Skip to main content
sharethis

24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

ข้อความข้างต้นเป็นข้อความที่สลักอยู่บนหมุดคณะราษฎร หมุดหมายการก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งเคยฝังอยู่ในลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนที่จะหายสาบสูญไปอย่างลึกลับในช่วงวันที่ 1 – 8 เมษายน 2560 ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าหายไปอยู่ที่ใด หรือถูกทำลายไปแล้วหรือไม่

หมุดคณะราษฏรเป็นหมุดทรงกลมสีทองเหลือง ฝังอยู่ในพื้นระหว่างฐานของพระบรมรูปทรงม้าและประตูทางเข้าสนามเสือป่า เพื่อเป็นที่ระลึกถึงจุดที่พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และอ่าน “ประกาศคณะราษฏร” ฉบับแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยประกอบพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479

วันที่ 14 เมษายน 2560 มีรายงานว่าหมุดคณะราษฏรถูกรื้อถอนไปจากตำแหน่งที่ตั้ง และถูกแทนที่ด้วย “หมุดหน้าใส” ที่สลักข้อความว่า

ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน

ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดีในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

ข้อความดังกล่าวตรงกับคาถาภาษิตในพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศในรัชกาลที่ 1  

หลังจากมีการรายงานข่าวเรื่องนี้ หลายฝ่ายได้เข้าร้องเรียนกับทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกับกรุงเทพมหนาคร แต่ก็ไม่มีผู้ใดได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าหน่วยงานหรือบุคคลใดเป็นผู้รื้อถอนหมุดออกแล้วนำหมุดใหม่มาแทนที่

เขตดุสิตยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยน ส่วนกรมศิลปากรแจ้งว่าหมุดไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร ทางกรมดูแลเฉพาะองค์อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าเท่านั้น อีกทั้งหมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุตามพ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เนื่องจากไม่ถือเป็น “สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น”

ภาพถ่ายเช้าวันที่ 20 มิถุนายน 2562

ปัจจุบัน พื้นที่ระหว่างฐานของพระบรมรูปทรงม้าและประตูสนามเสือป่ากว่าครึ่งกำลังมีการปรับปรุง โดยมีการขุดพื้นถนนเดิมออก และมีการตั้งรั้วพร้อมด้วยกระถางต้นไม้กั้นพื้นที่ก่อสร้าง จึงยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าแม้แต่หมุดใหม่ยังมีอยู่หรือไม่

รวมกรณีคนทวงหมุด และผลที่ได้รับ

ที่ผ่านมานักกิจกรรมที่ออกมาเรียกร้องกรณีหมุดหาย หรือหน่วยงานใดจะจัดกิจกรรมเรื่องนี้ก็มีอันถูกยับยั้งหรือควบคุมตัว เช่น

  • ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยถูกนำตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจหลังจากเดินทางไปยื่นหนังสือต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาลขอให้มีการติดตามนำหมุดเก่ากลับมาและให้ดำเนินคดีกับผู้ที่นำหมุดไป
  • บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ ถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติที่มทบ. 11 พร้อมกับสันติพงษ์ วินุราช เพื่อนที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันหลังเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน. ดุสิตเพื่อขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานและให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎร
  • เอกชัย หงส์กังวาน ถูกตำรวจจับกุมตัวไปหลังพยายามนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปติดตั้งกลับคืนที่จุดเดิม
  • นอกจากนี้ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT ยังได้รับหนังสือจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีขอความร่วมมือให้งดการจัดงานเสวนาในหัวข้อ "ความทรงจำแห่งอภิวัฒน์ 2475 - ปริศนาหมุดคณะราษฎรหาย" (Memories of 1932 - The Mystery of Thailand's Missing Plague) หลังทางตำรวจได้รับการประสานจาก “ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งเห็นว่างานเสวนานี้อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ บุคคลผู้ไม่หวังดีอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ต่างๆ ก่อให้เกิดความวุ่นวาย
  • ส่วนที่น่าฮือฮาที่สุด แต่ก็กลับเงียบเชียบที่สุดคือ หลังสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชื่อดังที่ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศหลังรัฐประหาร 2557 ได้วิเคราะห์เรื่องหมุดคณะราษฎรหาย จากนั้นมีการจับกุมบุคคล 6 คนที่กดแชร์สเตตัสดังกล่าวของสมศักดิ์ หนึ่งในนั้นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทั้ง 6 คนถูกจับและควบคุมตัวในค่ายทหารก่อนจะมีการแจ้งข้อหาความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการฝากขังในเรือนจำจนครบ 7 ผัด (84 วัน) แต่ในท้ายที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด และอัยการไม่สั่งฟ้องคดี

การหายไปของหมุดคณะราษฎรยังคงคลุมเครือ แม้ว่าเวลาจะผ่านมาถึงสองปีกว่าแล้วก็ตาม ผู้คนจำนวนไม่น้อยเห็นตรงกันว่า การหายไปของหมุดคณะราษฎร อาจเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะขุดรากถอนโคนมรดกของคณะราษฎรและความทรงจำถึงการปฏิวัติ 2475

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่าการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรเป็นส่วนหนึ่งของการถอยหลังกลับสู่เผด็จการของสังคมไทย บริบททางการเมืองที่มีความพยายามในการสร้างความชอบธรรมของระบอบเผด็จการและทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตยตามแบบสากลได้นำไปสู่การย้อนประวัติศาสตร์ การปฎิเสธความชอบธรรมของคณะราษฎรและความถูกต้องของระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย และความมุ่งหวังที่จะทำลายสัญลักษณ์ของคณะราษฎรเพื่อลบอดีตและเขียนเรื่องราวในประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบที่สุธาชัยเรียกว่า “ด้อยสติปัญญา”

รัฐประหาร ปลุกคนหันมองหมุดที่นอนนิ่งมานาน

หมุดคณะราษฎรมีบทบาททางการเมืองในฐานะเป็น “สถานที่” จัดกิจกรรมรำลึกถึงคณะราษฎรในตอนเช้าวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี กิจกรรมดังกล่าวแทบไม่เป็นที่สนใจของสังคม จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ก็เริ่มถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐประหาร

หลังปี 2552 ความหมายของการรำลึก 24 มิถุนาฯ ก็ถูกแย่งชิงมาเป็นของกลุ่มต่อต้านรัฐประหารโดยสมบูรณ์ โดยในปี 2555 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ  80  ปีของการปฏิวัติ  2475 มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงคณะราษฎรจำนวนมาก รวมถึงในพื้นที่บริเวณหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย

เมื่อพูดถึงกิจกรรมเหล่านี้ กลุ่มหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ “กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย” นำโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข



การจัดกิจกรรมรำลึกในปี 2558

สมยศเล่าว่า  กลุ่ม 24 มิถุนาฯ เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และมีประเด็นเรียกร้องทวงคืนวันชาติ 24 มิถุนายน ในช่วงที่มีรายงานว่าหมุดคณะราษฎรหายไปนั้น ทางกลุ่มก็มีความพยายามเคลื่อนไหว แต่เนื่องจากว่าสมาชิกของกลุ่มส่วนหนึ่งต้องลี้ภัยหรือถูกจำคุกจึงไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้มากในสถานการณ์ขณะนั้น แต่ก็ได้มีการทำหมุดจำลองและทำเสื้อออกจำหน่าย

นอกจากนี้ทางกลุ่มยังเคยจัดงานสัมมนาเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เมื่อปี 2561 โดยกลุ่มได้ประกาศว่าจะใช้แนวนโยบาย 6 ประการของคณะราษฎรเป็นแนวทางในการตั้งข้อเรียกร้องต่าง ๆ เช่น การปฏิรูปกองทัพ เบี้ยคนชรา ฯลฯ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของคณะราษฎร

เขายังเชื่อว่า การตั้งชื่อกลุ่มเช่นนี้และเคลื่อนไหวผูกโยงกับคณะราษฎรเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์คณะราษฎรมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการถกเถียงกันมากขึ้นในเรื่องระบอบอำมาตย์ หรือกระทั่งบทบาทของสถาบันกษัตริย์

ความทรงจำถึงประวัติศาสตร์ 2475 กำลังถูกคุกคาม

ก่อนจะมีปรากฏการณ์หมุดหาย ชาตรี ประกิตนนทการ ได้นำเสนอความขัดแย้งกันกันของประวัติศาสตร์สองฟากฝ่ายไว้ก่อนแล้วในหนังสือเรื่องสถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 (ตีพิมพ์เมื่อปี 2558) ว่า มีสิ่งที่เรียกว่า “กฎบัตรการอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรมไทย” ที่ปะทะสังสรรค์กับการอนุรักษ์สากลอยู่ ถึงแม้ไม่มีการจารึกเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ แต่ก็ถือเป็น “เพดาน” ที่ควบคุมแนวคิดการอนุรักษ์ในสังคมไทยอยู่เสมอโดยที่เราไม่รู้สึกถึงมัน

หนึ่งในสาระสำคัญของกฎบัตรดังกล่าวก็คือ การเน้นการอนุรักษ์เฉพาะมรดกวัฒนธรรมชั้นสูงภายใต้ระบอบราชาชาตินิยม ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้เกิด “การคัดทิ้ง” มรดกทางวัฒนธรรมยุคคณะราษฎร ซึ่งมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับมรดกทางวัฒนธรรมแบบชั้นสูงที่แวดล้อมสถาบันกษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มรดกของคณะราษฎรที่เป็นรูปธรรมนั้น เราจะเห็นได้ว่ามีจำนวนหนึ่งที่ถูกทำลายไปก่อนหน้าการหายไปของหมุดคณะราษฎรแล้ว เช่น อาคารที่ทำการศาลฎีกาเดิมที่ถูกรื้อทิ้งเพื่อสร้างอาคารใหม่ และโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยที่ถูกรื้อลงเพราะไปบดบังโลหะปราสาท วัดราชนัดดาที่สร้างโดยพระราชดำริของรัชกาลที่ 3 และนอกจากนั้นก็ยังมีอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดชที่เคยตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ ซึ่งถูกเคลื่อนย้ายไปเมื่อกลางดึกของวันที่ 27 ธันวาคม 2561 โดยที่ปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมเช่นเดียวกับหมุดคณะราษฎร

ชาตรีเสนอว่าการคุกคามมรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎรทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรื้อถอนทำลายประวัติศาสตร์ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ความพยายามรักษา-กระจายหมุด

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะรักษาหมุดคณะราษฎรไว้ก็ยังคงมีอยู่ โดยความพยายามครั้งล่าสุดคือเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ทำเรื่องขออนุญาตทำการฝังหมุดคณะราษฎรจำลองเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านรัฐศาสตร์ให้แก่นิสิต แต่ทางกองอาคารสถานที่ งานผังแม่บทและออกแบบสิ่งก่อสร้างของทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาต

อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าว เล่าว่า เขามีโครงการที่จะทำอุทยานการเรียนรู้ไว้ที่คณะ โดยมีรูปปั้นนักคิดจากยุคต่าง ๆ เช่น โสเครตีส มาเคียเวลลี จอห์น ลอค และคาร์ล มาร์กซ์ และอยากให้มีรูปปั้นนักคิดจากประเทศไทยด้วย เช่น 4 รัฐมนตรีอีสาน ครูครอง จันดาวงศ์ แต่เนื่องจากงบประมาณมีไม่เพียงพอ จึงทำเพียงหมุดคณะราษฎรไปก่อน โดยที่ทางคณบดีไม่ได้คัดค้านใดๆ แต่เพราะต้องการนำหมุดคณะราษฎรจำลองฝังลงในพื้นอาคารเพื่อให้เหมือนหมุดจริง ทำให้ต้องขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัย ในตอนแรกกองอาคารสถานที่ได้อนุมัติแล้ว แต่ต่อมากลับมีหนังสือสั่งการจากรองอธิการบดีในขณะนั้นไม่อนุมัติให้ฝัง เนื่องจากเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้อยู่ในวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยในการเรียนการสอน การวิจัย และการทำนุบำรุงวัฒนธรรม และเกรงว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกในมหาวิทยาลัย

อลงกรณ์กล่าวว่ารองอธิการบดีคนดังกล่าว ไม่ได้คัดค้านการมีหมุดคณะราษฎรอยู่ในโครงการอุทยานการเรียนรู้นี้ เพียงแต่ขอให้จัดแสดงด้วยวิธีอื่นแทนการฝังลงในพื้นอาคาร นอกจากนี้ยังไม่มีแรงต้านจากฝ่ายอื่นในมหาวิทยาลัย ส่วนนิสิตก็ให้กำลังใจดีและยังสนับสนุนให้ฝังลงพื้น

อย่างไรก็ตาม อลงกรณ์กล่าวว่า ในขั้นต่อไปคงจะจัดทำหมุดขึ้นมาแล้วใส่ชั้นจัดแสดงแทน

ชาตรีได้เสนอไว้ด้วยว่า คณะราษฎรเป็นกลุ่มบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่ถือกำเนิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกจากผลงานในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ก่อนความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรจะเริ่มถูกทำให้จางหายไปหรือถูกตีความในแง่ลบ และถือกำเนิดใหม่อีกครั้งหลังการรัฐประหารปี 2549 ในฐานะวีรชนและสัญลักษณ์การต่อสู้กับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้น ถ้าหากมองลักษณะการจดจำคณะราษฏรของสังคมไทยในลักษณะของการเกิด 2 ครั้งตามที่ชาตรีเสนอแล้ว การทำลายมรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎร เช่นการรื้อถอนหมุดคณะราษฎร และการย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “ฆ่า” คณะราษฎรเป็นครั้งที่ 2 เช่นกัน ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่

สมยศ ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาฯ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติ 2475 เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังมีความต่อเนื่อง เป็นการต่อสู้กันจากรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้ว่าคณะราษฎรจะถูกกวาดล้างไปหมด แต่ก็ยังเหลือมรดกทั้งในรูปของความคิดและวัตถุ และกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ก็ถือเป็นกลุ่มประชาชนที่ตั้งใจว่าจะสืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎรต่อไป และพยายามจะฟื้นฟูประวัติศาสตร์ที่ถูกทำลายไปกลับมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net