หนัง 'I Don’t Want to Sleep Alone' ความลื่นไหลทางเพศ-ความสิ้นหวังของแรงงานข้ามชาติ

ฟัง ‘ไฉ้หมิงเลี่ยง’ ผู้กำกับชื่อดังชาวมาเลเซีย-ไต้หวันเล่าถึงหนัง I Don’t Want to Sleep Alone ที่เคยถูกแบนในมาเลเซีย พร้อมแนวคิดและประสบการณ์การทำหนังที่เขาเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องมีบทหรือบทสนทนาในหนัง “การดูหนังไม่ได้ดูเพื่อความเข้าใจ แต่ดูเพื่อเห็นและรู้สึก”

 


ภาพจากหนัง I Don’t Want to Sleep Alone

 

งานเทศกาล 2019 Taiwan LGBTQ+ Film Festival in Bangkok ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 8-15 มิ.ย. วันสุดท้ายของเทศกาลได้นำ I Don’t Want to Sleep Alone (2006) ผลงานของ ไฉ้หมิงเลี่ยง (Tsai Ming-liang) ผู้กำกับชาวมาเลเซีย-ไต้หวัน มาฉายที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) เพื่อให้สัมผัสภาพยนตร์ที่มีมุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ ต้อนรับวาระที่ไต้หวันผ่านกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมกันในการสมรส ทำให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ยอมรับการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน

ไฉ้หมิงเลี่ยง เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ "Second New Wave" หรือคลื่นใหม่ลูกที่สอง หนึ่งในผู้กำกับที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของไต้หวัน ซึ่งทำหนังฉีกออกไปจากหนังโรแมนติกคอมเมดี้ที่เป็นกระแสนิยมก่อนหน้านั้น เขาเริ่มกำกับหนังเรื่องแรกเมื่อปี 1992 หนังของเขามักไม่เน้นพล็อตเรื่องและบทสนทนา แต่พาผู้ชมไปสัมผัสกับหัวงอารมณ์ความรู้สึกขณะจริงที่หนังบันทึกไว้

 


ไฉ้หมิงเลี่ยง (ซ้าย) ภาพจาก Wikimediacommons


จากซ้ายไปขวา ไฉ้หมิงเลี่ยง, เอริก เฉิน (ล่ามภาษาจีน), วรกร ฤทัยวาณิชกุล (ล่ามภาษาไทย) งาน Q&A กับไฉ้หมิงเลี่ยง หลังฉาย I Don’t Want to Sleep Alone ที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) ในวันที่ 15 มิ.ย. 2562 
 

 

I Don’t Want to Sleep Alone ความลื่นไหลทางเพศและความสิ้นหวังของแรงงานข้ามชาติ

 

I Don’t Want to Sleep Alone ออกฉายเมื่อปี 2006 เล่าเรื่องราวของ เสี่ยวกัง หนุ่มเร่ร่อนกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งโดนแก๊งต้มตุ๋นรีดไถเงิน และถูกรุมกระทืบจนอาการปางตาย โชคดีที่ ราวาง หนุ่มกรรมกรอพยพจากบังคลาเทศ มาช่วยชีวิตเขาไว้ทัน มิตรภาพที่ต่างฝ่ายต่างไม่ทราบที่มาที่ไปของกันและกันได้ก่อตัวขึ้นจนเป็นความรัก ขณะเดียวกัน เซียงฉี พนักงานเสิร์ฟสาวก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกว่าการได้พบกับเสี่ยวกังเติมเต็มชีวิตอันว่างเปล่าของเธอ ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาได้ก่อเกิดขึ้นอย่างไม่ลงตัว ความทรงจำของเสี่ยวกังเริ่มหวนกลับมาทีละน้อย พร้อมๆ กับที่เขาต้องสะสางปัญหาหัวใจให้จบสิ้นลง

หนังเรื่องนี้พูดถึงความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความลื่นไหลเปลี่ยนผ่านระหว่างเพศที่มีความหลากหลาย ในขณะที่ความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับในมาเลเซีย (แม้ทุกวันนี้อาจจะดีขึ้นแต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ) รวมทั้งประเด็นแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มคนชายขอบในขณะนั้น จึงถือเป็นหนังที่กล้าหาญในการถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มคนชายขอบที่ตลาดหนังในขณะนั้นอาจไม่เหลียวแลเท่าที่ควร

 

 

ไฉ้เล่าว่า I Don’t Want to Sleep Alone คือหนังเรื่องแรกที่เขากลับมายังบ้านเกิดที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเพื่อถ่ายทำ หลังจากทำหนังในไต้หวันอยู่นานหลายปี ขณะนั้นอเมริกาต้องการร่วมทุนสร้างกับเขา เขาจึงใช้เวลาคิดว่าจะทำหนังเกี่ยวกับอะไรดี ช่วงนั้นตรงกับวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจในมาเลเซียถดถอย ตึกสูงจำนวนมากสร้างไม่เสร็จ หยุดสร้าง และกลายเป็นตึกร้าง ขณะที่ส่วนใหญ่คนที่มาทำงานก่อสร้างตึกเป็นแรงงานข้ามชาติ จากบังกลาเทศ อินเดีย พม่า พวกเขาทำงานต่อไม่ได้ หางานใหม่ไม่ได้ ติดอยู่ในกัวลาลัมเปอร์อย่างสิ้นหวัง

ไฉ้เปรียบว่านั่นคล้ายกับความรู้สึกของเขาเช่นกันกัน เพราะเขาเองก็รู้สึกเป็นคนต่างชาติในไต้หวัน แต่สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกสะเทือนใจคือไม่เห็นว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีความหวังเลย

“เหมือนพวกเขากระโดดออกจากกรงหนึ่งไปสู่อีกกรงหนึ่ง เป็นเรื่องน่าประหลาดที่สุดที่สิ่งที่ทำให้ผมสนใจในประเทศบ้านเกิดคือแรงงานข้ามชาติ” ไฉ้กล่าวแบบนั้น

หลังจากนั้นการลงทุนจากอเมริกาถูกระงับ ต้องพักการถ่ายทำ และกลับมาไต้หวันเพื่อทำหนังเรื่องอื่น หลายปีหลังจากนั้นจึงได้ทุนจากรัฐบาลเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในโอกาสครบรอบ 250 ปีโมซาร์ท (แสงศตวรรษ ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็ได้รับทุนในนี้เช่นกัน) เขาจึงกลับมาถ่ายต่อ

สิ่งที่เขาประหลาดใจคือตึกที่ใช้เป็นโลเคชั่นถ่ายทำยังมีสภาพเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ถูกทิ้งให้รกร้างเช่นเดิม เพิ่มเติมคือมีน้ำฝนสะสมอยู่ตรงกลางตึกเป็นเหมือนทะเลสาบ ซึ่งโลเคชั่นตึกที่มีทะเลสาบนี้เองได้เสริมให้หนังเรื่องนี้มีความน่าพิศวงและสะท้อนความรู้สึกของตัวละครในเรื่องได้เป็นอย่างดี

“เหมือนทะเลสาบนี้รอผมกลับมาทำหนัง” ไฉ้กล่าว

 

 

ถูกแบนในมาเลเซีย ก่อนจะได้ฉายอีกครั้งแลกกับตัด 5 ฉากออก

 

ตอนแรกไฉ้วางแผนว่าจะไม่ฉายหนังเรื่องนี้ในมาเลเซีย เพราะคิดว่าคงต้องถูกแบนแน่นอน แต่หลังจากทำเสร็จเขาคิดว่าอยากให้เกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมมาเลเซียด้วย จึงได้ส่งหนังไปยังกองเซ็นเซอร์ของมาเลเซีย และแน่นอนว่าหนังของเขาถูกแบนอย่างรวดเร็ว

ไฉ้เล่าว่าได้ยื่นเรื่องต่อกองเซ็นเซอร์เพื่อขอให้เปิดเผยเหตุผลถึงการแบนภาพยนตร์ กองเซ็นเซอร์ตอบกลับมาด้วยเหตุผลเกือบสิบข้อ แต่เท่าที่เขาจำได้คือ ได้ ในปีนั้นมีการโปรโมทการท่องเที่ยวของมาเลเซีย แต่ในหนังมีขยะมากเกินไป มีแรงงานข้ามชาติมากเกินไป และมีซีนหนึ่งในหนังที่มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ

 

 

ไฉ้นำเหตุผลเหล่านี้ไปให้สื่อ จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของกองเซ็นเซอร์อย่างกว้างขวาง ซึ่งเขาคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี หลังจากนั้นเขาลองส่งหนังไปยังกองเซ็นเซอร์อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ได้รับอนุญาตให้ฉายแต่ต้องตัด 5 ฉากที่มีความสุ่มเสี่ยงออก และฉายได้เพียงแค่หนึ่งโรงเท่านั้น โดยเป็นโรงที่อยู่ชานเมือง แม้ก่อนหน้านี้เขาจะคิดว่าไม่มีวันยอมตัดฉากใดออกเพื่อให้หนังได้ฉาย แต่ครั้งนี้เขากลับยอมตัดทั้ง 5 ฉากออก

“เพราะผมรู้ว่าถ้าไม่ได้ฉายในโรงมาเลเซีย สุดท้ายบทสนทนาวิพากษ์วิจารณ์ที่ผ่านมาจะจบลงแค่นั้น” ไฉ้ให้เหตุผล

สื่อในขณะนั้นถามเขาว่ากังวลไหมหากเอาไปฉายโรงแล้วคนดูหลับหมด ไฉ้ตอบกลับอย่างมีอารมณ์ขันว่า ไม่กังวลเพราะตอนหนังไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิสคนดูยืนปรบมือทั้งโรง เพราะฉะนั้นการเอาหนังมาฉายมาเลเซียจึงไม่ได้คาดหวังการเปลี่ยนฉับพลัน แต่คิดว่าเป็นก้าวหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

 

ไม่จำเป็นต้องมีบทและบทสนทนาในหนัง โลเคชั่นต่างหากที่สำคัญ

 

ไฉ้กล่าวว่าเขาไม่เชื่อว่าต้องมีบทสนทนาในหนัง

“การดูหนังไม่ได้ดูเพื่อความเข้าใจ แต่ดูเพื่อเห็นและรู้สึก สำหรับผมในจอมีอะไรให้ดูก็ดู ไม่เชื่อในบทภาพยนตร์ด้วย อยากถ่ายอะไรก็ถ่าย และบางครั้งก็ไม่อยากใส่ซับด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้คนดูได้ตีความเอง”

 

 

สำหรับเขาบทภาพยนตร์เป็นแค่สิ่งที่เอาไปให้นายทุนดู

“คอนเซปต์การเขียนบทเป็นสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์แต่ไม่ใช่สำหรับการทำหนังแบบผม ถ้าคุณยังคิดถึงการเขียนบทภาพยนตร์เท่ากับเราติดอยู่กับวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์แบบเดิมๆ แน่นอนว่ามีการกำกับนักแสดง แต่ไม่มีความจำเป็นที่นักแสดงหรือทีมงานต้องทำตามที่ผมบอกตลอดเวลา แต่สามารถลองแสดงในแบบของตัวเองได้ สิ่งที่ผมชอบที่สุดคือความไม่แน่นอนที่จะได้จากนักแสดง”

ไฉ้เล่าว่าสองปีที่แล้วเขาได้พบแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นชายชาวลาวคนหนึ่งในกรุงเทพฯ พวกเขาเป็นเพื่อนกันและไฉ้พบว่าชีวิตชายคนนี้น่าสนใจมาก เช่น เวลาที่เขาทำอาหารที่ระเบียงที่พักซึ่งเป็นที่อาศัยของแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก

“ผมถ่ายตอนเขาทำอาหารที่ระเบียง ผมจึงคิดว่าทำไมเราถึงต้องการบทภาพยนตร์ในเมื่อเราทำแบบนี้ได้ เพราะการเขียนบทไม่สามารถช่วยให้เราจินตนาการเห็นภาพได้เลยว่าคนลาวที่เป็นแรงงานข้ามชาติในไทยทำอาหารกันอย่างไร” เขากล่าว

และสิ่งที่เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษคือโลเคชั่น

“ผมโฟกัสกับการหาโลเคชั่นมาก เพราะในการเลือกโลเคชั่นเป็นการสร้างพื้นที่และให้ตัวละครมีชีวิตของตัวเองในพื้นที่นั้นในฉากนั้น”

“สำหรับผมภาพยนตร์เป็นสื่อที่ใช้แสดงประสบการณ์ของตัวเองออกมาผ่านจอ สิ่งที่ผมทำได้คือการถ่ายหนังในสิ่งที่ผมได้สัมผัส สิ่งที่ผ่านตา เราไม่สามารถแกลังทำเป็นว่ารู้ไปทุกเรื่องได้ แต่เราเรียนรู้ข้อจำกัดของความรู้ของเราได้ ผมเลิกการถ่ายหนังแบบมีบทแล้วเดินไปถ่ายกับทีมงานเยอะๆ เพราะมันไร้ความหมายสำหรับผม  ถ้าคุณเชื่อว่าหนังเป็นสื่อที่มีพลังมันก็คงค่อนข้างสวนทางกับสิ่งที่เป็นอยู่กับวงการหนังในปัจจุบัน” ไฉ้กล่าวอย่างหนักแน่น

 

*เรียบเรียงจาก Q&A กับไฉ้หมิงเลี่ยง หลังฉาย I Don’t Want to Sleep Alone ที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) ในวันที่ 15 มิ.ย. 2562

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท