พี่น้องประชาชนร่วมกันจับตามอง คือ กระบวนการที่จะเกิดขึ้น จะเป็นไปตามเงื่อนไขเวลาแบบเดียวกันกับกรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ทาง กกต.ได้ส่งเรื่องไปทางศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาในวันที่ 23 พ.ค.ใช้ระยะเวลา 7 วัน 

นพ.วาโย กล่าวเสริม กรณี 41 ส.ส.ถือหุ้นบริษัทสื่อนั้นที่จริงแล้วพรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นด้วยกับการใช้หนังสือบริคนสนธิในการตัดสินว่าบุคคลใดถือหุ้นสื่อหรือไม่ เพราะเป็นการผิดต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย แต่พรรคต้องการให้ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนออกมาร่วมกันจับตาตรวจสอบว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท