คุยกับนักวิชาการสื่อใหม่ มองปรากฏการณ์ 'ช่อ-ปารีณา' และอำนาจของโซเชียลมีเดีย

สัมภาษณ์ เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ผู้ศึกษาการใช้โซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ 'ช่อ-ปารีณา' การตอบโต้ทางโซเชียลฯ อย่างรุนแรง และการขุดคุ้ยอดีตเมื่อเทียบกับนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งทำความเข้าใจพลังอำนาจทางการเมืองของโซเชียลมีเดีย

  • การขุดเรื่องในอดีตของคนจากโซเชียลมีเดียนั้น ต่างประเทศก็มี แต่กรณีของ 'ช่อ' ต่างกัน มันไม่ใช่เป็นการตรวจสอบนักการเมืองที่โปร่งใสหรือมีพฤติกรรมที่เหมาะสม แต่เป็นการใช้มาตรฐานลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่นมาวัด
  • ‘มีม(Meme)’ ต่างจากข่าวและการสื่อสารประเภทอื่น คือ เป็นสิ่งจูงใจให้คนเชื่อได้เร็วมาก แค่เห็นไม่รู้ว่าใครพูดก็เชื่อ และละทิ้งตรรกะหรือว่าละทิ้งวิจารณญาณความสงสัยสิ่งที่เราเห็นทันที
  • อินเทอร์เน็ตทำให้สังคมที่มันมีลักษณะเอื้อให้คนมาอยู่เป็นกระจุก อยู่ในห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) อยู่ในกลุ่มของเราเอง โดยโครงสร้างเฟสบุ๊คก็คัดเลือกเนื้อหาที่เหมือนๆ กัน ให้ปรากฏในหน้าข่าวของเรา เราไม่ออกมาจากฟองอากาศ (Bubble) อันนี้เลย และเมื่อใครแหลมเข้ามาในวงจรเราก็รู้สึกว่าแปลกต้องจัดการมัน
  • พลังในโซเชียลนั้นในอเมริกาสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ผ่านการเลือกตั้ง ถ้าปล่อยให้ประชาธิปไตยมันทำงาน  

รอบ 1 เดือนที่ผ่านมาการเมืองมีความร้อนแรงอย่างมากทั้งในสภาฯ อย่างการเลือกนายกฯ และในโซเชียลมีเดียก็เช่นกัน โดยเฉพาะปฏิกิริยาของ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ หลังจากมีผู้เข้าไปไล่แสดงความเห็นและต่อว่าทางเฟสบุ๊คของเธอ รวมไปถึงการตรวจสอบและขุดคุ้ยโพสต์มุมมองทางการเมืองและสถาบันกษัตริย์ของ ช่อ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ในอดีตเพื่อมาเสียบประจาน และอื่นๆ อีกมากมายในรอบเดือนนี้ที่สะท้อนถึงพลังของสื่ออย่างโซเชียลมีเดียที่มีผลต่อการเมืองภายนอกโลกออนไลน์นี้

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ประชาไท จึงถือโอกาสพูดคุยกับ เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท - ฟูลเลอร์ตัน ( California State University-Fullerton ) สหรัฐอเมริกา ผู้ศึกษาการใช้โซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อทำความเข้าใจเมื่อเทียบกับนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะในต่างประเด็น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งทำความเข้าใจพลังอำนาจทางการเมืองของโซเชียลมีเดีย

00000

ประชาไท : มองปรากฏการณ์การใช้เฟสบุ๊คของ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ตอบโต้คนที่เข้าไปไล่จี้ ต่อว่า และโจมตีเขาในเฟสบุ๊ค จนฝ่าย ปารีณา เอง ก็ตอบโต้รุนแรง โยนไปว่าที่มาแสดงความเห็นต่อว่าเขาในเฟสบุ๊คนั้นเป็นทีมงานของอนาคตใหม่ว่าอย่างไร ในขณะที่บางคนมองว่ามันทำให้การเมืองติดอยู่ที่ประเด็นการต่อว่าหรือด่ากันไปมา?

เพ็ญจันทร์ : จริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในออนไลน์ต่างประเทศก็มีเยอะ อย่างเช่นในทวิตเตอร์ คนที่เป็นบุคคลสาธารณะโดนหมด กรณีของ อีลอน มัสก์ เมื่อปีที่แล้วถ้าจำได้ คือคนที่มาช่วยทำอุปกรณ์เหมือนจรวด เพื่อมาช่วยเด็กติดถ้ำหลวง หลังจากนั้นก็โดนเยอะมาก โดนคนด่า ภาษาอังกฤษเรียกว่า Troll ซึ่งในต่างประเทศมันก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่คิดว่าการที่คุณปารีณา โดนนั้นเป็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร(ไอโอ)ของอนาคตใหม่ คิดว่านี่คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Troll คือคนจะเข้าไปใส่อารมณ์และก็ไปด่าในทางเสียหายและไม่มีเหตุผล ถามว่าฝรั่งมีเหตุผลไหม ฝรั่งมีเยอะด้วย นักการเมืองเขาก็โดน ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาก็โดน แถมบางทีทรัมป์ก็ใช้ทวิตเตอร์ของตัวเองไป Troll คนอื่น ไปด่าเขาก็มี

มันก็เป็นปรากฏการณ์ในโซเชียล ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นบุคคลสาธารณะ อย่างนักการเมืองอเมริกัน ตัวอย่างที่ดิฉันพูดถึงก็คือ มีนักการเมืองหน้าใหม่คนหนึ่งชื่อ อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เทส คนนี้เป็นนักการเมืองใหม่มาจากรัฐนิวยอร์ก ปีที่แล้วมันมีการเลือกตั้ง ส.ส. เขตนี้เป็นเขตที่รวมเขต The Bronx กับ Queens  ซึ่งเป็นเขตที่ไม่ค่อยจะดีในนิวยอร์ก เป็นย่านที่ค่อนข้างจะโทรมนิดหนึ่ง แล้วก็มี ส.ส. พรรคเดโมแครตที่อยู่ในสมัยมานานพอสมควร เป็นผู้ชายผิวขาวและครองตำแหน่งมา 14 ปี ไม่มีใครไปยุ่งอะไรกับเขาเลย อยู่ดีๆ ก็มีผู้หญิงอายุประมาณยี่สิบกว่าๆ เชื้อสายเปอร์โตริกัน เริ่มไปแคมเปญหาเสียงแข่งกับคนนี้  แต่เธอทำการบ้านเยอะไปเคาะประตูบ้านและก็สื่อสารกับผู้คนผ่านโซเชียลได้ดี หลังจากได้เข้าไปทำงานในสภาเธอก็โดน Troll ว่าเธอเคยเป็นเด็กเสิร์ฟมาก่อน จะมาเป็น ส.ส. ได้หรือ หรือไม่ก็บอกว่า ได้เลือกตั้งมาเพราะว่าเป็นฮิสแปนิก (เชื้อสายละตินอเมริกา) มีคนเลือกเธออยู่ไม่กี่กลุ่ม คือ 1. เดาว่าจะเป็นแค่เด็กรุ่นใหม่ 2. เป็นพวกฮิสแปนิก เหมือนเธอ แต่เธอยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะคนเลือกเธอมีทุกกลุ่ม เธอได้เข้ามาเพราะว่าเธอทำงานหนัก เดินเคาะประตูบ้านจนรองเท้าขาดทะลุ ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เธอโดนคนเข้ามา Troll เข้ามาด่าในทวิตเตอร์ บางทีก็ด่าออกสื่อด้วยคำเสียๆ หายๆ  สบประมาทว่าเป็นบาร์เทนเดอร์มาเป็น ส.ส. และเธอก็ทวิตกลับไปแก้เกม เธอเป็นคนที่แก้เกมเก่งในทวิตเตอร์  แต่เป็นการโต้ตอบกลับอย่างสุภาพ ในขณะที่เมืองไทย ดิฉันก็งงว่าทำไมด่ากันหยาบๆ ขนาดนี้  

ทวิตเตอร์ของ Alexandria Ocasio-Cortez https://twitter.com/aoc

กลับมาที่ประเด็นก่อนหน้า คิดว่าการที่อนาคตใหม่มีแฟนที่ชอบเยอะ ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า ‘ติ่ง’  ติ่งอนาคตใหม่ ไปตอบโต้แก้แทนให้อนาคตใหม่ ทีนี้คุณปารีณาก็ไม่ยอม เขาก็เล่นกลับ พอโต้ไปโต้มา มันก็กลายเป็นดราม่าในโซเชียล แล้วสื่อกระแสหลักก็เอาไปปัดกระแส เพราะว่าข่าวแบบนี้ขายได้อยู่แล้ว แต่ทีนี้คือเราจะอยู่ในจุดนี้หรือเราจะอยู่ในสังคมที่ดีกว่านี้ คือ เราควรจะคุยกันอย่างสุภาพไหม แต่ในกรณีนี้มันมีการโต้กันไปมา ไม่มีคนที่สามารถจะโต้และทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหยุดได้เลย สิ่งที่ฉันเห็นคือ ต้องมีความเป็นอารยะในระดับหนึ่ง คือ คุณไปโต้กลับเขา แต่คุณไม่ควรโต้กลับไปด้วยคำหยาบคาย ควรจะพูดที่เป็นความจริง เป็นเหตุเป็นผล ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งจบด้วยข้อเท็จจริง แต่ทีนี้มันกลายเป็นว่าต่างฝ่ายต่างก็ใช้อารมณ์ใส่กันอย่างคำว่า ‘ส.ส. ตลาดล่าง’ แทนที่เราจะเอาความจริงมาพูดกัน หรือว่าถ้าพูดไม่ถูกก็แก้ให้มันถูก แต่คนก็เลือกที่จะใส่อารมณ์ซึ่งกันและกัน มันเลยกลายเป็นเชื้อ ทำให้เกิดการปะทุเกิดขึ้นในสื่อ และถามว่ามีใครผิดไหม มันก็ไม่ผิดดิฉันก็เข้าใจติ่งส้ม หรือว่าพรรคอนาคตใหม่เขาก็ไม่ยอม มีใครไปว่าเสียๆ หายๆ เขาก็ออกมาปกป้องอนาคตใหม่ แต่คุณปารีณา ก็ปกป้องตัวเอง เขาไปงานศพ นี่คือฐานเสียงของเขา ทีนี้จะมองในเชิงกลยุทธ์ก็คืออนาคตใหม่ไม่ควรจะไปว่าเขาตั้งแต่แรก

อาจจะมองว่าในมุมแบบนี้มันจะนำไปสู่พัฒนาการ มันจะขยับไปข้างหน้าได้อย่างไร คือฝ่ายที่ไปปกป้องพรรคอนาคตใหม่เองก็เล่นประเด็นนี้ ไปโจมตีคุณปารีณา คุณปารีณาก็ไปโต้กลับ แล้วสื่อก็นำเสนอมันดึงดูดความสนใจของคนระดับหนึ่ง มันทำให้ประเด็นทางการเมืองมันไม่ขยับไปข้างหน้าเลย ซึ่งอาจจะรวมในหลายๆ กรณี มันก็มีการตั้งคำถามกรณีคุณช่อ ที่โดนขุดกลับ ระหว่างนี้มันก็จะมีเรื่องที่ไม่ได้รับความสนใจ เช่น เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล การที่พรรคการเมืองทะเลาะกันบ้าง หรือวันก่อนการชนะประมูลของดิวตีฟรีของคิงพาวเวอร์ มันทำให้คนไปโฟกัสความสนใจเรื่องระหว่าง ‘ช่อกับปารีณา’ นั้นแทน แบบนี้มันเป็นไปโดยธรรมชาติหรือที่อื่นก็เป็นไหม หรือว่ามันเป็นไปอย่างมีแบบแผนหรือไม่?

ดิฉันมองว่าอย่าง คสช. เคยทำแบบนี้หลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา เหมือนกับว่าเขาเอาดราม่าเรื่องอื่นมาปกปิดเรื่องที่คนควรจะตรวจสอบ เหมือนเคสนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร และมันเหมือนมีดราม่ามาฉุดขึ้นมาแทรกดึงความสนใจประชาชน อันนี้เป็นยุทธศาสตร์ของทางการที่ต้องการจะเบี่ยงความสนใจคน แต่การที่ไปขุดเรื่องในอดีตของคนจากโซเชียลมีเดีย อย่างนี้มันมีอยู่แล้วต่างประเทศก็มี บางทีไม่ได้เป็นแค่นี้นะ บางทีไปขุดประวัติเลย อย่างเช่น เคยซ้อมเมีย หรือว่าคนที่มีอำนาจใกล้ชิดทรัมป์อย่าง สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) คือเขาเป็นคนวางแผนกลยุทธ์ เป็นมือขวาทรัมป์ เคยซ้อมเมีย สื่อในประเทศเขามีเสรีภาพในการเข้าไปดูสำนวนของตำรวจจดบันทึกประจำวันว่าเคสนี้โดนอย่างไร  

ส่วนกรณีของคุณช่อต่างกัน มันไม่ใช่เป็นการตรวจสอบนักการเมืองที่โปร่งใสหรือมีพฤติกรรมที่เหมาะสมไหม เพราะว่ามาตรฐานเหล่านี้มันมีลักษณะพิเศษเกิดขึ้น คือมาตรฐานของความเหมาะสม ความดีงาม เรามีมาตรฐานที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่น ของเราสิ่งไม่ดีคือการที่ไปโพสต์ลักษณะที่อาจถูกมองว่าหมิ่นหรือไม่เหมาะสมกับสถาบันกษัตริย์ เพราะฉะนั้นคนก็เลยใช้สิ่งนี้ในการโจมตี ซึ่งจริงๆ ควรจะตรวจสอบโปร่งใสของ ส.ส. หรือพฤติกรรม ส.ส. มาใช้กับคุณช่อในเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ที่มีนิยามต่างกันกับต่างประเทศ

ซึ่งเคสเราอีกแง่หนึ่งคือ ‘การล่าแม่มด’ การใช้สิ่งนี้มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำลายคนอื่น ใครเป็นศัตรูทางการเมืองก็เอาสิ่งนี้ขึ้นมาใช้ ซึ่งมันก็ใช้ซ้ำๆ มาตลอด คนที่เป็นศัตรูกับทางผู้มีอำนาจจะถูกขุดเรื่องนี้มาใช้ตลอด ถามว่าต่างประเทศมีไหมเรื่องการขุดอดีตมันมีอยู่แล้ว แต่ของเรามันคือ ‘การล่าแม่มด’ อย่างไรก็ตามมีข้อดีในแง่ที่ว่า สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยสนใจการเมืองก็ได้เห็นว่า คนที่เขาเลือกมาแล้วมันโดนแบบนี้ และอาจจะต้องตั้งคำถามว่า การใช้เครื่องมือตัวนี้ในการจัดการกับคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับเราว่าเป็นภัยคุกคามทางการเมืองหรือความมั่นคงของพรรคก็แล้วแต่ มันควรที่จะดำเนินไปในลักษณะนี้หรือเปล่า หรือว่าอะไรที่เราไม่ชอบ ใครเราก็เอาข้อหานี้ไปเล่นงานเขาไปตลอดเวลา

เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์สเตท - ฟูลเลอร์ตัน ( California State University-Fullerton ) สหรัฐอเมริกา

แต่ว่าการไปขุดคุ้ยในอดีต คือต่างประเทศก็เป็นเรื่องปกติใช่ไหม?

มี เป็นการตรวจสอบ ส.ส. เป็นการตรวจสอบคนที่อำนาจ มีตลอดและมีอยู่ในการเรียนนิเทศ นักเรียนในวิชา investigative journalism มีสิทธิ์ไปขอคุยกับตำรวจนะ ขอตำรวจดูสำนวนคดีด้วยว่าคดีนี้เคยถูกบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นสาธารณะว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนี้บ้าง เพราะฉะนั้นการสืบถือเป็นเรื่องพื้นฐานของการเป็นนักข่าว แต่ประเด็นของช่อไม่ใช่ ประเด็นของช่อมันคือ ‘การล่าแม่มด’ เป็นการเอามาตรฐานของความดีงามชุดหนึ่งมาเป็นข้ออ้างและไปล่า ที่สำคัญมีการทำ ‘มีม(Meme)’ การทำมีมมันต่างจากข่าว ต่างจากการสื่อสารประเภทอื่น คือ มีมเป็นสิ่งจูงใจให้คนเชื่อในแบบที่เร็วมาก แค่เห็นปุ๊บไม่รู้ว่าใครพูดก็เชื่อ คนจะละทิ้งตรรกะหรือว่าละทิ้งวิจารณญาณหรือความสงสัยสิ่งที่เราเห็นทันที เพราะฉะนั้นเลยทำให้ฝ่ายนั้นผลิตมีมออกมา  และที่ร้ายแรงกว่านี้คือ จับแพะชนแกะมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งฟังดูแล้วถ้าเกิดคนที่ไม่ได้เรียนทางด้านตรรกะ มันก็จะมีตรรกะวิบัติเกิดขึ้น  เพราะฉะนั้นการใช้สื่อสำคัญ สื่อเปลี่ยนแปลงหรือว่าสื่อมีผลกับความคิดหรือพฤติกรรม รวมทั้งจะมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ‘สื่อเปลี่ยนวิธีการที่สมองประมวลข้อมูลด้วย’ เช่น นิโคลัส คาร์(Nicholas G. Carr) เขาเชื่อว่าการใช้กูเกิ้ลการใช้อินเทอร์เน็ตมันเหมือนกับการสลับขั้วในหัวสมองเรา วิธีการคิด เขามีสมมติฐานนี้ตั้งแต่ 2008 ว่า การที่เรากูเกิ้ลอะไรเร็วๆ มันทำให้เราไม่มีความอดทน เพราะฉะนั้นเวลาเราอยากรู้อะไรกูเกิ้ลก็รู้แล้ว ซึ่งมันไม่เหมือนเมื่อก่อนต้องเดินทางไปห้องสมุดเพื่อค้นหา กว่าจะหาอะไรเจอ มันต้องอ่านๆ จนได้ข้อสรุป เดี๋ยวนี้เราพึ่งคนรีวิวเพื่อตัดสินใจ มันรวดเร็วมาก เพราะว่าเราเคยชินกับมัน เราก็อาศัยคนอื่นช่วยในการรีวิวอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นเรื่องการเมือง เราก็ไม่ใช้เวลาที่จะสร้างข้อถกเถียงหรือถกเถียงกับสิ่งที่เราเห็นเองเลย แต่เมื่อเห็นกลับเชื่อเลย

แปลว่าการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารมันทำให้เป็นอุปสรรคเหรอ ?

คือมีคนคิดว่าอาจจะเป็นผลจากการใช้เทคโนโลยี เช่นในบทความเรื่อง Is Google Making Us Stupid? (ของ Nicholas G. Carr) เชื่อว่าการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตมีผลกับการประมวลข้อมูลในสมองเรา สื่ออินเทอร์เน็ตมีผลกับเราในแง่ที่ทำให้เราเคยชินกับการที่เราไม่สามารถคิดอะไรที่เป็นลักษณะเหมือนเมื่อก่อนที่เราจะคิดอะไรที่เป็นเส้นตรง ซ้ายไปขวาเรื่อยๆ ตอนนี้เราไม่คิดอะไรแบบนั้นแล้ว เราคิดอะไรที่มันไม่ประติดประต่อ คิดอะไรที่มันเป็น Fragment เป็นช่วงขาดตอน เป็นต่อนๆ ไม่สามารถคิดอะไรต่อเนื่องได้ เพราะฉะนั้นการสร้างข้อถกเถียงหรือการคิดวิเคราะห์เลยมีปัญหา ขาดเป็นช่วงๆ ไป เพราะฉะนั้นทำให้มีมนี้มีประสิทธิภาพในการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย เพราะว่าเราไม่ต้องอ่านอะไรที่มันเป็นยาวๆ แต่ดูอะไรเป็นรูปๆ เพื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้นมีมถึงมีอิทธิพลในการสื่อสารบนแพลทฟอร์มโซเชียล 

ดิฉันก็เชื่อว่า ‘สื่อสำคัญ’ เช่นเดียวกับที่ มาร์แชล แมคลูอัน (Marshall Mcluhan) เชื่อว่า ‘สื่อสำคัญในการที่จะเปลี่ยนสังคมได้เลย’ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เช่น เงินมีบทบาทแพร่หลายในสังคมญี่ปุ่นศตวรรษที่ 17 เงินนี่เป็นเทคโนโลยีที่ลดความบทบาทของระบบเจ้าขุนมูลนายในรัฐญี่ปุ่น เปิดประเทศที่ทำการค้าขายกับประเทศอื่นๆ และเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น คือเทคโนโลยีมันไม่ใช่ว่าเราจะต้องทำข้อตกลงกันว่าจะให้มันเปลี่ยนอะไรได้ แต่มันนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่คนในสังคมทั้งในด้านวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ของคนในสังคม และการเมือง

แต่ทีนี้อินเทอร์เน็ตมันให้อะไรกับสังคม สังคมที่มันมีลักษณะเป็นกลุ่มเป็นก้อนหรือว่าสังคมที่มันเอื้อให้คนมาอยู่เป็นกระจุก อยู่ในห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) อยู่ในกลุ่มของเราเอง เพราะว่าโครงสร้างเฟสบุ๊คก็คือมันจะคัดเลือกเนื้อหาที่เหมือนๆ กัน ให้ปรากฏในหน้าข่าวของเรา เราไม่ออกมาจากฟองอากาศ (Bubble) อันนี้เลย เราก็จะเจอคนที่เชียร์พรรคที่เราชอบ ใครแหลมเข้ามาในวงจรเราก็รู้สึกว่าแปลกต้องจัดการมัน มันเป็นโครงสร้างหรือดีไซน์ของการผู้ให้บริการสื่ออย่างเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์

แปลว่าสื่อโซเชียลมันมีปัญหาเป็นพิษเป็นภัยต่อเราอย่างนั้นหรือ?

มันต้องเปลี่ยนเราแน่นอน เป็นพิษเป็นภัยไหม คือมันมีกลุ่มที่ได้เปรียบและเสียเปรียบ คนที่เข้าใจสื่อใหม่ใช้สื่อใหม่ได้ดีก็ได้เปรียบ ในอเมริกาก็มีความคิดที่ว่าใครที่ใช้สื่อใหม่ สื่อไหนในช่วงเวลานั้นๆ อย่างเช่น วิทยุประธานาธิบดี FDR แฟรงกลิน โรสเวลต์ เขาเป็นคนที่พูดเก่งในวิทยุ เสียงทุ้ม ฟังแล้วน่าเชื่อถือ เช่น เขาพูดเรื่องไปช่วยคนที่อยู่ในยุโรป ช่วยคนยิว เราต้องไปช่วยสงครามโลกนะ แล้วคนก็คล้อยตาม แล้วเมื่อเริ่มมีโทรทัศน์ ตอนประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ก็เป็นยุคของสื่อทีวี เขาเป็นดารามาก่อนว่าเขารู้ว่าจะพูดหน้าทีวีอย่างไรให้ดูมีเสน่ห์ พอหลังจากมีทีวีแล้วอาจารย์ดิฉันก็พูดว่า คุณดูสิในอเมริกาหลังจากมีทีวีแล้วใครที่หัวล้านแล้วได้เป็นประธานาธิบดีบ้าง? ไม่มี รูปลักษณ์มันเลยกลายเป็นสิ่งสำคัญฉะนั้นพอมันมีสื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย ทวิตเตอร์ คนใช้สื่อนี้เก่ง อย่างทรัมป์ทวีตทุกวัน ตั้งวาระให้กับสื่อทุกวันเลย แล้วสื่อก็มีความผิดตรงที่ว่าสื่อไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทรัมป์ทวีต ไปรายงานสิ่งที่เขาทวีตให้ความสำคัญเขามาก คนก็เลยรู้สึกว่าทรัมป์พูดแล้วโดนใจจังเลย เขาเก่งในสื่อนั้น รวมถึง AOC (อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ - Alexandria Ocasio-Cortez) ด้วย AOC ก็เป็นคนที่ใช้ทวิตเตอร์เก่ง เวลาที่เธอโพสต์เธอจะสื่อสารกับคนที่เป็น follower เขา เขาพูดสั้นๆ ง่ายๆ ให้คนเข้าใจว่านโยบายเรื่องประกันสุขภาพดีอย่างไร เธอเปรียบว่าเธอเคยเป็นคนเสิร์ฟอหารมาก่อน ตอนที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. แล้วตอนนั้นยังไม่มีประกันสุขภาพด้วยซ้ำ พอตอนเป็นส.ส.แล้วซื้อประกันสุขภาพถูกกว่าตอนเป็นเด็กเสิร์ฟอีก อย่างนี้เป็นต้น คือเธอมีวิธีการสื่อสารกับคนในโซเชียลที่เป็นประเด็นสำคัญทางการเมือง คนใช้สื่อเก่งก็ได้เปรียบ

ประธานาธิบดีแฟรงกลิน โรสเวลต์ และประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

ปัจจุบันแฮชแท็กในทวิตเตอร์มักขึ้นมาติดเทรนด์ในไทยบ่อยครั้ง มองว่าอย่างไร?

อย่างแรกเลยคือการบอกว่าคนบนทวิตเตอร์คุยหรือสนใจเรื่องอะไรอยู่ มันเป็นการเปิดประเด็นการถกเถียงในสังคม ที่ผ่านมาก็มีประเด็นหลายเรื่องเช่นในอเมริกาที่คนผิวสีได้รับความอยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือรัฐ ก็มีกระแส #BlackLivesMatter หรือล่าสุดก็มี #MeToo มูฟเมนต์ แต่ก็มีคนไปวิจารณ์ว่าแฮชแท็กแล้วไงแล้วมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไหม ก็มีคนกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นพวกขี้เกียจอยู่บ้านเป็นพวก slacktivism หรือพวกไม่ยอมออกไปเสี่ยงบนท้องถนน อยู่บนออนไลน์ แล้วทวีตๆ ไปแล้วก็คิดว่าเรามีส่วนร่วมทางการเมือง หรือว่ามันจะเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ มันก็มีคนปรามาสไว้แบบนี้ หรือว่า clicktivism มันก็ทำให้เปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือไม่ มันก็มีคนปรามาสไว้ว่าทำแบบนี้คงจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าสื่ออินเทอร์เน็ตมันจะแทรกซึมเข้าไปในความคิดของเรา มันจะมีอิทธิพลต่อความคิดของเรา นักนิเทศศาสตร์ก็เชื่อไปในแบบต่างๆ มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่เขาศึกษาเรื่องประท้วงก็เชื่อว่าแฮชแท็กก็มีความสำคัญที่จะรวมคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันเข้ามา และก็จะทำให้คนออกไปบนท้องถนนด้วย แต่อาจจะไม่ใช่แฮชแท็กอย่างเดียวอาจจะต้องเป็นภาพด้วย ภาพที่ตัวเองไปถ่ายหรือว่า เป็นพรรคสีส้มที่มันจะมีให้คลิกแล้วขึ้นอนาคตใหม่ในโปรไฟล์ ด้วยโครงสร้างอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกันในเครือข่ายมันจะทำให้เราสามารถที่จะทำให้เรามีอิทธิพลต่อเครือข่ายเรา ทำให้เราก็คล้อยตาม คนนี้เชื่ออย่างนี้รู้สึกว่ามันจริง หรือให้คนนี้เถียงอันนี้ ก็รู้สึกว่ามีเหตุผล ก็เราอยู่ในเครือข่ายเดียวกับเขาแล้วเราจะเห็นว่าเขาทำอะไร เช่น ในเชิงโฆษณาเขาก็คิดว่าวิธีการนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการขายของ อันนี้คือจากการตลาดเขาบอกว่าเวลาเราเห็นเพื่อนเราใช้อะไรอย่างปากกาสักยี่ห้อหนึ่งก็มาอวด มาโพสต์ แล้วคนเขาก็บอก เฮ้ยปากกานี้มันดีหรือ เดี๋ยวซื้อบ้าง เพื่อนเราก็ใช้ อย่างนี้เป็นต้น มีคนที่ศึกษาเรื่องนี้มาว่าการที่เรามีข้อความสั้นๆ ให้คนไปเขียนหรือโพสต์ได้ จะทำให้มีส่วนร่วมและนำไปสู่การเคลื่อนไหวบนท้องถนนได้ เช่น Occupy street ก็มีคำพูดที่ว่า We are the 99 percent ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ ซึ่งคนสามารถเขียนป้ายหรือโคว้ทคำพด ลงรูป ถ่ายเซลฟี่ เกิดการขับเคลื่อนไปบนท้องถนนได้ แล้วมันก็ทำให้เกิดการประท้วงบนถนน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ รับฟังข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวันเมื่อ 6 เม.ย. 2562 ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิคความวุ่นวาย หรือประชาชนกระทำผิดกฎหมาย และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ช่วยเหลือให้ที่พักพิงผู้ต้องหา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายคอยควบคุมสถานการณ์อยู่

กระแสตื่นตัวเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ในทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คสูงมาก แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่าวันที่ ธนาธร ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน คนไปให้กำลังใจกลับไม่มากเหมือนที่ปรากฏในโซเชียลเน็ตเวิร์ค มันสะท้อนอะไรหรือไม่? หรือด้านหนึ่งคนก็มองว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งเท่าไหร่ เป็นพรรคในทวิตเตอร์ แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริงกลับได้เป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร?

เมื่อปีที่แล้วคนเขาปรามาสมากเลยว่าธนาธรเป็นนายกได้แต่ในเฟสบุ๊คเท่านั้น แต่ดิฉันเป็นนักนิเทศศาสตร์ ดิฉันคิดว่ามาแน่ เพราะอะไรรู้ไหม คนมันเชื่อมต่อกันในเครือข่ายเพราะฉะนั้นเวลาทำอะไร โดยเฉพาะที่คนรุ่นใหม่หรือคนที่ไม่สนใจการเมือง เห็นเพื่อนสนใจการเมืองคนนี้ พรรคส้มเป็นอย่างไร หรือว่ากลุ่มนี้ๆ เป็นอย่างไร ฉะนั้นมันจะ mobilize ไปเป็นกลุ่มๆ เดี๋ยวนี้คนเข้าถึงเฟสบุ๊คไปทั่วหมดแล้ว เรียกได้ว่าคนมีอินเทอร์เน็ตในไทยคือใช้เฟสบุ๊ค ทุกคนมีเฟสบุ๊คหลายแอคเคาท์ด้วยเพราะดิฉันเชื่อว่าการที่สังคมมาถึงจุดนี้ดิฉันจึงเชื่อแต่แรกว่าธนาธรมาแน่ คนรุ่นใหม่ ต่างจังหวัด หัวเมืองของแต่ละภาคมันเข้าถึงหมดแล้ว คนเขาฟังต่อจากเพื่อน กลุ่มไลน์ คือดิฉันเชื่อว่าเขา mobilize ได้ แต่การโหวตต้นทุนอาจจะไม่สูงเหมือนการไปลงถนน ที่อาจจะต้องเสี่ยงภัย เพราะอะไร คนรู้ว่ามันมีความเสี่ยง ประเทศไทยลงถนนแล้วตายจริงเจ็บจริง

ดิฉันเชื่อว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากเกิดเหตุการณ์ 2553 นั้นที่เสื้อแดงโดนสลายการชุมนุม การต่อต้านผู้มีอำนาจ คสช. มันเปลี่ยนในแง่ที่ว่าในช่วงที่ออกมาประท้วง รัฐประหาร 2557 มันมีลักษณะคือคนรู้แล้วว่าถ้าคุณลงถนนคุณต้องโดนเขายิงแน่ๆ เขาไม่เลี้ยงไว้หรอก คนกลุ่มนี้มันมีความโหด แล้วคุณดูหลังจากนั้นการเคลื่อนไหว ดิฉันสัมภาษณ์คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ มองการเคลื่อนไหวการต่อต้านรัฐบาลมันมีลักษณะที่สู้เป็น ไม่สู้ตายแล้วคุณสู้เป็นเรื่องอะไรจะสู้ตาย เพราะตายจริง คนไม่เอาแล้วคนต้องสู้เป็นทีนี้คนที่สู้เป็นก็คือคนเขาเชื่อว่า ปราบอยู่หมัดแล้วไม่มีใครกล้ามาทำอะไร ตอนนี้มันเป็นสังคม ที่ประชาชนก็เป็นแบบตุ๊กตาล้มลุก ทำอะไรก็ก้มหน้าไปอย่าไปสู้กับพวกมีอำนาจมากมันเล่นจริง แต่ดิฉันก็คิดว่ามันมีประชาชนหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่คิดที่จะต่อสู้กับอำนาจเผด็จการในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งมาแบบรูปแบบสื่อที่เป็น popular culture คือการต่อสู้มันไม่ได้ต่อสู้อยู่บนท้องถนน การชุมนุมใหญ่ๆ อีกแล้วการต่อสู้มันใช้สัญลักษณ์หรือสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น ชูสามนิ้ว มันง่าย สะดวก ไม่ต้องพกแผ่นป้ายอะไรไปเลย คุณมีมือ มีมือถือ ชูสามนิ้วถ่ายเซลฟี่แล้วเดินหนีไปเลยไม่มีใครรู้ว่าคุณมาชูสามนิ้ว มันเป็นการแสดงออกที่เราไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร บางคนก็ไปอ่านหนังสือ 1984 ไปปิกนิกดูหนังฮังเกอร์เกมส์ ก็จะมีหลายรูปแบบเช่น คุณจ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ไปเที่ยวอุทยานราชภักดิ์ อย่างนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ผมสู้นะแต่ผมสู้เป็นแล้วคนกลุ่มนี้ก็ไม่เลิกนะ ตอนที่ไปครบรอบ 1 ปีอนาคตใหม่ยังมีคนชูสามนิ้วอยู่เลย คือฉลาดสู้เรื่องอะไรจะเป็นเป้าให้เขายิงถึงเวลาก็ไปหลบอยู่ใต้ดินแล้วค่อยออกมาใหม่ หรือคิดมุกใหม่ในการต่อสู้ รูปนาฬิกายืมเพื่อนมามันก็คือการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ คิดมุกมาว่าคุณจะสู้เขาอย่างไร

นักรัฐศาสตร์เขามองว่าแล้วทำอย่างนี้จะเปลี่ยนอะไรได้ แค่ใส่เสื้อ ถ่ายรูปเซลฟี่ แต่ดิฉันจะบอกว่าการต่อสู้นั้นมันยังไม่สิ้นสุด มันยังไม่รู้เลยว่าแพ้หรือเปล่า วันนี้แพ้แต่ในระยะยาวคุณไม่รู้ แต่ต้องมีคนถามว่าแล้วอย่างนี้จะนองเลือดไหมจะทำอย่างไรให้คนมาออกถนนอีก มาต่อสู้ มันตอบไม่ได้หรอกเวลาที่คนจะออกมาลงถนนมันต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ทุกคนออกมา มันอาจจะเป็นความโกรธอะไรที่รุนแรงก็ได้ ซึ่งบางทีมันจะเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่องก็ได้ อาจจะไม่ใช่เพราะมีใครโดนฆ่า อาจจะเป็นเรื่องอะไรเล็กน้อยที่คนๆ หนึ่งไม่ได้รับความยุติธรรมซึ่งผลักให้คนที่ชอบพรรคอนาคตใหม่มากๆ แล้วมันทนไม่ไหว คือเด็กที่เข้ามาเลือกตั้งครั้งแรกเขาผิดหวังเหมือนถูกปล้นเลย ทำไมอยู่ดีๆ ได้นายกคนเดิมที่เขาก็ไม่ได้เลือก เขาเลือกอนาคตใหม่ สำหรับคนหนุ่มสาวปัจจัยที่ทำให้เขาไปอยู่ท้องถนนคงจะเป็นความโกรธ ซึ่งก็มีเยาวชนส่วนหนึ่งเขาพูดผ่านเพื่อนที่เป็นอาจารย์ว่าเขาเข้าใจว่าทำไมตอนนั้นเสื้อแดงถึงต้องไปลงถนน เขาโกรธ คือเสียงที่เขาเลือกมามันไม่มีความหมาย เขาถูกปล้น เด็กบอกว่าพร้อมที่จะไปอยู่บนถนนเหมือนกัน

แต่กลไกที่จะตัดสินทางอำนาจ อย่างกองทัพก็มีอำนาจทางทหารในการเข้ารัฐประหาร หรือตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูณก็มีการวินิจฉัย หรืออาจมี ส.ว.250 ฯลฯ คำถามคือ ความไม่พอใจในโซเชียลเน็ตเวิร์คนี้ มันแปลงเป็นอำนาจได้อย่างไร?

อเมริกาแปลงได้ แปลงผ่านการเลือกตั้ง ถ้าปล่อยให้ประชาธิปไตยมันทำงาน อเมริกามันเปลี่ยนโดยการเลือกตั้งคือครั้งหน้าไม่เลือกแล้ว ผู้ชายผิวขาวที่เป็นตัวแทนประชาชน แต่ไม่เห็นหัวชาวบ้านเลยทำอะไรเพื่อคนรวยตลอด ครั้งนี้ฉันเลือกผู้หญิงดีกว่าผู้หญิงที่ว่าเป็นเด็กเมื่อวานซืนจะฝากความหวังไว้กับคนเหล่านี้ หรือว่ามันเปลี่ยนในรัฐมิสซูรี่ เขตที่มีคนผิวดำโดนยิงแล้วผู้หญิงผิวดำลงสมัครแล้วก็ชนะ คือคนมันเปลี่ยนไง เพราะว่าคุณเอาจริงไง จริงๆ มันยากนะ ทุกคนแม้แต่คนลงรับสมัครเลือกตั้งก็ไม่คิดว่ามันจะเปลี่ยนได้ ประชาชนต้องเชื่อมั่นในตัวผู้แทนก่อน และออกไปเลือกคนที่จะนำความเปลี่ยนแปลงมาได้ แต่เมืองไทยแย่ตรงที่ว่าเราไม่ได้สนประชาธิปไตยแล้ว กลไกมันบิดเบี้ยวไปหมดแล้วมันยาก สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปมันก็ตอบยาก แต่สิ่งที่เป็นความไม่พอใจในโซเชียลไม่ได้ไร้ความหมายสักทีเดียว จะเห็นได้ว่าเรามีคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในมิติต่างๆ ที่กล้าพูดและนำเสนอสิ่งนั้นในโซเชียล และมีผลให้เกิดการตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ ซึ่งก็ได้รับคำตอบบ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จะว่าไปสังคมไทยก้าวหน้าไปมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และมีการแชร์ความคิดที่เป็นประโยชน์มากขึ้น เช่น ประเด็นความหลากหลายทางเพศสภาพ หรือกลุ่มผู้พิการ

บทเรียนของอเมริกาโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารทางการเมือง ที่จะนำมาใช้แบบอย่างหรือบทเรียนในรู้เท่าทันโลกของโซเชียลมีเดียมีอะไรบ้าง?

สำหรับการรู้เท่าทันสื่อ อเมริกาก็มีปัญหานี้เหมือนกัน โดยเฉพาะในประชากรที่มีอายุเยอะและบางทียังงงๆ กับสิ่งที่เห็นบนโซเชียล งานวิจัยจาก Pew Research Center พบว่าคนสูงวัย อายุ 50 ขึ้นไปจะเป็นกลุ่มที่แพร่กระจายข่าวปลอมมากที่สุด ในประเทศไทยก็เช่นกัน เช่น ข่าวปลอมในไลน์ที่พ่อแม่พวกเราแชร์ แต่กลุ่มนี้จะโดนหลอกในทุกแอปพลิเคชั่น มีทั้งแอพเดทติ้ง โดนหลอกให้เสียเงินเสียทอง ไปจนถึงคลิปตัดต่อ ข้อความบอกต่อเรื่องสมุนไพรวิธีรักษาโรคต่างๆ ถ้ามีเวลาน่าจะตรวจสอบด้วยการค้นหาความจริงและเผยแพร่ความจริงนี้ออกไป ตอนนี้เป็นการแย่งชิงพื้นที่ของการสื่อสารกัน รัฐก็ควบคุมไป คนมีอำนาจก็สื่อสาร คนธรรมดาอย่างเราๆ ก็สื่อสารไป ตอนนี้ดิฉันคิดว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการสื่อสารบนโซเชียลคือ พูดเรื่องการเมืองด้วยภาษาง่ายๆ มีอารมณ์ขัน อะไรที่ขำๆ ฮาๆ ตอนนี้มีคนทำอยู่แล้วก็คือ พ่อของคุณจอห์น วิญญู (โกวิท วงศ์สุรวัฒน์) จะทำให้คนชอบ สนใจ หรือว่าเป็นการสื่อสารที่ทำให้คนเข้าใจการเมืองได้ง่าย ไม่ใช่มองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่มีนักวิชาการเข้ามาใช้ทวิตเตอร์เพื่อสื่อสารทางการเมือง เช่น อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ และประชาชนอย่างเราก็แชร์ความเห็นได้ อย่าคิดว่าเราไม่มีอิทธิพลต่อคนอื่น ซึ่งจริงๆ มันมี เราสามารถให้ข้อเท็จจริงกับคนอื่น หรือคนรอบข้างได้

ในกรณีของข่าวลวง (Fake News) จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผู้ตกเป็นเหยื่อจะเป็นผู้ปกครองที่บ้านของตน และ ดูจะไม่มีค่อยทักษะในประเด็นเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งในส่วนนี้ควรจะให้เวลากับเขาหรือควรไปแนะนำเขาในเรื่องการบริโภคสื่อ?

คือเราอาจจะต้องบอกเขาว่ามันเกิดอะไรขึ้น บางทีเราเห็นในอินเทอร์เน็ตมันก็ไม่ควรจะเชื่อทั้งหมด อย่างในกรณีการหาคู่และออกเดทออนไลน์ ในต่างประเทศมีผู้สูงอายุไปเล่นแอพหาคู่และนัดออกเดท ก็จะมีคนเขามาทัก อย่างงั้นอย่างนี้ ฉันรักคุณจังเลย และมันก็จะทำให้เราหลงรักไปเรื่อยๆ แล้วก็จะไม่รู้เลยว่าในลักษณะแบบนี้เขาเรียกว่า Phishing คือการที่คอยจะมาดักเหยื่อ ทำให้เราหลงเชื่อ และก็มาปอกลอกเงินทองอะไรไป โดยอ้างว่าเป็นความรัก แต่ในเชิงการเมือง ก็จะออกมาในรูปแบบของความสามัคคี สถาบัน ซึ่งใครทำอะไรต่างออกไปก็จะ แย่ เลว ผิด ซึ่งคนสูงวัยจะเป็นมากในเรื่องแชร์ข่าวปลอม โดยไม่สงสัยและการตั้งคำถาม ซึ่งโลกของเขาอาจจะไม่เลยมาอยู่ในอะไรแบบนี้ ที่คนแห่กันแชร์ข่าวปลอมอะไรทั้งหลาย เราทำได้อย่างน้อยคือการบอกให้เขารู้เท่าทันสื่อ หรือเมื่อเขาผิดพลาดเขาก็จะได้เรียนรู้จากการผิดพลาดนั้น 

การล่าแม่มด กรณีคุณพรรณิการ์ วานิช ในฐานะของสื่อมวลชนควรจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น?

ในประเทศไทยสื่อมีข้อจำกัดเยอะ ในเรื่องเซนเซอร์ตัวเอง โดนกฎหมายบังคับ หรือสมยอมเองเพราะมีประโยชน์ร่วมกัน เพราะฉะนั้นสื่อก็จะมีความสื่อสัตย์ต่ออาชีพน้อยลง บางทีไม่ใช่สื่อไม่รู้ว่าความจริงคืออะไรหรือไม่ใช่ไม่รู้ว่านี่คือการล่าแม่มด แต่ว่าสื่อไม่กล้าพูดว่าความจริงคืออะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่แย่แล้วเพราะเหมือนเป็นการสนับสนุนให้เกิดการล่าแม่มด สื่อควรตั้งสติ ไม่ใช่ไปร่วมล่ากับเขาด้วย สิ่งที่สื่อน่าจะทำคือการค้นหาความจริงและการนำเสนอข่าวที่ให้บริบท ควรเลิกการไปก๊อปปี้ว่าใครพูดอะไรบนเฟซบุ้ค แล้วก็จบแค่นี้ นี่มันไม่ใช่การรายงานข่าว คุณไปก็อปเขามา คุณควรจะให้ข้อมูลกับประชาชนด้วยว่าเขากำลังพูดเรื่องนี้เพราะอะไร ความเป็นมาก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ถ้ามีการล่าแม่มด คนว่าเขาผิด นั้นผิดยังไง ลงประกอบไปด้วยเลยว่ากฎหมายว่าอย่างไร หรือมีข้อเปรียบเทียบกับกรณีที่ผ่านๆ มาว่าการล่าแม่มดคืออะไร ใครโดนแล้วบ้าง และมีผลที่เกิดขึ้นที่ไม่เป็นธรรม หรือนำสังคมไปสู่จุดไหน การลงคำพูดที่คนโพสต์บนเฟซบุ้คทำได้ คุณก็ทำลิงค์ไปที่ข้อความ แต่ไม่ใช่นี่คืออย่างเดียวของการรายงานข่าว เพราะกลายเป็นว่าคุณไม่ได้ทำหน้าที่นักข่าวเลย  

มองปัญหาการวิจารณ์คนอื่นของคนไทยในโลกโซเชียล รวมไปถึงการล่าแม่มดว่าอย่างไร?

คนไทยมีข้อเสียคือไม่ยึดติดอยู่ในหลักการ อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ไม่เคารพตนเองและผู้อื่น ละเมิดสิทธิของคนอื่นตลอดเวลา กรณีเคอรี่ที่ไปเปิดกล่องของคนอื่นซึ่งเราไม่มีสิทธิ์ไปเปิดกล่องและเปิดโปงเขา และก็เกิดการล่าแม่มดเกิดขึ้น หลายครั้งคนในสังคมเป็นศาลเตี้ยเสียเอง และไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท