วันต่อต้านการทรมานสากล ปี 62 แอมเนสตี้ฯ เปิด 5 เครื่องมือทรมานที่ต้องถูกแบน

เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล ปี 62 แอมเนสตี้ฯ ย้ำ5 เครื่องมือทรมานต้องถูกแบน ประกอบด้วย เข็มขัดช็อตไฟฟ้า กระบองช็อตไฟฟ้า กระบองหนาม กุญแจคอและเก้าอี้รัดตัว 

26 มิ.ย.2562 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่าวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture) แต่ในประเทศไทยมักคุ้นเคยกันนาม “วันต่อต้านการทรมานสากล” ซึ่งประกาศโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาและเชิญชวนให้คนในสังคมหันมาช่วยกันยุติการทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายให้ได้รับความเป็นธรรม

วันนี้เป็นวันต่อต้านการทรมานสากล แต่น่าเศร้าที่การทรมานยังคงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ และแม้จะมีการประกาศให้การทรมานเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในระดับสากลมากว่า 60 ปี แต่ทุกวันนี้เรายังคงสามารถซื้อขายเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ทำการทรมานที่โหดร้ายได้ทั่วโลก

ในงานแสดงสินค้าซึ่งเป็นอาวุธและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย รัฐบาลสามารถเลือกซื้อสินค้าจากบูธต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวคือ ทำให้เกิดความเจ็บปวดและความกลัว คำสั่งห้ามส่งออกสินค้าเหล่านี้ของสหภาพยุโรป ทำให้เกิดอุปสรรคมากขึ้นต่อการค้าขายสินค้าเหล่านี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันเรายังไม่มีความตกลงระดับสากลเพื่อห้ามการใช้เครื่องมือทรมานเหล่านี้

ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลประเทศต่างๆ ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ จะออกเสียงเกี่ยวกับมติที่มุ่งยุติการซื้อขายเครื่องมือสำหรับทรมานอย่างถาวร แอมเนสตี้ฯ ได้กระตุ้นรัฐต่างๆ ให้ออกเสียงรับรองมตินี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นมานานแล้ว ทั้งนี้เพื่ออุดช่องโหว่ของระเบียบควบคุม ซึ่งยังคงเปิดโอกาสให้มีการค้าขายเครื่องมือทรมานอย่างกว้างขวาง

ซึ่ง แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ต่อไปนี้เป็นเครื่องมือทรมานห้าอย่างที่ต้องถูกแบนทันที และข้อมูลเท่าที่เรารู้ว่าใครเป็นผู้ใช้เครื่องมือเหล่านี้

เข็มขัดช็อตไฟฟ้า

มันคืออะไร?

เข็มขัดช็อตไฟฟ้าสามารถส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่านจุดสัมผัสที่ติดอยู่ใกล้กับไตของนักโทษ ทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมาก หลายคนต้องสวมเข็มขัดนี้เป็นเวลานานหลายชั่วโมงในแต่ละครั้ง และถูกขู่ตลอดเวลาจากเจ้าหน้าที่ซึ่งถือรีโมทคอนโทรลเพื่อควบคุมเข็มขัดเหล่านี้ ผลกระทบทางร่างกายอื่นๆ อาจรวมถึงการทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้ หัวใจเต้นผิดปรกติ อาการชักเกร็ง และรอยปื้นบนผิวหนัง

ใครเป็นคนขาย?

เข็มขัดช็อตไฟฟ้าและอุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าสำหรับสวมใส่ (กุญแจมือเท้า เสื้อกั๊ก) เป็นสินค้าที่ถูกผลิตจากบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดี ซึ่งผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ในสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ และจีน และมีบริษัทที่จำหน่ายสินค้าเหล่านี้อย่างกว้างขวางในประเทศต่างๆ รวมทั้งอินเดีย และอิสราเอล

ใครเป็นคนซื้อ?

อุปกรณ์เหล่านี้ถูกใช้เพื่อควบคุมนักโทษในบางประเทศ ทั้งในแอฟริกาใต้และ บางรัฐในสหรัฐฯ นักโทษคนหนึ่งในสหรัฐฯ ซึ่งต้องสวมเข็มขัดแบบนี้และมีการปล่อยไฟฟ้าเข้ามา อธิบายว่า ทำให้เกิดความเจ็บปวด “อย่างรุนแรงจนถึงขั้นที่คิดว่ากำลังจะเสียชีวิต”

กระบองช็อตไฟฟ้า

มันคืออะไร?

เป็นกระบองที่สามารถส่งไฟฟ้าแรงสูง กระบองช็อตไฟฟ้าและอาวุธช็อตไฟฟ้าอื่นๆ อย่างปืนและโล่ช็อตไฟฟ้า ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถสร้างความเจ็บปวดที่รุนแรงได้อย่างง่ายดายด้วยการกดปุ่มเดียว และสามารถเลือกช็อตไฟฟ้าในบริเวณที่อ่อนไหวของร่างกาย และสามารถใช้ได้บ่อยครั้งเพราะไม่ทิ้งร่องรอยบาดแผลยาวนาน ทำให้เป็นอุปกรณ์ที่มักนิยมใช้เพื่อการทรมาน และแอมเนสตี้ฯ ได้บันทึกข้อมูลการใช้กระบองช็อตไฟฟ้าแบบนี้ทั่วโลก 

ใครเป็นคนขาย?

กระบองช็อตไฟฟ้าได้รับการผลิตและใช้งานอย่างกว้างขวางในจีน แต่ทางหน่วยงานโอเมก้ารีเสิร์ชเก็บข้อมูลว่าบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในสหภาพยุโรปหลายแห่งเป็นผู้ผลิตเครื่องมือทรมานเหล่านี้ด้วย โอเมก้าพบว่า บริษัทจากรัสเซียแห่งหนึ่ง มีรายชื่อของดีลเลอร์และผู้แทนจำหน่ายในหลายประเทศ ทั้งเบลารุส คาซัคสถาน ยูเครน อุเบกิสถาน อิหร่าน อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ และเวียดนาม

ใครเป็นคนซื้อ?

แอมเนสตี้ฯ และหน่วยงานอื่น ๆ สามารถบันทึกข้อมูลการใช้กระบองช็อตไฟฟ้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งเคอร์กีสถาน ฟิลิปปินส์  รัสเซีย และ จีน

เมื่อเร็วๆ นี้ แอมเนสตี้ฯ ได้เก็บข้อมูล การใช้กระบองช็อตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องโดยตำรวจอิตาลี ซึ่งนำมาใช้กับผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองที่เข้ามาใหม่ เพื่อบังคับให้พวกเขาพิมพ์รอยนิ้วมือที่สถานีตำรวจ เด็กหนุ่มอายุ 16 ปีจากซูดานบอกกับเราว่า 

“หลังผ่านไปสามวัน....พวกเขาพาผมไปที่ ‘ห้องไฟฟ้า’ ....จากนั้นก็ใช้กระบองช็อตไฟฟ้าที่ตัวผมหลายครั้ง ที่ขาข้างซ้ายและขาข้างขวา หน้าอกและพุง ผมอ่อนแรงมากและไม่สามารถขัดขืนได้”

กระบองหนาม

มันคืออะไร?

เป็นกระบองที่มีหนามแข็งทำจากพลาสติกหรือเหล็ก ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเจ็บปวดและทรมาน บางแบบจะมีหนามเต็มทั้งด้าม บางแบบจะมีหนามเฉพาะที่หัวกระบอง

เมื่ออยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย พวกเขาไม่สามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ นอกจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย 

ใครเป็นคนขาย?

จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของเครื่องมือทรมานชิ้นนี้

สหภาพยุโรปห้ามไม่ให้ประเทศสมาชิกนำเข้า ส่งออก หรือส่งเสริมการขายกระบองหนาม โดยระบุว่า นอกจากเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความทรมาน เครื่องมือเหล่านี้ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากระบองทั่วไป ในแง่การควบคุมบุคคลหรือป้องกันตนเอง

ใครเป็นคนซื้อ?

แม้มีคำสั่งห้ามจากสหภาพยุโรป ในปี 2560 นักวิจัยของแอมเนสตี้ฯ ได้พบกระบองหนามวางจำหน่ายตามงานแสดงสินค้าอาวุธ ร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งผิดกฎหมายในสหภาพยุโรป

มีรายงานข่าวว่าตำรวจกัมพูชาใช้กระบองหนาม และมีการส่งออกกระบองหนามไปขายให้กับกองทัพในเนปาลและไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2546 ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย(AHRC) เก็บข้อมูลของราเมศ ศรมซึ่งเสียตาข้างขวาไปเพราะถูกตำรวจที่กาฐมาณฑุตีด้วยกระบองหนาม

กุญแจคอ

มันคืออะไร?

เป็นอุปกรณ์พันธนาการที่ใช้พันรอบคอ บางแบบจะมีโซ่เชื่อมระหว่างห่วงที่คอกับข้อมือด้วย เป็นเครื่องมือที่สร้างความเจ็บปวด ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอันตราย แรงกดที่คออาจถึงขั้นทำให้หายใจไม่ออกหรือเกิดอาการบาดเจ็บที่คอ 

ใครเป็นคนขาย?

จากงานวิจัยของแอมเนสตี้ฯ และเครือข่ายของเรา รวมทั้งมูลนิธิโอเมก้ารีเสิร์ช เราพบว่ามีบริษัทจีนอย่างน้อยหนึ่งแห่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์พันธนาการคอเหล่านี้

ใครเป็นคนซื้อ?

งานวิจัยของเราพบว่า มีการขายเครื่องมือเหล่านี้ให้กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่จีน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่าทางการจีนทรมานบุคคลอย่างกว้างขวาง และทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

เก้าอี้รัดตัว

มันคืออะไร?

เป็นเก้าอี้ที่ใช้รัดตัวผู้ต้องขังโดยรัดหลายแห่งของลำตัว ผู้ต้องขังจะถูกผูกติดกับเก้าอี้ทั้งบริเวณข้อมือ ข้อศอก ไหล่ หน้าอก เอว ขาอ่อน และ/หรือข้อเท้า

เก้าอี้เช่นนี้ไม่มีประโยชน์ที่ชอบธรรมที่จะนำมาใช้โดยผู้บังคับใช้กฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มากไปกว่าอุปกรณ์ที่เป็นอันตรายน้อยกว่า

โดยอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ หากไม่ได้ดูแลผู้ที่ถูกรัดตัวด้วยเก้าอี้และทิ้งเอาไว้เป็นเวลานาน ยังมีการใช้เก้าอี้รัดตัวร่วมกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายรูปแบบอื่นๆ เช่น การบังคับให้กินอาหารและการทุบตี และนำมาใช้ร่วมกับกระบองช็อตไฟฟ้า

ใครเป็นคนขาย?

บริษัทจากประเทศจีนเป็นผู้จำหน่ายเก้าอี้แบบนี้ให้กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศจีน สหรัฐฯ เองก็ผลิตเก้าอี้แบบนี้ และมีข้อมูลพบว่าได้ถูกนำมาใช้เพื่อการปฏิบัติมิชอบ อย่างกรณีศูนย์ควบคุมตัวบุคคลที่อ่าวกวนตานาโม 

ใครเป็นคนซื้อ?

แอมเนสตี้ฯ มีข้อมูลการนำเครื่องมือนี้มาใช้ในเรือนจำและโดยตำรวจของประเทศจีน พร้อมกับเทคนิคที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีและสร้างความเจ็บปวดหลายอย่างจากการใช้เก้าอี้แบบนี้

ตั้งจีตัน อดีตพนักงานอัยการและทนายความที่ปักกิ่ง ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ฯ ว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นทรมานเมื่อเดือนมีนาคม 2557

“ผมถูกผูกติดกับเก้าอี้เหล็ก ถูกตบที่หน้า ถูกเตะที่ขา และถูกตีอย่างแรงที่ศีรษะด้วยขวดพลาสติกที่ยังมีน้ำอยู่ จนหมดสติไป” เขากล่าว

ในภาพวีดิโอที่น่ากลัวเมื่อปี 2559 เป็นภาพของวัยรุ่นคนหนึ่งที่ถูกถุงคลุมศีรษะและถูกผูกติดกับเก้าอี้รัดตัว ในเขตนอร์ทเทินเทอร์ริทอรีของออสเตรเลีย หลังการประณามจากนานาชาติ ออสเตรเลียจึงชะลอการใช้เก้าอี้รัดตัวในศูนย์กักตัวเด็กและเยาวชน แต่ยังคงอนุญาตให้นำมาใช้กับผู้ใหญ่

แอมเนสตี้ฯ ย้ำตอนท้ายด้วยว่า ถึงเวลาที่ต้องห้ามการซื้อขายอุปกรณ์ที่น่ารังเกียจเช่นนี้ ไม่ควรมีบริษัทใดได้รับผลกำไรจากความเจ็บปวดและความทรมาน ทางแอมเนสตี้ฯ เรียกร้องสมาชิกที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ให้รับรองมติข้อนี้ และดำเนินงานเพื่อให้เกิดระเบียบปฏิบัติเพื่อยุติการซื้อขายเครื่องมือทรมานอย่างถาวร

นอกจากนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งด้วยว่า ในวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมาคมป้องกันการทรมาน (ATP) ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) นำเสนอผลการวิจัยและแผนงานโครงการต่อทูตจากหลายสถานทูต และร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางก้าวถัดไปในการทำงานป้องกันไม่ให้มีการทรมาน โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม

รายงานข่าวระบุต่อว่า ระหว่างวันที่ 17-20 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมาคมป้องกันการทรมาน หรือ  the Association for the Prevention of Torture (APT) องค์กรพัฒนาเอกชนอิสระ มีสำนักงานอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งทำงานทั่วโลกเพื่อป้องกันการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม นำเสนอผลการวิจัยเรื่องการทรมานและการกระทำอื่นที่โหดร้ายทารุณในประเทศไทยหลังจากการทำงานรวบรวมข้อมูลเป็นเวลาหนึ่งปี โดยผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับชาติภายใต้กรอบเวลาสามปี ที่มุ่งพัฒนาการดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทรมานในการคุมขังโดยหน่วยงานตำรวจหรือทหาร

สมาคมป้องกันการทรมาน (ATP) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนอิสระอื่น ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างรอบด้านเกี่ยวกับกฎหมายและกลวิธีของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและการกระทำอื่นที่โหดร้ายทารุณ การสนทนากลุ่มย่อยระหว่างสมาคมป้องกันการทรมาน (ATP) กับหน่วยงานตำรวจ และการทำงานของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องขังแสดงให้เห็นทัศนคติของเจ้าหน้าที่และประชาชนต่อวิธีการสอบสวนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นที่โหดร้ายทารุณในประเทศไทย การประชุมดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

แม้กฎหมายอาญาในประเทศไทยไม่ได้กำหนดให้การกระทำที่โหดร้ายทารุณหรือการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเป็นความผิดทางอาญา แต่ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญาได้ระบุถึงสิทธิทางกฎหมายของผู้ต้องขังในการเข้าถึงทนายความของผู้ถูกจับกุมและผู้ต้องขัง สิทธิในการได้รับการเข้าเยี่ยมจากครอบครัว สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตามสมาคมป้องกันการทรมานระบุว่าถึงแม้สิทธิเหล่านี้จะถูกบัญญัติไว้ตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติมักไม่ถูกนำมาบังคับใช้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจงดเว้นสิทธิ ช่องว่างและข้อยกเว้นทางกฎหมายทำให้ง่ายต่อการเกิดการทรมาน การกระทำอื่นที่โหดร้ายทารุณ และลิดรอนสิทธิผู้ต้องขังโดยเจ้าหน้าที่ ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ต้องขังไม่ทราบสิทธิทางกฎหมายของตน และไม่สามารถติดต่อแจ้งสมาชิกในครอบครัวเรื่องการคุมขังได้ การขาดมาตรการคุ้มครองทำให้การป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานเป็นไปไม่ได้ เพราะทนายความหรือสมาชิกในครอบครัวไม่สามารถรับรู้ และเรียกร้องความเป็นธรรมได้ (อ่านยุทธศาสตร์การป้องกันการทรมานได้ที่ https://bit.ly/2WWmLv1)

ทั้งนี้ข้อแนะนำต่อประเด็นข้างต้นคือการเพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญเรื่องมาตรการคุ้มครอง และเครื่องมือที่ใช้ได้จริงสำหรับกลุ่มเปราะบางซึ่งมีความเสี่ยงในการถูกคุมขัง

สแกน QR code เพื่อเรียนรู้สิทธิและเครื่องมือเพิ่มเติมในรูปแบบภาษาไทย หรือเข้าเว็บไซต์ https://bit.ly/2WW6wJC   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท