Skip to main content
sharethis

รมว.ต่างประเทศเผยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนพร้อมสนับสนุนกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับรัฐยะไข่ให้เร็วที่สุด 'ประยุทธ์' หารือ 'ออง ซาน ซูจี' ย้ำไทยและอาเซียนพร้อมให้ความสนับสนุนแก่เมียนมาถึงสถานการณ์รัฐยะไข่ โดยยึดพื้นฐานความปลอดภัยของภูมิภา / ไทยชื่นชมอินโดฯ ผลักดันการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย / 'ไทย-เวียดนาม' หวังผลักดันการพัฒนาเส้นทางหมายเลข R12 / ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องผลักดันสร้างความยั่งยืน-ลดพึ่งพาภูมิภาคอื่น / อาเซียนแนะทุกฝ่ายเตรียมรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2562 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้หารือถึงกรณีการส่งตัวผู้ลี้ภัยจากรัฐยะไข่ออกนอกประเทศ และหารือประเด็นที่เกี่ยวเนื่องในหลายด้าน ว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิของเมียนมาและบังกลาเทศในการตกลงเรื่องนี้ร่วมกันอย่างชัดเจน  ทั้งในเรื่องการคัดกรอง การส่งกลับ การกำหนดเวลา (ไทม์ไลน์) และจำนวนผู้ลี้ภัยที่จะส่งกลับให้ชัดเจน

นายดอน กล่าวว่าทั้งนี้อาเซียนได้ส่งหน่วยงานด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management หรือ AHA Center) ลงสำรวจพื้นที่ ซึ่งพบว่าเมียนมามีความพร้อมมากขึ้น ทั้งในเรื่องความปลอดภัยที่ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับมาแล้วจะไม่มีปัญหา การยอมรับสถานะในสังคม โดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้รับทราบจากเมียนมาว่า ขณะนี้เมียนมาเตรียมจะออกเอกสารแสดงตัวตน (คล้ายกับกรีนการ์ดของสหรัฐ) ให้กับผู้ลี้ภัยชาวรัฐยะไข่ รวมทั้งทางเมียนมาได้ยืนยันความปลอดภัยในพื้นที่ เมื่อผู้ลี้ภัยในรัฐยะไข่เดินทางจากบังกลาเทศกลับมาคืนถิ่นยังรัฐยะไข่

นายดอน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ยังทราบถึงข้อติดขัดของการส่งกลับผู้ลี้ภัยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองประเทศยังไม่สามารถระบุจำนวนผู้ส่งกลับได้อย่างชัดเจน และยังพบว่ามีนัยบางอย่างที่เข้ามาแทรกที่ทำให้ผู้ลี้ภัยที่ได้รับการคัดกรองแล้วไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยในการส่งตัวกลับไปยังรัฐยะไข่

“กระบวนการเจรจาหารือส่งผู้ลี้ภัยกลับ จะเกิดขึ้นในปีนี้ และทำให้การส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับ จะทำให้เร็วที่สุด จากประเด็นดังกล่าวเป็นที่ถูกจับตาของนานาชาติอยู่ และเป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเมียนมา อย่างไรก็ตาม อาเซียนจะพยายามช่วยกันดูแลส่งเสริมให้กระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับยังรัฐยะไข่เมียนมาได้จริง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

ไทยพร้อมร่วมมือเมียนมากรณีรัฐยะไข่

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยไทยยืนยันเจตนารมณ์ในการขยายความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในกรอบทวิภาคี อาเซียน และเวทีระหว่างประเทศ และขอบคุณเมียนมาที่เชื่อมั่นและให้ความร่วมมือกับไทยในฐานะประธานอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดเกี่ยวกับสถานการณ์รัฐยะไข่ ซึ่งไทยและอาเซียนพร้อมจะให้ความสนับสนุนแก่เมียนมา โดยยืนยันที่จะดำเนินการด้านต่าง ๆ บนพื้นฐานความปลอดภัยของภูมิภาค

พล.ท.วีรชน กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ไทยพร้อมสนับสนุนการพัฒนาในสาขาที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเมียนมาในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาชุมชน การเกษตรและประมง เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของเมียนมา

ชี้การส่งตัวผู้ลี้ภัยรัฐยะไข่ ต้องคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม

น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ที่ศูนย์สื่อมวลชน โรงแรม แกรนด์ เซ็นเตอร์พอยด์ ถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อช่วงเช้า ว่า ที่ประชุมฯ ได้หารือกรณีการส่งตัวผู้ลี้ภัยรัฐยะไข่ เรื่องเอกสารเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิก ซึ่งในการหารือ ก็ไม่มีปัญหาใด ๆ และเอกสารจะนำเสนอต่อผู้นำอาเซียนต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ได้หารือถึงสถานการณ์ในภูมิภาคและการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ข้อกังวลต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวกับความท้าทายรูปแบบใหม่ การรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ว่าในยุคดิจิทัล อาเซียนจะก้าวไปในทิศทางไหน ซึ่งต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติ การบริหารจัดการชายแดน

น.ส.บุษฎี กล่าวอีกว่า ขณะที่ในเรื่องเศรษฐกิจ มีการพูดคุยเรื่องความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาคอาเซียน หรือ ARCEP ซึ่งคาดหวังว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดีในปลายปีนี้ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ เล็งเห็นความสำคัญ  นอกจากนี้ยังหารือถึงปัญหาสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้ ความท้าทายสภาวะทางการเมืองเศรษฐกิจโลก

น.ส.บุษฎี กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้จะมีเอกสารที่ผู้นำจะให้การรับรอง 17 ฉบับ อาทิ วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ที่สอดคล้องกับแนวคิดหลัก ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน เอกสารฉบับนี้จะมองเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ รวมถึงการรับรองร่างปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล โดยเน้นการส่งเริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน กรอบนโยบายเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นข้อเสนอของอาเซียนในแนวคิดการสร้างเสริมในอินโด-แปซิฟิก และเอกสารแถลงการณ์ว่าด้วยปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน ที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคด้วยวัฒนธรรม

ส่วนกรณีการส่งตัวผู้ลี้ภัยจากรัฐยะไข่ น.ส.บุษฎี กล่าวว่า จะการรายงานให้ผู้นำอาเซียนได้รับทราบว่าสำนักเลขาธิการอาเซียนและทีมผู้เชี่ยวชาญได้เดินทางไปในพื้นที่เพื่อสำรวจและประเมินสถานการณ์ความพร้อม จากนี้เป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องการส่งตัวกลับ ซึ่งต้องดูการเจรจาระหว่างเมียนมากับบังกลาเทศ และสิ่งสำคัญ คือ มาตรการระยะสั้นและระยะยาว ที่ต้องดูเรื่องความปลอดภัย ที่พักอาศัยและการดำรงชีพต่าง ๆ ให้มีความกินดีอยู่ดี ส่วนในระยะยาวต้องคำนึงถึงการดูแลด้านมนุษยธรรม และการมีชุมชนเพื่อความเข้มแข็งต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ไทยได้เคยนำเสนอมาตั้งแต่ต้นปี และถือเป็นบทบาทนำของอาเซียนที่ให้มีการขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ไม่มีการหารือเรื่องการอพยพของชาวโรฮิงญาแต่อย่างใด

ชื่นชมอินโดฯ ผลักดันการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งบรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยมิตรภาพ และความใกล้ชิดระหว่างกัน โดยไทยกับอินโดนีเซียจะครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2563 ทั้งสองประเทศจึงหวังที่จะใช้โอกาสนี้กระชับความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดมากขึ้นในทุกมิติ โดยไทยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้าน

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เสนอให้ไทย-อินโดนีเซียร่วมกันแก้ไขปัญหาและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคด้านการลงทุนอย่างจริงจัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนต้องการให้อาเซียนเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะความมั่นคงทางไซเบอร์ ทั้งนี้ไทยชื่นชมบทบาทในการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU ของอินโดนีเซีย โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นว่าไทยพร้อมร่วมมือในการแก้ไขปัญหาประมงอย่างรอบด้านกับอินโดนีเซีย

'ไทย-เวียดนาม' หวังผลักดันการพัฒนาเส้นทางหมายเลข R12

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ โดยไทยพร้อมร่วมมือกับเวียดนามในการกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศ รวมถึงการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ไทยพร้อมเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 ซึ่งเวียดนามมีกำหนดเป็นเจ้าภาพ เพื่อผลักดันประเด็นความร่วมมือระหว่างกันให้ก้าวหน้า

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ไทยยินดีแบ่งปันประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU กับเวียดนาม โดยย้ำว่า เจ้าหน้าที่ไทยปฏิบัติงานตามหลักมนุษยธรรมและมีมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลให้มาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไทยสูงขึ้น ทั้งนี้ ไทยหวังที่จะผลักดันให้มีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทย- เวียดนาม-ลาว ในการพัฒนาเส้นทางหมายเลข R12 ในลาว รวมทั้งผลักดันให้ทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายเสนอข้อริเริ่มใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวตลอดเส้นทางดังกล่าว

ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องผลักดันสร้างความยั่งยืน-ลดพึ่งพาภูมิภาคอื่น

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในการประชุมสุดยอดอาเซียนแบบเต็มคณะ ที่ประชุมมีบรรยากาศเป็นกันเอง ผู้นำประเทศส่วนใหญ่มีความคุ้นเคย แสดงความยินดีต่อกันและกัน โดยทุกประเทศสนับสนุนความร่วมมือร่วมใจเ และมุ่งเน้นความยั่งยืน โดยทางไทยยืนยันนโยบายประชาคมอาเซียน ไปสู่อนาคต เพราะภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญความท้าทายหลายเรื่อง เน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การสร้างภูมิต้านทาน เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เน้นสร้างความเข้มแข็งที่จะช่วยเหลือกันมากขึ้น ไม่พึ่งพาภูมิภาคอื่นเกินความจำเป็น และต้องมีความร่วมมือ ปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเข้าสู่การปฎิวัตอุสาหกรรม 4.0 การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ,เทคโนโลยี ทั้งนี้ ทางเลขาธิการอาเซียน ยังกล่าวในที่ประชุมว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์มวลรวมของภูมิภาค หรือ จีดีพี และการลงทุนของภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นและมูลค่าเชิงบวกดีขึ้นในระดับที่น่าพอใจ นอกจากนี้ผู้นำอาเซียนยังเห็นพ้องการสร้างความยั่งยืน เพื่อการพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และนโยบายของสหประชาชาติ โดยไม่มีประเด็นใดที่ผู้นำมีความกังวล แต่ตั้งมั่นร่วมกันจะสร้างความเข้มแข็งและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ทุกประเทศยังเน้นย้ำเรื่องการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หรือ RcEP ให้เป็นไปตามเป้าหมายความสำเร็จภายในปีนี้ ซึ่งมองว่าการเจรจาวันนี้มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ เช่นเดียวกันกับการเห็นพ้องสนับสนุนในข้อเสนอของประเทศไทยเรื่องการต่อต้านขยะทะเล บรรจุให้เป็นวาระระดับภูมิภาค ทั้งนี้ผู้นำได้ลงนามรับรองเอกสารทั้ง 17 ฉบับด้วย

อาเซียนแนะทุกฝ่ายเตรียมรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้นำอาเซียน พบหารือกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) โดยนายกรัฐมนตรีเสนอแนะให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ที่จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในหลายรูปแบบ อาเซียนจึงควรมีแนวทางที่ช่วยให้ทุกภาคส่วน สามารถปรับตัวและได้รับประโยชน์ได้โดยเร็ว ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อเชื่อมโยงในอาเซียนทั้งทางกายภาพและทางดิจิทัล รวมทั้งผลักดันทุกระดับเพื่อสรุปผลการเจรจา RCEP ให้บรรลุโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับอาเซียน และเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกได้อย่างมาก พร้อมกันนี้ ได้ย้ำความสำคัญของความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย


ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7]





 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net