Skip to main content
sharethis

เปิดแถลงการณ์ของประชาคมโรฮิงญาในไทย ที่หวังจะยื่นให้กับผู้นำอาเซียน พม่า และไทยในฐานะประธาน แต่ถูกตำรวจห้ามไว้ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้มีสัญชาติ ได้รับสิทธิพลเมืองเท่าเทียมชาวพม่าอื่นๆ ประกันความปลอดภัยในการเดินทางกลับ เข้าถึงการศึกษา บริการทางการแพทย์ และสถานภาพทางกฎหมายที่ทำให้ใช้ชีวิตและทำงานต่างแดนได้อย่างถูกกฎหมาย

ภาพชาวโรฮิงญา (ที่มา: Amnesty International)

23 มิ.ย. 2562 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่กลุ่มประชาคมโรฮิงญาในไทย ตัดสินใจไม่ยื่นแถลงการณ์ประเด็นชาวโรฮิงญาให้กับผู้นำอาเซียน ณ ที่ประชุมอาเซียนซัมมิทและที่กระทรวงการต่างประเทศเนื่องจากตัวแทนชาวโรฮิงญาในไทยระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกำชับว่าไม่ให้ทำการเคลื่อนไหวใดๆ นั้น ผู้สื่อข่าวได้รับเอกสารแถลงการณ์ดังกล่าว โดยทางกลุ่มประชาคมโรฮิงญาในไทยมุ่งส่งข้อความไปถึงผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน รัฐบาลพม่า และรัฐบาลไทย ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ในประเด็นชาวโรฮิงญา เกี่ยวกับมาตรการการส่งชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยกลับไปยังพม่า ประเด็นสัญชาติและการประกันซึ่งสิทธิที่พึงได้เยี่ยงพลเมืองพม่า ใจความว่า

ถึงประธานรัฐบาลประเทศในอาเซียน

ในวาระที่มีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ในวันที่ 22-23 มิ.ย. ที่ประเทศไทย เหล่าผู้นำประเทศต่างมุ่งไปตามวาระต่างๆ เพื่อประกันให้อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและทุ่มเทให้กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้นำประเทศจากชาติสมาชิกจะมาอภิปรายกันในเรื่องวิกฤตการณ์รัฐยะไข่และชะตากรรมของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบล้านคนที่กำลังพำนักอยู่ในบังกลาเทศ

ในประเด็นนี้ พวกเราที่เป็นสมาชิกของประชาคมโรฮิงญาในประเทศไทย ขอเป็นตัวแทนของพี่น้องเราที่ถูกบังคับให้ต้องหนีออกจากพื้นที่รัฐยะไข่ ประเทศพม่า พวกเรามาที่นี่เพื่อแสดงออกซึ่งความกังวล และขอความช่วยเหลือจากเหล่าผู้นำอาเซียน

เราเรียกร้องให้รัฐบาลพม่า

  1. พิสูจน์และให้สัญชาติกับชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นทั้งผู้ที่ลี้ภัยออกจากประเทศและผู้ที่ยังอยู่
  2. การันตีความปลอดภัยในการเดินทางกลับพม่าอย่างสมัครใจของชาวโรฮิงญา
  3. การันตีสิทธิพลเมืองให้กับชาวโรฮิงญา รวมถึงสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินอย่างเต็มที่เทียบเท่ากับพลเมืองพม่าอื่นๆ
  4. ให้สิทธิการศึกษาแก่ชาวโรฮิงญาในทุกระดับชั้นและทุกวุฒิการศึกษา
  5. ประกันว่าชาวโรฮิงญาสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมในพม่าได้อย่างเท่าเทียม
  6. การันตีว่าชาวโรฮิงญาจะมีสิทธิในการเข้ารับราชการทั้งในฝ่ายพลเรือน ตำรวจและทหารในรัฐบาลพม่า

เราเรียกร้องให้รัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียน

  1. พิสูจน์และให้เอกสารแก่ชาวโรฮิงญาข้ามชาติ เพื่อให้เขาได้รับสถานะที่จะใช้ชีวิตและทำงานในประเทศปลายทางได้อย่างถูกกฎหมาย
  2. ให้พิจารณาการให้สิทธิการอยู่อาศัยถาวรกับชาวโรฮิงญาที่ไม่ต้องการเดินทางกลับประเทศพม่า และอยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียนมาเป็นเวลานาน

เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ประธานอาเซียนในปีนี้

  1. ให้มีมาตรการผ่อนคลายแก่ชาวโรฮิงญาที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดลงในเดือน มี.ค. 2563 แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ
  2. ให้มีการลงทะเบียน พิสูจน์และมีมาตรการในการให้สถานภาพทางกฎหมายที่เหมาะสมแก่ชาวโรฮิงญาข้ามชาติที่มาอาศัยและทำงานในไทยเป็นเวลานาน
  3. หยุดการใช้มาตรการ “ช่วยเหลือให้เดินทางต่อไป” กับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เข้ามาในไทยในฐานะประเทศทางผ่านไปประเทศที่สาม เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้มีการค้ามนุษย์
  4. ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮิงญา และให้ข้อมูลพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิที่มี เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์

พวกเราไม่ได้เป็นภาระของประเทศใด และเชื่อว่ายังคงมีพื้นที่ให้ชาวโรฮิงญาทำประโยชน์ในการสร้างและพัฒนาอาเซียน เพื่อประโยชน์ของประชาชนในภูมิภาค

ประชาคมโรฮิงญาในไทย

สำหรับความคืบหน้าในประเด็นรัฐยะไข่และชาวโรฮิงญาในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ แม้ประเด็นรัฐยะไข่จะไม่ปรากฏอยู่บนวาระแถลงข่าวหลังซัมมิทโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แต่เมื่อวานนี้ (22 มิ.ย. 2562) ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวว่า อาเซียนได้มีการส่งหน่วยงานด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management หรือ AHA Center) ลงสำรวจพื้นที่ ซึ่งพบว่าพม่ามีความพร้อมมากขึ้น ทั้งในเรื่องความปลอดภัยที่ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับมาแล้วจะไม่มีปัญหา การยอมรับสถานะในสังคม โดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้รับทราบจากพม่าว่า ขณะนี้พม่าเตรียมจะออกเอกสารแสดงตัวตนให้กับผู้ลี้ภัยชาวรัฐยะไข่ รวมทั้งทางพม่าได้ยืนยันความปลอดภัยในพื้นที่ เมื่อผู้ลี้ภัยในรัฐยะไข่เดินทางจากบังกลาเทศกลับมาคืนถิ่นยังรัฐยะไข่

เผยที่ประชุมอาเซียนพร้อมสนับสนุนกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับรัฐยะไข่ให้เร็วที่สุด

อาเซียนซัมมิท 2562: 'ประชาชนเป็นศูนย์กลาง' ฝันที่ผู้นำเป็นเจ้าของและเลือกใช้

บังกลาเทศ-UNHCR จดทะเบียนเตรียมส่งโรฮิงญากลับ ด้านพม่าแจกสัญชาติจูงใจ

ดอน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ยังทราบถึงข้อติดขัดของการส่งกลับผู้ลี้ภัยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองประเทศยังไม่สามารถระบุจำนวนผู้ส่งกลับได้อย่างชัดเจน และยังพบว่ามีนัยบางอย่างที่เข้ามาแทรกที่ทำให้ผู้ลี้ภัยที่ได้รับการคัดกรองแล้วไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยในการส่งตัวกลับไปยังรัฐยะไข่

เมื่อเดือน พ.ค. 2562 ทางการบังกลาเทศ ร่วมกับข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ (UNHCR) ประกาศว่าได้ทำการลงทะเบียนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 270,000 แล้ว และยังให้บัตรประจำตัวกับผู้ลี้ภัยเหล่านั้นแล้วด้วย โดยในบัตรมีข้อมูลจำพวกชื่อ วันเกิด รวมถึงสถานที่เกิดซึ่งระบุว่าเป็นพม่า

กระบวนการลงทะเบียนเริ่มขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกันสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเพื่อใช้ในการเดินทางกลับพม่าโดยสมัครใจ ดังแผนที่เคยมีและจะดำเนินไปในอนาคต เมื่อ 17 พ.ค. รัฐบาลบังกลาเทศและ UNHCR จดทะเบียนให้กับชาวโรฮิงญา 270,348 ราย หรือ 59,842 ครอบครัว ในเขตที่พักพิงชั่วคราว อ.คอกซ์ บาซาร์

การเก็บข้อมูลผู้ลี้ภัยมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำฐานข้อมูลผู้ลี้ภัยที่แม่นยำ เพื่อที่รัฐบาลหรือองค์กรด้านมนุษยธรรมจะนำไปปรับใช้ในการทำความเข้าใจและช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การเก็บข้อมูลดังกล่าวทำผ่านระบบการจัดการสถิติทางชีวภาพ มีการเก็บข้อมูลลายนิ้วมือและม่านตาอันเป็นข้อมูลทางชีวภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยผู้ลี้ภัยที่มีอายุมากกว่า 12 ปี จะได้รับบัตรประจำตัวดังกล่าว

ปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 900,000 คนลี้ภัยมาอยู่ในคอกซ์ บาซาร์ ในจำนวนนั้นมีถึง 741,000 คนที่ลี้ภัยมาจากปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาเมื่อ ส.ค. 2560

แนวโน้มของการดำเนินการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับพม่าค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังพม่าและบังกลาเทศมีข้อตกลงร่วมกันในการนำตัวผู้ลี้ภัยกลับพม่าเมื่อต้นปี 2561 แต่ทางสหประชาชาติเองก็กดดันให้การส่งตัวกลับเป็นไปโดยสมัครใจและต้องประกันความปลอดภัยให้กับผู้ลี้ภัย จนถึงตอนนี้ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่กลับไปนั้นมีจำนวนน้อย โดยส่วนมากผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ หนึ่งในสาเหตุที่การเดินทางกลับยังไม่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย

กฎหมายสัญชาติพม่าที่บังคับใช้เมื่อปี 2525 ในสมัยรัฐบาลเนวินได้จำแนกสถานะความเป็นพลเมืองเอาไว้สามแบบ ได้แก่ 1. พลเมืองพม่า (บัตรชมพู) 2. พลเมืองผู้อาศัย (บัตรน้ำเงิน) และ 3. พลเมืองแปลงสัญชาติ (บัตรเขียว) โดยผู้ที่จะถือเป็นพลเมืองพม่าจะต้องมีพ่อแม่เป็นพลเมืองพม่า หรือมีชาติพันธุ์ 1 ใน 135 ชาติพันธุ์ที่พม่ารับรอง คุณสมบัติอื่นคือสามารถพิสูจน์ได้ว่าบรรพบุรุษอยู่ในพม่าก่อนปี พ.ศ. 2367 (ค.ศ.1824) หรือก่อนสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 1 ที่ทำให้ราชวงศ์คองบองสูญเสียดินแดนมณีปุระ อาระกัน และตะนาวศรี

ผู้ที่บรรพบุรุษเข้ามาอยู่ในพม่าก่อนวันที่ 4 ม.ค. 2391 ที่พม่าประกาศเอกราชจะมีสิทธิขอสัญชาติหนึ่งในสามสถานะข้างต้น ทั้งนี้ ประชากรกลุ่ม 2. พลเมืองผู้อาศัย และ 3. พลเมืองแปลงสัญชาติ ภายใต้กฎหมายสัญชาติ 1982 พวกเขาจะถูกจำกัดสิทธิหลายประการ ไม่สามารถรับราชการ ไม่สามารถเรียนในวิทยาลัยแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์ได้ โดยส่วนมากประชากรพม่าที่บรรพบุรุษมาจากอินเดียและจีนจะถูกจัดให้อยู่ในประชากรกลุ่มนี้

สื่ออิระวดีของพม่ารายงานคำพูดของรองผู้อำนวยการกรมจดทะเบียนและสัญชาติว่าชาวโรฮิงญาส่วนมากได้รับสัญชาติในประเภทที่ 2 และ 3 ส่วนผู้ได้พลเมืองพม่านั้นมีจำนวนน้อยกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถสืบสาวเอกสารที่บ่งชี้ถึงบรรพบุรุษได้อย่างสมบูรณ์ไปถึงปี 2391 ทั้งนี้ ในบัตรสัญชาติดังกล่าวไม่ใช้ชื่อชาติพันธุ์ว่าโรฮิงญา แต่ใช้คำว่าเบงกาลีแทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net