Skip to main content
sharethis

สพฉ.ผุดคู่มือปฏิบัติเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน หวังให้ประชาชนใช้ศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 'รองเลขาธิการ สพฉ.' แจงรายละเอียดคู่มือ เปิดข้อมูลอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินพร้อมสอนขั้นตอนการใช้งานสายฉุกเฉิน 1669 และวิธีปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้นหลายอาการ อาทิ โรคหอบหืด อวัยวะถูกตัดขาด การปฐมพยาบาลภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดในสมองแตก/ตีบ/ตัน ย้ำรู้และช่วยเร็วผู้ป่วยรอด

26 มิ.ย.2562 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รายงานว่า นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดทำคู่มือปฏิบัติเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินมาให้ประชาชนได้ใช้ศึกษาและนำไปปฏิบัติเพื่อการรอดชีวิตหากเกิดภาวะฉุกเฉินกับตนเองหรือคนใกล้ชิด โดยในคู่มือได้ระบุถึงความหมายของอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินคือการได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการเจ็บป่วยกะทันหันที่มีผลต่อชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจและรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรืออาการเจ็บป่วยบาดเจ็บรุนแรงขึ้น โดยลักษณะอาการฉุกเฉินที่ควรแจ้งโทร 1669 คือ 1. หมดสติช๊อคสะลึมสะลือเรียกไม่รู้สึกตัว 2. เจ็บหน้าอกหายใจเหนื่อย3.สิ่งแปลกปลอดอุดกั้นทางเดินหายใจ 4. ปากเบี้ยวแขนขาอ่อนแรง 5. ชักเกร็งกระตุก 6. ปวดท้องรุนแรง 7. ตกเลือดเลือดออกทางช่องคลอด 8.เจ็บท้องคลอด คลอดฉุกเฉิน 9. บาดเจ็บจากอุบัติเหตุเช่นรถชน จมน้ำ ไฟฟ้าช็อต ไฟไหม้ สัตว์มีพิษกัดต่อย

รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า ในคู่มือยังได้ระบุถึงข้นตอนการแจ้งเหตุสายด่วน 1669เพื่อให้ประชาชนศึกษาไว้เตรียมตัวหากต้องใช้งานสายด่วนโดยในคู่มือระบุขั้นตอนการใช้งานสายฉุกเฉิน 1669 ดังนี้   1. เมื่อพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669 2.ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด 3. บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน 4. บอกเพศ ช่วงอายุ อาการจำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ 5. บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย 6. บอกความเสี่ยงที่ อาจเกิดซ้ำ เช่นอยู่กลางถนนหรือรถติดแก็ส 7. บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 8. ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ 9. รอทีมกู้ชีพมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสม

นพ.ไพโรจน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในคู่มือเล่มนี้ยังได้สอนวิธีในการทำ CPRหรือการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน โดยระบุขั้นตอนของการทำ CPR ว่าเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนของห่วงโซ่การรอดชีวิต โดยหลักการทำ CPR ผู้เข้าช่วยเหลือจะต้องประเมินผู้ป่วยด้วยการปลุกเรียกโดยใช้มือตบบริเวณไหล่ และรีบโทรขอความช่วยเหลือจากสายฉุกเฉิน 1669 หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ระหว่างรอรถพยาบาลให้ทำการกดหน้าอกสลับการช่วยหายใจ โดยกดหน้าอกจำนวน 30 ครั้งด้วยอัตราความเร็วอย่างน้อย 100-120ครั้งต่อนาที และเป่าลมเข้าปอดผู้ป่วยให้เห็นผนังทรวงอกขยับขึ้น 2 ครั้ง และหากบริเวณนั้นมีเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ(AED) ให้ใช้เครื่อง AED ทันทีสลับกับการทำ CPR

รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในคู่มือเล่มนี้ยังได้บอกวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในหลากหลายกรณีให้ประชาชนใช้ศึกษาเช่น การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด โดยในคู่มือระบุการปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดให้ผู้ป่วยนั่งในท่าสบายคลายเสื้อผ้าให้หลวม พาไปยังที่อากาศถ่ายเทสะดวก ถ้าผู้ป่วยมียาให้พ่นยาที่มีอยู่ และหากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบโทรแจ้งสายฉุกเฉิน 1669ให้นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

ส่วนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกรณีมีบาดแผลฉีกขาดที่ผู้เข้าช่วยเหลือต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือดของผู้ป่วยโดยตรงเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทำการห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซมาปิดปากแผลไว้ สังเกตการเสียเลือดเพิ่ม ถ้าเลือดออกไม่หยุดให้ใช้ผ้ายืดพันทับอีกรอบ กรณีที่เป็นแผลที่แขนขาและไม่มีกระดูกหักให้ยกส่วนนั้นให้สูง และในกรณีการปฐมพยาบาลแผลอวัยวะถูกตัดขาด ให้เก็บอวัยวะที่ขาดใส่ถุงพลาสติกรัดปากถุงให้แน่น แช่ในภาชนะที่มีน้ำผสมน้ำแข็ง ห้ามเลือดบริเวณปลายอวัยวะส่วนที่ถูกตัดขาดและห้ามแช่อวัยะที่ขาดลงไปในน้ำแข็งโดยตรง สำหรับการปฐมพยาบาลกรณีไฟไหม้น้ำร้อนลวก ให้ถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ถูกเผาไหม้ออก ถ้าไหม้ติดกับผิวหนังเมื่อถอดอาจมีการดึงรั้งควรตัดเสื้อผ้าในส่วนนั้นออก ใช้น้ำสะอาดล้างแผลเพื่อทำความสะอาดลดอาการแสบร้อน ห้ามใช้โลชั่น ยาสีฟัน หรือยาปฏิชีวนะทาบนแผลเพราะปิดกั้นการระบายและห้ามเจาะตุ่มพอง

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่าในส่วนของการปฐมพยาบาลผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอยากให้ประชาชนทุกคนศึกษาไว้เพราะโรคนี้เป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว และหากเรามีอาการหรือพบคนใกล้ชิดมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรทับหรือบีบรัดนานกว่า 20 นาทีอาจร้าวไปที่ใบหน้า ปวดกรามร้าวมาถึงสะดือ ปวดจุกแน่นลิ้นปี่ลามไปที่แขนไหล่จนถึงปลายนิ้ว อาจมีอาการของระบบประสาทเช่น หายใจเหนื่อย นอนราบไม่ได้ เหงื่อออกใจสั่น คลื่นไส้อาเจียนหน้ามืด หมดสติ เบื้องต้นให้นอนพักลดการเคลื่อนไหวโดยไม่จำเป็นและโทรแจ้ง 1669 สังเกตอาการอย่างใกล้ชิดถ้าพบว่าหมดสติหยุดหายใจให้กดนวดหัวใจตามวิธีการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและโทรแจ้ง 1669 ซ้ำอีกครั้ง

รองเลขาธิการ สพฉ. นอกจากนี้ในส่วนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองแตก/ตีบ/ตัน ก็เป็นอีกโรคที่น่าห่วงไม่แพ้กันเพราะหากนำผู้ป่วยส่งเข้ารับการรักษาไม่ทันท่วงทีก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีอาการอัมพฤกษ์อัมพาตได้ ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนหมั่นสังเกตตนเองและคนใกล้ชิดหากมีอาการอ่อนแรง ชาบริเวณใบหน้าแขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีกของร่างกาย การพูดผิดปกติ เช่น ลิ้นคับปาก พูดไม่ชัด อาการมักเกิดขึ้นทันทีทันใด รีบโทรแจ้งสายฉุกเฉิน1669 โดยด่วน เรียกดูว่ารู้สึกตัวหรือมีการตอบสนองหรือไม่ หากระดับความรู้สึกตัวลดลงหรือไม่รู้สึกตัว ให้จับผู้ป่วยนอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก นำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดภายใน 4 ชั่วโมง ข้อมูลต่างๆ ที่มีในคู่มือปฏิบัติเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินนี้ เราหวังอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนในการศึกษาไว้เตรียมตัวรับมือกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีโดยประชาชนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่เว็บไซด์สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินจากลิงค์ดังกล่าวนี้ www.niems.go.th  และเลือกเมนู Infographic หรือดาวน์โหลดได้เลยผ่านลิงค์ดังกล่าวนี้ http://www.niems.go.th/th/View/infographics.aspx?CateId=118 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net