Skip to main content
sharethis

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชี้หลังศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำร้อง กรณี คสช. และพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องทางรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องทางปกครอง ระบุนี่คือเรื่องอันตรายสำหรับสังคมไทยหากองค์กรตุลาการไม่สามารถเข้าไปแตะต้องการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารได้

25 มิ.ย. 2562 ศาลปกครองกลางมีนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ 445/2562 ระหว่าง คณะราษฎรไทยแห่งชาติ รวม 34 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (ผู้ถูกฟ้อง) ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยคณะราษฎรไทยแห่งชาติ กับพวก ฟ้อง คสช. และ นายกรัฐมนตรี กรณีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการแต่งตั้งบุคคล ซึ่งไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นประชาชนชาวไทยได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

วันนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางคือ ไม่รับคำฟ้องของคณะราษฎรไทยแห่งชาติกับพวกรวม 34 คนโดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของทั้งคสช.และนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ 2557 โดยมีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้การรองรับ ซึ่งผู้ถูกร้องทั้งสองถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการตั้งกรรมการสรรหาสว.เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ กรณีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง 

ส่วนที่อ้างว่าศาลปกครองกลางไม่เรียกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.มาพิจารณาก่อนที่จะมีคำสั่งยกฟ้องนั้น ก็รับฟังไม่ได้ เนื่องจากตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2553 ข้อ 54 กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลส่งเอกสารหลักฐานได้ แต่เป็นดุลพินิจของศาลจะพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้เมื่อศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณาจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลจะต้องเรียกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหาสว.ตามที่ร้องขอ เช่นเดียวกับกรณีที่ขอให้นำเรื่องนี้เสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดนั้น ตามพ.ร.บ.จัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 กำหนดให้เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุด ใช้ดุลพินิจว่าจะนำเรื่องใดเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของทั้งตุลาการ และผู้ร้องจะมีสิทธิเสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุดได้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งสไม่รับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) ว่าคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 81 วรรคสอง และมาตรา 269 (1) (ข) และ (ค) หรือไม่ 

มาตรา 81 วรรคสอง

ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔๕ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ ที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

มาตรา 269

(1)ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จํานวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน มีหน้าที่ดําเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(ข) ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ ที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจํานวนไม่เกิน สี่ร้อยคน ตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภากําหนดแล้วนํารายชื่อเสนอต่อคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่าระยะเวลาที่กําหนดตาม (ก)

(ค) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกผู้ได้รับเลือกตาม (ก) จากบัญชีรายชื่อ ที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ได้จํานวนห้าสิบคน และคัดเลือกรายชื่อสํารองจํานวนห้าสิบคน โดยการคัดเลือกดังกล่าวให้คํานึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง และให้คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อ ที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) ให้ได้จํานวนหนึ่งร้อยเก้าสิบสี่คนรวมกับผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการ ตํารวจแห่งชาติ เป็นสองร้อยห้าสิบคน และคัดเลือกรายชื่อสํารองจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) จํานวนห้าสิบคน ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 268

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าวนั้นมีเนื้อสาระสำคัญเพียงเป่นการแต่งตั้งคระกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิใช่การออกกฎเกณฑ์ที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามมาตรา 231 (1) ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถรับคำร้องไว้พิจารณาได้

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงกรณีนี้ว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร ไม่มีองค์กรตุลการองค์กรใดสามารถเข้าไปตรวจสอบ หรือแตะต้องคณะรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารได้ โดยเฉพาะในกรณีการตั้งคณะกรรมการ สรรหา ส.ว. ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายแน่นอน แต่กลับไม่มีใครเข้ามาตัดสินหรือวินิจฉัยได้เลย และนี่คือการยกระดับให้คณะรัฐประหารเป็นองค์เหนือกฎหมาย และถ้าการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ ในอนาคตข้างหน้าเราก็จะมีโอกาสได้เห็นการทำรัฐประหารอีกแน่นอน

“องค์กรแต่ละองค์กร มีท่าทีที่พยายามดีดเรื่องเหล่านี้ออกไปให้พ้นตัว โดยเฉพาะเมื่อมีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องที่เกี่ยวกับ คสช. เข้าสู่กระบวนการของศาลไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม ท่าทีขององค์กรเหล่านี้คือ ไม่มีใครเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร และเป็นเรื่องที่อันตรายต่อสังคมไทยอย่างมาก เพราะเท่ากับว่าเรากำลังจัดวางคณะรัฐประหารให้มีสถานะพิเศษที่องค์กรใดๆ ในกระบวนการยุติธรรมไม่เข้าไปแตะต้อง และถ้าเป็นแบบนี้ก็จะยิ่งทำให้การรัฐประหารฝั่งรากลึกลงในสังคมไทย” สมชาย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net