ไอลอว์นำ 23 เครือข่ายภาคปชช.ยื่น 13,409 รายชื่อ ‘ปลดอาวุธ คสช.' แล้ว

ไอลอว์ พร้อม 23 เครือข่ายภาคประชาชนจัดกิจกรรม ‘วาระแรกประชาชนปักหมุด ‘ปลดอาวุธ คสช.’ นำ 13,409 รายชื่อ ยื่นต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อประกอบการเสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย​

24 มิ.ย.2562 นับเป็นเวลากว่า 1 ปี กับอีก 6 เดือน ที่เครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันทำแคมเปญ ‘ปลดอาวุธคสช.’ เพื่อทวงคืนสถานการณ์ปกติ ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการแสดงออกหรือการทำกิจกรรมทางการเมืองมากนัก แต่ในที่สุดก็ถึงวันที่ประชาชนร่วมกันเดินเท้าเพื่อแสดงพลังและส่งมอบรายชื่อให้กับตัวแทนสภาฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณายกเลิกประกาศและคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ริดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมานานกว่า 5 ปี

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw เป็นตัวแทนยื่นรายชื่อต่อรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ยังร่วมเดินขบวนด้วย

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า วันนี้ (24 มิ.ย.62) เวลา 9.30 น. ประชาชนกว่า 100 คน รวมทั้งองค์กรภาคประชาชน 23 องค์กร เดินเท้าจากบริเวณหน้ากระทรวงการคลัง ถ.พระราม 6 ไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถ.ประดิพัทธ์ ในระยะทางกว่า 1.20 กิโลเมตร เพื่อส่งมอบ 13,409 รายชื่อประชาชน ภายใต้แคมเปญ 'ปักหมุด ปลดอาวุธ คสช.' ในการเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. 35 ฉบับ ผ่านพรรษมนต์ ไทยวัฒนานุกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) แถลงต่อหน้าสื่อมวลชนว่า ไอลอว์และเครือข่ายภาคประชาชน 23 เครือข่ายรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อประกาศเจตนารมณ์ ว่าต้องการให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและถูกบังคับใช้มานานมากกว่า 5 ปี โดยกิจกรรมวันนี้เดินเท้าเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรนำรายชื่อของประชาชนที่ร่วมกันใช้สิทธิ์เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 ทั้งหมด 13,409 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพจำนวน 35 ฉบับ และจริงๆแล้วประกาศและคำสั่ง คสช. มีมากถึง 500 กว่าฉบับและมีแนวโน้มว่าถูกทิ้งและไปมีผลบังคับใช้หลังจาก คสช. หมดอำนาจถึง 200 กว่าฉบับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเป็นประกาศและคำสั่งที่ออกโดย คสช. ฝ่ายเดียว หลายประกาศคำสั่งเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น การเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร การให้ทหารมีอำนาจจับกุมประชาชนไปขังในค่ายทหาร 7 วัน โดยไม่มีความผิด และการให้ทหารเข้าไปจับกุมประชาชนในพื้นทำกินของประชาชนโดยอ้างว่าจะเอาไปทำเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งอำนาจเหล่านี้ควรจะหมดไปและควรใช้อำนาจปกติ ภายใต้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง

ขั้นตอนหลังจากที่นำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นแก่จะเป็นช่วงที่ทางนั้นเอารายชื่อไปตรวจสอบ คาดว่าคงใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือน หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งที่จะต้องนำวาระนี้เข้าไปพิจารณาในสภา ซึ่งภาคประชาชนที่ยื่นรายชื่อส่วนหนึ่งจะได้เข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการ แต่คนที่มีอำนาจลงมติจริงๆ จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นอยากเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านว่า ถ้าอยากเห็นบ้านเมืองมีประชาธิปไตย มีสิทธิและเสรีภาพให้ประชาชน มีสถานการณ์ปกติ  อยากให้ทุกพรรคการเมืองร่วมโหวตสนับสนุนให้ พ.ร.บ. นี้ผ่านและนำไปสู่การยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ใช้มานานถึง 5 ปี         

แนวทางต่อไปหลังจากผลักดันเรื่องนี้แล้วเสร็จ ยิ่งชีพกล่าวว่า ในฐานะภาคประชาชนยังมีงานหลายอย่างที่ต้องติดตามต่อไป เพราะการบังคับใช้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังคงอยู่ ทหารยังสามารถจับกุมประชาชนต่อไปได้

ส่วนฉบับที่กระทบต่อประชาชนและอยากให้มีการยกเลิกมากที่สุดนั้น ผู้จัดการ iLaw ระบุว่า คือ ฉบับที่ต้องการให้ยกเลิกคือ ฉบับที่การให้ทหารมีอำนาจจับกุมพลเรือนไปขังไว้ในค่ายทหาร 7 วัน ซึ่งเป็นอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ฉบับที่13/2559 และฉบับที่5/2560 ซึ่งทั้ง 3 ฉบับนี้บอกด้วยว่าทหารที่ใช้อำนาจนี้ถือว่าไม่เป็นความผิดที่จะต้องรับผิดชอบ

ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย

ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยกล่าวว่า ตนเป็น 1 ใน 20 รายชื่อ​ริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และมีโอกาสได้เข้ามาร่วทำงานกับเครือข่ายที่เกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.ปลดอาวุธ คสช. ฉบับนี้ ซึ่งที่ผ่านมาประกาศและคำสั่ง คสช. เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก รวมถึงคนที่มีส่วนร่วมทางการเมือง  แม้ว่าการเลือกตั้งจะผ่านมาแล้วแต่สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนยังคงถูกปิดกั้น ภายใต้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนจึงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงคืนอำนาจและสิทธิของประชาชนคืน

วัชรพล นาคเกษม ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

วัชรพล นาคเกษม ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมกล่าวว่า ตนร่วมแคมเปญกับไอลอว์ตั้งแต่แคมเปญแรกและแคมเปญการปลดอาวุธ คสช. นี้จึงมีโอกาสได้ช่วยรณรงค์มาตั้งแต่ช่วงมกราคม 2561 จนถึงตอนนี้ ดังนั้นถ้ากฎหมายนี้ผ่านถือเป็นการปลดอาวุธหรือเครื่องมือที่มีอำนาจของ คสช. ที่เป็นประกาศและคำสั่งทั้ง 35 ฉบับ  ซึ่งการยื่นยกเลิกประกาศและคำสั่งนี้เป็นเหมือนกับการทวงคืนสถานการณ์ให้กลับมาเป็นปกติ ทวงคืนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมาประชาชนถูกกดขี่ด้วยคำสั่งและประกาศที่มาจาก คสช.

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรภาคใต้

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรภาคใต้หนึ่งในผู้ร่วมเดินแคมเปญในวันนี้กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คสช. ได้ออกประกาศและคำสั่งมากมาย โดยเฉพาะคำสั่งที่มีผลกระทบต่อชุมชนมี 13 ฉบับ เช่น คำสั่งฉบับที่64 คำสั่งฉบับที่66 หรือคำสั่งการยกเว้นผังเมือง ซึ่งคำสั่งเหล่านี้กระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในชุมชน แม้ว่าปัจจุบันจะมีรัฐบาลใหม่แล้วแต่ประกาศและคำสั่ง คสช. ยังคงอยู่ ดังนั้นถ้ากฎหมายนี้ได้เข้าสภาต้องมีการแก้ไขและต้องมีการยกเลิกกฎหมายที่เป็นผลพวงมาจากอำนาจ คสช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท