ครป. ประกาศภาระกิจขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ-แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ครป. ประกาศภาระกิจ 5 ประการสำหรับ 2 ปี ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจในเชิงโครงสร้างตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 การผลักดันประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นโยบายและการดำเนินการของรัฐในทุกมิติ รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่ตอบสนองต่อภารกิจ

24 มิ.ย.2562 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งว่า จากการประชุมสมัชชา ครป. ประจำปี 2562 ขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่ประชุมสมัชชา  มีมติเลือกให้ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เป็นประธาน ครป. อีก 1 สมัย และเลือก เมธา มาสขาว เป็นเลขาธิการ ครป. คนใหม่

นอกจากนี้ ครป. ยังออกแถลงการณ์ กำหนดแนวทางและเป้าหมายที่เราเชื่อว่าจะเป็นจุดคานงัดที่จะทำให้เกิดผลดังกล่าว 5 ประการสำหรับระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าคือ การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจในเชิงโครงสร้างตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง  การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 การผลักดันประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการ เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำและทุนผูกขาดในประเทศ รวมทั้งตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นโยบายและการดำเนินการของรัฐในทุกมิติ รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่ตอบสนองต่อภารกิจ

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้ :

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 1/2562

ตามที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) ได้จัดประชุมสมัชชา ครป. ประจำปี 2562 ขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 ณ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีคณะกรรมการ ครป. และเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมสมัชชาวิเคราะห์สถานการณ์และความเป็นไปทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งวิเคราะห์ ประเมินและทบทวนเป้าหมายและผลการดำเนินภารกิจของครป.ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อกำหนดทิศทาง เป้าหมายและภารกิจระยะต่อไปของครป. ผลการประชุมระดมความคิดร่วมกันปรากฏข้อสรุปสำคัญหลายประการซึ่ง ครป.เห็นว่าควรสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ร่วมกัน ครป.เห็นว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญปัญหาใหญ่ 5 ประการดังต่อไปนี้

1. เราเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีเหตุปัจจัยระดับรากฐานสำคัญมาจาก “ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ” ระหว่าง (1) ประชาชนกับประชาชนด้วยกันเองแต่สังกัดชนชั้นแตกต่างกัน และ (2) ระหว่างชนชั้นนำที่กุมอำนาจรัฐ และกลุ่มทุนใหญ่ที่สามารถเข้าถึงช่วงใช้หรืออาศัยประโยชน์จากอำนาจรัฐในศูนย์กลางรัฐได้ กับประชาชนทั่วไป ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงนี้ส่งผลให้ทรัพยากรของสังคมถูกจัดสรรโดยรัฐไปเป็นประโยชน์แก่เจ้าของทุนขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่และหลายประเด็น ก่อให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยทุนใหญ่เพียงบางกลุ่มและตัดโอกาสการแข่งขันของทุนเล็กในพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ เกิดการละเลยการรักษากติกาการแข่งขันที่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ ชุมชนและประชาชนซึ่งยากจนเป็นจำนวนมาก และไร้อำนาจในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ถูกเบียด-บ่อนเซาะให้สูญเสียวิถีชีวิตและความมั่นคงในชีวิต เกิดการกระจายรัฐสวัสดิการที่ขาดความสมดุล–กลายเป็นการกระจายสวัสดิการตามใจชอบ ขาดความยั่งยืนและเป็นธรรม หรือถูกเบี่ยงเบนเพื่อประโยชน์ทางคะแนนเสียง เป็นต้น

2. เราเห็นปัญหาความแตกแยกที่รุนแรงทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ทำให้เกิดการแยกขั้ว-แบ่งฝ่ายระหว่างประชาชน แต่สังคมไทยยังขาดทั้งหลักคิด แนวทาง กลไกและผู้นำทางความคิดที่จะชี้นำให้เกิดการเชื่อมประสานเพื่อหาทางออกจากปัญหา เราเห็นว่า แม้ธรรมชาติของการเมืองจะหลีกพ้นไปจากความขัดแย้งไม่ได้ แต่ความขัดแย้งนั้นควรอยู่ในระดับที่พอประสานไปด้วยกันได้หรืออย่างน้อยมีกลไก หรือแนวทางที่จะสมานฉันท์ระหว่างประชาชน

3. ปัญหาการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลยังเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมการเมืองทั้งระบบ ปัญหาการผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำ การสร้างประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและพรรคการเมือง รวมทั้งปัญหาเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เราเห็นว่า แม้ปัญหานี้จะมีที่มาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาตลอดทศวรรษ จึงมีความจำเป็นที่ต้องนำกติกาทางการเมืองที่เหมาะสมและเป็นธรรม นำกลับมาใช้และต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว 

4. เราเห็นว่า ในภาวะความขัดแย้งของการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศระหว่างชาติมหาอำนาจซึ่งทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้นโดยลำดับนั้น ได้ส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจรักษาดุลอำนาจไปในทางที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยอย่างไม่อาจเหลีกเลี่ยงได้ ประเทศไทยได้กลายเป็นพื้นที่แสวงประโยชน์ของชาติมหาอำนาจทั้งในแง่การใช้เป็นตลาดที่เกินส่วน การฉวยใช้ทรัพยากรของประเทศในระดับที่น่าเป็นห่วงต่อความมั่นคงของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นต้น

5. เราเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้เป็นกติกาสูงสุดของประเทศที่จะช่วยบรรเทาหรือป้องกันปัญหาที่กล่าวมา ในขณะที่ไม่ได้ทำหน้าที่พื้นฐานในการเป็นกติกาทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยสำหรับจัดสรรอำนาจ ผลประโยชน์และสิทธิหน้าที่ที่เป็นธรรมระหว่างสมาชิกฝ่ายต่างๆ ของสังคมอย่างเพียงพอ ปัญหาการเปิดพื้นที่ให้ทหารเข้าสู่การเมือง รวมถึงการเข้าสู่อำนาจที่เหมาะสมและเป็นธรรมยังคงเป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ

ต่อปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ครป. จึงมีความเห็นพ้องกันว่า การลงมือปฎิบัติร่วมกันในแนวทางที่ให้ผลเป็นการออกจากปัญหาดังกล่าวจะเป็นกระบวนการประสานความเข้าใจและสมานความแตกต่างทางความคิดและอุดมการณ์ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน จะเป็นการวางรากฐานที่ถูกต้องสำหรับการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ก่อให้เกิดความสุข และความสงบอย่างยั่งยืนแก่ประเทศและประชาชน ด้วยเหตุนี้ ครป. จึงได้กำหนดแนวทางและเป้าหมายที่เราเชื่อว่าจะเป็นจุดคานงัดที่จะทำให้เกิดผลดังกล่าว 5 ประการสำหรับระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าคือ

(1) การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจในเชิงโครงสร้างตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งในระดับประเทศและในระดับพื้นที่ชุมชน รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมและมรรคผลจากนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมโดยรวมอย่างเสมอภาค เท่าเทียมและเป็นธรรม

(2) การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในประเด็นที่ตอบสนองเป้าหมายการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการแก้ปัญหาประชาธิปไตยทางการเมืองในระบบรัฐสภาและพรรคการเมือง

(3) การรณรงค์ผลักดันประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการ เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำและทุนผูกขาดในประเทศไทย และทุนเสริมธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

(4) การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นโยบายและการดำเนินการของรัฐในทุกมิติ รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่ตอบสนองต่อภารกิจที่มีอยู่ ตามเป้าหมายการปฏิรูปการเมือง

(5) การเชื่อมประสานภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายและกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม และเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนที่หลากหลายที่ถูกทำลายและแบ่งแยกในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเมืองของพลเมืองที่มีคุณภาพในการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนร่วมกัน

ด้วยจิตคารวะ สมานฉันท์ และเชื่อมั่นในพลังประชาชน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

24 มิถุนายน 2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท