สุพจ จริงจิตร: เหลี่ยมจัด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2562 ผมอ่านข่าวผ่านตาแวบๆ น่าจะเป็น “คุณวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งช่วงประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2562

ผมเอ่ยปากสงสัยกับเพื่อนฝูง ทำไมต้องยืดเยื้อเรื้อรังถึงปานนั้น

จากนั้นไม่นาน “คุณปิยบุตร แสงกนกกุล” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ก็ออกมาทักท้วง เรื่องประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 2 คน

นายกรัฐมนตรีคนแรกชื่อ “พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ที่ยังนำทีมรัฐบาล คสช. บริหารประเทศอย่างขยันขันแข็งมาจนถึงทุกวันนี้

ด้วยว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดบทเฉพาะกาลให้รัฐบาลชุดเดิมสิ้นสุดลง ก็ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

นายกรัฐมนตรีอีกคนชื่อเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีคนแรกคือ “พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา” จากรัฐบาลเลือกตั้ง ที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งกำลังจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีกับพรรคร่วมรัฐบาลกันอยู่ในขณะนี้

ผมเก็บประเด็นประเทศนี้มีนายกรัฐมนตรี 2 คน นำไปครุ่นคิดอยู่หลายวัน

ปะเหมาะเคราะห์ดี มีโอกาสได้นั่งคุยกับนักการเมืองใหญ่ผู้เก๋าเกมการเมืองในระบบรัฐสภา ผมเลยถือโอกาสถามข้อข้องใจ เพื่อคลี่คลายประเด็นคาใจทันที

นักการเมืองผู้คร่ำหวอดกับสนามเลือกตั้ง ผ่านการร่วมวงจัดตั้งรัฐบาล ผ่านบรรยากาศการต่อรองตำแหน่งทางการเมือง และผ่านการสรรหารัฐมนตรีมาหลายยุคหลายสมัย ให้คำตอบที่ผมนำกลับไปคิดต่อหลายประเด็น

ท่านบอกว่า สมัยก่อนพอผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการออกมา คืนนั้นบรรดาพรรคการเมือง ต่างต่อสายหากันจ้าละหวั่น รุ่งขึ้นก็พอมองเห็นเค้าลางรัฐบาล เห็นว่าใครพรรคไหนเป็นแกนนำ

ใช้เวลาสั้นๆ ก็เห็นหน้าตาประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า เป็นใครคนของพรรคไหน ตามมาด้วยหน้าตารัฐมนตรีที่จะมาจากแต่ละพรรค

ใช้เวลาสัปดาห์กว่าๆ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ก็จบ เพราะขืนชักช้ายืดเยื้อจะเจอปัญหาปวดหัว จากเกมต่อรองร้องขอตำแหน่งของสารพัดมุ้ง

“ปิดเกมเร็ว เท่ากับจบปัญหาการต่อรองได้เร็ว เรื่องแย่งชิงตำแหน่งก็พลอยจบเร็วไปด้วย” ท่านว่าของท่านอย่างนั้น

ท่านมองการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่กำลังปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งกันอยู่ตอนนี้ว่า ที่มาของความยืดเยื้อ ปิดเกมแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่ลงเสียที มาจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิม และ คสช. ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ หรือเข้าทำงานในกระทรวงต่างๆ ได้ ก็ต่อเมื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วเสร็จ

เพราะฉะนั้น การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ล่าช้าออกไปเท่าไหร่ รัฐบาล คสช. ที่มาจากการรัฐประหาร มีมาตรา 44 อยู่ในมือ มีอำนาจล้นเหลือ ปราศจากการตรวจสอบ ก็จะยิ่งอยู่ยาวนานตามไปด้วย

เมื่อผมท้วงติงด้วยความโง่เขลาไปว่า “อ้าวตอนนี้ไม่ได้อยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการณ์ล่ะหรือ”

“อันที่จริงที่ผ่านมาก็ไม่เคยระบุว่า มีรัฐบาลรักษาการณ์ เพียงแต่ในอดีตมีประเพณีปฏิบัติกันมาว่า ทันที่ที่มีพระราชกฤษฎีกำหนดวันเลือกตั้ง รัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น จะดูแลเฉพาะงานประจำ ไม่พิจารณา ไม่ตัดสินใจ ไม่สั่งการในเรื่องสำคัญ เรื่องใหญ่ๆ เชิงนโยบาย เราจะรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาจัดการ หรือสานต่อ”

ผมนึกถึงรัฐบาล คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ที่ยังคงมีมติ ครม. โน่นนี่อยู่ตลอดเวลา โดยไม่รอรัฐบาลใหม่แล้ว ก็ได้แต่ถอนใจ

นี่ยังไม่นับมาตรา 44 ที่เป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งจะหมดไปพร้อมกับการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ ที่ยังมาไม่ถึง

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการใช้มาตรา 44 ขยายเวลาดำรงตำแหน่งให้กับบอร์ด กสทช. อายุเกิน 70 ปี เป็นการขยายเวลาดำรงตำแหน่ง ขณะอยู่ระหว่าง กสทช. กำลังเตรียมประมูลคลื่น 5 จี

นี่คือ ตัวอย่างอันแสนอัปลักษณ์ โดยเราไม่อาจยับยั้งไม่ให้ใช้มาตรา 44 ได้เลย ถ้าเขาจะใช้เราทำได้แค่มองตาปริบๆ

ยิ่งยืดอายุรัฐบาล คสช. ออกไปนานเท่าไหร่ ก็เท่ากับยังคงอำนาจ คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ไว้กับตัวนานมากขึ้นเท่านั้น

เช่นนี้แล้ว ประเด็นที่ควรติดตามดูอย่างใกล้ชิดก็คือ มติอนุมัติ มติเห็นชอบ จากที่ประชุม ครม. แต่ละนัดว่า มีเรื่องอะไรบ้าง

เช่นเดียวกับต้องดูว่า ตลอดช่วงเวลาที่ยืดออกไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2562 มีการใช้มาตรา 44 ในเรื่องใดบ้างหรือไม่

นี่ยังไม่นับรวมไปถึงรัฐมนตรีใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งของเราๆ ท่านๆ จะมีโอกาสได้ดูร่างงบประมาณของแต่ละกระทรวง ที่บัดนี้ใกล้ถึงเวลานำเข้าสภาเต็มทีแล้ว ได้ทันท่วงทีหรือไม่

ถ้าไม่ทัน นั่นก็หมายความว่า ร่างงบประมาณปี 2563 เป็นร่างที่จัดทำโดยรัฐบาล คสช. ไม่ใช่รัฐบาลใหม่ที่พวกเราเลือกเข้าไป

ไอ้ที่แต่ละพรรคโม้ว่าจะเข้าไปทำโน่นนี่นั่น ก็ต้องรองบประมาณปี 2564 โน่นแหละ

การยื้อรัฐบาลใหม่ออกไปนานกว่า 3 เดือน หลังเลือกตั้งแล้วเสร็จ นอกจากยืดเวลาให้ คสช. โดย พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจเต็มที่ออกไปแล้ว

อีกด้านหนึ่งก็เป็นการทำลายนักการเมือง และพรรคการเมืองทางอ้อม ด้วยข้อหาแย่งชิงเก้าอี้ แย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยุ่งยากล่าช้าจากความเห็นแก่ตัวของนักการเมืองและพรรคการเมือง

แบบนี้ใช่หรือไม่ว่า คสช. โดย พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา และคณะ ร่วมกันฉ้อฉลอำนาจไปจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยการยื้อเวลาไม่ยอมตั้งรัฐบาลใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

แล้วป้ายขี้ไปให้นักการเมือง และพรรคการเมืองว่า มัวแต่ยื้อแย่งตำแหน่ง ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง

ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายนักการเมือง เบื่อหน่ายพรรคการเมือง เบื่อหน่ายประชาธิปไตย ตอกย้ำซ้ำเติมภาพลักษณ์นักการเมืองให้เลวร้ายลงไปอีก

เห็นมั้ยล่ะ ชั้นเชิงคนเหลี่ยมจัด ยิงปืนแค่นัดเดียวก็ได้นกเป็นพวง

 

 

บทเฉพาะกาล - รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

มาตรา ๒๖๔ ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นําความในมาตรา ๒๖๓ วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม 
รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แล้ว ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สําหรับรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖๐ ยกเว้น (๖) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๙๘ (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) และต้องพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา ๑๗๐ ยกเว้น (๓) และ (๔) แต่ในกรณีตาม (๔) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๙๘ (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) และยกเว้นมาตรา ๑๗๐ (๕) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินการตามมาตรา ๑๘๔ (๑) 

การดําเนินการแต่งตั้งรัฐมนตรีในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ดําเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๕๙ แต่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคสองด้วย 
ให้นําความในมาตรา ๒๖๓ วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งและวรรคสามด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๒๖๕ ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๕๙ และให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอํานาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาตยิังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป 
ให้นําความในมาตรา ๒๖๓ วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ดํารงตําแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยโดยอนุโลม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท