การจ้างงานสาธารณสุขไทยในอนาคต: คนทำงานชี้หากมีระบบจ้างงานใหม่ ต้องไม่ด้อยกว่า ‘ข้าราชการ’

จากงานศึกษาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบการ ‘จ้างงานบุคลากรสาธารณสุข’ ในไทย 'ไม่เป็นธรรม-เหลื่อมล้ำ' ทั้งภายในและระหว่างวิชาชีพ 'ผู้กำหนดนโยบาย' เห็นว่าการจ้างแบบข้าราชการมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องระเบียบข้อบังคับและความยืดหยุ่น ส่วนในมุมมองของ 'บุคลากร' เห็นว่าจ้างงานแบบข้าราชการยังสำคัญที่ทำให้คนอยู่ในภาครัฐเพราะมีความมั่นคงและมีสวัสดิการที่ดี แต่หากปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างก็ไม่ควรมีหลายรูปแบบเกินไป และควรมีการเพิ่มอัตราเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ไม่ด้อยกว่าข้าราชการ


ที่มาภาพประกอบ: parliament.go.th

23 มิ.ย. 2562 ในงานศึกษาเรื่อง 'การศึกษารูปแบบการจ้างงาน แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ในภาครัฐของประเทศไทยในระยะ 15 ปีข้างหน้า' โดย กฤษดา แสวงดี; นารีรัตน์ ผุดผ่อง; ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์; กัญจนา ติษยาธิคม; นิธิวัชร์ แสงเรือง; พัชรี เพชรทองหยก; สตพร จุลชู; พิกุลแก้ว ศรีนาม; กานต์วรินต์ ก่องกุลวัฒน์ และปิติยา สันทัด มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2561

งานศึกษาชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษาสถานการณ์และรูปแบบการจ้างงานบุคลากรสุขภาพในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 40 คน ประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบาย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านกำลังคนด้านสุขภาพจำนวน 10 คน จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ผู้ใช้บุคลากรสุขภาพ ได้แก่ นายแพทย์สาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 12 คน จาก 4 จังหวัดในแต่ละภาค (เหนือ กลาง ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ) และบุคลากรสุขภาพ รวมจำนวน 18 คน (1-2 คน/วิชาชีพ รวมได้ 3-4 ราย/จังหวัด)

ข้อค้นพบที่น่าสนใจของงานศึกษาชิ้นนี้มีดังต่อไปนี้

การจ้างงานบุคลากรสุขภาพในระบบประเทศไทย 'ไม่เป็นธรรม-เหลื่อมล้ำ' ทั้งภายในและระหว่างวิชาชีพ

งานศึกษาชิ้นนี้ระบุว่าปัจจุบันการจ้างงานบุคลากรสุขภาพภาครัฐในแต่ละสังกัดมีรูปแบบแตกต่างกัน เฉพาะกระทรวงสาธารณสุขเอง มีการจ้างงานบุคลากรสุขภาพในหลายรูปแบบ เช่น ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข โดยสองรูปแบบหลังเป็นการจ้างด้วยเงินบำรุงหรือรายได้ของหน่วยบริการสุขภาพ

ที่ผ่านมาพบว่าปัญหาที่สำคัญประเด็นหนึ่งของการจ้างงาน คือ เรื่องความไม่เป็นธรรม หรือความเหลื่อมล้ำทั้งภายใน และระหว่างวิชาชีพ ที่แม้จะอยู่ในตำแหน่งงานเดียวกันแต่เมื่อได้รับการจ้างงานแตกต่างกันก็ได้รับเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีการสูญเสียบุคลากรสุขภาพ และเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานกับบุคลากรสุขภาพ มีการชุมนุมเรียกร้องของบุคลากรสุขภาพอยู่เนืองๆ ในเรื่องสิทธิประโยชน์ของแต่ละรูปแบบการจ้างงาน สามารถแบ่งได้เป็น 5 ด้านหลัก ได้แก่ (1) เงินเดือนและค่าจ้าง (2) สวัสดิการที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน (3) ความก้าวหน้าในวิชาชีพ (4) สิทธิในการลา และ (5) สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. เงินเดือนและค่าจ้าง พนักงานราชการ และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ได้ถูกกำหนดเบื้องต้นให้มีเงินเดือนที่สูงกว่ากลุ่มข้าราชการ ประมาณ 1.2 เท่า สำหรับสายงานแพทย์และทันตแพทย์ เกือบทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการจ้างในรูปแบบข้าราชการเท่านั้น ส่วนสายงานเภสัชกรและพยาบาลวิชาชีพ มีบุคลากรบางส่วนที่ถูกจ้างในรูปแบบพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุขและ/หรือ ลูกจ้างชั่วคราว ในส่วนของพยาบาลที่เข้าทำงานใหม่ ปัจจุบันส่วนใหญ่จ้างในรูปแบบพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และ/หรือ ลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งโดยหลักการ อัตราเงินเดือนลูกจ้างชั่วคราวต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งก็ยังน้อยกว่าอัตราเงินเดือนข้าราชการเมื่อแรกบรรจุ ในเรื่องการเลื่อนเงินเดือน ข้าราชการได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน 2 ครั้ง/ปี ในขณะที่พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว ได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน 1 ครั้ง/ปี

2. สวัสดิการที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ได้แก่ สิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าเช่าบ้าน และบำเหน็จ/บำนาญ ซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ข้าราชการสามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลกับกรมบัญชีกลางโดยตรงสำหรับตนเองและครอบครัว ในขณะที่ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราวใช้สิทธิประกันสังคมได้เฉพาะตน ในเรื่องบำเหน็จ/บำนาญ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราวมีเงื่อนไขที่ต้องร่วมสมทบเงินในกองทุนประกันสังคมทุกเดือน นอกจากนี้พนักงานกระทรวงสาธารณสุขยังต้องสมทบเงินสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องค่าเช่าบ้าน ข้าราชการได้รับสิทธิค่าเช่าบ้าน ในขณะที่พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว ไม่ได้รับสิทธิค่าเช่าบ้าน

3. ความก้าวหน้าในวิชาชีพ การเลื่อนระดับและการบังคับบัญชา ทุกกลุ่มต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบ/หลักเกณฑ์ของกลุ่มตนเอง เช่น ข้าราชการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นข้าราชการมีการเลื่อนระดับในตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือเลื่อนเป็นระดับหัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา ในขณะที่พนักงานราชการพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว ไม่มีรูปแบบการเลื่อนระดับดังกล่าว

4. สิทธิในการลา เช่น ลาป่วย ลากิจส่วนตัว ลาพักผ่อน รวมถึงการลาบางอย่างที่ยังคงได้รับเงินเดือน เช่น ลาคลอดบุตร ลาศึกษา ฝึกอบรม และลาอุปสมบท แต่ละการจ้างงานมีจำนวนวันที่สามารถลาได้แตกต่าง นอกจากนั้นมีเพียงบางกลุ่มได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องการลาเฉพาะ นั่นคือ มีเพียงข้าราชการ และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรและสามารถลาศึกษาต่อได้

5. สิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น การช่วยเหลือบุตร/สงเคราะห์บุตร ค่าใช้จ่ายเดินทางไปราชการ ค่าเบี้ยประชุม เงินประจำตำแหน่ง และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีความต่างกันระหว่างรูปแบบการจ้างงาน เช่น ข้าราชการ และพนักงานราชการ มีสิทธิได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ในภาพรวม พอที่จะสรุปได้ว่าข้าราชการได้รับสิทธิประโยชน์มากที่สุด เมื่อเทียบกับการจ้างงานรูปแบบอื่นๆ ยกเว้นในเรื่องอัตราเงินเดือน (ยกเว้นลูกจ้างชั่วคราว) ที่ได้น้อยกว่าการจ้างงานแบบอื่น ๆ ประมาณร้อยละ 20 ขณะที่ลูกจ้างชั่วคราวได้รับสิทธิประโยชน์น้อยที่สุด นอกจากนั้น ข้าราชการเป็นการจ้างงานแบบตลอดชีพ แต่รูปแบบอื่น ๆ ได้รับการจ้างงานเป็นระยะเวลาที่จำกัดตามสัญญาจ้าง

นอกจากนี้ยังพบว่าแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร เกือบทั้งหมดยังได้รับการจ้างงานเป็นข้าราชการ ขณะที่พยาบาล แม้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสถานะข้าราชการ แต่พยาบาลรุ่นใหม่ๆ เกือบทั้งหมดได้รับการจ้างงานในฐานะพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้างชั่วคราว

ทิศทางการจ้างงานบุคลากรสาธารณสุขในอนาคต

ประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2545 ได้มีการปฏิรูประบบราชการ และมีมาตรการจำกัดขนาดกำลังคนภาครัฐ ทำให้หลายหน่วยงาน มีการถ่ายโอนภาระงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของรัฐสู่ภาคเอกชน ด้วยการจ้างเหมาบริการหรือซื้อบริการ และถ่ายโอนอัตรากำลังคนจากส่วนกลางไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการจำกัดอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และยุบอัตราข้าราชการที่ว่างจากการเกษียณอายุ ทำให้หลายหน่วยงานที่ขาดแคลนกำลังคนมีการเพิ่มการจ้างบุคลากรสุขภาพในรูปแบบอื่น นอกจากการเป็นข้าราชการ เช่น พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว ยิ่งกว่านั้นตั้งแต่ปี 2557 คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การวางแผนบริหารกำลังคนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และประหยัดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2560 เห็นชอบให้มีมาตรการทดแทนอัตราว่างจากผลเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น

ทั้งนี้การจ้างงานบุคลากรสุขภาพต้องบูรณาการกับการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพทั้งหมด โดยคำนึงถึงทั้งปริมาณ คุณภาพ และการกระจายบุคลากร ให้เหมาะสมกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เคยมีงานศึกษาเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันกำลังคนด้านสุขภาพในวิชาชีพต่างๆ มีมากขึ้นกว่าในอดีตพอสมควร จนอาจเกินความต้องการ เช่น แพทย์และทันตแพทย์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีจะมากกว่าความต้องการของประเทศ ซึ่งคาดประมาณจำนวนแพทย์ที่ต้องการในปี 2569 เท่ากับ 38,263-46,946 คน ในขณะที่จะมีแพทย์ในปี 2569 เท่ากับ 63,065 คน ส่วนความต้องการทันตแพทย์ ในปี 2569 เท่ากับ 16,457-20,546 คน ในขณะที่จะมีทันตแพทย์ในปี 2569 เท่ากับ 17,415-18,675 คน

นอกจากนี้ในงานศึกษาชิ้นนี้ ยังระบุว่ากองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์บุคลากรสุขภาพและรูปแบบการจ้างงานในอนาคต พบว่าการจ้างงานบุคลากรสุขภาพในรูปแบบของข้าราชการนั้นไม่ตอบโจทย์กับการจ้างงานในอนาคต เนื่องจากไม่ยืดหยุ่น และขาดความมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ดังนั้นระบบการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐในอนาคต ควรสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เน้นการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น และสนับสนุนปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งเสริมและเอื้อต่อการคงอยู่ของบุคลากรสุขภาพในภาครัฐ เช่น การมีระบบพี่เลี้ยงช่วยดูแลให้คำปรึกษาในการปฏิบัติงาน (coaching) มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่งาน (career path) มีการให้รางวัลหรือการเชิดชูเกียรติทางสังคม (social recognition) ได้ทำงานที่ชอบหรือถนัดอย่างเต็มศักยภาพ และมีส่วนในการตัดสินใจเลือกวิธีการจ้างงานหรือสิทธิประโยชน์บางอย่างที่เหมาะกับวิถีชีวิตของตนเอง

'การจ้างงานแบบข้าราชการ' มุมมองที่สวนทางกันของ 'ผู้กำหนดนโยบาย vs บุคคลากรปฏิบัติงาน'

สำหรับประเด็นการจ้างงานแบบ 'ข้าราชการ' นั้น ในงานศึกษาชิ้นนี้ได้ระบุถึงมุมมองจากฝ่าย 'ผู้กำหนดนโยบายและผู้ใช้บุคลากร' เห็นว่าการจ้างแบบข้าราชการมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องระเบียบข้อบังคับและเรื่องความยืดหยุ่นในการจัดสรรคนให้เหมาะกับงาน แต่การจ้างแบบข้าราชการก็ยังมีความจำเป็นในบางสายงาน เช่น งานที่เกี่ยวกับกับการใช้กฎหมายและงานด้านบังคับบัญชา

ส่วนมุมมองจาก 'บุคคลากรปฏิบัติงาน' เห็นว่าการจ้างงานแบบข้าราชการเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คงอยู่ในภาครัฐ เพราะเป็นงานที่มีความมั่นคงและมีสวัสดิการที่ดี โดยเฉพาะเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับตนเองและครอบครัว ถ้ามีการปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างงาน ก็ไม่ควรมีหลายรูปแบบเกินไป ถ้ามีการจ้างงานแบบใหม่ที่ไม่ใช่ข้าราชการ ก็ควรมีการเพิ่มอัตราเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ที่ไม่ด้อยกว่าการเป็นข้าราชการ

ส่วนข้อเสนอแนะต่อการจ้างงานบุคลกรสาธารณสุขในอนาคตนั้น ทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่าในอนาคตการจ้างงานแบบข้าราชการอาจจะไม่มีความจำเป็นมากต่อภาครัฐในอนาคต อย่างไรก็ตามไม่ควรเลิกจ้างข้าราชการแบบฉับพลัน และอาจคงตำแหน่งข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขให้มีตามจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ไปก่อนสักระยะหนึ่งแล้วค่อย ๆ ลดจำนวนลง โดยมีการทดแทนด้วยรูปแบบการจ้างงานแบบอื่น ๆ เช่น การจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขรูปแบบใหม่ ที่ได้ค่าตอบแทนมากกว่าข้าราชการ และสามารถจ้างด้วยงบประมาณแผ่นดิน เพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เข้ามาทดแทน เช่น การมีโอกาสได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และการมีสิทธิรักษาพยาบาลให้กับตนเองและครอบครัวในโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่

อาจใช้รูปแบบการจ้างแบบผสม มีทั้งคนที่เป็นข้าราชการและไม่เป็นข้าราชการ กล่าวคืองานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น พนักงานการเงิน อาจมีความจำเป็นต้องเป็นข้าราชการส่วนการจ้างงานบุคลากรสายวิชาชีพ อาจจะจ้างในแบบรูปแบบพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่นี้ไปก่อนได้ นอกจากนี้ผู้ให้สัมภาษณ์ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า การจ้างงานในลักษณะลูกจ้างชั่วคราวนั้น อาจไม่เหมาะกับบุคลากรสุขภาพที่เป็นสายวิชาชีพ, อาจเพิ่มการจ้างเหมาบริการจากหน่วยงานภายนอก (outsource) หรือจ้างงานแบบ part timeในช่วงเวลาที่บุคลากรสุขภาพไม่เพียงพอ และอาจมีพัฒนาการใช้หุ่นยนต์ให้ทำงานบางอย่างแทนคน อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการพัฒนาและต้องมีการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ร่วมด้วย

ควรมีการให้อำนาจ หรือความยืดหยุ่นกับหน่วยบริการสุขภาพในการแก้ไขกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อการบริหารจัดการบุคลากรสุขภาพที่เหมาะสมตามบริบทของตนเอง การกำหนด ‘ตำแหน่ง’ การจะต้องจ้างบุคลากรสุขภาพ เป็น ข้าราชการ พนักงานของรัฐ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว หรือรูปแบบใด ๆ อาจไม่มีความสำคัญเท่ากับ การให้อำนาจหรือความยืดหยุ่นของหน่วยบริการ ให้สามารถบริหารจัดการบุคลากรสุขภาพได้ด้วยตนเอง ซึ่งอาจหมายถึงการปรับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข จากการเป็นผู้ให้บริการโดยตรง มาเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุม กำกับ ติดตาม และทำงานเชิงวิชาการ

รวมทั้งอาจมีการจ้างงานรูปแบบใหม่ในบางพื้นที่ โดยมีการบริหารจัดการให้สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ เช่น การมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการผ่าตัดที่ซับซ้อนในศูนย์ใดศูนย์หนึ่งของภูมิภาค หากมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดที่ซับซ้อนนั้น ก็จะสามารถใช้ทีมแพทย์นั้นทำการผ่าตัดในภูมิภาคนั้นได้อย่างทันท่วงที โดยจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน หรือจ่ายค่าจ้างตามบริการที่ตกลงกันโดยไม่ต้องจ้างเป็นเงินเดือน การทำเช่นนี้นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย ซึ่งรูปแบบการบริหารจัดการลักษณะนี้ อาจจะเป็นรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับเอกชนก็ได้

นอกจากนี้ควรสนับสนุนปัจจัยเอื้ออื่น ๆ ที่ส่งเสริมการธำรงรักษาบุคลากรสุขภาพในภาครัฐ เช่น การมีระบบพี่เลี้ยงที่ดูแลให้คำปรึกษาในการปฏิบัติงาน การได้รับรางวัลหรือการเชิดชูเกียรติทางสังคม และการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีส่วนในการตัดสินใจเลือกวิธีการจ้างงานหรือสิทธิประโยชน์บางอย่างที่เหมาะสม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท