‘ผสานวัฒนธรรม’ โต้ กสทช. ไม่ได้ระบุต้องลงทะเบียนซิมการ์ดพร้อมถ่ายรูป

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์กรณีกอ.รมน.ภาค4 ขอให้ผู้ใช้บริการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอสงขลา ลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ ชี้ ประกาศ กสทช. ไม่ระบุต้องลงทะเบียนซิมการ์ดพร้อมถ่ายรูป ตั้งข้อสงสัยผู้ให้บริการเครือข่ายรับนโยบายมาจาก กอ.รมน. หรือไม่ พร้อมขอให้ กสทช. ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้กรณีการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสาร และการเลือกปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้น

 


ภาพจาก สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

 

25 มิ.ย. 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์กรณี กอ.รมน.ภาค4 ขอให้ผู้ใช้บริการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอสงขลา ลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ โดยแถลงการณ์บางส่วนระบุว่า

จากที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาชี้แจงว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการบังคับใช้ประกาศของ กสทช. ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 9 เม.ย 2562 โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการขโมยตัวตนบุคคลอื่นไปทำธุรกรรมทางการเงินหรือก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ นั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมตรวจสอบและพบว่า

ประกาศดังกล่าวของ กสทช. มิได้ระบุไว้แต่อย่างใดว่า ผู้ใช้บริการที่ลงทะเบียนจำเป็นต้องถ่ายภาพใบหน้าเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ตนเอง และไม่ได้กำหนดให้ผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่แล้วจะต้องลงทะเบียนผู้ใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลใหม่แต่อย่างใด เป็นการกำหนดให้โดยระบบดังกล่าวใช้สำหรับผู้ที่ซื้อซิมการ์ดใหม่เท่านั้น ในประกาศยังระบุว่า หากมีการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือรูปแบบอื่นใด ผู้ให้บริการต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการสื่อสารของผู้ใช้บริการ

อีกประการที่เป็นข้อสงสัยคือ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยังขาดความโปร่งใสในการแจ้งผู้ใช้โทรศัพท์ในพื้นที่ว่า ระเบียบที่ออกใหม่นี้จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลแบบใดในโทรศัพท์ส่วนบุคคลบ้าง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ที่ไหน โดยใคร มีใครสามารถเข้าถึงได้บ้าง และผู้ใช้บริการสามารถขอลบข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่ อีกทั้งข้อความที่ส่งมาโดยใช้ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทดังกล่าวปรากฎว่า เป็นคำขอจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอรมน.) ในการจดทะเบียนซิมใหม่ด้วยระบบการใช้รูปถ่ายใบหน้า ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความสงสัยว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รับนโยบายในการลงทะเบียนซิมการ์ดโดยการตรวจสอบใบหน้ามาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือไม่

ทั้งนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ขอให้ กสทช. ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสาร และการเลือกปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น และรับรอง และทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทะเบียนใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับการเก็บรักษา หรือทำลาย โดยทำให้มั่นใจว่าที่ผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

 

อนึ่ง จากกรณีข่าวปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) เชิญชวนประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย) ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบจดทะเบียนและเติมเงิน ร่วมลงทะเบียนซิมการ์ดตรวจสอบอัตลักษณ์ ผ่านระบบ 2 แชะอัตลักษณ์ เพื่อปกป้องผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ป้องกันการปลอมแปลงการลงทะเบียนซิมการ์ดสวมทับสิทธิ์ โดยจะมีการตรวจสอบอัตลักษณ์ของผู้ใช้ซิมการ์ด "ก่อน" การลงทะเบียนและเปิดใช้งาน โดยสามารถไปแสดงตน พร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชน และซิมการ์ดเพื่อลงทะเบียนใหม่ได้ ณ ศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการทุกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. - 31 ต.ค.2562 ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนดจะไม่สามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขนั้น ๆ ได้

นโยบายนี้เกิดขึ้นหลังพบว่า มีการขโมยตัวตนบุคคลอื่นไปทำธุรกรรมทางการเงิน หรือใช้บัตรประชาชนคนอื่นไปซื้อซิมการ์ดหรือแจ้งซิมการ์ดหายแล้วขโมยตัวตนบุคคลอื่นไปทำธุรกรรมทางการเงินแทน นอกจากนี้ยังพบว่า มีการสั่งซิมการ์ดผ่านอินเทอร์เน็ตจากนอกพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้านมาก่อเหตุระเบิด เช่น เหตุระเบิดรูปปั้นนางเงือกที่แหลมสมิหลา จ.สงขลา เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ต้องหาสารภาพว่าสั่งซื้อซิมจากอินเทอร์เน็ตจริง และยังพบว่าการก่อเหตุหลายครั้งผู้ก่อเหตุมักใช้ซิมการ์ดด้วยเบอร์ที่จดทะเบียนด้วยบัตรประชาชนผู้อื่น

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ชี้แจงว่า การลงทะเบียนซิมการ์ดไม่ได้มีการจัดเก็บลายนิ้วมืออย่างที่มีความพยายามของผู้เสียผลประโยชน์ให้ข้อมูล มีเพียงการถ่ายรูปเจ้าของบัตรที่เป็นเจ้าของซิมการ์ดเท่านั้น และไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปทหารและคนอื่นๆ จะต้องอยู่ในระเบียบเดียวกันทั้งหมดยืนยันเป็นการปกป้องสิทธิ์ของผู้บริสุทธิ์จากกลุ่มมิจฉาชีพและกลุ่มก่อเหตุที่ใช้บัตรประชาชนคนอื่นไปซื้อซิมการ์ด ไม่ได้มีเจตนาละเมิดสิทธิแต่อย่างใด

 

 

แถลงการณ์ ขอให้กสทช. ตรวจสอบและชี้แจง

เรื่องการตรวจสอบใบหน้าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในจังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่วันที่ 25 มิถุนายน 2562

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562  ประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา) ได้รับข้อความทางโทรศัพท์มือถือว่า ให้ทุกคนที่ต้องการใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่ดังกล่าว ไปลงทะเบียนซิมการ์ดโดยวีธีการตรวจสอบใบหน้า (Face Recognition) เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ ของตน ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 มิเช่นนั้นจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือของตนได้ โดยข้อความดังต่อไปนี้:

“กอ.รมน.ภาค4 ขอให้ผู้ใช้บริการใน 3จว.ชายแดนใต้+4 อำเภอสงขลา ลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า/อัตลักษณ์ ภายใน 31ต.ค.62 เช็กสถานะซิม กด*165*5*เลขบัตรปชช.# โทรออก หากไม่ดำเนินการในวันที่กำหนด จะไม่สามารถใช้บริการได้ฟังข้อมูลเพิ่มเติมกด*915653 ภาษายาวีกด*915654”

ทั้งนี้ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาชี้แจงว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการบังคับใช้ประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 9 เม.ย 2562 โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการขโมยตัวตนบุคคลอื่นไปทำธุรกรรมทางการเงินหรือก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่า:

  1. ประกาศดังกล่าวของกสทช.เรื่อง “การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” มิได้ระบุไว้แต่อย่างใดว่า ผู้ใช้บริการที่ลงทะเบียนจำเป็นต้องถ่ายภาพใบหน้าเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ตนเอง หมวด 3 ข้อ 9 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีของบุคคลธรรมดา ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องให้ข้อมูลเพียงแค่เลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทาง ชื่อและสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ วันที่เปิดใช้บริการ และชื่อและสถานที่ตั้งของจุดให้บริการ เท่านั้น
  2. ประกาศดังกล่าวของ กสทช. ไม่ได้กำหนดให้ผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่แล้วจะต้องลงทะเบียนผู้ใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลใหม่ แต่อย่างใด เป็นการกำหนดให้โดยระบบดังกล่าวใช้สำหรับผู้ที่ซื้อซิมการ์ดใหม่เท่านั้น แต่ในการนำประกาศดังกล่าวไปใช้ในสาม จังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลากลับบังคับให้ทุกคนทั้งผู้ลงทะเบียนใช้บริการเก่าและใหม่ ต้องนำซิมการ์ดไปลงทะเบียนใหม่โดยการตรวจสอบใบหน้า (Face Recognition) เท่านั้น มิเช่นนั้นจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้
  3. ข้อ 13 ของประกาศระบุว่า หากมีการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือรูปแบบอื่นใด ผู้ให้บริการต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการสื่อสารของผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือใดออกมาชี้แจงมาตรการดังกล่าวอย่างชัดเจน
  4. ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยังขาดความโปร่งใสในการแจ้งผู้ใช้โทรศัพท์ในพื้นที่ว่า ระเบียบที่ออกใหม่นี้จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลแบบใดในโทรศัพท์ส่วนบุคคลบ้าง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ที่ไหน โดยใคร มีใครสามารถเข้าถึงได้บ้าง และผู้ใช้บริการสามารถขอลบข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่ อีกทั้งข้อความที่ส่งมาโดยใช้ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทดังกล่าวปรากฎว่า เป็นคำขอจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอรมน.) ในการจดทะเบียนซิมใหม่ด้วยระบบการใช้รูปถ่ายใบหน้า ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความสงสัยว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รับนโยบายในการลงทะเบียนซิมการ์ดโดยการตรวจสอบใบหน้ามาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือไม่

ข้อเสนอแนะ

  1. ขอให้กสทช. ตรวจสอบว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามประกาศดังกล่าวของกสทช.เรื่อง “การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” หรือไม่ หรือครอบงำและบงการโดยหน่วยงานรัฐบางหน่วยที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ โดยเฉพาะการปฏิบัติของผู้ให้บริการ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าเพื่อพิสูจน์และรับรองบุคคลนั้นหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของประชาชนหรือไม่?
  2. ขอให้ กสทช. ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสาร และการเลือกปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น และรับรอง และทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทะเบียนใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับการเก็บรักษา หรือทำลาย โดยทำให้มั่นใจว่าที่ผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
  3. ขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ทบทวนการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าในการพิสูจน์และรับรองบุคคลเพื่ออนุญาตให้ใช้ซิมโทรศัพท์ แม้เทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์หลายประการ แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง ในปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการและมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า การนำมาใช้ในการหาข้อมูลหรือเก็บหลักฐานประกอบปฏิบัติการข่าวกรองมักนำไปสู่การคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางเชื้อชาติ (Racial Profiling) หากไม่ใช้อย่างระมัดระวัง อาจทำให้เกิดการจับและลงโทษคนผิด นอกจากจะนับเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติยังสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนขาดความไว้วางใจต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท