Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนที่ผมไปเรียนที่อเมริกา สถานที่รอบๆ เมืองที่ไปอยู่มีชื่อแปลกๆ ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เช่น ถนน Scajaquaja Highway เมือง Tonawanda เมือง Cheektowaga 

ชื่อแปลกๆ แบบนี้ น่าจะเป็นภาษาพื้นเมือง ตอนแรกคิดว่าแถวนี้คงมีคนพื้นเมืองเยอะ เจ้าของประเทศนี้ตัวจริง  เขาต้องมีการรวมกล่ม มีการตีกลองร้องเพลงรอบกองไฟแบบที่เคยเห็นในหนังแน่ๆ!!
 
แต่ ผ่านไปปีกว่าๆ ไม่เคยเจอคนพื้นเมืองเลย เขาหายไปไหนกันหมดหว่า??? 

ในที่สุด ผมไปรู้จักกับเพื่อนคนนึง หน้าเหมือนลูกครึ่ง เขาบอกว่ามีเชื้อโมฮอว์ค คุยกันสนุกดี เขาชวนไปกินข้าวที่บ้าน เราสนิทกันค่อนข้างเร็ว 

ไม่กี่เดือนต่อมา เพื่อนเรียนจบ รับปริญญา ผมไปงานเขาด้วย สังเกตเห็นแถบผ้าที่ชุดครุย คนอื่นไม่มี ถามเขาว่าเป็นแถบอะไร เขาบอกว่า "เป็นสัญลักษณ์ว่าฉันเป็นคนพื้นเมือง วัฒนธรรมดั้งเดิมหายไปหมดแล้วเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เหลืออยู่แค่ผ้าผืนเดียวนี่แหละ"

ฟังดูน่าสงสารนะครับ แต่ประวัติศาสตร์ทั้งหมดนั้นน่าเศร้ากว่านี้เยอะ ถ้าอยากรู้ว่าคนอเมริกันพื้นเมืองหายไปไหนหมด หรือทำไมเพื่อนผมพูดภาษาโมฮอว์คไม่ได้แล้ว ต้องกลับไปดูประวัติศาสตร์ครับ 
 
คนอเมริกันพื้นเมือง ข้ามธารน้ำแข็งจากเอเชียอพยพเข้ามาอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ และตั้งรกรากมาอยู่นับหมื่นๆ ปี ตัดขาดจากเอเชีย-ยุโรป-แอฟริกาโดยสมบูรณ์ 
 
ต่อมา ชาวยุโรปมาถึง มีโรคต่างๆ เช่น ฝีดาษ โรคหัด ติดตัวมาด้วย คนพื้นเมืองไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้แทนที่จะเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ก็กลับล้มตายกันอย่างรวดเร็ว เกือบทุกเผ่าจะมีคนตายไปประมาณครึ่งหนึ่ง บางเผ่าหรือบางพื้นที่ก็ตายไปเกือบ 90%

ลูกหลานชาวพื้นเมืองทีไม่ได้เจ็บป่วยล้มตายที่ยังอาศัยอยู่ในดินแดนของบรรพบุรุษ ในเวลาต่อมา ชาวยุโรปก็เริ่มตั้งรกรากในทวีปอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ มีการอยู่ร่วมกันโดยสันติและแต่งงานกันบ้าง ค้าขายกันบ้าง แต่บางครั้งก็เป็นศัตรูต่อกันและรุกรานกัน บางครั้งชาวยุโรปก็ยุยงให้เผ่าต่างๆ ที่เคยเป็นมิตรกันมาทะเลาะกันเอง ทำให้เอาผืนดินไปครอบครองได้ง่ายขึ้น บางครั้งความขัดแย้งระหว่างคนพื้นเมืองและคนขาวก็บานปลาย กลายเป็นการสังหารหมู่ เช่น เหตุการณ์ที่ Wounded Knee Creek รัฐเซาท์ ดาโกตา ทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา ในเวลานั้น ทางรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามจะยึดดินแดนมาจากชนเผ่าเพื่อให้คนขาวไปตั้งรกรากและทำเหมืองทอง ชาวเผ่าลาโคตา (Lakota) ในพื้นที่ไม่ยอมยกดินแดน และทำการกระด้างกระเดื่อง ทหารของกรมทหารม้าที่เจ็ดของกองทัพสหรัฐฯ เข้าไปในหมู่บ้านเผ่าลาโคตา (Lakota) และขอให้วางอาวุธ ต่อมาเหตุการณ์บานปลายและเกิดเหตุยิงกันขึ้น ผู้หญิงและเด็กในหมู่บ้านก็โดนลูกหลงไปด้วย สุดท้ายมีผู้ชายพื้นเมืองตายไป 90 คน ผู้หญิงและเด็กตายไป 200 คน ถือเป็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

สุดท้ายเมื่อชาวยุโรปรวมตัวได้มากก็ยึดครองแผ่นดินไปเกือบหมดและตั้งรัฐชาติขึ้นมา เจ้าของแผ่นดินเดิมก็กลายเป็นผู้ถูกปกครองที่ต้องปฏิบัติตามกฎของผู้มาใหม่ในที่สุด เมื่อชาวยุโรปตั้งรัฐชาติใหม่ได้แล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือจัดการชาวพื้นเมืองไม่ให้กระด้างกระเดื่องได้อีก การจัดการที่ดีที่สุดคือให้ชาวพื้นเมืองเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวยุโรปเพื่อให้อยู่ในสังคมใหม่ได้ ชาวยุโรปจึงจับเอาลูกหลานของชาวพื้นเมืองไปเข้าโรงเรียนประจำเพื่อกลืนวัฒนธรรม เด็กที่อยู่ในโรงเรียนประจำถูกบอกว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่สนใจตัวเองแล้ว เลยทิ้งให้ตัวเองมาอยู่ที่นี่ จงเรียนภาษาและวัฒนธรรมของคนขาวเพื่อให้ตนเองอยู่รอด การเฆี่ยนตี ด่าทอ และทำร้ายเด็กพื้นเมืองเป็นเรื่องปกติในโรงเรียนประจำเหล่านี้ หากละเมิดกฎของโรงเรียน (เช่น หากพูดภาษาพื้นเมืองแทนที่จะพูดภาษาอังกฤษ หรือพูดคุยว่าเผ่าพันธ์ของตัวเองเป็นอย่างไร เด็กจะโดนเฆี่ยนทันที) เด็กนักเรียนพื้นเมืองถูกบังคับให้ทิ้งศาสนาชนเผ่าของตนและเรียนศาสนาคริสต์ ถูกสอนว่าการเป็น “อินเดียนแดง” เป็นเรื่องน่าอับอาย ช่วงปิดฤดูร้อน ฟาร์มและบ้านคนรวยในละแวกเดียวกับโรงเรียนจะ "เช่า" เด็กจากโรงเรียนเอาไปใช้งาน และโรงเรียนมีเป้าหมายในการสอนวิชาชีพพิ้นฐานให้เด็ก (เช่น ช่างไม้ ช่างหิน) ไม่มีการสืบทอดทักษะการปลูกพืช ล่าสัตว์ และสื่อสารภายในชนเผ่าของบรรพบุรุษ เด็กที่เรียนโรงเรียนพื้นเมืองไปก็ไม่มีทักษะชีวิตเพียงพอที่จะกลับเข้าไปอยู่และเอาตัวรอดในพื้นที่ค่ายกักกัน (reservations) ของชนเผ่าเดิมที่ตนเองจากมาได้อีก ทำให้เมื่อเรียนจบไปแล้วก็กลายไปเป็นผู้ใช้แรงงานในสังคมของคนขาวตลอดไป  เรื่องโรงเรียนนี้เหมือนเป็นเรื่องในอดีตอันไกลโพ้นนะ แต่เอาจริงๆ โรงเรียนประจำของเด็กพื้นเมืองนี่เพิ่งจะปิดตัวลงโดยสมบูรณ์เมื่อปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) นี่เอง

เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Traumatic event) ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ระบบประสาทในร่างกายของมนุษย์เราจะมีการตอบสนอง ส่งผลให้ความคิดความอ่านเราเปลี่ยนไป และฮอร์โมนในระบบประสาทที่ร่างกายสร้างขึ้นระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้ร่างกายและดีเอ็นเอของเราเปลี่ยนแปลงไปด้วย และเมื่อเรามีลูกหลาน เราก็สืบทอดความเปลี่ยนแปลงจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ไปสู่ลูกหลานของเรา 
 
ผู้ที่ประสบเหตุสะเทือนขวัญจะมีอาการหวาดผวา (Post-Traumatic Stress Disorder) ตามมา ซึ่งหลายคนก็หันไปหาสุรา-ยาเสพติด เพื่อให้ลืมความทุกข์ความกลัวและความเจ็บปวด เมื่อเมามายแล้วก็ทำให้ไม่มีสติยั้งคิด เผลอพลั้งไปทำร้ายครอบครัวลูกเมียที่บ้านอีก ลูกหลานบางคน เมื่อโตขึ้นก็มีพฤติกรรมเลียนแบบ ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ
 
การที่สูญเสียแผ่นดิน วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของตนเองก็เป็นปมด้อย (ลองไปดูภาพผู้นำประเทศสหรัฐฯ ดูก็ได้ครับ เป็นฝรั่งผิวขาวหมด ยกเว้น Barack Obama และไม่มีคนพื้นเมืองเลย) 

นักสังคมสงเคราะห์ท่านหนึ่งที่เป็นสมาชิกเผ่าลาโคต้า ชื่อ Dr. Maria Yellow Horse Brave Heart ได้นิยามปรากฎการณ์ที่เหตุสะเทือนขวัญส่งผลข้ามรุ่นมาเป็น "เหตุสะเทือนขวัญเชิงประวัติศาสตร์" (Historical trauma) หรือ “แผลใจข้ามรุ่น” ได้แก่ "บาดแผลทางอารมณ์และจิตใจสะสมตลอดชั่วชีวิตของบุคคล และจากรุ่นสู่รุ่น ภายหลังเกิดเหตุการสูญเสียชีวิต แผ่นดิน และวัฒนธรรม" (“cumulative emotional and psychological wounding over one’s lifetime and from generation to generation following loss of lives, land and vital aspects of culture.”)
 
แล้วเหตุการณ์ในอดีตมันเกี่ยวอะไรกับปัจจุบันได้อย่างไรเล่า? 

ในปี ค.ศ. 2004 มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งไปสำรวจชาวอเมริกันพื้นเมืองที่มีบุตรหลาน พบว่า

36% คิดถึงเรื่องที่ตนเองสูญเสียภาษาพื้นเมืองในชุมชนทุกวัน

34% คิดถึงเรื่องการสูญเสียวัฒนธรรมทุกวัน

24% บอกว่าตนเองเคยรู้สึกโกรธเรื่องในอดีต

49% เคยรู้สึกจิตใจปั่นป่วนเรื่องความสูญเสีย

46% คิดเรื่องการติดเหล้า และผลกระทบต่อชุมชน

22% รู้สึกไม่ไว้ใจคนผิวขาว

35% ไม่ไว้ใจวัฒนธรรมกระแสหลักของคนผิวขาว เนื่องจากความสูญเสียในอดีต

ทุกวันนี้ คนอเมริกันพื้นเมืองยังอยู่ในเงาของประวัติศาสตร์ ความรู้สึกที่ฝังใจยังคงส่งผลอย่างมากต่อทั้งร่างกายและจิตใจ 

แค่ 9% เรียนจบมหาวิทยาลัย เทียบกับ 20% ในประชากรทั้งหมด

มีความเสี่ยงในการติดเหล้ามากกว่าประชากรทั่วไป 5 เท่า

อัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไป 40%

แล้วจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร? เรื่องนี้ยังคงเป็นที่ศึกษากันอยู่ 
 
คนพื้นเมืองแนะนำกันเองดังต่อไปนี้

- กลับมาประกอบพิธีทางศาสนาดั้งเดิม รับวัฒนธรรมเดิมของตนเองกลับมา หัดคบเพื่อนดี ไม่คบเพื่อนที่พาไปหลงผิด 

- ยอมรับว่าตัวเองมีความรู้สึก โกรธ เศร้า ดีใจ และกลัวได้เหมือนคนทั่วไป ให้รู้เท่าทันตนเอง ถ้าเราอ่อนแอหรือพลาดพลั้งไปก็ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ ไม่เสียหาย

- ให้อภัยต่อสิ่งที่เกิดข้นในอดีต

- เข้าใจพ่อแม่ตนเอง เข้าใจว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง สมัยพ่อแม่เป็นเด็กมีคนดื่มเหล้าหรือมีพฤติกรรมรุนแรงไหม และอย่ากินเหล้าหรือทุบตีลูกเมียและทำให้ความบอบช้ำส่งต่อกันไปเป็นวัฎจักร ส่งต่อความรุนแรงให้ลูกเมีย
 
สังคมอเมริกันโดยรวมช่วยเยียวยาแผลใจตรงนี้ได้อย่างไร

- ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการล้อเลียนอัตลักษณ์หรือวัฒนธรรม เช่น แต่งตัวในชุด "โพคาฮอนตัส" แบบเซ็กซี่ตอนงานฮาโลวีน

- เวลาจัดงานสาธารณะใดๆ โดยเฉพาะงานในพื้นที่ชนเผ่า ให้เกริ่นนำโดยสังเขป ให้คนพื้นเมืองรู้ว่าเรายังเห็นตัวตนของเขา 

- พยายามเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมของชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองในพื้นที่ของตน และพยายามช่วยทำกิจกรรมรณรงค์ช่วยแก้ปัญหาสังคมในชุมชน

- ที่ออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรี Kevin Rudd เคยมีการประกาศขอขมาคนพื้นเมืองในสมัยเปิดประชุมสภา ปี ค.ศ. 2009 ซึ่งคนพื้นเมืองก็ออกมาแสดงจุดยืนว่าเป็นการเริ่มต้นการเยียวยาที่ดี 

- แต่ทางสหรัฐฯ ยังไม่เคยมีการแถลงเช่นนี้ในระดับชาติ แต่มีในระดับท้องถิ่นบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่่มที่ดีเช่นกัน

 

ภาพประกอบ

สัญลักษณ์คนพื้นเมืองแถบผ้าชุดครุย
ที่มา:
https://everipedia.org/wiki/lang_en/shannon-seneca/  

 

ภาพวาดฝีมือชาว Aztec ในเม็กซิโก แสดงภาพคนป่วยเป็นโรคฝีดาษ (ด้านบน)
และโรคหัด (ด้านล่าง) (ที่มา:
Wikipedia.org)

 

ภาพหลังเหตุการณ์ที่ Wounded Knee (ที่มา: Wikipedia.org)

 

“โรงเรียนอบรมอินเดียนแดง” ในมลรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ที่มา: https://nativeamericanroots.net

ทหารผ่านศึกอเมริกัน ขอขมาต่อเหตุเลวร้ายในประวัติศาสตร์ ต่อผู้อาวุโสเผ่า Sioux
ระหว่างการประท้วงการสร้างท่อน้ำมันข้ามพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ Standing Rock, South Dakota เมื่อปี 2016

 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://blog.nativehope.org/understanding-historical-trauma-and-native-americans
https://nativeamericannetroots.net/diary/tag/Boarding%20Schools
http://tpcjournal.nbcc.org/examining-the-theory-of-historical-trauma-among-native-americans/
https://www.huffpost.com/entry/native-american-youth-suicide-rates-are-at-crisis-levels
https://newsmaven.io/indiancountrytoday/archive/9-ways-native-men-can-heal-from-historical-trauma-g7WzvMbfp0mnEYjkQxP5vA/
https://www.youtube.com/watch?v=Bgw5_xl0Zqk
http://crmhs.org/historical-trauma-how-do-we-heal-centuries-of-suffering/
https://www.ihs.gov/telebehavioral/includes/themes/responsive2017/display_objects/documents/slides/traumainformedcare/historicaltrauma0617.pdf

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ เป็นกรรมการมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ และอาจารย์หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net