Skip to main content
sharethis

อนุสรณ์ ธรรมใจ ออกข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนผ่านจากระบอบกึ่งประชาธิปไตย สู่ ระบอบประชาธิปไตยเนื่องในโอกาสครบรอบ 87 ปีอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย. และ แนวคิดภราดรภาพนิยม: ทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ (แฟ้มภาพ)

24 มิ.ย.2562 เมื่อเวลา 13.00 น. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้ออกข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนผ่านจากระบอบกึ่งประชาธิปไตย สู่ ระบอบประชาธิปไตยเนื่องในโอกาสครบรอบ 87 ปีอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย. และ แนวคิดภราดรภาพนิยม: ทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

โดยระบุว่า แม้นว่าประเทศไทยของเราจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาเป็นเวลาถึง 87 ปีแล้วก็ตาม แต่ประชาธิปไตยก็ยังไม่ตั้งมั่นและไม่มั่นคง  รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นผลของระบอบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ ซึ่งสังคมไทยต้องร่วมกันรณรงค์ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยยึดหลักภราดรภาพนิยม ยึดแนวทางสันติวิธีและปรองดองสมานฉันท์ ผมจึงขอเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

  1. ขอให้รัฐบาลพิจารณาผ่านพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่ง ประกาศ คสช ทั้งหมดที่ละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดต่อหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อข้าราชการทั้งหลายในช่วงที่ผ่านมา  
  2. ขอให้รัฐสภาตั้ง คณะทำงานพิจารณาคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนทั้งหมดที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกดำเนินคดีทางการเมืองต่างๆในช่วงรัฐบาล คสช และ พิจารณาชดเชยความเสียหายสำหรับบุคคลเหล่านี้ด้วย
  3. ขอให้ช่วยกันหยุดการสร้างวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech และช่วยกันหยุดยั้งการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ในการทำลายล้างกันทางการเมืองอันส่งผลกระทบทางลบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  4. ประชาธิปไตย เป็นเรื่องของอารยชนที่ต้องการจะไปให้พ้นจากการตัดสินปัญหากันด้วยกำลังและความรุนแรง ใช้หลักการของเหตุและผล ใช้หลักการเสียงข้างมาก ใช้หลักการมีส่วนร่วม การเห็นคนเท่าเทียมกัน การยอมรับในความแตกต่าง การเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และการรับผิดชอบต่อสังคมอันเป็นลักษณะของ “พลเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นมาได้เองตามธรรมชาติ จะต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝน กระทรวงศึกษาธิการต้องเอาจริงเอาจังในการทำให้เกิด Civic Education  หรือ การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง และกระทรวงศึกษาธิการ ควรนำเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 การก่อกำเนิดประชาธิปไตยและเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยมาให้เยาวชนและอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นบทเรียนด้วย โดยบรรจุไว้ในหลักสูตรและชำระเนื้อหาสาระให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง

เนื่องในโอกาสครบรอบ 87 ปีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้ รองประธานมูลนิธิปรีดี กล่าวถึงเมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 2562) ได้มีการจัดงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “แนวคิดภราดรภาพนิยม: ทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ” จัดโดยมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ที่สมาคมธรรมศาสตร์ ตนได้แสดงความเห็นในเวทีกิจกรรมวิชาการดังกล่าว ดังมีรายละเอียดตามที่สรุปไว้ดังนี้

“ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตสามารถแก้ไขและบรรเทาลงด้วยแนวคิดภราดรภาพนิยมของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ วิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในทางเศรษฐกิจประเทศไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ในทางการเมืองมีปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยซ่อนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 แม้นเราจะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่เป็นการเลือกตั้งที่มีคำถามว่ามีการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมหรือไม่ มีข้อสงสัยต่อวิธีการนับคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่นำมาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลก การผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ เอารัดเอาเปรียบกันในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสั่นคลอนสันติภาพและความสงบสุขของมนุษยชาติ ปัญหาการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและทรัพย์สิน และ ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ความขัดแย้งทางการเมืองภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตย ความขัดแย้งระหว่างอำนาจการผูกขาดและการเปิดกว้าง ความขัดแย้งระหว่าง พลังอนุรักษ์นิยม (ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง) และ พลังฝ่ายก้าวหน้า + พลังเสรีนิยม ความขัดแย้งนำไปสู่วาทกรรมปลุกปั่นแบบสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ตลอดจนพฤติกรรมล่าแม่มด เราต้องช่วยกันหยุดยั้งพฤติกรรมเหล่านี้ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อสันติสุขของสังคมไทย

ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย คือ ความเหลื่อมล้ำในโอกาส ช่องว่างระหว่างรายได้และการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและทรัพย์สิน โดยสามารถนำ “แนวคิดภราดรภาพนิยม” มาปรับใช้ในปัจจุบันและอนาคตได้ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ แนวคิดภราดรภาพนิยมเองสอดคล้องกับหลักธรรมะในพุทธศาสนาจึงเป็นแนวคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยได้โดยไม่แปลกแยก แนวคิดนี้พยายามประสานประโยชน์มากยิ่งกว่าผลประโยชน์ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง เป็นแนวคิดที่เลือกทางสายกลาง แนวคิดภราดรภาพนิยม มองว่า มนุษย์เกิดมาต้องเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกัน การที่เราร่ำรวยขึ้นหรือยากจนลงย่อมเป็นผลจากกระทำของผู้อื่น หากยึดถือแนวคิดเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความสมานฉันท์ปรองดองกันและสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ 

แนวคิดภราดรภาพนิยมเชื่อถือว่า มนุษย์ต่างมีหนี้ธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกันและร่วมกันในการประกอบการเศรษฐกิจ มีเราคิดถึงผู้อื่นและมีภาระที่ต้องช่วยเหลือกันและร่วมกันในการกิจกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจ ย่อมก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันและเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย  แนวคิดภราดรภาพนิยมนั้นอยู่บนหลักคิดแบบสังคมนิยมที่มิได้ปฏิเสธกลไกตลาดหรือเสรีนิยมอย่างสิ้นเชิง ดังปรากฎในเค้าโครงเศรษฐกิจเขียนไว้ว่า “การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ จะทำให้ใช้แรงงานสิ้นเปลืองกว่าการรวมกันทำ และ หากรัฐประกอบการเศรษฐกิจโดยนำเครื่องจักรกลมาใช้จะส่งผลดีไม่ส่งผลเสีย  ดังเช่น  ให้เอกชนประกอบการ ที่การนำเครื่องจักรกลนำมาใช้จะส่งผลให้คนไม่มีงานทำ หากรัฐประกอบการเอง จะสามารถสร้างงานอื่นให้กับผู้ไม่มีงานทำได้” แนวทางนี้จะสนับสนุนบทบาทของสหกรณ์และบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นจุดอ่อนและความล้มเหลวของกลไกตลาด เค้าโครงเศรษฐกิจของ ท่านปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ การจะสถาปนาให้เกิดระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคงได้  ต้องอาศัยการอภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ การอภิวัฒน์เฉพาะทางการเมืองไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง “เค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลือง” จะพบว่า ตั้งอยู่บนรากฐานของความคิดแบบภราดรภาพนิยม แนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Socialism) ผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบชาตินิยม บวกกับ หลักพุทธธรรมและมนุษยธรรม แนวคิดภราดรภาพนิยม เป็น ส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางความคิด สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยเพื่อชาติและราษฎร”        

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net