Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาทั้งเป้าหมาย วิธีการ และผลที่เป็นจริง เป็นประเด็นที่ผู้คนในสังคมไทยสนใจกันมากขึ้นๆ ว่าเราจะแก้ปัญหานี้ กันอย่างไรดี? เพราะมันเป็นเครื่องชี้หนึ่งของความไม่สำเร็จผลของการพัฒนา ในโอกาสที่วันที่ 23 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันแห่งการให้บริการสาธารณะของสหประชาชาติ (United Nations Public Service Day) ประชาชนผู้รับบริการจากรัฐ จึงควรพิจารณาถึงโอกาสของการลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ อันสัมพันธ์กับการได้รับหรือไม่ได้รับบริการอันควรจากรัฐร่วมกันกับประชาชนในประเทศอื่นๆทั่วโลก 

นับจากประเทศไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาเกือบ 60 ปี ประเทศของเราที่ผ่านมา ดูเหมือนเป็นขบวนรถไฟหวานเย็น ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ขับเคลื่อนไปได้เพียงการเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูง (ประกาศโดยธนาคารโลกเพื่อ พ.ศ. 2554) และยังพบเห็นผลอันไม่พึงประสงค์คือความเหลื่อมล้ำในหลายด้าน นับเป็นเครื่องชี้แบบหนึ่งว่าด้วยความทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเด็น อำนาจการตัดสินใจ การครอบครองทรัพยากร การประกอบอาชีพ รายได้ การศึกษา สถานภาพในสังคม สุขภาพ ที่อยู่อาศัย เพศสภาพ และความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน หรือประเด็นมุมมองอื่นใดก็ตาม ในการพัฒนาประเทศ โดยหลักใหญ่ใจความของความเหลื่อมล้ำ ก็คือ สภาวะของความไม่เสมอภาคหรือความไม่เท่าเทียมกัน และความไม่ได้สัดส่วนกัน ซึ่งดำรงอยู่ระหว่างผู้คนในสังคม ทั้งในเชิงอำนาจ โอกาส การกระทำ และผลของการพัฒนาในประเด็นต่างๆ 

ปัจจัยพื้นฐานในประเทศอันนำไปสู่หรือสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา อาจพินิจพิเคราะห์ได้แตกต่างกันไป  ตามมุมมองของแต่ละบุคคล สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ขอให้น้ำหนักแก่ปัจจัยต่อไปนี้ คือ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาพแวดล้อม (ในทางทรัพยากรธรรมชาติและบริบทของสังคม) กฎหมาย และระบบการบริหารงานของรัฐ 

อย่างไรก็ตาม ในข้อเขียนชิ้นนี้ ข้าพเจ้าขอจำกัดการแสดงความเห็นไว้เพียงปัจจัยการเมืองและที่เกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิด คือ กฎหมาย และระบบการบริหารงานของรัฐ เท่านั้น ว่ามีสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำอย่างไร และหลังจากนั้น ขอนำเสนอต่อไปในเชิงสมมติฐานยี่สิบประการ เพื่อตอบสนองการลดความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เสมอภาคในมิติต่างๆของการพัฒนาที่สัมพันธ์กับการเมืองและการเกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิดกับกฎหมาย และระบบการบริหารงานของรัฐดังกล่าว

สภาวะทางการเมืองที่กระทบต่อความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาประเทศไทย 

สภาวะทางการเมืองที่กระทบต่อความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาประเทศไทยนั้น โดยส่วนใหญ่กระทบไปในทางไม่เป็นมิตรกับความเสมอภาคของการพัฒนา ดังตัวอย่างสำคัญๆ โดยสังเขปคือ

อำนาจอธิปไตยของประชาชนไทยสมัยใหม่ ในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือความมีอิสรภาพ ความเสมอภาค และภารดรภาพ ในหมู่ประชาชน ได้เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นั้น ได้ค่อยๆถูกกัดกร่อนให้ลดน้อยลงไปๆในการปกครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตามลำดับ

สมรรถนะในทางประชาธิปไตยของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งที่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร นำไปสู่การไม่มีเสถียรภาพของรัฐสภา และความต่อเนื่องของระบบการเลือกตั้ง ในการได้มาและรักษาไว้ซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ

สมาชิกวุฒิสภาที่มิได้มาโดยการเห็นชอบของประชาชน แต่กำเนิดจากมดลูกของเผด็จการที่มุ่งปราบและควบคุมประชาธิปไตย มีอำนาจเหนือหรือเท่าเทียมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกตั้ง (ดังที่วุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มาจากการสรรหาแบบอำเภอใจของ คสช. แต่รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน หาใช่จากหัวหน้าคสช.หรือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันไม่ สามารถลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับส.ส.ที่ประชาชนเลือกตั้งมาได้) มีผลให้อำนาจอธิปไตยสูงสุดของประชาชนไม่สามารถใช้เพื่อปกครองตนเอง ได้ตามเจตจำนงในทางการเมืองของประชาชน

องค์การอิสระมิได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพรรคการเมืองและรัฐบาลประชาธิปไตยแทนประชาชน เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบการเมืองภายใต้อำนาจอธิปไตยและตามเจตจำนงของประชาชน แต่กลับมีอำนาจเหนือ ควบคุม กำกับ และตรวจสอบการดำเนินงานของพรรคการเมืองและรัฐบาลจากการเลือกตั้งของเสียงส่วนใหญ่อย่างสูง จนพรรคการเมืองและรัฐบาลประชาธิปไตยขาดเสถียรภาพในการบริหารงาน

การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนในบรรยากาศที่สังคมมีความเป็นประชาธิปไตย (มากกว่าปัจจุบัน) มีทิศทางที่เป็นปฏิปักษ์หรือไม่เช่นนั้นก็แข่งขันกับการเมืองแบบผู้แทนราษฎร มากกว่าการเกื้อกูลกัน

รัฐบาลไม่ได้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยการกระจายอำนาจได้รับการให้ความสำคัญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 มากกว่าตามรัฐธรรมนูญ 2560 และแทบหยุดชะงักในยุครัฐบาล คสช. ในรอบห้าปีที่ผ่านมา
การที่อำนาจรัฐบาลส่วนกลางอยู่เหนือรัฐบาลหรือระบบการบริหารท้องถิ่น ที่รับผิดชอบโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ทำให้การพัฒนาในระดับท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระในการปกครองตนเองในระดับที่ยังคงความเป็นเอกภาพของประเทศ

การบริหารงานของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คสช. และยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล คสช. ลดทอนศักยภาพในทางการพัฒนานโยบายสาธารณะของพรรคการเมือง และใช้บังคับเป็นการทั่วไปเหนือนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลร้องเรียนว่าไม่สามารถแข่งขันกันในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด กันอย่างเสรีและยุติธรรม โดยพรรคการเมืองดังกล่าวได้รับการปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคจากคณะกรรมการการเลือกตั้งและอิทธิพลของรัฐบาล คสช. ที่สนับสนุนพรรคการเมืองของตน (พรรคพลังประชารัฐ)

ในมุมมองของข้าพเจ้าแล้ว สภาวะดังกล่าวข้างต้น (ซึ่งบางประการเป็นความเหลื่อมล้ำทางการเมืองเองด้วย) เป็นกรอบแห่งพันธนาการทางการเมืองต่อการเกิดขึ้น หรือขยายตัวของความไม่เสมอภาคและความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาประเทศ มากกว่าการทำให้ความเหลื่อมล้ำหดแคบหรือหายไปในอนาคต การแก้ไขความเหลื่อมล้ำดังกล่าว สำหรับรัฐสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic State) แล้ว สมควรพิจารณาจัดการกับสมมติฐานว่าด้วยการเมืองและความเหลื่อมล้ำ ดังต่อไปนี้

สมมติฐานว่าด้วยการเมืองและการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

1. ระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการของสังคมไทย อาจทำให้เกิดความเสมอภาคหรือไม่มีความเหลื่อมล้ำในบางเรื่อง (เช่น ความพยายามของรัฐเผด็จการคสช.ในทางการจัดสรรรายได้พื้นฐานทั่วไปและการให้สวัสดิการสังคมแก่คนจนเพื่อให้มีรายได้เพิ่มและได้รับสวัสดิการมากขึ้น) ด้วยการใช้อำนาจบังคับและกลไกการจัดการจากส่วนกลาง กำลังนำให้เกิดการอุปถัมภ์สวัสดิการโดยรัฐในปลายมือ แต่ในวิถีทางประชาธิปไตย ความเสมอภาคเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และผลประโยชน์ที่ยุติธรรมอาจได้มาโดยการประชามติหรือการลงคะแนนเสียงของประชาชน เพื่อสนับสนุนนโยบายสาธารณะหรือของพรรคการเมืองที่ประสงค์จะเป็นรัฐบาล หรือการเห็นพ้องร่วมกันในสังคมผ่านเวทีสาธารณะที่เปิดกว้าง โดยยึดหลักการเคารพสิทธิในความเท่าเทียมกันของประชาชน โดยไม่เลือกปฏิบัติ และการเอื้ออำนวยจากศักยภาพและคุณภาพของประชากรในการร่วมกันช่วยเหลือปัจจัยทางเศรษฐกิจแก่สังคมส่วนรวมตั้งแต่ต้นมือ

2. รัฐบาลเผด็จการมักจะไม่กระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นหรือรัฐบาลท้องถิ่น แต่ในการบริหารท้องถิ่นเพื่อเกื้อกูลต่อความเสมอภาคอย่างทั่วถึง ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จะเกิดขึ้นได้ ก็โดยการที่รัฐเผด็จการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้จะมีอำนาจที่จำกัด และแบ่งมอบอำนาจการตัดสินใจให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น 

3. การควบคุมของระบบรัฐการแบบเก่าเหนือระบบรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่นแก้ไขได้ยาก การใช้ประชามติในระดับจังหวัดในขอบเขตที่กฎหมายรับรอง จะช่วยลดอำนาจของรัฐส่วนกลางที่ไม่ได้สนใจความเสมอภาคอย่างเป็นแก่นแกนในการพัฒนาลงไป

4. การจะลดความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจและสังคมให้ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง ต้องการอำนาจการเมืองแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถกำกับการบริหารรัฐบาล ให้เคร่งครัดต่อการมีส่วนร่วมของภาคีหุ้นส่วนการพัฒนาตลอดกระบวนการของนโยบายสาธารณะ เพื่อขับเคลื่อนความเสมอภาคในมิติต่างๆ [อาทิ รัฐาภิบาลแนวใหม่ (New Public Governance)] 

5. ในสังคมประชาธิปไตย อำนาจรัฐและผลประโยชน์ที่รัฐส่วนกลางจะได้รับ ได้มาโดยความยินยอมของรัฐย่อยหรือรัฐบาลองค์ประกอบในท้องถิ่นที่มีอำนาจปกครองตนเองสูง เพื่อจัดการกับความเสมอภาคระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น (ตัวอย่าง เช่น สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ Canton ต่างๆ บำรุงตนเองก่อน ส่วนเหลือจึงส่งให้รัฐบาลกลาง)

6. วัฒนธรรมหรือค่านิยมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาประเทศ การฝักใฝ่อำนาจนิยมของเจ้าหน้าที่รัฐหรือในหมู่ประชาชนเหล่าใดก็ตาม จะกลายเป็นปฏิปักษ์และสิ่งเหนี่ยวรั้งความเสมอภาคในการพัฒนา เจ้าหน้าที่รัฐผู้ยึดมั่นต่อค่านิยมประชาธิปไตยจึงสมควรมีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานมากกว่าเจ้าหน้าที่ผู้ยังคงยึดมั่นกับระบบอำนาจนิยมดั้งเดิม 

7. ประเทศไทยมีการจัดระบบราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ระบบดังกล่าวไม่สนับสนุนการกระจายอำนาจและการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะส่วนภูมิภาคพยายามควบคุมท้องถิ่นตามคำสั่งของส่วนกลาง (กระทรวงต่างๆ) ที่เป็นแหล่งรวมผลประโยชน์สูงสุดในชาติ การกำกับของส่วนกลางในแนวกว้างๆและยืดหยุ่น แต่มีมาตรฐานกลางที่เห็นชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนและยึดถือร่วมกันเท่าที่จำเป็นแก่มาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชน จะเหมาะสมกับการพัฒนาเพื่อความเสมอภาคของทุกภาคส่วนในอนาคตมากกว่าในอดีต 

8. การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมีปัญหาทวิภาวะของการพัฒนาสูง อันสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน คือ ส่วนที่เจริญก้าวหน้า (เขตเมือง) และส่วนที่ด้อยความเจริญ (เขตชนบท) อยู่คู่กัน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจัดการทวิภาวะของการพัฒนาดังกล่าว ลดน้อยถอยลงไป

9. การที่ท้องถิ่นได้ปกครองตนเอง (เช่น การเลือกตั้งผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือในระดับภูมิภาค) จะทำให้มีนโยบายที่มุ่งประโยชน์ของประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น และความเหลือมล้ำระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่นจะมีต่ำลง

10. การเลือกตั้งผู้บริหารในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแม้ว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำ แต่จะเป็นไปได้มากขึ้น หากสมรรถภาพขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีเพียงพอในการให้บริการสาธารณะ พร้อมๆกับประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในทางนโยบายและการบริหารของท้องถิ่นในช่องทางต่างๆ

11. จังหวัดต่างๆในประเทศไทยมีแผนพัฒนาจังหวัดในกำกับของแผนพัฒนาแห่งชาติ ทำให้มีปัญหาว่าแผนพัฒนาจังหวัดนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในจังหวัดของตน หรือระหว่างส่วนกลางกับจังหวัด ได้จริงหรือไม่และเพียงใด การทำให้แผนพัฒนาจังหวัดและแผนการพัฒนาร่วมกันของกลุ่มจังหวัด (เรียกว่า “สหพันธ์จังหวัด” ก็ดูดี) ที่เน้นผลการพัฒนาที่ยุติธรรมและเสมอภาคมีน้ำหนักมากขึ้น โดยแผนพัฒนาประเทศเป็นข้อกำหนดเชิงทิศทางกว้างๆ ที่ให้อิสระแก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริงในการจัดการตนเอง จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญ

12. การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงการกระจายรายได้และระดับความมั่งมีของประชาชนในจังหวัดต่างๆ เพราะอำนาจการเมืองสนับสนุนการวางแผนจากส่วนกลางมากกว่าให้ส่วนท้องถิ่นมีแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเอง แต่การพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ต้องอาศัยอำนาจของประชาชนในฐานะพลเมืองที่ตื่นตัว ทั้งในทางการเมืองโดยอ้อมที่ยอมรับระบบการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรรวมทั้งผู้บริหาร และประชาธิปไตยทางตรงของประชาชนเองอย่างเกื้อกูลกัน

13. การพัฒนานโยบายและบริการสาธารณะที่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยและดำเนินการในรูปสหพันธ์หรือกลุ่มจังหวัด อย่างร่วมมือกันและพึ่งพาอาศัยกันและกันในการพัฒนาและผลิตบริการสาธารณะ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆระหว่างจังหวัดและภายในจังหวัด และลดหย่อนความเป็นเจ้าของรัฐและการครอบงำของรัฐบาลส่วนกลางที่มากเกินไป

14. การส่งเสริมการรวมตัวของประชาชนกลุ่มต่างๆ (เช่น สหกรณ์ สหภาพแรงงาน สมาคม สโมสร ชุมนุม ชุมชน ชมรม มูลนิธิ และกลุ่มประชาชนในชื่ออื่นๆ) จะช่วยให้เกิดอำนาจการต่อรองของกลุ่มประชาชนนั้นๆ อย่างพอฟัดพอเหวี่ยงกับรัฐ และภาคีคู่กรณีหรือหุ้นส่วน ในการใช้อำนาจ ทรัพยากรในรัฐ และการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่งการกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาที่เสมอภาคมากขึ้น

15. การมีกฎหมายที่รัฐสภาอนุมัติและที่รัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นออกมาร่วมบังคับใช้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคเป็นสิ่งจำเป็น และยังต้องการการปรับปรุงกฎหมาย การออกกฎหมายใหม่ๆ และทันสมัย โดยกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องได้มาและบังคับใช้อย่างชอบธรรม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่กฎหมายรับรอง และที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ ตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม 

16. การปฏิบัติตามกฎหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันในการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เลือกปฏิบัติ จะนำไปสู่ประสิทธิผลของการลดความเหลื่อมล้ำ  แต่จะเป็นไปได้อย่างจริงจังมากขึ้นก็โดยการมีดัชนีวัดความเสมอภาคของการพัฒนาและการเทียบเคียงระหว่างประเด็นการพัฒนา พื้นที่ และประชากรกลุ่มต่างๆเป็นอย่างน้อย

17. การมีองค์การและกลไกของรัฐที่มีสมรรถนะ รวมทั้งการอาศัยการจัดการนวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และกายภาพของเมือง) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับจัดการกับปัญหาความไม่เสมอภาคในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของการพัฒนา และการเสริมสร้างการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์การของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ในเชิงพื้นที่และในเชิงประเด็นความสนใจร่วม จะช่วยให้ความเหลือมล้ำในมิติต่างๆลดลงไป

18. นโยบายพรรคการเมืองที่ส่งเสริมความเสมอภาคและความยุติธรรมของการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมอาจขัดกับค่านิยมดั้งเดิมอันทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศลดลงหรือหมดไปได้ยาก แต่ความตื่นตัวของประชาชนและองค์การของประชาชนต่างๆ รวมทั้งสมาชิกพรรคการเมืองในทางสร้างสรรค์จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงค่านิยมแห่งความเสมอภาคในการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจฉับพลันในบางโอกาสและในขอบเขตที่มีความเป็นไปได้ 

19. เสรีภาพทางการเมือง เสถียรภาพทางการเมือง ความมั่นคงทางการเมือง และคุณภาพของประชาธิปไตย ล้วนสนับสนุนต่อความเป็นไปได้และยั่งยืนของความเสมอภาค ในการเข้าร่วมกำหนดเป้าหมาย การมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา และความยุติธรรมในการรับผลประโยชน์จากการพัฒนาของประชาชนในประเด็น สำหรับกลุ่มบุคคล และในพื้นที่ต่างๆ

20. การรับเอากติกาสากลที่สนับสนุนสิทธิในการพัฒนาของประชาชน (Right to development) ของสหประชาชาติ มาประยุกต์ในกฎหมายของประเทศอย่างจริงจัง จะเสริมสร้างความก้าวหน้าของความเสมอภาค ความยุติธรรม และการลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา มากกว่าการดำเนินเพียงลำพังตามค่านิยมดั้งเดิมของสังคมไทย

การแก้ปัญหาความเหลือมล้ำหรือทำให้เกิดความเสมอภาคในการพัฒนามากขึ้น ตามนัยของสมมติฐานข้างต้น จำเป็นต้องอาศัยการจัดการปัจจัยพื้นฐานทั้งหลายที่กล่าวถึงแล้วตอนต้น คือ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาพแวดล้อม (ในทางทรัพยากรธรรมชาติและบริบทของสังคม) กฎหมาย และระบบการบริหารงานของรัฐ อย่างสัมพันธ์กัน และหลายประการต้องอาศัยการเปลี่ยนแนวคิดและปรับปรุงแนวทางและวิธีการให้บริการสาธารณะของรัฐเสียใหม่

ในบทความนี้ได้ระบุสภาวะของการเมืองที่เป็นพันธนาการต่อความเหล่อมล้ำในสังคมไทย และนำเสนอสมมติฐานตัวอย่างยี่สิบข้อ เพื่อเป็นแนวทางของการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดความเหลือมล้ำ โดยไม่ขอ (ไม่ได้) ยกตัวอย่างนโยบายหรือวิธีการแก้ปัญหาในรายละเอียด แต่กระนั้น นอกเหนือจากที่ข้าพเจ้านำเสนอมา ย่อมมีแนวทางและวิธีการอื่นๆอีกมากมาย ดังที่เราท่านทั้งหลาย ก็คงพบเห็นนโยบายและโครงการของพรรคการเมืองต่างๆ ในคราวเลือกตั้งที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2562) เป็นตัวอย่างของความพยายามการแก้ไขปัญหาความเหลือมล้ำเชิงรูปธรรมแล้ว ไม่มากก็น้อย สิ่งที่สมควรต้องติดตามกันต่อไปก็คือ นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคร่วมรัฐบาล จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านการจัดบริการสาธารณะของรัฐได้จริงหรือไม่ และรวดเร็วมากน้อยเพียงใด!?
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net