Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่ทราบแน่ว่าทำไม BBC ไทย ถึงนำส่วนหนึ่งของปาฐกถาเมื่อสองปีที่แล้วของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาเผยแพร่ใหม่ ด้วยเหตุผลเพียงแค่มันมาบรรจบวันที่ 19 มิถุนายน อีกครั้ง?

ในครั้งนั้น (ปาฐกถาเต็ม) จำได้ว่า หลายคนรวมทั้งผมได้วิจารณ์เสกสรรค์ค่อนข้างแรง (ในครั้งนี้ BBC ได้สรุปและตัดทอนเนื้อหาหลายส่วนให้ดูเบาลงมาก จนเหมือนเป็นของใหม่)

ผมไม่อยากให้นักวิชาการและผู้คนรุ่นต่อๆ ไปสรุปประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญนี้อย่างผิดๆ ไปในทางเดียวกัน เพียงเพราะอิงกับความเป็น big name ของเสกสรรค์ ผมจึงจะแสดงให้เห็นในเชิงวิชาการอย่างย่อๆ ว่า ข้อสรุปการอธิบายโครงสร้างการเมืองและประวัติศาสตร์อย่างของเสกสรรค์ มีปัญหาอะไรแฝงฝังอยู่ ?????

BBC ไทยได้สรุปปาฐกถาออกมาเป็น “8 วรรคทอง” ของเสกสรรค์ ผมจะวิจารณ์เฉพาะข้อที่มีปัญหาสำคัญๆ ดังนี้

1. ชูธงความดี

เสกสรรค์เห็นว่า ปรากฎการณ์ “ชูธงความดี” สะท้อนว่า คู่ขัดแย้งคือ “ชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐ” ที่กุมกลไกรัฐราชการ กับ “ชนชั้นนำใหม่ที่โตจากภาคเอกชน” แล้วขึ้นสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง นี่คือความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ตัวบุคคล
มีคำอธิบายอีกชุดหนึ่ง ซึ่งอาจมีน้ำหนักพอๆ กัน หรือมีน้ำหนักกว่าในสายตาของชาวบ้านที่เข้าร่วมการต่อสู้โดยตรง สะท้อนออกมาในสื่อทั่วๆ ไปหลายครั้งหลายหน โดยใช้คำที่ชาวบ้านเข้าใจดีเช่น “ชนช้าง” หรือ มหากาพย์ “สงครามเทพ” ประเด็นคือ การที่ส่วนนำหรือส่วนหัวของฝ่ายหนึ่ง ปะทะกับส่วนหัวของอีกฝ่ายนี้ เราจะถือว่า เป็นความขัดแย้งระดับตัวบุคคล (ที่กุมโครงสร้าง) หรือเป็นความขัดแย้งระดับโครงสร้าง นัยของคำอธิบายอย่างหลังคือ มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (เช่นระบอบศักดินา ต้องปะทะหักล้างกับระบอบทุนนิยม) แต่ในคำอธิบายอย่างแรก แม้ว่าผู้นำทั้งสองฝ่ายจะยึดถือค่านิยม (หรือจะเรียกว่า “โครงสร้าง” ก็ได้) คนละชุด เช่นฝ่ายหนึ่งอาจยึดถือแนวคิดอธิปไตยเป็นของปวงชน-กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด อีกฝ่ายหนึ่งลึกๆ แล้วอาจยึดถือแนวคิดกษัตริย์อยู่ “เหนือ” รัฐธรรมนูญ ซึ่งความจริงก็อาจเป็นเพียงการตีความหรือปรับใช้ประชาธิปไตยแบบอังกฤษในทางหลักการจากมุมมองของพวกเขาอย่างเคร่งครัดเท่านั้นเองด้วยซ้ำ แต่แนวคิดทั้งสองชุดไม่จำเป็นต้องแตกหักกันเสมอไป โดยเฉพาะแนวคิดชุดหลังอยู่กับสังคมไทยในแบบที่ก้ำกึ่งกำกวม ในฐานะที่เป็น “บารมี” (ซึ่งกลายเป็นคำพิเศษที่ใช้กันมากในสังคมไทย) ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายทักษิณ กับฝ่ายที่อ้างว่าทักษิณไม่จงรักภักดี แม้ว่าจะรวมถึงการผูกใจคนชั้นล่าง (ที่อีกฝ่ายเห็นว่าทักษิณทำด้วยวิธี “สกปรก”หรือไม่น่าพอใจและมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะกินรวบ) การลดอิทธิพลของระบบราชการ (แต่เพิ่มอิทธิพลของตนเองแทน) แต่ความขัดแย้งแรกเริ่มที่ถูกยกขึ้นมาและเกิดขึ้นต่อมาครั้งแล้วครั้งเล่า ล้วนเป็นเรื่องในระดับ “วัฒนธรรม” ไม่ใช่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเช่น การทำพิธีในวัง การใช้คำพูด การจัดรถไฟขบวนพิเศษ การประชุม ครม.นัดพิเศษในปราสาทพนมรุ้ง และอื่นๆ อีกมากมาย - เราจะไม่รวมเรื่องเหล่านี้ไว้ในประวัติศาสตร์หรือ? หรือทำไมต้องลดทอนมันลงไป ซึ่งความจริงพูดอีกอย่างก็คือ ขยายมันให้กลายเป็นเรื่อง ขาว-ดำ กลายเป็นภาพที่หยาบ (แบบที่เป็นดิจิทัล แทนที่จะเป็นอนาล็อก แบบที่เราเห็นๆ ) กลายเป็นเรื่องของ “ระบอบ” หรือชนชั้นทางเศรษฐกิจ (ถึงมีคำว่าระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นคำเฉพาะที่พิเศษมากๆ เพราะที่จริงความขัดแย้งครั้งนี้เป็นเรื่องตัวบุคคลมากกว่าความขัดแย้งเชิงระบอบแท้ๆ – ลองพิจารณาความขัดแย้งรองๆ ระหว่างสนธิกับทักษิณ สุเทพ (รวมถึงปชป.) กับทักษิณด้วยก็ได้) นั่นคือ คุณเพียงรู้จักที่จะใช้คำว่าศักดินา แต่ไม่รู้จักแก่นของวัฒนธรรม “เจ้า” จริงๆ เลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกับดักความเป็นนักวิชาการ (รวมทั้งความเป็นวีรชนเอกชน) ที่คิดว่าจะต้องทำทุกเรื่องให้เป็นเรื่องทฤษฎีเชิงนามธรรม หรืออะไรบางอย่างที่อธิบายได้ ด้วยกรอบทฤษฎีที่มีๆ กันมา โดยไม่ยอมรับ Real Politik หรือ Common Sense แบบชาวบ้านหรือคนอ่านข่าวทั่วๆ ไป เพราะมันดูไม่แปลก และไม่ขลัง - เหล่านี้ทำให้พวกคุณมองข้ามข้อเท็จจริงทางรัฐศาสตร์ที่สำคัญมากไปข้อหนึ่ง นั่นคือ การโปรดเกล้ารัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเป็นการยอมรับระบบพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ และเปิดทางให้กลุ่มทุนซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นทักษิณ (แต่บังเอิญเป็น) ก้าวเข้ามามีบทบาทนำในการพัฒนาประเทศต่อไป ประวัติศาสตร์หน้านี้คุณจะอธิบายอย่างไร ???

2. ชนชั้นนำกุมอำนาจยาว

สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว การอธิบายอย่างเสกสรรค์ ซ่อนสมมุติฐานการมองกลุ่มชนชั้นนำแบบไม่ต้องจำแนกเอาไว้ สมมุติฐานนี้มองไม่เห็นหรืออย่างน้อยก็ดูเบามิติความเป็นตัวของตัวเอง ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือความเป็นนักฉวยโอกาสของกลุ่มทหารที่วางแผนทำรัฐประหาร ในด้านหนึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับ “สลิ่ม” ที่เชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่าทหารล้วนเป็นผู้จงรักภักดีและสถาบันกษัตริย์มีบารมีอันหาที่สุดมิได้เสมอไป (จึงเป็นที่มาของการเปิดทางให้ทหารรัฐประหารอย่างไม่กลัวว่าจะ “คุมไม่ได้” และทหารในช่วงเปลี่ยนผ่านอันเปราะบางและได้สั่งสมประสบการณ์อันอุดมนี้แหละที่จะกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ใหม่ในตัวของมันเอง)

การมองแบบเสกสรรค์ (รวมทั้งสมศักดิ์ฯ) เป็นการมองที่พยายามละเลยความไม่เป็นเอกภาพในหมู่ชนชั้นนำ (ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในการมอง Real Politik มากมาย เช่นในระหว่างสถาบันฯกับขุนทหาร และระหว่างขุนทหารด้วยกันเอง ยกตัวอย่างเช่น การล้มเลิก deal ไทยรักษาชาติ หรือแม้แต่เรื่องล่าสุดที่ทำไมประยุทธ์ถึงเลือกเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำและตกหลุมมอบชะตากรรมของรัฐบาลตนไว้ในมือของประชาธิปัตย์ แทนที่จะเลือกให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพื่อที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการที่มี ม.44 อยู่ในมือต่อไป ทั้งยัง “เขี่ย”ประวิตรออกจากโผรัฐมนตรีกลาโหม โดยที่ตัวเองนั่งควบ ฯลฯ) การที่นายมีชัยร่างรัฐธรรมนูญที่อาจทำให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจได้ยาวนาน ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งบอกเหตุเลยว่า รัฐธรรมนูญนี้กระทำในฐานะผลประโยชน์ที่เป็นเอกภาพของทั้งชนชั้น (และการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ทางการเมืองอาจเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้อีกก็ได้) นี่อีกเช่นกันที่เป็นภาพที่หยาบ (นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ควรจะตราไว้ด้วยว่า ส่วนสำคัญของอำนาจของส.ว.ในรัฐธรรมนูญ เป็นผลมาจากการรณรงค์ที่ผิดพลาดของพรรคเพื่อไทยและปัญญาชนจำนวนหนึ่งเองด้วย เรื่องนี้ก็เช่นกันที่ทำให้คำอธิบายของเสกสรรค์ในข้อ 3 ไม่ซับซ้อนพอ)

3. รัฐธรรมนูญระเบิดเวลา

เสกสรรค์ย้ำว่าคนไม่พอใจรัฐธรรมนูญนี้กันมาก - โปรดหาอ่านจากต้นฉบับ ... เรื่องตัวเลขคนไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ตอนทำประชามติ มีคนพูดกันมากแล้ว จึงขอข้ามไป

4. มาสเตอร์แพลนชิงมวลชน

เสกสรรค์วิเคราะห์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ ประชารัฐ ว่าไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ตีความใหญ่โตถึงขนาดเป็นมาสเตอร์แพลนเพื่อช่วงชิงมวลชนและสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก ... เป็นการวางแผนที่เป็นระบบ และบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน! นี่เป็นอีกเรื่องที่ผมเห็นว่าเสกสรรค์มีลักษณะ Exaggerate หรือขยายเกินจริง ผมและคนจำนวนมากมองเห็นความลักลั่นของนโยบายนี้ได้ตั้งแต่แรก ยิ่งผมได้รู้จักคนที่เคยเข้าไปเป็นกลไกสำคัญของนโยบายนี้ตั้งแต่แรก หลายคน ก็ยิ่งมั่นใจว่า นโยบายทั้งสองนี้มีลักษณะ “ด้นสด” มีความกำกวม และมีลักษณะเป็น “ไม้หลักปักขี้เลน” อย่างยิ่ง

เสกสรรค์พยายามมองให้เห็นด้านที่เหนือกว่าคนทั่วๆ ไปที่มองว่าประชารัฐเป็นเพียงการลอกนโยบายประชานิยมจากทักษิณ บวกกับการนำกลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกขาดจำนวนหนึ่งมาขับเคลื่อนประเทศอย่างเต็มตัว ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็เติบโตมาในแนวนี้หรือกล่าวได้ว่า มี “เงา”ของสิ่งนี้มาตลอดหลายสิบปีแล้ว มันเป็นภาพฝันของนโยบายที่เรียกว่า “Sogo Sosha หรือ Zaibatsu ซึ่งต่อมาเป็น Keiretsu”แบบญี่ปุ่น หรือ “แชบ็อล”แบบเกาหลี แต่ทำแบบลักลั่นและต่างชั้นกันมาก ด้วยการพยายามไปผูกกลุ่มทุนใหญ่ (ซึ่งมีลักษณะดูเชิงและขัดแย้งกันเองในหมู่พวกเขา) กับช่องทางค้าปลีกที่แสนจะอ่อนแอของคนชั้นล่าง (ก่อนหน้านี้เซ็นทรัลและเดอะมอลล์ก็อยากส่งเสริมโอท็อปแทบตายอยู่แล้ว ยังทำไม่ได้เลย - ในทางตรงกันข้าม คนที่เคยเข้าไปช่วยโครงการประชารัฐ เคยยอมรับหรือเห็นด้วยกับผมว่า ถ้าเราเพียงแต่มีเว็บแบบ Alibaba ประชารัฐก็จบ ไม่ต้องไปมองอะไรให้ซับซ้อนเลย) ประชารัฐที่กำลังเดินกันอย่างยักแย่ยักยันจึงเป็นเพียงการสร้างภาพ ซึ่งบัตรประชารัฐหรือบัตรคนจนเท่านั้นที่เป็นรูปธรรม (และความจริงไม่ใช่ไอเดียหลักหรืออาจใช่ตั้งแต่แรกก็ได้-ฮา) แต่ก็เป็นโครงการที่เอาเงินของรัฐ (ที่กำลังถังแตก) มาหาเสียงชั่วคราวเพื่อที่จะสืบทอดอำนาจเท่านั้น ส่วนไทยแลนด์ 4.0 ก็เป็นเพียงวาทกรรม (อย่าให้เปรียบเทียบกับโครงการทำนองนี้ของประเทศอื่นๆ เลย อายเค้า - เรื่องบัตรคนจนผมก็มีประสบการณ์ตรงหลายอย่าง อย่าให้พูดเช่นกัน) การมอบโปรเจคต์ใหญ่ๆ ที่สำคัญๆ ในสภาพที่เอื้ออำนวยจริงๆ อย่างในญี่ปุ่นหรือเกาหลีมีน้อยมาก และไม่สร้างสรรค์เลย ตัวอย่างที่เรานึกออกคือ โครงการกระจอกๆ อย่างศูนย์ประชุมฯให้กลุ่มเบียร์ช้าง รถไฟเชื่อมสามสนามบิน (ซึ่งไม่รู้ว่าจะเชื่อมทำไม) ให้กลุ่มซีพี โครงการลงทุนในนิคม EEC ซึ่งจีน อเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็แทบไม่สนใจ (แต่ได้สร้างความขัดแย้งในระดับชุมชนอย่างร้าวลึก) ส่งเสริมอุตสาหกรรมโบราณอย่างน้ำตาล ส่งเสริมการถางและเผาป่าอย่างมโหฬารเพื่อปลูกข้าวโพด ฯลฯ สิ่งที่ประยุทธ์ทำเป็นหลักก็เพียงรักษาและเพิ่มพูนสถานะผูกขาดของกลุ่มทุนเหล่านี้ไว้เท่านั้น ไม่ได้ร่วมกับกลุ่มทุนสถาปนาอุตสาหกรรมที่น่าชื่นชมใดๆ ให้กับสังคมไทยเลย

ผมเคยบอกแล้วว่าประหลาดใจมากที่เสกสรรค์มองโครงการฉาบฉวยเหล่านี้ไม่ทะลุเหมือนอย่างที่ชาวบ้านร้านตลาดเขาเห็นกันไปทั่ว (ขอแถมว่า ประชารัฐ เป็นคำสำคัญในเพลงชาติ ซึ่งอาจมีนัยที่กลุ่มสถาบันฯไม่ชอบ เพราะไม่ได้เน้น “ราชอาณาจักร” – กลับไปดูข้อ 2) - อีกอย่าง การมองปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยโทษการยึดโยงกับทุนโลกาภิวัฒน์อย่างเป็นสูตรสำเร็จ ก็ทำให้เรามองรากเง่าความเหลื่อมล้ำอย่างตื้นเขิน บางครั้งการมีทุนโลกาภิวัตน์มาแทนทุนชาติที่คับแคบก็ให้ผลดีกว่า แต่ที่สำคัญ ที่ผ่านมาทุนโลกาภิวัฒน์ยังแทบไม่เห็นประยุทธ์อยู่ในสายตาเลยด้วยซ้ำ การครอบงำเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิมๆ และดูเสื่อมทรามลงด้วยซ้ำ (หมายถึงไม่มีมิติใหม่ๆ -ไม่น่าสนใจมากนัก พูดอีกอย่าง เราเป็น “หุ้นส่วนเศรษฐกิจ”ที่กระจอกมากของทุนโลก แม้แต่จะขายแรงงานราคาถูกหรือสินค้าเกษตรราคาถูก ก็ไม่ได้แล้ว)

5. ประชารัฐตัดตอนนักการเมือง

เสกสรรค์มองและให้เครดิตประชารัฐเตลิดไปไกลถึงขั้นที่คิดว่า เป็นการเคลื่อนไหวลงสู่มวลชนระดับฐานรากซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็น “โมฆะ”ได้! และ .... สิ่งที่เราไม่รู้ คือนโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรก ด้วยการทำให้พวกเขาเป็น “คนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ” หรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของ “สูตรแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” ขนาดนั้นเลย! ยังไม่พอเสกสรรค์ยังส่งท้ายด้วยว่า “แต่ที่แน่ๆ คือ ในทางนโยบายแล้ว มันถูกออกแบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง” - ทุกคนในโลกนี้รู้ว่าประชารัฐก็คือการเลียนแบบประชานิยมของทักษิณอย่างโง่เขลาโต้งๆ แต่เสกสรรค์กลับพูดให้แพะเป็นแกะได้อย่างตรงกันข้าม (น่าแปลกด้วยที่คนอ่านจำนวนมากคล้อยตาม อย่างไม่ตั้งคำถาม)

ตอนที่ทักษิณทำตัวเป็นทุนผูกขาดกลุ่มใหม่ ทำโอท็อป ทำประชานิยม เช่น นโยบายหมู่บ้านละล้านฯลฯ ที่เป็นการส่งเงินหรือผลประโยชน์ลงสู่ชาวบ้านโดยตรงโดยไม่ผ่าน ส.ส.นั้น ทำไมเสกสรรค์ถึงไม่คิดที่จะบอกว่าเป็นการทำให้ ส.ส.เป็นคนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศหรือสูตรแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของประเทศ นอกจากนี้ ผมสงสัยว่าการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไปที่มีการเสนอและถกเถียงถึงนโยบายใหม่ๆ หลากหลาย (เกินกว่าที่เผด็จการจะคิดได้) จากนักการเมืองต่างๆ อย่างเผ็ดร้อน จะทำให้เสกสรรค์เปลี่ยนความคิดไปบ้างหรือไม่?

6. เกิดระบอบ “เกี้ยซิยาธิปไตย”

เสกสรรค์บอกว่า การเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีแนวโน้มจะไปได้ 2 ทาง ทางแรก นักการเมืองเล่นบท “หางเครื่อง” ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ ที่จริงคำว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันแต่เป็นฝ่ายค้านนี่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันในตัวนะครับ (เสกสรรค์น่าจะหมายถึงว่าเขาอยากให้พรรคประชาธิปัตย์ผสมพันธุ์กับขั้วพรรคเพื่อไทยฯลฯเพื่อตั้งรัฐบาลมากกว่า) ตอนนี้ตลกไหมละครับที่ มันเกิดภาพการเมืองทั้งสองทางพร้อมๆ กัน คือ พรรคการเมืองผนึกกำลังกันเป็นฝ่ายค้านแบบเฉียดฉิวถึงครึ่งสภา ในทางตรงกันข้าม นักการเมืองร้อยพ่อพันแม่ที่ไปค้ำบัลลังก์ให้ประยุทธ์อย่างเฉียดฉิวนั่นแหละกลับมีศักยภาพที่จะเป็นตัวฉุดให้“เผด็จการประชาธิปไตย”ล่มจม แม้ว่าเราจะมองภาพนี้ได้ไม่ง่ายนัก และยังเป็นแค่ “ความเป็นไปได้” แต่ไม่มีทางที่การวิเคราะห์ในแนวของเสกสรรค์จะเปิดทางให้มองเห็นภาพที่ละเอียดอ่อนในแนวนี้ได้เลย

7. ชิงสถาปนารัฐชนชั้นนำ

ก่อนหน้านี้ประยุทธ์ได้ถามคำถาม 4 ข้อ ให้ประชาชนตอบ คำถามเหล่านี้มีนัยในการ discredit นักการเมือง และให้ประชาชนตระหนักว่า “เผด็จการประชาธิปไตย” (พูดตามคำศัพท์ปัจจุบัน) เท่านั้น คือคำตอบหรือทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ มันก็ไม่ต่างกับการแนะนำหนังสือ Animal Farm ในปัจจุบัน และอื่นๆ ที่ตีความและตอกย้ำมาเป็นระยะๆ ว่า นักการเมืองก็เหมือนสัตว์ที่สร้างความวุ่นวายเละเทะให้กับสังคม ตอกย้ำวาทกรรมที่โยนความผิดบาปทั้งหลายให้ประชาธิปไตยและเคยถูกฝังอยู่ใน DNA ของคนจำนวนมากที่ไม่เคยมีความรู้หรือสนใจการเมืองมาก่อนแต่ออกมาโค่นทักษิณ เสกสรรค์บอกว่าเรื่องทำนองนี้ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวในระดับบุคคล หรือเผด็จการคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นของ “State Elites” (รัฐชนชั้นนำ) ทั้งหมด

เรื่องนี้คนในวงการก็เห็นเค้าลางอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่เรื่องหมุดคณะราษฎร จนถึงเรื่องอื่นๆ ที่พูดอย่างชัดเจนไม่ได้ รวมทั้งข่าวลือเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ครั้งแล้วครั้งเล่า (ส่วนหนึ่งกลายเป็นความหวังของคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย) แต่เราควรมองให้เห็นมิติที่ซับซ้อนของการเมืองไทยด้วย (ดังในข้อ 2) ตัวอย่างที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้สร้างความพอใจให้กับฝ่าย Royalists ในระดับที่คาดว่าจะเป็น ยังมีหลายมาตราสำคัญที่คนเหล่านี้มองเห็นว่ายังเป็นการ “ลดทอน” พระราชอำนาจ นอกจากนี้เราได้เห็นแล้วว่า แนวคิด “รัฐบาลแห่งชาติ” ไม่เคยปรากฏเป็นจริง หรือจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า พังครืนลงครั้งแล้วครั้งเล่า (สิ่งที่สำคัญที่นักทฤษฎีรัฐศาสตร์ควรตระหนักคือ ครั้งสุดท้ายคนที่อาจเสนอมันขึ้นมา หรือร่วมขบวนด้วยก็คือ ทักษิณ นั่นเอง)

8. เจ้าสำนัก ขาดสำนึก

เสกสรรค์เหน็บถึงปัญญาชนที่จมปลักอยู่ในเฟสบุ๊คหรือโลก Virtual ซึ่งขาดการเคลื่อนไหวรวมตัวด้วยกันเอง หรือรวมกับชาวบ้านในโลกจริง เรื่องนี้ทำให้เสกสรรค์โดนกระหน่ำไปเยอะแล้วว่า เสกสรรค์เองต่างหากที่เลิกอุทิศตัวเข้าหา-รวมกลุ่มกับชาวบ้าน แต่นั่งอยู่บนภูหรือหอคอยงาช้าง คนที่อยู่ในโลก Social ยังทำตัวเป็นประโยชน์กว่า นอกจากนี้ยังมีคนอีกมากทั้งในโลก Social และนอก Social ที่เข้าต่อสู้ และร่วมช่วยเหลือชาวบ้านในโลกจริง ปัญหาคือ ภาววิสัยปัจจุบันต่างหากที่เอื้อให้กับการรวมตัวและการเคลื่อนไหวได้เพียงเท่านี้

ผมอยากจะเพิ่มเติมให้ด้วยว่า เราควรมองตามเนื้อผ้า อย่ามองอะไรที่หวือหวาทางใดทางหนึ่ง การมองบทบาทของโลก Social Network นั้นมองได้ทั้งสองแง่ คือ ในบางภาวการณ์ โลก Social ก็อาจมีผลบั่นทอนหรือชะลอการเคลื่อนไหวได้จริง เพราะคนจำนวนมากรู้สึกว่าได้ระบายความคับข้องส่วนหนึ่งออกไปแล้ว แต่ในบางภาวการณ์ อย่าลืมว่า โลก Social เป็นตัวการ ตัวเร่ง หรือเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพของขบวนการสีเสื้อ (ที่มีทั้งดีและไม่ดี) ที่โค่นล้มรัฐบาลในส่วนต่างๆ ของโลกมาแล้ว โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและอาฟริกา หวังว่า เสกสรรค์จะลดความหวือหวาลงให้ได้จริงทั้งกายวาจาใจสมกับที่ตั้งใจว่าจะทบทวนตนเอง เปิดกว้าง และใช้ชีวิตเยี่ยงฤาษีในอาศรมในบั้นปลายของชีวิต เพื่อให้บังเกิดมีสายตาอันคมกล้ายิ่งๆ ขึ้น ทั้งภายนอกและภายใน....เทอญ

ด้วยความปรารถนาดีและระลึกถึงครับ


เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ฺฺBBC Thai เสกสรรค์ ผ่าแผนสถาปนา “รัฐชนชั้นนำ” www.bbc.com/thai/thailand-40324610

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net