จวกประชุมอาเซียนสร้างภาพรีไซเคิล ขณะที่ภูมิภาคมีปัญหาเรื่องนำเข้าขยะพลาสติก

ถึงแม้ว่าประเทศไทยและพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะร่วมกันจัดประชุมอาเซียนซัมมิตเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีการหารือเรื่องต่อต้านขยะในทะเลและการนำเข้าขยะพลาสติก แต่การจัดงานนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนักสิ่งแวดล้อมว่า ประเทศในอาเซียนยังคงทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลหลายพันล้านกิโลกรัมต่อปี และต้องไม่ลืมว่าประเทศเหล่านี้ต่างก็เผชิญปัญหาแบกรับภาระขยะที่ประเทศโลกที่หนึ่งส่งมาให้อีกทอดหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่โรงแรม ดิ แอทธินี ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ เมื่อ 23 มิถุนายน 2562 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

แชนแนลนิวส์เอเชียของสิงคโปร์ รายงานว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ "อาเซียนซัมมิต" ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการจัดหาเก้าอี้ประชุมและสมุดบันทึกที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล แต่ประเทศไทยและประเทศพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังคงถูกวิจารณ์ว่าพยายามทำการ "สร้างภาพให้ดูรักสิ่งแวดล้อม" (greenwash) โดยมีการกล่าวหาอ้างอิงจากรายงานการอนุรักษ์มหาสมุทรปี 2560 ว่า ประเทศไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และจีน ต่างก็นำพลาสติกทิ้งทะเลหลายพันล้านกิโลกรัมต่อปี

ทั้งนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศที่ส่งผู้นำเข้าร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิตที่ไทย ต่างก็ประสบปัญหาจากการแบกรับภาระนำเข้าขยะพลาสติกจากประเทศพัฒนาแล้วมาอีกทอดหนึ่ง

สื่อแชนแนลนิวส์เอเชียรายงานว่าประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพพยายามขายภาพลักษณ์เรื่องความ "รักษ์โลก" ในช่วงตลอดระยะเวลาการประชุม 2 วัน มีการจัดแสดงเสื้อยืดที่ทอมาจากการรีไซเคิลพลาสติก การใช้วัสดุใส่อาหารที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และมีการสั่งจัดทำเก้าอี้รูปทรงกล่อง 300 ที่ ซึ่งทำมาจากกระดาษรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้สั่งทำมาเพื่อใช้กับการประชุมซัมมิตครั้งนี้โดยเฉพาะ

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการองค์กรกรีนพีซ ประจำประเทศไทย วิจารณ์ถึงความไม่สมเห็นสมผล ที่จะผลิตสิ่งของใหม่ๆ เพื่อใช้ในการประชุมโดยเฉพาะ ขณะที่ในประเทศยังมีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ตและตามร้านขายของรินถนน ธารา วิจารณ์อีกว่าการใช้กระดาษรีไซเคิลก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการอนุรักษ์ เพราะในเมื่อมีเก้าอี้ของโรงแรมอยู่แล้วทำไมพวกเขาถึงต้องสั่งทำใหม่ขึ้นมาอีก

ฝ่ายผู้จัดงานแถลงว่าเก้าอี้จากกระดาษเหล่านี้จะถูกนำมาใช้อีกครั้งในการประชุมเกี่ยวกับอาเซียนครั้งต่อไปภายในปีนี้

การประชุมอาเซียนซัมมิตในครั้งนี้ยังมีการตกลงมติร่วมกันใน "ปฏิญญากรุงเทพ" ว่าด้วยการต่อต้านขยะทางทะเลรวมถึงมลภาวะจากพลาสติก ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายเอาไว้ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตามนักสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าปฏิญญาดังกล่าวขาดการวางเป้าหมายอย่างหนักแน่นและไม่มีแผนลำดับเวลาเกี่ยวกับการลดขยะทางน้ำ รวมถึงไม่พูดถึงเรื่องปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศด้วย

ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มประสบปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกมากขึ้นหลังจากที่จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าขยะพลาสติกรายใหญ่มาโดยตลอดสั่งห้ามไม่ให้นำเข้าขยะเมื่อปีที่แล้วเพื่อพยายามจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของตัวเอง นั่นทำให้การส่งออกขยะเบนเข็มมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

สำหรับกรณีเก้าอี้กระดาษที่ทำมาจากกล่องลังเสริมความแข็งแรงนั้นไม่ได้มีการทำให้ผู้นำอาเซียนเอาไว้นั่งเบียดเสียดกับมันไปด้วย แต่ผู้นำเหล่านี้ได้นั่งเก้าอี้หรูๆ ของโรงแรมแทน กิดากร อังคณารักษ์ ตัวแทนจากเครือซีเมนต์ไทยผู้เป็นสปอนเซอร์จัดงานในครั้งนี้บอกว่า "พวกเขาต้องการเก้าอี้ที่สบายกว่านี้"

เรียบเรียงจาก

Thai summit recycling drive mocked by environmentalists, Channel New Asia, 23-06-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท