Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหตุใดกองทัพจึงไม่อาจรับข้อเสนอของพรรคการเมือง (และประชาชนอีกกลุ่มใหญ่) ให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนมารับสมัครแทนได้ เป็นเรื่องที่เข้าใจยากมาก

หลายคนในโซเชียลบอกว่า นายทหารต้องการได้แรงงานใช้ในครัวเรือนฟรีจากทหารเกณฑ์ แม้มีการใช้ทหารเกณฑ์ในครัวเรือนกันอย่างกว้างขวางจริง แต่ก็ดูเป็นเรื่องเล็กเกินไป ในเวลานี้รายได้ของนายทหารดีขึ้นอย่างมากแล้ว ซ้ำยังมีนายทหารบางคน (มากน้อยเท่าไรไม่ทราบ) สละสิทธิ์อันนี้เองโดยสมัครใจด้วย จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่เหตุอันเล็กน้อยนี้จะถึงกับไปกำหนดนโยบายของกองทัพ

จะยิ่งเข้าใจยากมากขึ้นไปอีก ถ้าคิดว่ากำลังพลจำนวนมากที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของกองทัพเวลานี้คือที่เรียกกันว่า “ทหารพราน” ล้วนเป็นอาสาสมัคร ได้รับรายได้ (เงินเดือน+ค่าครองชีพ+เบี้ยสนาม) ตั้งแต่ประมาณ 9,000 บาท ขึ้นไปถึงประมาณ 16,000 บาท

ทหารพรานประกอบเป็นสัดส่วนเท่าไรของกำลังพล ในบางช่วง เช่น 2524 เข้ามาแทนที่ 80% ของหน่วยทหารปรกติ ผมไม่ทราบสัดส่วนของทหารพรานในกำลังพลเวลานี้ แต่ถ้าดูจากสถิติเดิม รวมทั้งปฏิบัติการของทหารพรานในสมรภูมิทั้งภายในและนอกประเทศ ก็เชื่อว่าไม่น่าจะต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง

และด้วยเหตุดังนั้น ปัญหาเรื่องงบประมาณจึงไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ แม้ในเวลานี้เองกองทัพก็จ่ายเงินเดือนให้ทหารเกณฑ์อยู่แล้ว

จะยิ่งเข้าใจยากขึ้นไปอีก ถ้าย้อนกลับไปคิดถึงทหารในสมรภูมิจริงของกองทัพประจำการสมัยใหม่ของไทย นับตั้งแต่เข้าร่วมรบในยุโรปเมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ 1, สงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส, ปฏิบัติการทางทหารในการยึดเชียงตุง, ส่งทหารเข้าร่วมรบกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลี และร่วมรบกับสหรัฐในสงครามเวียดนาม ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนใช้ทหารอาสาทั้งสิ้น แน่นอน ภายใต้การบังคับบัญชาของทหารประจำการของกองทัพ ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงสงครามซึ่งไม่เปิดเผยในลาวและกัมพูชา ก็ไม่ต่างจากกัน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กองทัพสมัยใหม่ของไทยซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นใน ร.5 คุ้นเคยกับการปฏิบัติการรบกับทหารที่กองทัพรับสมัครเข้ามาเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลกแล้ว ก็ต้องถือว่ามีประสบการณ์ด้านนี้ยิ่งกว่าเขาด้วยซ้ำ (เช่น สหรัฐ ซึ่งทำสงครามขนาดใหญ่ในศตวรรษที่ 20 ด้วยทหารเกณฑ์ทั้งสิ้น)

คำอธิบายที่ฟังขึ้นที่สุดว่าทำไมกองทัพจึงไม่อยากเลิกการเกณฑ์ทหาร อาจเป็นคำอธิบายแบบชาวบ้านนี่แหละ คือกองทัพโดนพลังดูดจากความเคยชิน จนทำให้ไม่อยากเปลี่ยน กองทัพไทยเป็นกองทัพ “อนุรักษนิยม” อย่างยิ่ง แทบจะไม่ยอมเปลี่ยนอะไรเลยมาตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นใน ร.5 จนถึงปัจจุบัน

ผมมาพบคำอธิบายอะไรทำนองนี้ แต่อย่างมีระบบเป็นวิชาการมากกว่า ในหนังสือเรื่อง Thai Military Power ของ Gregory Vincent Raymond (อันเป็นหนังสือที่ผมอยากแนะนำทุกคนที่สนใจเรื่องการปฏิรูปกองทัพควรอ่านอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายปฏิรูปกองทัพ)

ความเคยชินที่ชาวบ้านเห็นว่าเป็นสาเหตุให้กองทัพไม่อยากเลิกเกณฑ์ทหารนั้น ถ้าพูดให้ฟังดูเป็นวิชาการหน่อยก็คือ “วัฒนธรรม” นั่นเอง นายเรย์มอนด์เสนอว่า หากเราจะวิเคราะห์กองทัพของประเทศใดก็ตาม สิ่งที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจบทบาทของกองทัพ (ทั้งในการป้องกันประเทศ และสังคม-การเมือง) ได้ดีที่สุดคือวิเคราะห์ผ่าน “วัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์” ของกองทัพและชาตินั้นๆ

วัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์หมายถึงวิธีคิดที่ผูกมัดการกระทำและดำรงอยู่สืบเนื่องยาวนาน วิธีคิดนี้ประกอบขึ้นด้วยสัญลักษณ์และมโนภาพ ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจหรือหาทางเลือกในการใช้กำลังและการรักษาความมั่นคง

ดังนั้น วัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ของกองทัพไทยในทัศนะของเรย์มอนด์จึงประกอบด้วยสองส่วน คือวัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ของชาติ (หรือสังคมทั้งหมด) กับวัฒนธรรมในการจัดองค์กรของกองทัพ

วัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ของชาติหรือสังคมไทยประกอบด้วยเรื่องเล่า (คือไม่ใช่ความจริงทางประวัติศาสตร์) สองเรื่อง หนึ่งคือพระราชกรณียกิจของ ร.5 และการเสียกรุงศรีอยุธยา ส่วนวัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ด้านที่เป็นวัฒนธรรมการจัดองค์กรของกองทัพ ประกอบด้วยสามปัจจัย หนึ่งคือกองทัพมีบทบาทนำหรือครอบงำ สองราชานิยม และสามการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าในกองทัพ

ทั้งหมดนี้ผมขอพูดถึงเรื่องเดียวเป็นหลัก คือการเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2310 ความจริงเป็นอย่างไรนั้นยกไว้ก่อน แต่ความจดจำที่ถูกปลูกฝังกันมาก็คือ อยุธยาอ่อนแออย่างยิ่งเพราะแตกความสามัคคีกัน จึงไม่อาจรักษาเมืองไว้ได้ ประสบความพินาศล่มจมในที่สุด

ดังนั้น กองทัพไทย (และชนชั้นนำตามประเพณีทั้งหมด) จึงให้ความสำคัญแก่ความสามัคคีเป็นอย่างยิ่ง ตราบเท่าที่เรามีความสามัคคี ไม่ทะเลาะเบาะแว้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน ตราบนั้นเราย่อมสามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้เสมอ

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่ากองทัพประจำการแบบใหม่ของไทยถูกสร้างขึ้น ไม่ใช่เพื่อทำสงครามกับมหาอำนาจตะวันตก แต่เพื่อรักษาความมั่นคงภายใน มิให้มหาอำนาจอ้างได้ว่า รัฐบาลไทยไม่สามารถรักษาความสงบภายในจนเกิดความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของมหาอำนาจ จึงใช้กำลังเข้าแทรกแซงจนในที่สุดก็อาจตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกไป

แต่นั่นเป็นเพียงด้านเดียวของพระบรมราโชบายของ ร.5 ในการรักษาอธิปไตยของประเทศไว้ (ตามเรื่องเล่านะครับ อย่าลืม) พระองค์ยังใช้ความฉลาดในการทูต อันประกอบด้วย การทำให้มหาอำนาจคานกันเอง, การทำให้สถานะของประเทศไทยในฐานะรัฐเอกราชได้รับการรับรองจากนานาชาติ, การ “ลู่ตามลม” และประการสุดท้ายซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 นั่นคือสร้างความเข้มแข็งให้กองกำลังของประเทศ ไม่ใช่เพื่อทำสงครามกับยักษ์ใหญ่เช่นฝรั่งเศสหรืออังกฤษโดยตรง แต่เพื่อเป็นกำลังต่อรองทางการทูตให้มีน้ำหนักขึ้น (เช่น ถึงต้องรบ ก็ไม่หวังเอาชนะทางการทหารแท้ๆ แต่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามสูญเสียมากขึ้นจนอาจรู้สึกว่าไม่คุ้ม)

ดังนั้น หากบ้านเมืองขาดความสามัคคี จึงบ่อนทำลายพลังทั้งในทางการทูตและการทหาร พลังทางการทูตอ่อนแอลง เพราะข้อต่อรองกับต่างชาติไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด และความทุ่มเทให้แก่การใช้กำลังทหารในกรณีจำเป็นก็อาจลดลง (อย่าลืมเรื่องทหารอาสาที่พูดถึงข้างต้นนะครับ ว่าในทางทหาร กองทัพต้องการความทุ่มเทของพลเมืองมากกว่าเฉพาะทหารในกองทัพมากเพียงไร)

แต่ความสามัคคีใน “วัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์” แห่งชาตินั้น ผมไม่ทราบจะแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างไร ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็น Unity เพราะ Unity เปิดให้มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ภายในได้ โดยไม่ทำให้เกิดความแตกแยก คำขวัญประจำชาติของอินโดนีเซียมักถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Unity in Diversity” (อย่าลืมนะครับว่า คำขวัญคืออุดมคติ ไม่ใช่ความจริง) เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากแปลคำว่า Unity เป็นไทยให้ตรงตามตัวว่า “ความเป็นเอกภาพ” มากกว่าความสามัคคี

ทั้งนี้เพราะคำว่าความสามัคคีในภาษาไทย (ผมคิดว่า) เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นจากหลักการว่าคนไม่เท่ากัน จะไม่เท่าเพราะกำเนิด, สถานภาพทางสังคมหรือเศรษฐกิจ, หรือบทบาทหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายก็ตาม ความกลมเกลียวสมานฉันท์จึงเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทุกคนปฏิบัติตนตาม “ระเบียบ” ทางช่วงชั้นอย่างเคร่งครัด เมื่อไรที่คนไม่เคารพ “ระเบียบ” ดังกล่าว เมื่อนั้นความวุ่นวายปั่นป่วนก็จะเกิดขึ้นจนทำให้บ้านเมืองอ่อนแอ เพราะขาดความสามัคคี

จะรักษา “ระเบียบ” นี้ได้อย่างไร ก็ต้องใช้การบังคับบัญชาอย่างเข้มงวดให้ยอมรับ “ระเบียบ” นี้อย่างเต็มที่ จนซึมลึกเข้าไปในบุคลิกภาพของบุคคล

สภาพบังคับจึงมีความจำเป็นไม่ใช่เพื่อให้ได้ทหารเกณฑ์ตามต้องการ แต่จำเป็นในการรักษา “ระเบียบ” ดังกล่าว อันจะนำไปสู่ความสามัคคีในชาติ

ลองคิดเปรียบเทียบสิครับว่า หากชายไทย (และน่าจะหญิงไทยด้วย) สมัครเข้ารับราชการทหาร การ “สมัคร” ย่อมแสดงว่าเขายังมีเจตนาเสรีอยู่ (เพราะไม่สมัครก็ได้) จะบังคับบัญชาคนที่มีเจตนาเสรีอย่างไรให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งได้อย่างเคร่งครัด ผมคิดว่าคำตอบในท้ายที่สุดก็คือต้องอาศัยกติกาที่ถือว่าคนเท่าเทียมกัน แต่ที่มีอำนาจหน้าที่ต่างกันเป็นเพียงเพื่อการทำภารกิจบางอย่างให้สำเร็จเท่านั้น

กติกา เช่น ให้ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย (ผมไม่ทราบว่ามีกติกาอย่างนี้ในกองทัพหรือไม่ แต่มีในระบบราชการพลเรือน) แฝงนัยยะสำคัญเกี่ยวกับความเป็นคนไว้หลายอย่าง อันแรกเพราะเป็นคน ทุกคนจึงสามารถมีวิจารณญาณของตนเองได้ สอง ทุกคนยังมีเจตนาเสรีที่จะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ตามวิจารณญาณของตนเอง ไม่ใช่ตามวิจารณญาณของผู้บังคับบัญชา สาม อำนาจจึงย้ายจากบุคคลซึ่งมีสถานภาพสูงไปอยู่ที่ “กติกา”

นี่คือเหตุที่กองทัพเลิกเกณฑ์ทหารไม่ได้ เพราะเท่ากับยกเลิก “ระเบียบ” ทางช่วงชั้น อันเป็นรากฐานสำคัญของความสามัคคีในชาติ และความสามัคคีในชาตินี่แหละ เป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของความมั่นคงและอธิปไตยของรัฐ

ผมมีอะไรจะทิ้งท้ายไว้นิดเดียว คือเฉพาะเรื่องความสามัคคีที่ได้จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับกรุงแตกและพระราชกรณียกิจของ ร.5 นั้น ก็เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ด้านการจัดองค์กรของกองทัพอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นราชานิยม, บทบาทนำของกองทัพ หรือแม้แต่การแบ่งก๊กแบ่งเหล่าในกองทัพ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งหมดในวัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ของกองทัพไทยและชาติไทยนั้น ล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งสิ้น

ฉะนั้น ถ้าให้ความหมายแก่ความสามัคคีแบบไทยว่าคือเอกภาพเพียงอย่างเดียว ย่อมกระทบไปถึงวัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ทั้งหมดด้วย เลิกเกณฑ์ทหารแต่หันมารับสมัคร จึงไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการจัดหากำลังพล แต่มีผลให้เปลี่ยนอะไรอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์และกองทัพไปทั้งหมดด้วย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_203255

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net