Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนหน้านี้ผมเคยนำเสนอปัญหาของหลักสูตรสันติศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) มาสัปดาห์นี้ เนื่องจากมีความเห็นของนิสิตที่กำลังศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว (ปริญญาเอก) มาถึงผม (ผ่านอีเมล์) จึงใคร่ขอนำความเห็นของนิสิตในหลักสูตรสันติศึกษาของ มจร. ในปัจจุบันมานำเสนอเพื่อไม่ให้ขาดตอน นัยหนึ่งเพื่อสื่อถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการหลักสูตรดังกล่าวอีกด้วย อีกนัยหนึ่งการจัดหลักสูตรดังกล่าว อาศัยงบประมาณผ่านกลไกของรัฐซึ่งมีประชาชนอย่างผู้เขียน เราๆ ท่านๆ เป็นผู้สนับสนุน 

อย่างไรก็ตามผู้เขียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเก็บชื่อนิสิตคนนี้ไว้เป็นความลับเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนการศึกษาของเขาในสถาบันแห่งเดียวกันนี้ ผู้เขียนเองต้องขอขอบคุณ นิสิตคนเดียวกันที่กล้าเปิดเผยตนนำเสนอความเห็น เพื่อการพัฒนาสถาบันสันติศึกษา มจร.ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ข้อความของท่านนิสิต หลักสูตรสันติศึกษา  มจร. มีดังนี้ครับ  

ผมได้อ่านบทความ 2 เรื่องที่อ่านอาจารย์เขียน คือ

1. ตรรกะวิบัติของสถาบันสันติศึกษาแนวพุทธ (https://siamrath.co.th/n/56943 )

2. สันติศึกษาบนหอคอยชนชั้น (https://prachatai.com/journal/2018/07/77947) ผมเข้าใจความรู้สึกและรับรู้แนวคิดของอาจารย์ได้เป็นอย่างดี เพราะผมเป็นนิสิต ระดับปริญญาเอกคนหนึ่งของหลักสูตรสันติศึกษา มจร.

เหตุผลที่เขียนอีเมลมาครั้งนี้ ไม่มีวัตถุประสงค์ตอบโต้หรือติเตียนแต่อย่างใด ผมกลับเห็นด้วยทุกประการ ผมกับเพื่อน ๆ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน (อายุ 33-37 ปี)

เห็นปัญหาอย่างที่อาจารย์เขียน พวกเราพยายามจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ให้หลักสูตรอย่ายึดกับอดีตและไม่ดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

แต่ผู้จัดการหลักสูตรเพิกเฉยและไม่กล้าจะเปลี่ยน เช่น เมื่อมีคำถามต่าง ๆ ทางวิชาการที่จะต้องถกเถียง ก็มักจะให้นิสิตปริญญาเอกนั่งสมาธิ 1-2 ชั่วโมงหรือแล้วแต่พระจะอิ่มใจ

บางครั้งนั่งตั้งแต่ต้นชั่วโมง 8.00 ถึง 10.00 น. เมื่อเข้าเนื้อหาวิชาก็แทบจะไม่ได้เข้าประเด็นการเรียน พอ 11.00 น. เป็นเวลาฉันเพล จนไม่เกิดประโยชน์ทางวิชาการเท่าที่ควรจะเป็น

ผู้เรียนส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงวัย 50 – 70 ปี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และคนรุ่นใหม่ ๆ บ้าง ในชั้นเรียนจึงมีการปะทะกันทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่แถมยังต้องปะทะกับแนวคิดแบบเถรวาทแบบ มจร. ทำให้การเรียนการสอนไม่ได้เป็นไปอย่างที่ผมคาดหวังเอาไว้

อาจารย์เชื่อหรือไม่ว่าผมเรียนมา 2 ปีแล้ว ยังไม่เคยมีการมอบหมายให้อ่าน Journal ใด ๆ เลยสักครั้งเดียว เมื่อมีสถานการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ เกิดขึ้น ไม่มีการกล่าวถึงในชั้นเรียน

แม้กระทั่งช่วงหนึ่งนักวิชาการทางสันติศึกษา Prof.Johan Gultung รณรงค์เรื่องการบรรจุคำ Peace building ในพจนานุกรม Oxford ทางหลักสูตรจะไม่มีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถามก็จะไม่มีใครทราบเรื่อง

ผมไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า เพราะเหตุใด อาจารย์ถึงได้เขียนบทความทั้ง 2 เรื่องนี้ขึ้นมา และมีข้อมูลเชิงลึกได้อย่างไร ผมขอขอบคุณอย่างยิ่งที่บทความของอาจารย์พูดแทนคนภายใน

ปัจจุบันหลักสูตรเพิ่งมีนิสิตจบ ป.เอก ถ้าอาจารย์ได้มีโอกาสอ่านดุษฎีนิพนธ์สักเล่ม ผมเชื่อว่าอาจารย์จะเขียนได้อีกหลายบทความครับ

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตอาจารย์จะมีบทความที่เกี่ยวข้องกับสันติศึกษาอีก ผมยังไม่พร้อมเปิดเผยชื่อ-นามสกุล และรายละเอียดที่สามารถอ้างอิงถึงตัวผมได้เด็ดขาด

ถึงกระนั้น หากมีข้อมูลใด ๆ ที่อาจารย์ประสงค์คุยเพิ่มเติมผมยินดีให้ข้อมูล

ผมอยากให้ มจร. ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อความเป็นจริงมากกว่าเป็นมายา ผมรู้สึกว่ากิจกรรมหลายอย่างไม่ได้ตอบโจทย์สังคม 

ผมก็หวังว่าอะไรก็จะดีขึ้นและเปลี่ยนแปลง ผมเข้ามาเรียนที่นี่เพราะผมก็พอเข้าใจระบบภายในมาบ้าง และอยากจะให้ความรู้ของ มจร. หรือทางพุทธที่ไร้การแบ่งแยกได้ช่วยสังคม เศรษฐกิจและการเมืองต่อไป

ขอบคุณสำหรับบทความที่ตรงไปตรงมา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net