Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเรียกร้องรัฐปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยในประเทศ ทั้งรับรองการมีสถานะบุคคลตามกฎหมาย จนท.ยึดมั่นในหลักการไม่ผลักดันหรือส่งผู้ลี้ภัยไปสู่อันตรายหรือการทรมาน ไปจนถึงลงนามเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951

20 มิ.ย.2562 เนื่องในวันผู้ลี้ภัยสากล วันนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อการดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เพื่อเป็นการยืนยันถึงหลักการที่สำคัญประการหนึ่งจากที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเสนอข้อร้องเรียนในทางปฏิบัติเพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขการปฎิบัติของประเทศไทยต่อข้อเสนอของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติ ประกอบด้วย ดำเนินการที่จำเป็นในการรับรองการมีสถานะบุคคลตามกฎหมายและสถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้ลี้ภัยทุกคน ให้ความคุ้มครองตามกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย เรียกร้องให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องยึดมั่นในหลักการไม่ผลักดันหรือส่งผู้ลี้ภัยไปสู่อันตรายหรือการทรมาน

นอกจากนี้ยัง เรียกร้องให้เร่งรัดให้มีการออกกฎหมายระเบียบในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นข้อสงวนข้อเดียวที่ยังเหลืออยู่ เพื่อให้เด็กที่ร้องขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย จะได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เหมาะสม และได้รับสิทธิตามอนุสัญญา รวมทั้งลงนามเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951

โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์ ข้อเรียกร้องเนื่องในวันผู้ลี้ภัยสากล 20 มิถุนายน 2662

เนื่องในโอกาสวันผู้ลี้ภัยสากล มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอนำเสนอข้อเรียกร้องต่อการดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เพื่อเป็นการยืนยันถึงหลักการที่สำคัญประการหนึ่งจากที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบภายหลังการพิจารณารายงานของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติของประเทศไทยได้มีการรับรองข้อสังเกตเชิงสรุปเกี่ยวกับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยไว้ในย่อหน้าที่ 25 ไว้ดังนี้

“ 25. แม้จะยินดีกับความกรุณาของรัฐภาคีที่ให้ที่พักพิงต่อผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้าน คณะกรรมการกังวลต่อการออกระเบียบต่าง ๆ ของรัฐภาคี เช่นกรณีที่คณะกรรมการระดับจังหวัดออกระเบียบการคัดกรองบุคคล รวมทั้งระเบียบที่อยู่ในพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองและการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย นอกจากนั้น เมื่อรับฟังข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนในที่ประชุม ซึ่งระบุว่ามีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่เข้ามายังรัฐภาคี คณะกรรมการแสดงข้อกังวลต่อรายงานว่ามีการผลักดันกลุ่มคนเหล่านี้บางส่วนให้กลับไปสู่ทะเล (ข้อ 1, 2)

“คณะกรรมการเสนอแนะให้รัฐภาคีรับรองกฎหมายและแนวปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ คณะกรรมการยังกระตุ้นให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และให้บุคคลเหล่านี้สามารถเข้าถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และได้รับการขึ้นทะเบียนตามกลไกของคณะกรรมการระดับจังหวัด นอกจากนั้น คณะกรรมการกระตุ้นให้รัฐภาคีปฏิบัติตามเจตจำนงตามกลไก UPR ที่จะทบทวนจุดยืนประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2497 และพิธีสาร พ.ศ.2510” 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอนำเสนอข้อร้องเรียนในทางปฏิบัติเพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขการปฎิบัติของประเทศไทยต่อข้อเสนอของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติดังนี้ฯ

1. ดำเนินการที่จำเป็นในการรับรองการมีสถานะบุคคลตามกฎหมายและสถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้ลี้ภัยทุกคน  โดย

1.1 รับแจ้งการเกิดแก่บุตรของผู้ลี้ภัยที่เกิดในประเทศไทย

1.2 ทำบันทึกข้อมูลผู้ลี้ภัยทุกคนเข้าสู่ระบบการทะเบียนราษฎร

1.3 ดำเนินออกเอกสารแสดงตนให้ผู้ลี้ภัย

2.  ดำเนินการให้ความคุ้มครองตามกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย โดย

2.1  ไม่ดำเนินคดีฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย  โดยมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุ้มครองดูแล จนกว่าจะสามารถเดินทางไปประเทศที่สาม หรือสามารถกลับประเทศต้นทางได้  หากมีการจับกุมควบคุมตัวหรือดำเนินคดีควรปฏิบัติอย่างระมัดระวังตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย

2.2  เด็กและครอบครัวต้องไม่ถูกควบคุมตัว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่มีบุคคลดังกล่าวถูกควบคุมในที่ต้องกัก  โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูแลกลุ่มดังกล่าว

2.3  ให้สิทธิอาศัยชั่วคราวแก่ผู้ลี้ภัย

2.4  ให้ความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมตามกฎหมาย

3.  การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องยึดมั่นในหลักการไม่ผลักดันหรือส่งผู้ลี้ภัยไปสู่อันตรายหรือการทรมาน ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการด้วยดีทั้งในกรณีนางสาวราฮาฟ โมฮัมเหม็ด เอ็ม อัลคูนัน หญิงสาวชาวซาอุดิอาระเบีย และนายฮาคีม อัล-อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาร์เรน ที่สามารถเดินทางต่อไปยังประเทศที่มีความปลอดภัย

4.  การเร่งรัดให้มีการออกกฎหมายระเบียบในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางบริหารจัดการผู้ลี้ภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

5.  การถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นข้อสงวนข้อเดียวที่ยังเหลืออยู่ เพื่อให้เด็กที่ร้องขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย จะได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เหมาะสม และได้รับสิทธิตามอนุสัญญาและตราสารระหว่างประเทศอื่นๆ อันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือมนุษยธรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคี

6.  ลงนามเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net