Skip to main content
sharethis

20 มิ.ย.2562 ในวาระที่วันที่  20 มิถุนายนของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก อนุสรณ์ อุณโณ จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และพูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้อภิปรายถึงความเปราะบางของผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยคนไทยที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์จากความเห็นต่างทางการเมือง โดยศูนย์ทนายฯ ได้รวบรวมสถิติจนถึงปีที่แล้ว พบว่า มีอย่างน้อย 86 คนต้องลี้ภัยหลังรัฐประหาร 2557 และในจำนวนนั้นมี 8 คนสูญหาย (พบศพ 2 ราย)

อนุสรณ์ อุณโณ จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และพูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

รัฐไทยกับการละเมิดกฎไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย

พูนสุข กล่าวว่า บางคนอาจสงสัยว่าผู้ลี้ภัยคือใคร ผู้ลี้ภัยคือคนที่ไม่ได้อยู่ในประเทศตัวเอง ต้องออกจากประเทศตัวเองด้วยความหวาดกลัวที่จะถูกฆ่า ถูกละเมิดหรือที่เรียกว่ามีภัยประหัตประหารต่อตนเองจนไม่สามารถไปใช้ชีวิตในประเทศตนเองได้ มันอาจจะเกิดจากเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงกรณีไทยเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง หลักการสำคัญเรื่องผู้ลี้ภัยคือห้ามส่งกลับบุคคลหากส่งกลับบไปแล้วเขาจะเกิดอันตรายถึงตาย บางกรณีอาจจะไม่ถึงตายแต่เป็นภัยที่มาถึงตัวเขา

พูนสุขกล่าว่า ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าประเทศใดจะเข้าร่วมอนุสัญญาผู้ลี้ภัยหรือไม่ก็ตาม รวมถึงประเทศไทยที่ไม่ได้เข้าร่วมก็ต้องถือหลักการนี้ เพราะถือเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ แต่ในทางปฏิบัติรัฐไทยกลับมีการละเมิด กรณีที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดคือการส่งกลับอุยกูร์จำนวน 109 คน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดระเบิดราชประสงค์ตามมาด้วยหรือไม่ก็เป็นที่น่าสงสัย ทุกวันนี้ยังไม่ทราบว่าอุยกูร์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่เห็นต่างทางศาสนาที่ถูกส่งกลับไปยังประเทศจีนชะตากรรมเป็นเช่นไร บางข่าวบอกว่าเขาไปอยู่ในค่ายกักกันที่มีเฉพาะชาวอุยกูร์ นี่ถือว่าเราละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ปัญหาของมันก็คือกฎหมายเหล่านี้เป็น Soft power ต้องอาศัยความกดดันระหว่างประเทศ หรือพูดคุยเพื่อไม่ให้ประเทศไทยทำอย่างนั้นหรือมีมาตรการบางอย่าง แม้ไม่ได้มีการคว่ำบาตรที่ชัดเจนเหมือนกฎหมายอาญา อย่างไรก็ดี อนุสัญญานี้อาจจะใช้ไม่ได้ในหลายประเทศแต่ก็อาจจะใช้ได้ในหลายประเทศ

ผู้ลี้ภัยทางการเมืองเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557

ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อว่า ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ก่อนรัฐประหารไทยมีบทบาทนำเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับหลายๆ ประเทศที่จะมาจัดอบรม พูดคุยในสถานการณ์บ้านเขาที่คุยไม่ได้ แต่หลังปี 2557 ไทยไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเพื่อนบ้านอีกต่อไปเพราะอาจถูกส่งกลับหรือถูกแทรกแซง นอกจากสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยตกต่ำแล้ว ไทยยังให้ความช่วยเหลือกับรัฐเพื่อนบ้านที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยในการควบคุมต่างๆ เช่น กรณีของนักกิจกรรมฮ่องกงที่มาเที่ยวไทยหายตัวไปแล้วไปโผล่ที่จีน

พูนสุขกล่าวว่า สำหรับประเทศไทย มีข้อมูลว่าผู้ลี้ภัยหรือสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุมีอย่างน้อย 8 ราย กรณีของวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) อิทธิพล สุขแป้น (ซุนโฮ) สุรชัย แซ่ด่าน และสหาย 2 คนที่เป็นผู้ติดตามสุรชัย โดยทั้ง 2 ศพยืนยันว่าพบบริเวณริมแม่น้ำโขง แต่ยังไม่พบอ.สุรชัย นอกจากนี้ยังมีกรณีล่าสุดอีก 3 คน คือ ชูชีพ ชีวสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง), สยาม ธีรวุฒิ และ กฤษณะ ทัพไทย สิ่งเหล่านี้ไม่มีรัฐไหนที่จะอนุญาตให้มีการฆาตกรรมเกิดขึ้น รัฐมีหน้าที่ต้องค้นหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับบุคคลเหล่านี้ ดังนั้น สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยไม่ได้ดีขึ้น และยังมีการใช้มาตรการนอกกฎหมายด้วย ต่อให้เรามีรัฐบาลใหม่เราอาจจะมีโอกาสในการติดตามสอบถามกรณีเหล่านี้ได้มากขึ้น แต่สถานการณ์โดยรวมคงไม่ต่างกัน เพราะ คสช. ที่แปลงร่างแล้วยังอยู่เหมือนเดิม

พูนสุขเท้าความให้ฟังด้วยว่า ผู้ลี้ภัยไทยในระลอกนี้เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 หากจำกันได้ มีประกาศเรียกรายงานตัวบุคคลในวันที่ 22-23 พ.ค.ช่วง 4 ทุ่ม หลังจาก 25 พ.ค. 2557 มีประกาศให้บุคคลขึ้นศาลทหาร หนึ่งในคดีที่ให้ขึ้นศาลทหารเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์หรือ  มาตาม 112 รวมถึงความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงทั้งหลาย ทำให้ประชาชนบางกลุ่มเกิดความไม่มั่นคงในชีวิต และกังวลว่าถ้าขึ้นศาลทหารแล้วจะไม่ได้รับความเป็นธรรม บุคคลบางส่วนจึงเลือกเดินทางออกนอกประเทศเพราะมีชื่อถูกเรียกรายงานตัว

รวบรวมสถิติผู้ลี้ภัยไทยได้ 86 คน

อย่างไรก็ดี ศูนย์ทนายความฯ เก็บสถิติล่าสุด เมื่อปี 2561 พบว่า เรามีผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างน้อย 86 คนที่ออกนอกประเทศด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร อาจมีตั้งแต่คนที่มีรายชื่อถูกเรียกรายงานตัว มีหมายเรียกเกี่ยวกับคดี 112 หรือคนที่มีคดีความมาก่อน ส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับคดี นปช. เพราะว่าเป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวเนื่องกันมา เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกจัดการ รวมถึงที่ไม่ได้ไปรายงานตัวแต่ถูกควบคุมตัว 7 วัน หลังจากออกค่ายทหาร เขาก็รู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัยอีกต่อไปจึงเลือกเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนใหญ่กระจายกันอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะด้วยสถานะทางสังคมหรือเพื่อที่จะติดต่อกับญาติได้สะดวก บางคนที่มีสถานะทางสังคมก็จะไปไกลอย่างยุโรปและอเมริกา

พูนสุขกล่าว่า UNHCR มีแถลงการณ์และรายงานออกมาว่า ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นประมาณ 70.8 ล้านคนทั่วโลกซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดที่ UNHCR เคยทำงานมาตลอด 70 ปี ถือว่าเป็นวิกฤตที่ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้

สิ่งที่ศูนย์ทนายทำได้คือก็พยายามเก็บข้อมูลแล้ว identify ออกมาว่ามันมีปัญหาอย่างไรบ้างและควรมีข้อเสนออย่างไร ซึ่งการยกเลิกคำสั่ง คสช. เป็นส่วนหนึ่งในนั้น แต่คิดว่าแค่นั้นยังไม่พอเพราะมีกฎหมายจำกัดเสรีภาพอื่นๆ บางคนไม่ใช่คดีเสรีภาพอย่างเดียว แต่ว่ามีคดีอื่นอยู่ด้วย เขาต้องการกระบวนการยุติธรรมที่รับประกันได้ว่าว่าหากกลับมาแล้วจะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

ประเด็นผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก

อนุสรณ์ อธิบายบริบททางประวัติศาสตร์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเกิดขึ้นขององค์กรระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความสงบสุขและปัญหาการลี้ภัยหมดไป อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันถึงแม้ไม่มีสภาวะสงครามระหว่างประเทศในระดับใหญ่เท่าที่เคยผ่านมา แต่ก็มีสงครามภายในประเทศซึ่งยากที่จะควบคุมหรือทำให้ยุติ สิ่งเหล่านี้มาจากความแตกต่างกันทางชาติพันธุ์ ศาสนา ผลประโยชน์หรือจุดยืนทางการเมือง ซึ่งล้วนมีเงื่อนไขที่ทำให้การลี้ภัย แต่การลี้ภัยในยุคปัจจุบันก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าอดีตที่ผ่านมา รัฐต่างๆ มีความกลัวต่อการก่อการร้ายข้ามชาติ สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่คอยสร้างความวิตกกังวลให้กับประเทศที่จะรับผู้ลี้ภัยเข้ามา อีกทั้งปัจจุบันนี้สถานะของผู้ลี้ภัยไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่กลับกลายเป็นภัยคุกคามรูปแบบหนึ่งโดยมีปัจจัยภายในของแต่ละประเทศเป็นสิ่งที่มากำกับวิธีคิดดังกล่าว เช่น กระแสของกลุ่มขวาจัด ดังนั้น กระแสของผู้ลี้ภัยในตอนนี้จึงมีความน่ากังวลและอยู่ในขั้นวิกฤต

อนาคตสถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทยหลังยุค คสช.

ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย อนุสรณ์มองว่า ยังคงมีความน่าวิตกกังวล เพราะผู้ที่เข้าไปมีอำนาจในรัฐตอนนี้ที่มีทัศนะหรือจุดยืนที่อยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ แทนที่กลไกรัฐจะสามารถใช้ช่วยเหลือปัญหาเหล่านี้ก็อาจออกมาในทิศทางที่ตรงกันข้าม

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาจากอดีต อย่างน้อยสังคมก็มีจังหวะโอกาสและพื้นที่ให้ผู้ที่เห็นต่างกลับเข้ามาสู่ประเทศนี้ได้ แต่สถานการณ์ในตอนนี้แทบมองไม่เห็นความเป็นไปได้ นอกจากคนเห็นต่างไม่สามารถอยู่ได้แล้ว ยังมีเงื่อนไขที่ทำให้คนเห็นต่างถูกผลักออกไปไกลกว่าเดิมอีก จึงมองไม่เห็นว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะสามารถหยุดยั้งเงื่อนไขที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยได้อย่างไร และมองไม่เห็นว่าผู้ลี้ไปที่อยู่ต่างประเทศในตอนนี้จะได้รับการดูแลตามกลไกหรือมาตรการที่ถูกต้องได้อย่างไร นอกจากนี้อาจมีแนวโน้มของการเกิดผู้ลี้ภัยสูงขึ้นด้วย เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในหลักนิติรัฐ หรือ หลักนิติธรรม

การทำงานกับความคิดของคนในสังคม

อนุสรณ์กล่าวว่า ความตระหนักรู้ของคนในสังคมในเรื่องผู้ลี้ภัยยังจำกัดอยู่ ดังนั้นการปรับทัศนะจะเกิดขึ้นได้คงต้องมีผลกระทบครั้งใหญ่มาก โดยเฉพาะความคิดที่อ้างตัวเองเป็นเจ้าของประเทศหรือการกำหนดคุณลักษณะว่าคนแบบใดสามารถอยู่ในประเทศนี้ได้ หากไม่สามารถแก้ไขทัศนะแบบนี้ได้ก็คงเป็นเรื่องยากในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย

อนุสรณ์เสนอว่า เราควรทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันว่า ชาตินี้เป็นของประชาชนทุกคนที่มีสิทธิเสมอกัน เราควรกลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องของประเทศชาติและเรื่องของประชาชนเสียก่อน ผ่านระบบการศึกษาและสถาบันต่างๆ ทางสังคม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมามีความคิดและสามารถปลดแอกความคิดให้เป็นอิสระจากการพยายามปลูกฝังความคิดที่อยู่ตรงข้ามกับหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เราต้องหาจังหวะและเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่เหล่านี้ให้ได้เพื่อให้เกิดการทำงานทางความคิดร่วมกัน สิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net