Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลเผยผลสำรวจ 'ITUC Global Rights Index 2019' ระบุ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ แอลจีเรีย, บังกลาเทศ, บราซิล, โคลัมเบีย, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ซาอุดีอาระเบีย, ตุรกี และซิมบับเว ส่วน 'ไทย' ถูกจัดอันดับแย่ลง ตกไปอยู่ในกลุ่มประเทศ 'ไม่รับรองสิทธิคนทำงาน'

21 มิ.ย. 2562 จากรายงาน ITUC Global Rights Index 2019 – The World’s Worst Countries for Workers ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation หรือ ITUC) ระบุว่าจากการประเมินประเทศทั้งหมด 145 ประเทศ พบว่าร้อยละ 85 ของประเทศทั้งหมด ยังมีการละเมิดสิทธิการหยุดงานของคนทำงาน, ร้อยละ 80 มีการปฏิเสธการเจรจาต่อรอง (บางส่วนหรือทั้งหมด) กับคนทำงาน, ร้อยละ 59 เจ้าหน้าที่รัฐขัดขวาง-เป็นอุปสรรคต่อการจดทะเบียนสหภาพแรงงาน และร้อยละ 72 ของประเทศทั้งหมด พบว่าคนทำงานยังเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างจำกัด

นอกจากนี้ยังพบว่ามีประเทศที่ตัดเรื่องการเข้าร่วมและรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานออกจากสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานในประเทศนั้นๆ เพิ่มจาก 92 ประเทศในปี 2561 เป็น 107 ประเทศ ในปี 2562, มี 54 ประเทศ จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม, มีการจับกุมคนทำงานเพิ่มขึ้นจาก 59 ประเทศ ในปี 2561 เป็น 64 ประเทศ ในปี 2562, คนทำงานถูกกระทำรุนแรงใน 52 ประเทศ และมีการสังหารสมาชิกสหภาพแรงงานใน 10 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ, บราซิล, โคลัมเบีย, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, อิตาลี, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, ตุรกี และซิมบับเว

องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2561
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2560
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2559
องค์กรแรงงานสากลเผย 10 ประเทศ ‘ยอดแย่’ ของ ‘คนทำงาน’ ปี 2558

รายงานฉบับนี้ยังได้จัดอันดับประเทศที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนทำงาน 10 อันดับ ได้แก่ แอลจีเรีย, บังกลาเทศ, บราซิล, โคลัมเบีย, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, ซาอุดีอาระเบีย, ตุรกี และซิมบับเว

สำหรับ 'บราซิล' และ 'ซิมบับเว' ติดอันดับ 10 ประเทศที่เลวร้ายที่สุดเป็นครั้งแรก ด้วยการผ่านกฎหมายที่ถอยหลังสำหรับประเด็นสิทธิแรงงาน การปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ประท้วงในประเทศ รวมทั้งการข่มขู่และคุกคามผู้นำสหภาพแรงงาน ส่วนประเทศที่อันดับแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ เบลเยี่ยม, บราซิล, เอสวาตีนี, อิรัก, เซียร์ราลีโอน, ไทย และเวียดนาม

2019 ITUC Global Rights Index ได้จัดทำดัชนีประเทศตามตัวชี้วัด 97 ตัว โดยมีระดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิแรงงานจากมากไปหาน้อยอีก 6 ระดับ (ตั้งแต่ +5,5,4,3,2 และ 1)

1 การละเมิดสิทธิเป็นระยะๆ: มี 12 ประเทศ (เช่น ไอซ์แลนด์ และสวีเดน)
2 การละเมิดสิทธิซ้ำแล้วซ้ำอีก: มี 24 ประเทศ (เช่น เบลเยียม และสาธารณรัฐคองโก)
3 การละเมิดสิทธิอย่างสม่ำเสมอ: 26 ประเทศ (เช่น แคนาดา และรวันดา)
4 การละเมิดสิทธิอย่างเป็นระบบ: 39 ประเทศ (เช่น ชิลี และไนจีเรีย)
5 ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงาน: 35 ประเทศ (เช่น บราซิล และเอริเทรีย)
5+ ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงานเนื่องจากความง่อนแง่นของระบบนิติธรรมในประเทศ: 9 ประเทศ (เช่น ปาเลสไตน์ ซูดาน ซีเรีย และเยเมน)

สำหรับประเทศไทย ITUC ในปี 2562 นี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความรุนแรงระดับ 5 'กลุ่มประเทศที่ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงาน' ก่อนหน้านี้ในปี 2558, 2559, 2560 และ 2561 ไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศความรุนแรงระดับที่ 4 'กลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net