Skip to main content
sharethis

ปาฐกถาพิเศษธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดเรื่องมรดกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ชวนดูอดีตเมื่ออีสานตื่นตัวทางประชาธิปไตยไวเสียกว่ากรุงเทพฯ ดูมรดกคณะราษฎรทั้งการสร้างพลเมืองที่เท่ากัน พานแว่นฟ้าที่ไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์บนหิ้ง และคำอธิบายถึงกระแสการล้มล้างสถาบัน วอน อย่าผูกขาดการรักสถาบันไว้ที่คนหนุนเผด็จการ คนสนับสนุนประชาธิปไตยไม่เท่ากับล้มเจ้า

ซ้ายไปขวา: ปิยบุตร แสงกนกกุล ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

24 มิ.ย. 2562 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค รวมถึง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ร่วมกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “24 มิถุนา วันประชาธิปไตย และการคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น” ท่ามกลางประชาชน นักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก เข้าร่วมจนแน่นห้องประชุม

 

ในส่วนนี้จะเป็นคำปาฐกถาของธนาธร ที่พูดถึงมรดกการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเมื่อปี 2475 สิ่งที่เปลี่ยนไป สิ่งที่คงเหลือ และอธิบายว่าการสนับสนุนประชาธิปไตยไม่ใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่มีคนป้ายสีพรรคอนาคตใหม่

87 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทุกท่านในห้องนี้คงเห็นด้วยกับผมว่า 87 ปีของพัฒนาการประชาธิปไตยในไทยยังมีปัญหาอีกเยอะแยะไปหมด เริ่มจากจำนวนของรัฐธรรมนูญ ในรอบ 22 ปีที่ผ่านมาหลังมีรัฐธรรมนูญ 2540 เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 5 ฉบับ จนถึงวันนี้ ประชาชนมีความเคลือบแคลงและสงสัยการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระต่างๆ ไปหมดไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจพรรคการเมืองและนักการเมือง ไม่ไว้วางใจรัฐสภา ประชาชนหมดความหวัง หมดศรัทธากับสถาบันและองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การเข้ามาของเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียทำให้เกิดความขัดแย้งที่ร้าวลึกลงไปอีก ปัจจัยเหล่านี้เข้ามาพร้อมกับข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน เฮทสปีช หรือข่าวที่ทำให้สังคมแปลกแยก เกลียดชังกัน ความพอกพูนของสิ่งต่างๆ เลห่านี้ทำให้เห็นประชาธิปไตยของเรายังมีปัญหาอยู่มาก

จะเรียกไทยว่าเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยก็คงไม่ถูกนัก ตอนนี้เองเราก็ยังคิดไม่ออกว่าเราปกครองกันด้วยระบอบอะไรกันแน่ บ้างบอกว่าเรากลับไปเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ บ้างก็บอกว่าเป็นเผด็จการครึ่งใบ บ้างบอกว่าเป็นระบอบเผด็จการที่มีการเลือกตั้ง บ้างก็บอกว่า นี่แหละคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ บ้างก็บอกว่าเป็นเผด็จการประชาธิปไตย ตกลงจนถึงตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าระบอบการปกครองที่มีอยู่คืออะไรกันแน่ แต่ทุกคนคงเห็นพ้องว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เราต้องการแน่ๆ

ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ดีที่จะทบทวนการเดินทางของประชาธิปไตยไทยว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทราบไหมว่าขอนแก่นมีอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญอยู่ที่สุดถนนข้าวเหนียวของวันสงกรานต์ ติดกับศาลหลักเมือง แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็เกิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือบางที่เรียกอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแพร่หลายในหลายจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน หลายจังหวัดเกิดก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ราชดำเนินเสียอีก จ.สุรินทร์ในปี 2479 จ.ร้อยเอ็ดในปี 2479 จ.มหาสารคามในปี 2477 ขณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ราชดำเนินกรุงเทพฯ สร้างขึ้นในปี 2482 แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัว การเฉลิมฉลองอำนาจที่เป็นของประชาชนในอีสานหลังปี 2475 คิดว่าเป็นการชี้วัดประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี

แต่อนุสาวรีย์ที่เกิดขึ้นในหลาย จ.ทั่วไทย ไม่มีการทำนุบำรุงรักษา ปรับปรุง คืนสภาพ ถูกปล่อยให้ผุพัง เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา อย่างในบุรีรัมย์ ในปี 2557 อนุสาวรีย์ถูกทุบไป เทศบาลเมืองตัดสินใจรื้ออนุเสาวรีย์ซึ่งเป็นวงเวียนแล้วแทนที่ด้วยไฟดิจิทัล ทั้งที่อนุสาวรีย์หลายที่เป็นการระดมเงินทำกันเอง ไม่ใช่งบประมาณรัฐสะท้อนถึงการตื่นตัวทางการเมืองครั้งใหญ่ในภาคอีสาน

อีกความหมายของ 2475 คือความเป็นสมัยใหม่ ปี 2475 เป็นปีที่กลุ่มคนชั้นสูง ลูกขุนนางได้เดินทางไปศึกษาในประเทศตะวันตกซึ่งเปลี่ยนสังคมเป็นสมัยใหม่ในแบบที่มนุษย์เปลี่ยนความคิดที่เดิมอยู่ใต้ธรรมชาติไปสู่การควบคุมธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี นับถือการใช้หลักเหตุผล ในด้านการเมืองก็เปลี่ยนอำนาจจากจารีตเป็นอำนาจจากพลเมือง เปลี่ยนฐานันดรเป็นความเท่าเทียม เปลี่ยนชีวิตที่เดิมเป็นของเจ้านาย กลายเป็นชีวิตของตัวเอง การเกษตรสู่พาณิชย์และอุตสาหกรรม

ถ้าดูปฏิมากรมหลัง 2475 ก่อนหน้านั้นจะเป็นจั่ว ชั้นสลับซ้อน มีลวดลายแสดงถึงความเป็นเจ้าขุนมูลนายและจารีตนิยม อาคารสมัยหลัง 2475 เป็นอาคารที่ตัดตรง แสดงถึงความเท่าเทียม การสร้างเมืองในแบบเรขาคณิตอย่างสากล แสดงถึงความเสมอภาคและไม่แบ่งชนชั้น การเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์ส่วนใหญ่ปรากฏในรูปของงวงเวียนที่มาพร้อมการใช้รถใช้ถนน อีกสิ่งคือรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้าที่ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนจับต้องได้ รูปนั้นปรากฏในถ้วยชาม ขัน สมุดนักเรียน โอ่ง ที่เขี่ยบุหรี่ กระดุมเสื้อ

หนึ่งในความตกต่ำของประชาธิปไตยไทยคือวันชาติ ครั้งหนึ่ง ครม. ไทย ตราไว้ว่าวันชาติของประเทศคือ 24 มิ.ย. ของทุกปี ซึ่งมติ ครม. นี้ผ่านครั้งแรกในปี 2481 และบังคับใช้ 2482 เมื่อครั้งคณะราษฎรหมดอำนาจลง อำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับมามีบทบาทอีกครั้ง วันชาติก็ถูกยกเลิกไปด้วยมติ ครม. 2503 ประวัติศาสตร์การหายไปของการเฉลิมฉลองแสดงถึงความตกต่ำของประชาธิปไตย

ถ้าถามต่อไปว่าปรากฏการณ์เหล่านี้เริ่มขึ้นเมื่อไหร่ หลายคนอาจจะบอกว่า 2549 หรือเปล่า หลายท่านอาจจะบอกว่าเริ่มที่ 2557 หรือเปล่า แต่ในความเป็นจริง หลัง 2490 เป็นต้นมาที่คณะราษฎรปีกพลเรือนแพ้ย่อยยับ การฟื้นฟูอำนาจของประชาชนเป็นใหญ่ไม่เคยถูกสถาปนา อาจมีบางครั้งบางคราวที่มีกระแสสูงในการเรียกร้องอำนาจเป็นของประชาชน อย่างปี 2516 ซึ่งก็ถูกจบลงด้วยการปราบปรามในปี 2519 หรือในปี 2535 หรือ 2553 ที่จบลงด้วยการล้อมปราบ สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2490 คือการลดอำนาจ ความสำคัญของคำว่าเสมอภาค สิทธิ เสรีภาพและยุติธรรม แล้วไปเพิ่มความสำคัญของคำว่าคุณธรรม สามัคคี ความดี

ในปี 2475 มาตราที่ 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ตราไว้ว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย นี่เป็นการยืนยันหลักการพื้นฐานที่สุดของระบอบประชาธิปไตย สิ่งสำคัญก็คือเป็นหลักยืนยันของการสร้างพลเมืองไทยเป็นครั้งแรก เป็นการยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐแบบใหม่ ก่อนหน้านี้ไม่มีพลเมืองไทย นี่ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐแบบใหม่ที่ไม่ใช่แบบขุนนางกับไพร่ ขุนนางกับไพร่ถูกกีดกันไม่ให้คบหากันโดยธรรมชาติ ชีวิตไพร่ไม่เท่ากับขุนนาง ชีวิตไพร่คือความลำบาก คือโศกนาฏกรรม 2475 คือการเปลี่ยนความสัมพันธ์แบบนี้แล้วให้ความสำคัญกับคนในประเทศนี้เสียใหม่ ไม่ใช่ไพร่ แต่เป็นพลเมืองที่เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน มีสิทธิเสรีภาพในการเป็นเจ้าของชีวิตตนเอง ได้รับการบริการจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงยุติธรรอย่างเสมอภาค มีหน้าที่จ่ายภาษี ปกป้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยและมีสิทธิ อำนาจในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจในนามของประชาชน แต่ 87 ปีที่ผ่านมา ภารกิจนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีฝ่ายหนึ่งที่ยังมีสิทธิพิเสษ มีอำนาจมากกว่าคนอื่น อยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่คนอีกกลุ่มใช้ชีวิตอย่างไร้สิทธิและแสนสาหัส

พลเมืองคือปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ ถ้าไม่รู้คุณค่าของศักยภาพแล้วจะพัฒนาประเทศอย่างไร แต่ก็ต้องถามด้วยว่าจะพัฒนาประเทศไปทำไมถ้าชีวิตคนในประเทศไม่ดีขึ้น พลเมืองจึงเป็นทั้งเป้าหมายและทรัพยากรในการพัฒนา ในศตวรรษที่ 21 เรากำลังอยู่ในช่วงที่น่าตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเกิดขึ้นของปัญหาระดับโลกมากมาย เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัฒน์ที่จะใช้วิธีเดิมๆ มาแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องใช้นวัตกรรมทางนโยบาย อุปกรณ์เข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมันจะเกิดได้จากความคิดสร้างสรรค์ เกิดจากสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย ที่ได้รับอนุญาตให้คิด มีแต่ประชาธิปไตยเท่านั้นที่พลเมืองจะตระหนักถึงพลังและศักยภาพที่มีอยู่และใช้พลังนั้นมาพัฒนาสังคมที่เสมอภาคกัน สังคมที่พลเมืองสามรถใช้ชีวิตที่เปี่ยมความหมายและคุณค่าได้ และทำให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของกระแสเทคโนโลยีและโลกาภิวัฒน์

ผมอยากจะชวนพวกเราฟื้นฟู พิทักษ์สิทธิพลเมือง ประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์ไทยและที่อื่นพิสูจน์มาแล้วว่าคำใหญ่คำโตอย่างคำว่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค ความเท่าเทียมไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองถ้าประชาชนไม่ไปมัน ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือสัปดาห์ที่ผ่านมาที่นักเรียนพยายามแสดงความเห็นผ่านพานไหว้ครู พาเหรด แต่แล้วก็ถูกคุกคาม ถูกห้าม ถูกให้ลบโพสท์ นี่คือผลของการไม่ร่วมกันปกป้องสิ่งต่างๆ เหล่านี้ หน้าที่พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยคือต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ รักษาซึ่งประชาธิปไตยและความเสมอภาค

นี่เป็นวันที่ผมเรียกร้องให้เห็นความสำคัญกับวันที่ 24 มิ.ย. อีกครั้ง เมื่อพูดอย่างนี้แล้วก็ต้องพูดต่อไปในเรื่องข้อกล่าวหาที่มีต่อผมและพรรคอนาคตใหม่คนอื่นว่าพรรคอนาคตใหม่มีภารกิจการสร้างประชาธิปไตย ให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน พอพูดแบบนี้ไปก็มีคนที่ป้ายสีเราด้วยข้อหาล้มล้างสถาบัน (พระมหากษัตริย์) ผมขอยืนยันอีกครั้งและอ้างอิงแนวคิด ศ.เกษียร เตชะพีระ ว่าการใส่ร้ายป้ายสีให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าเป็นอันตรายต่อสถาบัน เป็นการผลักไสให้ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยอยู่ตรงข้ามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการปกปิดเนื้อแท้ของฝ่ายที่สนับสนุนเผด็จการ ความจงรักภักดีไม่จำเป็นต้องเท่ากับการสนับสนุนเผด็จการ และการสนับสนุนประชาธิปไตยก็ไม่เท่ากับการล้มล้างสาบัน ภารกิจปี 2475 ไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน เรายืนยันอย่างหนักแน่นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงสถาพรในไทยได้ก็ต่อเมื่อประชาธิปไตยเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น จนถึงเวลานี้เราก็ยังเชื่อว่าเรายังมีความหวัง เรายังเห็นพี่น้องประชาชนคนไทยที่ตื่นตัวทางการเมือง เห็นพี่น้องประชาชนคนไทยหันมาสนใจการเมืองมากมายมหาศาล ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือวันเปิดประชุมสภาหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. ที่ผ่านมา เราเห็นการติดตามดูไลฟ์สดประชุม ส.ส. มีคนติดตามหลายล้านคนในเวลาเดียวทั่วประเทศ เราเห็นในสถานการศึกษาต่างๆ การตื่นตัวทางกรเมืองดำเนินมาถึงจุดที่เราสนใจการเมืองที่เนื้อหาและสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง เพราะอำนาจเป็นของพวกเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net