Skip to main content
sharethis

ในฮอนดูรัสมีเหตุปราบผู้ชุมนุมที่ประท้วงรัฐบาล ฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ ที่ถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้งและใช้อำนาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญจนได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย ผลจากการใช้กำลังทหารปราบปรามทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทว่าวิกฤตการเมืองล่าสุดในฮอนดูรัสมีที่มาจากการรัฐประหารตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว มีเรื่องราวอะไรที่แวดล้อมสถานการณ์เหล่านี้ และสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางใด มีการนำเสนอเรื่องน่ารู้ 5 ประการไว้ในอัลจาซีรา

ธงชาติฮอนดูรัส (ที่มา: Wikipedia)

หลังจากที่ฮอนดูรัสมีการประท้วงใหญ่ต่อต้านประธานาธิบดี ฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ ตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ในสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลฮอนดูรัสโต้ตอบด้วยการประกาศวางกำลังทหารทั่วประเทศ และมีผู้ชุมนุมบางส่วนถูกปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 รายและบาดเจ็บอีกมากกว่า 20 ราย

การประท้วงดังกล่าวนี้เริ่มต้นมาจากการประท้วงของกลุ่มครูอาจารย์และผู้ทำงานด้านสาธารณสุขที่ประท้วงบนม้องถนนเพื่อต่อต้านการแปรรูปการศึกษาและระบบสาธารณสุขให้เป็นเอกชน อย่างไรก็ตามการประท้วงมีการยกระดับขึ้นกลายเป็นการประท้วงของประชาชนหลายภาคส่วนทั่วประเทศ และมีการเรียกร้องให้ ฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ ลาออก โดยมีการใช้วลี "Fuera JOH" (JOH ออกไป) ซึ่ง JOH คือชื่อย่อของเฮอร์นันเดซ

รายงานของอัลจาซีราเมื่อ 22 มิ.ย. รวบรวมสรุปเรื่องที่น่ารู้ 5 ประการเกี่ยวกับการประท้วงและการปราบปรามผู้ชุมนุมฮอนดูรัสที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

ประการที่ 1 คือ อะไรที่เป็นรากของวิกฤตการเมืองครั้งนี้

ย้อนไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2552 กองทัพฮอนดูรัสทำการก่อรัฐประหารลักพาตัวประธานาธิบดีในยุคนั้นคือมานูเอล เซลายา และนำตัวเขาออกนอกประเทศในช่วง 7 เดือนก่อนที่เขาจะหมดวาระ เซลายาเป็นผู้แทนจากพรรคการเมืองเสรีนิยมฮอนดูรัส ถึงแม้ว่าตัวเขาจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยฐานจากประชานิยมสายกลางแต่เขาก็เริ่มขยับตัวเองไปเป็นฝ่ายซ้ายมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เขาผูกมิตรกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและรัฐบาลฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกา

หลังจากที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นก็มีการประท้วงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน และในช่วงปีนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งชึ้นแต่เป็นการเลือกตั้งที่ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการเลือกตั้งแบบที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม หลังจากนั้นพรรคเนชันแนลก็ขึ้นสู่อำนาจแทนและเป็นรัฐบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเฮอร์นันเดซก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ในปี 2556

ถึงแม้ว่าในรัฐธรรมนูญฮอนดูรัสจะเขียนระบุห้ามไม่ให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนเดิมกลับเข้ามาอีกครั้ง และไม่สามารถแต่งต้งกลับมาใหม่ได้ผ่านศาลหรือรัฐสภา แต่คำตัดสินของศาลสูงสุดในปี 2558 ที่มีความวกวนและชวนให้เกิดข้อถกเถียงก็กลายเป็นการเปิดทางให้กับเฮอร์นันเดซกลับเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2560

ในความพยายามหยุดยั้งการครองอำนาจของเฮอร์นันเดซ พรรค LIBRE ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่เติบโตขึ้นมาจากการต่อต้านรัฐประหารร่วมมือกับพรรคเล็กอย่าง PINU และซัลวาดอร์ นาสรัลลา จัดตั้งสหพันธ์ต่อต้านเผด็จการขึ้น และพวกเขาก็ส่งนาสรัลลา ผู้เคยประท้วงต่อต้านการทุจริตคอร์รับชั่นเป็นตัวแทนในการเลือกตั้งปี 2560

ในการเลือกตั้งปี 2560 นาสรัลลามีคะแนนนำอยู่อย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผลการเลือกตั้งขั้นต้น เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2560 แต่ในตอนนั้นเกิดเหตุขัดข้องการส่งข้อมูลผลการเลือกตั้งทำให้ต้องออฟไลน์ไปหลายชั่วโมง เมื่อกลับมาออนไลน์อีกครั้งกลับกลายเป็นว่าเฮอร์นันเดซเป็นฝ่ายนำ หลังจากนั้นก็ทำให้เกิดการประท้วงปิดถนนปะทุขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากนั้นเฮอร์นันเดซก็ประกาศสถานการณ์พิเศษปล่อยให้ทหาร ตำรวจ และกองกำลังผสมทหารตำรวจที่ก่อตั้งโดยเฮอร์นันเดซเองออกปราบปรามผู้ชุมนุม ในตอนนั้นหน่วยงานของสหประชาชาติระบุว่ามีฝ่ายเจ้าหน้าที่สังหารผู้ชุมนุมไปมากกว่า 20 ราย ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนในฮอนดูรัสให้ตัวเลขมากกว่านั้นคือมากกว่า 30 ราย

ทั้งนี้ องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ก็ระบุว่าผลการเลือกตั้งในฮอนดูรัสเชื่อถือไม่ได้และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ทว่ารัฐบาลประเทศสหรัฐฯ ประกาศยอมรับว่าเฮอร์นันเดซเป็นผู้ชนะในอีกหลายสัปดาห์ต่อมา นั่นทำให้วิกฤตการเมืองคุกรุ่นอย่างต่อเนื่องตลอดมารวมถึงมีการประท้วงบ่อยครั้ง

ประการที่ 2 การกระท้วงครั้งล่าสุดเริ่มต้นขึ้นอย่างไร

นับตั้งแต่การรัฐประหารเกิดขึ้น รัฐบาลฮอนดูรัสก็ทำการแปรรูปพลังงาน, โทรคมนาคม ระบบประปาดื่มได้ ทรัพยากรธรรมชาติ และการสาธารณสุข ให้กลายเป็นเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มาตรการต่างๆ เหล่านี้มาจากการชี้นำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 

หลังจากที่กลุ่มครูแและคนทำงานสาธารณสุขรู้เรื่องที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติขอองฮฮนดูรัสออกมาตรการเหล่านี้พวกเขาก็พากันเดินขบวนประท้วงในกรุงเตกูซิกัลปาและเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา พวกเขาจัดตั้งขบวนการที่ชื่อว่า "เวทีสำหรับการปกป้องสาธารณสุขและการศึกษาในฮอนดูรัส" เพื่อเป็นขบวนการตั้งเงื่อนไขเจรจารัฐบาลให้ยกเลิกมาตรการแปรรูป แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยอมยกเลิกการแปรรูปแล้วในที่สุด แต่มันก็สายเกินไปแล้ว ประชาชนก็ไม่เหลือศรัทธาในกระบวนการเจรจาขอองรัฐบาลอีกต่อไป และการเคลื่อนไหวก็ยกระดับกลายเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากการประท้วงของครูและคนทำงานสาธารณสุข

คาร์ลอส อมาดอร์ ครูและนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมมาเป็นเวลานานกล่าวว่า ขบวนการเคลื่อนไหวมีการขยายตัวออกไป "ประชาชนจะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว"

ประการที่ 3 การประท้วงยกระดับขึ้นอย่างไร

นอกจากกลุ่มครูและคนทำงานสาธารณสุขแล้วการประท้วงก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่มีกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมได้แก่ ชุมชนชนบท ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม องค์กรชนพื้นเมือง กลุ่มพื้นที่การมีส่วนร่วมในชุมชน และอีกหลากลายภาคส่วน

ผู้ที่ให้ข้อมูลในเรื่องนี้คือ เยสสิกา ตรินิแดด ผู้ประสานงานของเครือข่ายผู้หญิงผู้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนฮอนดูรัส เธอกล่าวว่าผู้คนบนมท้องถนนตะโกนขับไล่เฮอร์นันเดซ เมื่อเริ่มมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามาชุมนุมปิดถนนมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนก็พากันยกระดับข้อเรียกร้องขึ้นเป็นความต้องการให้เฮอร์นันเดซออกจากตำแหน่ง "ผู้คนทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว พวกเขาเบื่อหน่ายกับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างหนัก และเบื่อหน่ายกับการลอยนวลไม่ต้องรับผิดมากมาย" ตรินิแดดกล่่าว

ตรินิแดดยอมรับว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องในเชิงโครงสร้าง แต่สิ่งแรกที่ควรเกิดขึ้นคือการที่เฮอร์นันเดซต้องออกจากตำแหน่ง ฝ่ายเฮอร์นันเดซพยายามเรียกร้องให้มีการเจรจากับภาคส่วนการศึกษาและสาธารณสุขหลายครั้งและมีการจัดกระบวนให้เป็นไปตามแนวทางรัฐบาล แต่ฝ่ายต่อต้านก็ปฏิเสธจะเข้าร่วมและจัดการหารือของตัวเองกับกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 

ประการที่ 4 รัฐบาลปัจจุบันโต้ตอบอย่างไร

กองกำลังทหารและตำรวจไม่เพียงแค่ใช้แก็สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมเท่านั้นพวกเขายังใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมด้วย กลุ่มสิทธิมนุษยชนและสื่อในประเทศระบุว่าในช่วง 7 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการใช้กระสุนปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบราย รวมถึงมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย

ผู้เสียชีวิตรายที่หนึ่งคือ ลูอิซ เอนริค มัลโดนาโด อายุ 29 ปี ถูกยิงที่ศีรษะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมาในกรุงเตกูซิกัลปา รายที่สองคืออิริค เปราลตา อายุ 38 ปี ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในคืนวันที่ 19 มิ.ย. รายที่สามคือ เอบลิน โนเอล โคเรีย นักเรียนนักศึกษาอายุ 17 ปี ถูกยิงเสียชีวิตในการประท้วงที่เขตปกครองลาปาซทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮอนดูรัส

หน่วยตำรวจกองกำลังพิเศษเริ่มนัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. บอกว่าพวกเขาไม่อยากปราบปรามผู้ชุมนุม หลังจากนั้นก็มีตำรวจระดับประจำการเข้าร่วมด้วย แต่ในคืนวันที่ 20 มิ.ย. ก็มีรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงมาเจรจาข้อตกลงด้วยจนทำให้พวกเขากลับเข้าประจำการในวันที่ 21 มิ.ย. ทั้งนี้เฮอร์นันเดซก็ประกาศว่าจะให้มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่คุ้มกันทรัพย์สินและส่งสัญญาณว่าจะปราบปรามการปิดถนนของผู้ชุมนุม หลังจากที่มีการประชุมฉุกเฉินกับหน่วยงานความมั่นคงใน่ชวงเช้าวันเดียวกันนั้น

ตรินิแดดบอกว่ามีการปราบปรามหนักมาก ผู้คนหวาดกลัว แต่ก็ไม่กลัวถึงระดับที่ทำให้หยุดชะงัก

ประการที่ 5 อะไรน่าจะเกิดขึ้นต่อไป

ฮูโก โนเอ ปิโน นักเศรษฐศาสตร์ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลเซลายากล่าวว่า อำนาจที่แท้จริงในประเทศฮอนดูรัสไม่มาจากระบบอำนาจรัฐบาล 3 ฝ่ายแบบทั่วไป (นิติบัญญัติ, ตุลาการ, บริหาร)  แต่เฮอร์นันเดซอาศัยอำนาจที่แท้จริงมาจากกองทัพ, สถานทูตสหรัฐฯ และกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ

ปิโนบอกว่าถึงแม้การประท้วงปิดถนนจะทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออก แต่ภาตส่วนเอกชนก็เสียงแตกในเรื่องการเมือง มีจำนวนมากที่เรียกร้องให้เฮอร์นันเดซลาออก แต่เฮอร์นันเดซก็มีพันธมิตรที่เข้มแข็งในหมู่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังไม่สัญญาณว่าสองอำนาจที่เหลือคือกองทัพกับการทูตสหรัฐฯ จะแสดงออกต่อต้านเฮอร์นันเดซแต่อย่างใด ในวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมากองทัพสหรัฐฯ ยังทำพิธีมอบเหรียญรางวัลให้กับทูตสหรัฐฯ ไฮดี ฟูลตัน โดยที่เธอระบุในทวีตเตอร์ว่าชาวฮอนดูรัสจะแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วยการเจรจา "อย่างสันติ"

แต่ในสภาพความเป็นจริงการเจรจาเป็นไปได้ยากมาก ความเป็นไปได้มีอยู่แค่สองอย่างคือประชาชนยังคงต้องเผชิญการปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตการเมืองที่คุกรุ่นมายาวนาน หรือไม่เช่นนั้นเฮอร์นันเดซก็จะถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง ผู้ประท้วงและนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าความเป็นไปได้อย่างหลังเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ มีนักวิเคราะห์บางส่วนและหัวหน้าพรรคเสรีนิยม ลูอิซ เซลายา เรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

เรียบเรียงจาก

Honduras protest crackdown: Five things to know, Aljazeera, 22-06-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net