'สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน' คลอด 'ธนาคารที่ดิน' ดัน 4 โครงการกระจายการถือครองที่ดิน  

สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ได้รับอนุมัติให้ต่ออายุพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) เป็นเวลา 3 ปี เดินหน้าจัดตั้งธนาคารที่ดิน และผลักดันโครงการกระจายการถือครองที่ดินใน 4 รูปแบบ(โมเดล) เพื่อให้ให้แก่เกษตรกรและผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเองได้มีที่ดินทำกินอย่างเหมาะสมและทั่วถึง

ขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน

20 มิ.ย.2562 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ข่าวประชาสัมพันธ์ของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน หรือ บจธ. เมื่อวันที 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการ บจธ. กล่าวถึงการดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดิน และผลักดันโครงการกระจายการถือครองที่ดินที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรและผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ว่าที่ผ่านมา บจธ. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยงานเร่งด่วน
ที่ บจธ. ต้องเร่งผลักดันภายในหนึ่งปีนับจากนี้คือ การกำหนดรูปแบบของธนาคารที่ดินที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการหาโมเดลหรือรูปแบบการกระจายการถือครองที่ดินที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้กับธนาคารที่ดินต่อไป โดยขณะนี้ได้ดำเนินการทดลองโครงการกระจายถือครองที่ดินใน 4 โครงการได้แก่ 1.โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่และลำพูน 2.โครงการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร 3.โครงการแก้ปัญหาสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน และ 4.โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ

“หากดูตามพระราชกฤษฎีกาฯ มุ่งหวังให้เราเป็นธนาคารที่ดิน หรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดินก็ได้ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติต่ออายุให้ บจธ.คราวละ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปีจากเดิมจะหมดวาระในวันที่ 8 มิถุนายน 2562” ผู้อำนวยการ บจธ. กล่าว

ปัจจุบันโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีประชาชนที่ยื่น
ขอความช่วยเหลือจำนวน 499 ครัวเรือน ซึ่ง บจธ. ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 4 ชุมชน เหลือเพียง 1 ชุมชนใน อ.สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากติดปัญหาราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น และบางส่วนเป็นที่ดินที่มีเลขโฉนดซ้ำกับกรมป่าไม้ หรือบางส่วนเป็นที่บริจาคให้แก่สถาบันศึกษา จึงทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการจัดซื้อที่ดิน

นอกจากนี้ ข่าวประชาสัมพันธ์ ของ บจธ. ยังระบุด้วยว่า สำหรับเกษตรกรและผู้ยากจนที่ต้องการรับการช่วยเหลือเงินสินเชื่อดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์www.labai.or.th หรือส่งอีเมลล์ที่ labai@labai.or.th หรือโทรติดต่อได้ที่ โทร 0 2278-1244, 02278-1648 ต่อ 601,602,610  มือถือ 09 2659 1689

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า 7 มิ.ย. ที่ผ่านมาประชาชนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายประชาชนผู้ต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการ ดูแล และใช้ประโยชน์ในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติบริเวณภาคเหนือตอนบน จากจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จำนวนประมาณ 50 คน เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กรณีเร่งรัดการแก้ไขปัญหาในรูปแบบธนาคารที่ดิน ที่แม้จะมีการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) และอนุมัติงบประมาณ 167 ล้านตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2557 แต่ยังไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายและแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้

ข้อเสนอของ สกน. ต่อผู้บริหาร บจธ. คือ ให้ทบทวนแนวคิดและการทำของ บจธ. ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชนที่ร่วมกันผลักดันมาหรือไม่ และให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาในรูปแบบธนาคารที่ดินให้ประชาชนในทุกพื้นที่ หากยังไม่มีความคืบหน้าภายใน 15 วัน ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจะยกระดับการติดตามการแก้ไขปัญหาให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท