Skip to main content
sharethis



  ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค-Zakee Pitakumpol
 

หากคนที่พูดถึงหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยและแนวทางสันติวิธีอย่างสม่ำเสมอ ทว่าต่อมาอีกวันหนึ่งเมื่อสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องเลือกว่าเราจะยืนยันถึงหลักการแล้วพร้อมยอมรับความเสี่ยงในร่างกายในชีวิต หรือจำยอมเข้าไปสู่ระบอบที่ดำเนินด้วยหลักการที่เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งที่เคยพูดถึงเพื่อความปลอดภัย

คำถามนี้เกิดขึ้นหลังจากประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 และ 1 ใน 250 ส.ว. นั้นปรากฏชื่อของ “ซากีย์ พิทักษ์คุมพล” กระทั่ง ในการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เพื่อพิจารณาเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ก็โหวตให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

 “ซากีย์ พิทักษ์คุมพล” คือ บุตรของอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เป็นอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และรองเลขานุการสำนักจุฬาราชมนตรี

เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโท จาก University Of Canberra ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันเขาเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘ซากีย์’ เป็นอาจารย์คนหนึ่งที่พูดถึงหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยและแนวทางสันติวิธีอย่างสม่ำเสมอ ในการแสดงความเห็นทางวิชาการในเวที 3 จังหวัดชายแดนใต้

แล้วเสียงของเขาก็เป็น 1 ใน 500 เสียง ที่โหวตพลเอกประยุทธ์์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ถูกเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐเป็นนายกรัฐมนตรี ชนะธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ 244 เสียงจากการโหวตร่วมกันของ 2 สภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. 

ท่ามกลางสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน ปรากฏการณ์ของส.ว.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล จึงเป็นกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ


มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง
ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค- Muhammad Ilyas Yahprung

มุมมองของ “ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง” หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีต่อกรณีนี้ คือ

ซากีย์เป็นบุคลากรที่มาจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยนี้มันเป็นองค์กรที่มีหน้าที่จัดการ บริหารเกี่ยวกับกิจการอิสลามในประเทศไทย เพราะฉะนั้นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยก็ส่งตัวแทนเข้าไป 

คือโดยประเพณีปฏิบัติแล้วทุกครั้งที่มี สนช. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าเป็นสมาชิกประเภทไหน รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็จะให้มุสลิมคนหนึ่งเป็น สนช. เมื่อก่อนก็คืออาจารย์มัรวาน สะมะอูน เป็นคนสำคัญที่อยู่ในสภาตลอดในช่วงพลเอกเปรม ในช่วงรัฐประหารอะไรต่างๆ ก่อนหน้านั้นก็มีอาจารย์ ดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปากิยา อ.ดร.อิสมาแอล อาลี อย่างน้อยเพื่อให้มีคนมุสลิมคนหนึ่งอยู่ในสภา 

เขาให้โควตามายังคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซากีย์อาจถูกมองว่าเป็นนักวิชาการจึงให้ซากีย์เป็นตัวแทนจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โควตาตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาที่ซากีย์รับนั้นเป็นตำแหน่งเกี่ยวกับการจัดการบริหารกิจการอิสลามในประเทศไทย 

ผมเข้าใจจุดที่ซากีย์ยืนอยู่ว่ารู้สึกยังไง การที่ซากีย์โหวตยืนยันพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้เป็นนายกรัฐมนตรีมันก็เป็นไปตามการมาของตำแหน่งซากีย์ ผมเข้าใจว่าซากีย์จะโหวตงดออกเสียง แต่เมื่อดูจากการโหวตแล้วนี่ทั้ง 249 คนโหวตให้ นั่นบอกว่าไม่มีใครแตกแถวเลย เมื่อไม่มีใครแตกแถวนี่ลักษณะการโหวตมันมีรูปแบบที่โดนสั่ง หรือบังคับ

ผมคิดว่าถ้ามีคนแตกแถวบ้าง สมมติว่าถ้า นาย A งดออกเสียง ถ้ามีการโหวตงดออกเสียงสักคน 2 คนนี่ แล้วซากีย์โหวตสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานี่ เราสามารถว่าซากีย์ได้ว่า เฮ้ย ซากีย์ทำไมคุณไม่งดออกเสียง เห็นคนอื่นๆ เขาก็ยังงดออกเสียงได้เลย แล้วเมื่อ ส.ว.ทุกคนโหวตเป็นแบบเดียวกันหมด นั่นหมายความว่ามันมีใบสั่งว่าจะต้องโหวตไปในทิศทางนี้ ถ้าคุณไม่โหวตไปในทิศทางนี้คุณก็ลาออกซะ 

แต่ถ้าซากีย์เลือกลาออกมันน่าจะสะเทือนสังคมมากเลย การลาออกในเวลานี้มันจะทำให้ระบบเสียหาย สังคมยิ่งพังไป สังคมมุสลิมยิ่งพังไปใหญ่ เพราะฝ่ายที่มีอำนาจย่อมต้องมองมายังสังคมมุสลิม ว่า คุณรับปากอย่างงี้ๆ มาแล้ว แต่ไม่ทำตาม ด้วยระบบแบบนี้ผมคิดว่าสังคมควรจะทำความเข้าใจและให้ความเห็นอกเห็นใจซากีย์สักนิดหนึ่ง แต่ว่าถ้าระบบมันเป็นแบบอื่น ระบบมันไม่ได้เป็นเผด็จการแบบนี้ แล้วซากีย์มาสนับสนุนพลเอกประยุทธ์์ นี่เราสามารถโทษซากีย์ได้ว่า เฮ้ย ทำไมคุณถึงสนับสนุนประยุทธ์์ทั้งๆ ที่คุณก็มีทางเลือก 

ผมคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในเฟสบุ๊คนี่ มันดราม่าเกินไป ไม่มองสภาพความเป็นจริง 

โดยประเพณีปฏิบัติเวลาจะกลั่นกรองกฏหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วมายังวุฒิสภา เมื่อมายังวุฒิสภาจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ซึ่งถ้ามันไม่มีมุสลิมเลยนี่ ก็ไม่มีใครสามารถให้ความเห็นชอบ อาจเกิดความลักลั่นขึ้นมาได้ ฉะนั้นมันต้องมีมุสลิมอยู่แล้ว ถามว่ามันจำเป็นไหม ถ้าถามผม ผมว่าด้วยระบบแบบนี้มันจำเป็น เพราะว่ามันไม่มีตัวกรองกฎหมาย

ถ้าอาจารย์ซากีย์ไม่ไปก็ได้ แต่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยต้องหาคนมาเพื่อที่จะมาเป็นคณะกรรมาธิการวุฒิสภาดูแลเรื่องกฎหมาย สมมติว่าซากีย์ไม่ไป ก็ต้องหาคนอื่นอยู่แล้ว เพราะว่ามุสลิม 10 ล้านคนในประเทศไทย มีคนที่อยากเป็น ส.ว.เยอะแยะไปหมดเลย แล้วคนที่สมัครเพื่อรับการคัดเลือกเป็น ส.ว.มีเยอะแยะที่เป็นมุสลิม แต่เขาไม่เลือก 

ถ้าเป็นผมตกอยู่ในสภาวะที่ซากีย์เป็นอยู่ ผมคิดว่าผมก็ไม่มีทางเลือก ก็ต้องดำเนินไปตามระบบกฎหมายที่เป็นแบบนี้ คือท้ายที่สุดแล้วนี่การเข้าไปอยู่ในระบบซึ่งถูกกำหนดเอาไว้แบบนี้อ่ะ การทำงานกับระบบ กับการแยกตัวออกจากระบบ ผมคิดว่าการทำงานกับระบบมันทำประโยชน์ให้กับสังคมมากกว่าการแยกตัวออกจากระบบ

มันมีกรณีตัวอย่างในอินโดนีเซียนี่ ทั้งในสมัยซูร์กาโน และซูฮาโต มันก็เป็นเผด็จการนี่แหละ มันมีมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสร้างรัฐอิสลามไม่ยอมรับระบบนั้น ต่อมาถูกจับกุม คุมขัง ไล่ล่าฆ่า กับมุสลิมอีกกลุ่มหนึ่งทำงานร่วมกับซูฮาโต ร่วมกันปรับปรุงระบบภายในประเทศ จนกระทั่งในปัจจุบันนี่มุสลิมในอินโดนีเซียนี่ก็มีความเป็นประชาธิปไตย แน่นอนว่ามันเกิดจากหลายปัจจัยหลายสาเหตุ แต่ว่ามันก็มีบทเรียนอะไรอยู่เยอะ 

ผมคิดว่าการมอง 2 ขั้วแบบขาวกับดำนี่ มันเป็นการมองที่ตื้นเขินมากเกินไป การที่มันมีสถานการณ์อะไรบางอย่างแล้วเราไปตัดสินคนว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มันไม่ถูกต้องนัก เรามีประสบการณ์อยู่แล้วจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 เรื่องมีนักการเมืองฝ่ายเทพ ฝ่ายมาร ท้ายที่สุดหลังจากนั้นปรากฏว่าฝ่ายเทพกลายมาเป็นฝ่ายมาร ฝ่ายมารก็กลับกลายเป็นฝ่ายเทพ 

การเมืองมันไม่มีขาวกับดำ ว่าวันนี้คนนี้ถูกหรือผิด มันอยู่ในกรอบที่ขึ้นอยู่ว่าเราอยู่ในสถานการณ์แบบไหน ขณะที่เรามีหลักการอะไรบ้างที่นำมาอธิบายในสิ่งที่เราทำ

ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า โดยหลักประเพณีทางการปกครองในประเทศไทยในช่วงที่มันไม่มีประชาธิปไตย หรือมีประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบ แล้วมันมีสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผู้มีอำนาจจะแต่งตั้งให้มุสลิมมาเป็น ส.ว. หรือ สนช. ตามโควตาของมุสลิม ก็เพราะรัฐมองว่ามุสลิมเป็นพวกกลุ่มน้อยที่มีปัญหาเยอะ ทั้งปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาสิทธิปฏิบัติตามความเชื่อศาสนาอิสลามในการคลุมฮิญาบ ทั้งระบบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โน่นนี่นั่น มันไม่เหมือนคริสต์ หรืออื่นๆ ที่ไม่ค่อยมีประเด็น

มุสลิมมีประเด็นกระทบกระทั่งกับรัฐเป็นประจำ ฉะนั้นจึงต้องคนที่เป็นตัวแทนจากศาสนาอิสลาม ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนสภาที่มาจากการเลือกตั้งมุสลิมก็เลือกมาแล้ว ไม่ใช่ว่าเข้าไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์มุสลิม ถ้าคิดแบบนั้นก็เป็นการเข้าข้างตัวเองมากเกินไป ว่าเฮ้ยฉันเข้าไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์มุสลิมนะ

พูดอีกอย่างหนึ่งว่าถ้าประเพณีการปกครองมันเป็นแบบนี้ มันมีสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนี่ ผู้มีอำนาจก็จะให้ตำแหน่งมุสลิมมาเพื่อที่จะปรึกษาหารือถึงปัญหาที่กระทบกระทั่งกับมุสลิมได้ก็แค่นั้นเอง

ถ้าครั้งหนึ่งเราเคยพูดถึงประชาธิปไตยแล้วมาตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ มันเป็นตัวเลือกที่ยาก มันเป็นสถานการณ์ที่ยากมากๆ แหลมคม แต่ว่าอย่างที่บอกว่าอาจารย์ซากีย์เป็นตัวแทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เขาแต่งตั้งอาจารย์ซากีย์ไปมิใช่แต่งตั้งในฐานะนายซากีย์ พิทักษ์คุมพล แต่มาในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มาในฐานะตัวแทนองค์กร ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องจะต้องประณามอาจารย์ซากีย์ ในการมาเป็น ส.ว.ทำอะไรต่างๆ

สมมติว่า ส.ว.ครั้งนี้นี่ไม่มีมุสลิมเลย ผมคิดว่ามันเป็นผลเสียมากกว่าผลดี สมมติว่าสภาเขาจะพิจารณากฏหมายเกี่ยวกับการคลุมฮิญาบ มาถึงขั้นวุฒิสภา ให้วุฒิสภากลั่นกรองกฏหมายแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวุฒิสภาที่ไม่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเลย อาจไปเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นมุสลิมมาปรึกษา แต่ก็รับประกันไม่ได้ว่าไปเชิญตัวแทนมุสลิมที่รู้เรื่องอิสลามมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ถูกคนหรือไม่ถูกคน แต่ ส.ว.ครั้งนี้อย่างน้อยก็เป็นตัวแทนที่ส่งมาจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ย่อมสามารถบอกได้ว่าเป็นตัวแทนในนามองค์กร

คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเองก็ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะที่มาที่ไปของการที่อาจารย์ซากีย์ เป็นตัวแทนสักเท่าไหร่ ผมว่าการทำงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเองก็ไม่ได้โปร่งใสสักเท่าไหร่ อันนี้ก็เป็นผลเสีย 

ทางออกเรื่องนี้ จริงๆ แล้วถ้าอาจารย์ซากีย์งดออกเสียงนี่มันโอเคอยู่ มันทำให้เกิดภาพที่โอเค แต่ปรากฏว่าเขาไม่ได้งดออกเสียง เพราะอาจถูกสั่งแกมบังคับจึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเขาโดนบังคับให้ออกเสียงแบบนั้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราจะต้องใจกว้างสักหน่อยว่ามันเป็นสภาที่ถูกแต่งตั้งมามันจึงต้องเป็นไปแบบนี้ 

ถามว่ามันมีความไม่มีความถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยไหม แน่นอนมันไม่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย 

ถ้าหากซากีย์งดออกเสียง หรือโหวตธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ไม่น่าจะถูกคุกคาม แต่ว่าการทำงานของรัฐบาลนี่ กับองค์กรมุสลิม และสังคมมุสลิมคงจะยากลำบาก การทำงานงานคงเกิดการกระอักกระอ่วน ยังไงพลเอกประยุทธ์ ก็เป็นนายกอยู่แล้ว สมมติว่าซากีย์งดออกเสียง หรือโหวตสวนนี่องค์กรมุสลิมที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล ทั้งเรื่องอาหารฮาลาล การบริหารกิจการมัสยิด เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี่ จะทำงานกันยังไง มันก็ไม่มีความเชื่อใจกัน เมื่อไม่มีความเชื่อใจกันก็เสียหายกับองค์กรและสังคมโดยหลัก

ฉะนั้นผมคิดว่าเราอย่าเอาความรู้สึกผิวเผินมาประเมิน หรือมาวัดกันว่าไอ้นี่ไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องประณามอะไรต่างๆ ว่ากันได้ แต่ว่าควรมีพื้นที่ของความเข้าอกเข้าใจกันด้วย ผมไม่ถึงกับว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับการที่ซากีย์เป็น ส.ว.แล้วโหวตพลเอกประยุทธ์ แต่ผมเข้าใจในสิ่งที่ซากีย์ทำด้วยการที่ไม่มีทางเลือกเลยนี่ 

และด้วยการที่เป็นตัวแทนขององค์กรที่แบกไว้นี่ ผมคิดว่าซากีย์ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ตัดสินใจได้ถูกต้องแม้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ผมคิดว่าสิ่งที่ซากีย์ทำในสิ่งที่จำเป็นที่เขาต้องทำ ผมคิดว่าเรามาประเมินการกระทำของซากีย์เพียง 2 วินาทีมันไม่ถูกต้อง สิ่งที่ดีที่สุดผมว่าเราควรให้กำลังใจ และเคารพในการตัดสินใจของซากีย์ การที่ประณามซากีย์ว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวผมมองว่ามันหนักเกินไป 


เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค-
Kengkij Kitirianglarp

ส่วน “รศ.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ” อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นั้นมีมุมมองที่แตกต่างไป

“ถ้าเรามองอาจารย์ซากีย์ในแง่บุคคลมากเกินไปนี่มันก็จะเหมือนเราไปประณามเขาเป็นการส่วนตัว แต่สิ่งที่เราต้องมองว่ามันเป็นเรื่องของระบบอ่ะ ซึ่งนั่นหมายความว่าตัวบุคคลและตัวระบบมันก็มีปฏิสัมพันธ์กัน คือเราทุกคนล้วยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ซึ่งมันมีกลไกจำนวนมาก ส.ว. ก็เป็นกลไกหนึ่ง เราก็จะเห็นหลายคนที่เคยพูดเรื่องประชาธิปไตยเข้าไปอยู่ในกลไกที่มันเป็นเผด็จการ ไม่ว่า ส.ว. กกต. หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ถูกตั้งโดยคสช. 

ในกรณีของอาจารย์ซากีย์ ด้านหนึ่งเราก็เข้าใจ แต่ในฐานะนักวิชาการเราก็ต้องหาคำอธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผมอยากเปรียบเทียบเรื่องนี้กับกรณีคุณสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ที่แสดงจุดยืนงดออกเสียกในการ ทั้งที่พรรคภูมิใจไทยมีมติให้ ส.ส.ของพรรคโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทโอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี อันเนื่องมากจากพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ 

ถ้าเราพิจารณาหลายๆ คนในสังคมไทยนี่ เรามีต้นทุนทั้งนั้นแหละ มีความสัมพันธ์ มันมีสถานะทางสังคมอะไรต่างๆ แน่นอนว่าอาจารย์ซากีย์ก็เป็นลูกชายของจุฬาราชมนตรี ซึ่งสถานะอันนี้ ในแง่ของโครงสร้างสถาบันทางศาสนามันเชื่อมโยงกับรัฐอยู่แล้ว จุฬาราชมนตรีก็เป็นกลไกที่แต่งตั้งโดยอำนาจรัฐไทย เพราะฉะนั้นสิ่งที่อาจารย์ซากีย์เผชิญ รวมถึงเราทุกคน รวมถึงคุณสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติเผชิญหน้าอยู่คือสภาวะที่เราต้องตัดสินใจเลือกสิอะไรบางอย่างว่าเราจเลือกยึดจุดยืนที่ถูกต้อง หรือเราจะถูกฉุดรั้งครอบงำโดยโครงสร้างทางสังคมด้วยสถานะทางสังคมที่เรายืนอยู่

เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งเหล่านี้ เราทุกคนก็ประสบสภาวะแบบนั้นอยู่ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ซากีย์อาจจะมี ซึ่งผมก็คาดหวังว่าอาจารย์ซากีย์มีความซื่อตรงต่อหลักการที่เป็นประชาธิปไตย ต่อความจริงอะไรบางอย่าง ถ้าคิดว่ามันถูกต้อง 

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าอาจารย์ซากีย์อาจจะไม่มี คือความกล้าหาญที่จะยืนยันความคิดสิ่งที่มันถูกต้องของตัวเองในที่สาธารณะ เพราะฉะนั้นเมื่อเราปราศจากทั้งความกล้าหาญที่จะกล้ายืนยันในจุดยืนตัวเอง ที่ตัวเราเองเชื่อว่าถูกต้อง เรายึดถือ ไอ้หลักการว่าด้วยการซื่อสัตย์ต่อความจริงมันก็ถูกทรยศไปโดยการปราศจากความกล้าหาญของตัวเรา

กรณีคุณสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติมีทั้งความซื่อตรงต่อคนที่เลือกเขามา เขางดออกเสียงโดยให้เหตุผลว่าเพราะประชาชนที่เลือกเขานี่ ไม่ต้องการให้เขาสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่เขามีมากกว่าความซื่อตรงต่อผู้คนที่เลือกเขามาก็คือความกล้าหาญ ไม่รู้เรียกมันว่าเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม หรือความกล้าหาญทางการเมือง หรืออาจจะเรียกได้ทั้ง 2 อย่าง

ผมคิดว่าสิ่งที่คุณสิริพงศ์มีคือความกล้าหาญที่อาจารย์ซากีย์ไม่มี เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเวลาเราพูดในแง่นี้มันก็เป็นทั้งเรื่องของตัวบุคคล และเรื่องของโครงสร้างสภานะทางสังคมไปพร้อมกัน แน่นอนว่าอาจารย์ซากีย์ หรือว่าคุณสิริพงศ์นี่ก็อยู่ในระดับของชนชั้นนำในสังคมนี้ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าเขาเลือกที่จะแสดงจุดยืนในลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เราไม่เห็นในคนจำนวนมาก ที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย

การอยู่เป็นนี่แหละ เป็นผลพวงมาจากเราไม่มีความกล้าหาญที่จะยืนยันหลักการ คือผมคิดว่าเราทุกคนมีหลักการ หลายคนเวลาพูดคุยกันส่วนตัวมีหลักการ แต่ถึงเวลาในทางปฏิบัติจริง เราไม่พร้อมที่จะยืนยันหลักการนี้เพราะเราไม่อยากแบกรับความเสี่ยง แต่การต่อสู้ทางการเมืองนั้นการยืนยันความจริงในสังคมที่ไม่มีใครอยากพูดความจริงนี้มันต้องอาศัยความกล้า 

ซึ่งสิ่งที่จะมาพร้อมกันกับความกล้า มันคือความเสี่ยง เพราะคุณอาจถูกจับ ถูกประณามหรือทำร้ายอะไรก็ตาม แต่ว่าถ้าเราไม่ยืนยันสิ่งเหล่านี้หล่ะ เรามีแต่ความกลัว คือผมคิดว่าอาจารย์ซากีย์เขาคงอยู่ภายใต้ความกลัวอะไรบางอย่าง ตอนโหวตวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ก็มีหลายคนที่รู้จักอาจารย์ซากีย์คาดหวังว่าแกจะงดออกเสียง แต่แกก็ขานชื่อพลเอกประยุทธ์ จริงๆ แล้วผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมาจากความกลัว หรือมันมาจากการที่แกไม่มีจุดยืนทางการเมืองกันแน่ ตอนนี้คาดเดาว่าอาจจะเป็นทั้ง 2 อย่าง ทั้งไม่มีจุดยืนที่เป็นประชาธิปไตย และความหวาดกลัว 

ช่วงเวลาที่ผ่านมา คนที่เป็นมิตรสหายกับอาจารย์ซากีย์หลายคนก็เชื่อว่าอาจารย์ซากีย์มีจุดยืนทางการเมืองที่ถูกต้อง แต่ไม่มีความกล้าหาญ แล้วก็มีการเรียกร้องให้อาจารย์ซากีย์มีความกล้าหาญด้วยการเรียกร้องให้อาจารย์ซากีย์ปฏิเสธการโหวตพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่เราเห็นอาจารย์ซากีย์ไม่มีความกล้าหาญที่จะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ ส.ว.ทั้ง249 คนนี่ก็โหวตให้พลเอกประยุทธ์หมด

 ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องการในการต่อสู้ทางการเมือง นอกเหนือจากจุดยืนทางการเมืองที่ตั้งมั่นในความถูกต้องแล้ว ยังต้องการความกล้าหาญที่เราจะยืนยันจุดยืนเราในที่สาธารณะ แม้ว่าเราเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับผลที่จะตามมาก็ตาม แต่การต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่มีความเสี่ยง ในท้ายที่สุดแล้วจะตกอยู่ในกับดักของโครงสร้างอำนาจที่มันมีอยู่เดิม 

ถ้าหากจะอ้างว่าเข้าไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้คนมุสลิม เราก็ต้องเห็นว่ามีคนในสังคมไทยจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้งภายใต้รัฐบาลเผด็จการ มีคนจำนวนมากที่ถูกจับ คือถ้าเราไม่ไร้เดียงสาทางการเมืองเกินไปนี่เราจะเห็นได้เลยว่าคุณเอกชัย หงส์กังวาน หรือจ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และอีกหลายๆ คนที่ถูกจับกุม ในหลายปีที่ผ่านมามีคนลี้ภัยทางการเมืองหลายคนถูกไล่ล่าฆ่า มีหลายคนที่ยังติดคุกอยู่ บางคนตายในคุกด้วย สิ่งเหล่านี้เราจะบอกได้ยังไงว่าทำไมพวกเขาไม่มีคนเข้าไปเชื่อมต่อกับระบบนี้ 5 ปีนี้เราเห็นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้แล้วว่าเราอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่เราไม่สามารถใช้กลไกใดๆ ของระบอบนี้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่หลากหลาย ฉะนั้นการที่เราอ้างว่าจำเป็นต้องเชียร์พลเอกประยุทธ์เพื่อที่จะให้รัฐบาลชุดนี้เป็นปากเป็นเสียงให้กับคนมุสลิม ผมว่าอันนี้มันไม่ make sense ถ้าพูดในแง่นี้เป็นโคตรการกระทำที่เห็นแก่ตัว เพราะมีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถมีปากมีเสียงภายใต้ระบอบเผด็จการแบบนี้ ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ 

ถ้าหากวันหนึ่งคนที่เคยพูดถึงประชาธิปไตยตกอยู่ภายใต้สภาวะแบบที่อาจารย์ซากีย์เจออยู่ในขณะนี้ คือถ้าหากว่าเรากลัว ก็ให้เราเงียบ เราทุกคนมีสิทธิที่จะเงียบ ถ้าเราแบกรับความเสี่ยงไม่ได้ หลายคนแบกรับความเสี่ยงในการเผชิญหน้าต่อสู้กับระบอบเผด็จการไม่ได้ เขาก็เลือกที่จะเงียบ 

แต่หลายคนไม่เลือกที่จะเงียบ แต่เลือกที่จะสยบยอมภักดีต่อโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมมากกว่าเลือกที่จะเงียบ ผมสงสัยมากเลยว่าทำไมเราจึงไม่ปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งของมัน ถ้าเราไม่มีความกล้าหาญ สิ่งที่ควรทำคือการเลือกที่จะเงียบ ไม่ใช่พูดสนับสนุนให้ความชอบธรรม แม้การเงียบแม้จะไม่มีพลังอะไรมาก มันสะท้อนว่าเราไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงที่จะพูดความจริงได้ เราควรที่จะไม่พูดอะไรเลยเสียดีกว่า


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net