'เพื่อไทย' ใจกว้างเสนอ 'ประยุทธ์' เอา 'หวยบำเหน็จ' ไปใช้ได้ เปลี่ยนชื่อให้ด้วย หวยประชารัฐ

'อนาคตใหม่' หวั่นล็อคตัว ส.ว.เป็นประธาน กมธ.ร่างข้อบังคับ ชี้เป็นการรุกคืบของ ส.ว.เหนือ ส.ส.-หวั่นกำหนดทิศทางสภามากเกินไป 'ปิยบุตร' อภิปรายงบการเงินศาลยุติธรรม - พบค่าใช้จ่ายประชุมเพิ่ม 172 ล้าน - ตรวจอีกพบออกระเบียบ "เบี้ยประชุม" ผู้พิพากษา ชี้อาจมีปัญหาทางกฎหมาย-จี้ถามความเหมาะสม  'ช่อ' ชี้ อัด 'แผนปฏิรูปสื่อ' ร่าง กม.ขัดหลักควบคุมกันเอง - สภาวิชาชีพสื่อถูกแซกแทรงโดยรัฐ ลั่น! ต้องไม่ให้การปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ปชช.เกิดขึ้นอีก 

26 มิ.ย.2562 สื่อหลายสำนัก เช่น ข่าวสดออนไลน์ สยามรัฐ ฯลฯ รายงานตรงกันว่า เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวคิดนำโครงการหวยออยไลน์ หวยบนดินกลับมาใช้อีกครั้งว่า หากถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ อาจต้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียอีกครั้ง เพราะบริบทต่างๆ ของประเทศได้เปลี่ยนไปมากจากอดีต

แต่มีอีกหนึ่งทางเลือก คือ โครงการ “หวยบำเหน็จ” ซึ่งพรรคเพื่อไทยนำเสนอในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นนวัตกรรมทางนโยบายที่เหมาะสมกับสภาวะของประเทศไทยปัจจุบัน เพราะเป็นการผสมผสานวิถีชีวิตของคนไทยที่ชอบเสี่ยงดวงเข้ากับภาวะสังคมสูงวัยที่ขาดเงินออม หวยบำเหน็จ

ทำให้ประชาชนสามารถซื้อหวยแล้วได้ลุ้นรางวัลเหมือนเดิม แต่ที่ต่างคือหากถูกหวยกิน เงินต้นทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในบัญชีส่วนตัว แล้วได้คืนทั้งหมดเมื่ออายุ 60 ปี ซื้อเยอะ ก็ได้ลุ้นเยอะ และเก็บออมได้เยอะในเวลาเดียวกัน จะเห็นได้ว่าเป็นโครงการที่กระตุ้นให้เกิดการออม ผ่านการสร้างแรงจูงใจ โดยงบประมาณภาครัฐ เพื่อปรับโครงสร้างการออมของประเทศที่กำลังมีปัญหา

“พรรคเพื่อไทยไม่ติดใจหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะเอาโครงการนี้ไปปรับใช้ เพราะอย่างที่ได้พูดไว้เสมอว่า เราต้องการเป็นฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ อะไรที่ดีก็แลกเปลี่ยนกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชน เราเสียดายนโยบายดีๆ แบบนี้ หากไม่มีโอกาสได้นำไปใช้ หากรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะเอานโยบายที่ดีของพรรคคู่แข่งไปใช้ หากจะเปลี่ยนชื่อเป็นหวยประชารัฐพรรคเพื่อไทยก็ไม่ขัดข้อง” รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าว

'อนาคตใหม่' หวั่นล็อคตัว ส.ว.เป็นประธาน กมธ.ร่างข้อบังคับ ชี้เป็นการรุกคืบของ ส.ว.เหนือ ส.ส.

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอีกพรรคคือ พรรคอนาคตใหม่ ทีมสื่อของพรรครายงานว่า คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และสมาชิกคณะกรรมาธิการร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เผยถึงข้อกังวลจากการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่25มิ.ย.ที่ผ่านมาซึ่งได้ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิกวุฒิสภาเป็นประธาน

โดย คารมสะท้อนว่าเมื่อวานนี้ที่มีการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมาธิการ ได้ตั้งข้อสังเกตเมื่อมาไล่ดูแล้ว ในแง่ของพรรคการเมือง ส.ส.มีจำนวนเยอะกว่า ส.ว.ก็จริง แต่เมื่อรวม ส.ว.เข้ากับพรรคที่เป็นฝ่ายรัฐบาลแล้ว กลายเป็นว่ามีฝั่งเดียวกันกับ ส.ว.รวมแล้วเยอะกว่าที่เป็นพรรคการเมือง เมื่อวานจึงเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกับการคุยกันไว้ล่วงหน้ามาก่อน ทำให้ได้ประธานคณะกรรมาธิการคือ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร กลายเป็นว่าเราได้ประธานกรรมาธิการมาจากคนที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา

ซึ่งในการนี้ ตนต้องเน้นย้ำว่าตัวเองไม่มีอะไรติดใจในแง่ของส่วนตัว แต่โดยหลักการไม่ควรให้ประธานคณะกรรมาธิการมาจากสมาชิกวุฒิสภา เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าวุฒิสภามาจากการเลือกของ คสช. จึงเหมือนกับว่าสุดท้ายแล้วประธานกรรมาธิการก็คือ คสช.เลือกมา ตามหลักการมันก็ไม่ถูกต้อง สุดท้ายเหมือนกับว่าพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไปยอมให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับที่จะต้องใช้ร่วมกันของทั้งสองสภา เหมือน ส.ส.ยอมให้ ส.ว.รุกคืบเข้ามาแม้กระทั่งในคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับฯ

คารมระบุต่อว่าในฐานะที่เป็นกรรมาธิการร่วมยกร่างคนหนึ่ง ส่วนตัวแม้ไม่เห็นด้วย แต่ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ ให้เกียรติกันได้ แต่ถามว่ามันสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่สอดคล้อง

ส่วนบรรยากาศในการประชุมเมื่อวานนี้ คารมเผยว่ายังเป็นไปด้วยดีอยู่ กรรมาธิการบางท่านก็ยึดหลักการประชาธิปไตย ส่วนตัวแม้จะมีเรื่องไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการรุกคืบของ ส.ว. แต่การประชุมเมื่อวานนี้ตนก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้ออกไป เพราะไม่อยากให้เกิดบรรยากาศที่ไม่สบายใจในการทำงานร่วมกัน แต่สิ่งที่ตนพูดวันนี้ คือต้องการสะท้อนให้เห็นว่ามีคำถามเกิดขึ้นเยอะสิ่งที่กำลังเป็นไปในขณะนี้

“สิ่งที่อยากฝากถึงท่านประธาน ก็คืออยากให้ท่านเปิดกว้าง อยากให้ในใจของท่าน 50% ต้องเทให้ฝั่ง ส.ส.ที่เป็นฝ่ายค้านมากกว่าฝั่งสมาชิกสุฒิสภา ด้วยเหตุผลว่ามันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน อยากให้ท่านตรึกตรองทุกเรื่อง ให้การทำงานของสภาภายในข้อบังคับ ต้องมองเห็นในส่วนของ ส.ส.ด้วย” คารม กล่าว พร้อมระบุว่า โดยตัวบุคคลเราเคารพ แต่โดยหลักการเราพูดว่ามันไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ซึ่งวันนี้ในฐานะ ส.ส.ต้องแสดงจุดยืน หากการรุกคืบเข้ามามีบทบาทมากกว่านี้เราก็ยอมไม่ได้เหมือนกัน เราต้องพูดโน้มน้าวไปถึง ส.ส.ทุกคน แม้กระทั่ง ส.สฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ชี้ให้เห็นว่ามันไม่เหมาะสม ฝ่ายที่เป็นวุฒิสภาก็ต้องตระหนักว่าสิ่งใดที่ทำได้หรือทำไม่ได้ สิ่งเดียวที่ต้องคิดคือการมองไปข้างหน้า และให้สะดวกในการทำงานมากยิ่งขึ้น

'ปิยบุตร' ชี้พบออกระเบียบ 'เบี้ยประชุม' ผู้พิพากษาอาจมีปัญหาทางกฎหมาย 

ที่หอประชุมใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ร่วมอภิปรายในวาระแจ้งให้ทราบเรื่องรายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานการเงินสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2561 โดยระบุว่า การเปิดให้ ส.ส.ได้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องศาลนั้น สะท้อนว่า เรายืนยันเรื่องหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ทั้ง 3 ฝ่ายไม่มีใครใหญ่กว่าใคร เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน เราเพียงตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน การอภิปรายเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบของ ส.ส.แม้ท้ายที่สุดเป็นวาระแจ้งเพื่อทราบ ไม่มีการลงมติ แต่อย่างน้อย คงเป็นประโยชน์ สำนักงานศาลยุติธรรม สตง.และสำนักงบประมาณ ซึ่งในการอภิปรายครั้งนี้จะอยู่ใน 2 ประเด็น คือ 1. ความเห็นของผู้สอบบัญชี และ 2.งบประมาณซึ่งเจาะจงงบการเงินส่วนการเงินที่เกี่ยวกับค่าใช้สอย

ปิยบุตร​ กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 ผู้สอบบัญชี คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ทำรายงานผู้สอบบัญชีเสนอต่อประธานศาลฎีกา เป็นความเห็นอย่างมีเงื่อนไข หมายความว่า รายงานการเงินศาลยุติธรรมถูกต้องตามมาตรฐาน เว้นแต่มีบางรายการที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนนี้จากการสุ่มตรวจพบว่ามีปัญหา 3 ข้อ 1. เกี่ยวกับรายการที่มียอดคงเหลือตามบัญชีต่ำกว่ารายละเอียด คือ เงินสดหายไปจากบัญชี 162 ล้านบาท 2.คุรุภัณฑ์ประเมินแล้วมูลค่าหายไป 40 ล้านบาท และ 3.เงินฝากศาลจังหวัดนนทบุรี  6 บัญชี มีการบันทึกไม่ตรงกับเช็คที่มีการสั่งจ่าย ซึ่งจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญเรื่องบัญชี เห็นว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องทางบัญชีที่ค่อนข้างร้ายแรง เรื่องเหล่านี้หากเป็น บริษัท มหาชน ผู้ถือหุ้นอาจเรียกร้องความรับผิดชอบจากคณะกรรมการบริหารได้ เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นองค์กรบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งกรณีนี้หัวหน้า คสช.ก็เคยใช้อำนาจตาม ม.44 ให้ยุติการทำหน้าที่มาแล้ว จึงอยากทราบว่า ระบบตรวจสอบการรับผิดชอบนี้ ทางสำนักงานศาลยุติธรรมมีการรับผิดชอบอย่างไรในเรื่องที่เกิดขึ้น

ประเด็นที่ 2 งบการเงินแสดงผลการเงินส่วนค่าใช้สอย ซึ่งจากการตรวจสอบมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากปี 2560 สูงถึง 330 ล้านบาท ขณะที่รายการอื่นไม่เพิ่มหรือเพิ่มเล็กน้อย ซึ่งพอไล่ดูทีละรายการค่าใช้สอยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายในการประชุม ซึ่งในปี 2560 อยู่ที่ 24 ล้านบาท ขณะที่ 2561 เพิ่มเป็น 196 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 172 ล้านบาท หมายความว่าค่าใช้จ่ายการประชุม คือ เบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีการออกระเบียบเริ่มจ่ายตั้งแต่ตุลาคม 2560  ซึ่งจากการค้นไปอีกว่า เอาระเบียบอะไรมาจ่ายก็พบว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ กบศ. ได้ลงนามในประกาศระเบียบว่าด้วยเรื่องเบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่และการประชุมแผนกคดีในศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ซึ่งระเบียบฉบับนี้ องค์กรต่างๆ จะออกต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ซึ่งก็อ้างถึง ม.17 (1) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 เมื่อไปตรวจสอบก็เขียนว่า ให้ กบศ.มีอำนาจออกระเบียบ แต่เพื่อการบริหารราชการศาลยุติธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องเบี้ยประชุมในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและศาลอุทธรน์ 

"จากการตรวจสอบไปอีก พบว่าประธานศาลฎีกาท่านก่อนเคยมีเรื่องเข้าที่ประชุม กบศ. เมื่อ 11 กันยายน 2560 ว่า หากต้องการออกระเบียบเบี้ยประชุม ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ดังนั้น ท่านจึงไม่ยอมลงนาม แต่พอคนปัจจุบันเข้ามารับตำแหน่ง กลับมีการออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมขึ้นมา อ้างถึง ม.17 (1)  ซึ่งในภายหลัง ในช่วงต้นปีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เห็นชอบ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม ฉบับ 4 ปี 2562  มีเรื่องสำคัญคือมีการเพิ่ม ( 1/1) ใน ม.17เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการ กบศ. ออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมสำหรับข้าราชการตุลาการซึ่งเข้าร่วมประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ซึ่งเรื่องนี้มีนัยยะสำคัญ เพราะตอนใช้อำนาจตาม ม.17 (1) ออกระเบียบนั้นมีปัญหาทางกฎหมายหรือไม่ จึงเพิ่ม (1/1) ขึ้นมาตอนที่ สนช.ผ่านกฎหมายเรื่องนี้" ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตรกล่าวว่า ผ่านมา 1 ปี ค่าใช้จ่ายในการประชุมเพิ่ม 172 ล้าน ซึ่งตอนนี้มีกฎหมายรองรับแล้ว แต่ของตั้งคำถาม เรื่องความเหมาะสม ซึ่งระเบียบที่ประชุมกำหนดเบี้ยประชุมให้ครอบคลุมที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์ ประกอบด้วย ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษ และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 ซึ่งที่ประชุมใหญ่ของศาลรวมแล้ว 12 ที่ประชุมใหญ่ที่จะได้เบี้ยประชุมนี้  รวมแล้วผู้พิพากษา  1,101 คน โดยระดับประธานศาลจะได้ 10,000 บาท ผู้พิพากษา​ที่เป็นองค์ประชุมได้ 8,000 ผู้พิพากษาที่เข้าร่วมประชุมขั้น 4 ได้ 8,000 บาท ผู้พิพากษา​ที่​เข้า​ร่วม​ประชุม​ชั้น 3 ได้ 6,000 บาท

ทั้งหมดนี้ สำนักงบประมาณทำตัวเลขประมาณการไว้ใช้จ่าย ราว  207 ล้านบาทต่อปี  คิดเป็น 17.2 ล้านบาทต่อเดือน ประเด็นดังกล่าวนี้ ถือว่ามีปัญหาเรื่องความเหมาะสม ตรงที่ผู้พิพากษาแต่ละท่านมีเงินประจำตำแหน่ง มีรถประจำตำแหน่ง มีบ้านพัก เดือนๆหนึ่งคิดเป็นจำนวนเงินแสนกว่าบาท แต่ในการมาปฏิบัติหน้าที่ของท่าน ยังได้เบี้ยประชุมอีก ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกันระหว่างข้าราชการ ทั้งๆที่ข้าราชการฝ่ายนิติบัญญัติ​ บริหาร ตุลาการควรมีศักดิ์และศรีเท่าเทียมกัน

"ผมไม่ต้องการเรียกร้องว่าเราต้องได้เบี้ยประชุม ไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้ ส.ส.ได้เบี้ยประชุมเหมือนศาล แต่ผมเรียกร้องว่าถ้าเป็นไปได้ในอนาคต ขอให้ยกเลิกเบี้ยประชุมเสียดีกว่า ผมขออนุญาตสรุปแบบนี้ พวกเราปกครองในระบอบ​ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์​ทรง​เป็น​ประมุข​ ทุกวันนี้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติถูกตรวจสอบอย่างหนักเต็มที่ แต่ระบบการตรวจสอบองค์กรตุลาการนั้นไม่เข้มข้นเท่ากับพวกเรา การประกันความเป็นอิสระของศาลไม่ได้แปลว่าศาลจะต้องรอดพ้นจากการตรวจสอบได้ ผมเรียนว่าในต่างประเทศผู้แทนราษฎรของเขามีผู้ตรวจการที่เอาไว้ตรวจสอบการใช้อำนาจของกองทัพบ้าง ศาลบ้าง แต่ของประเทศไทยวันนี้ เราถูกลิดรอนอำนาจตรงนี้ไป ผมเรียกร้องว่า จะเป็นไปได้ไหมที่ กบศ. จะยกเลิกระเบียบเบี้ยประชุมนี้ ซึ่งจะเป็นพระคุณอย่างมากต่อแผ่นดินไทย ที่จะได้ช่วยประหยัดงบประมาณลงไปได้ถึง 207 ล้านบาท" ปิยบุตรกล่าว

อัด 'แผนปฏิรูปสื่อ' ร่าง กม.ขัดหลักควบคุมกันเอง 

ขณะที่ พรรณิการ์ วานิช หรือ ช่อ โฆษกพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายแผนปฏิรูปที่ส่งมารายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรในทุก 3 เดือน โดยกล่าวถึงแผนการปฏิรูปสื่อว่า การปฏิรูปสื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ซึ่งอะไรปฏิรูปแล้วก้าวหน้าเป็นเรื่องน่ายินดี แต่สำหรับแผนการปฏิรูปครั้งนี้รู้สึกยินดีที่ไม่คืบหน้า เนื่องจากบอกว่าเป็นแผนการการปฏิรูปสื่อแบบประชารัฐซึ่งไม่รู้หมายความว่าอย่างไรกันแน่ ทั้งนี้ แนวทางปฏิรูปสื่อมีหลักเกณฑ์เป้าหมาย 2 แนวทาง คือ  1. รณรงค์การรู้เท่าทันสื่อ  และ 2.การกำหนดกฎเกณฑ์มาตฐานจริยธรรมสื่อ  แต่การทำทั้ง 2 อย่างตามแนวทางประชารัฐนั้น ดูแล้วไม่ได้เป็นแนวทางส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่จะกลับเป็นการลิดรอนและคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยรัฐเอง เพราะตัวกลไกสำคัญการปฏิรูปสื่อ คือ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อ ซึ่งตั้งเป้าออกเป็นกฎหมายได้ 2561 แต่ตอนนี้ยันติดชั้นกฤษฎีกา ไม่สามารถออกได้ เพราะถูกค้านอย่างหนักจากสื่อ และภาคประชาสังคมต่างๆ  เนื่องจากในแผนปฏิรูปสื่อฉบับนี้ กลับไม่ได้ส่งเสริมหลักสื่อควบคุมกำกับควบคุมกันเอง 

"สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สภาวิชาชีพสื่อ ในบรรดา 9 คน นั้น มาจากสมาคมสื่อ 5 คน และกรรมการ 5 คนนั้นคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน  ซึ่งสภาวิชาชีพสื่อ ทำหน้าที่ พิจารณารับจดแจ้งและเพิกถอนสมาชิกภาพขององค์กรวิชาชีพสื่อ กำหนดมาตรฐานกลางจริยธรรมสื่อมวลชน นอกจากนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม คณะหนึ่ง 7 คน  ดูเรื่องละเมิดจริยธรรมสื่อมวลชน ลงโทษทางปกครองได้นั้นก็มีต้นน้ำมาจากสภาวิชาชีพ  แต่ปัญหา คือ บทเฉพาะการของร่างกฎหมายฉบับนี้ กลับล็อกสป๊กให้ปลัดสำนักนายก และเลขาธิการ กสทช. เป็น 2 กรรมการตั้งตั้นในกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ ซึ่งจะให้คุณให้โทษสื่อมวลชนทั้งประเทศ นี่คือตัวแทนจากรัฐอย่างชัดเจน เป็นกรรมการชุดแรกที่จะกำหนดข้อบังคับทุกอย่าง ถามว่านี่คือแนวทางปฏิรูปสื่อแบบประชารัฐ ที่หมายถึงรัฐคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหรือรัฐแทรกแซงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนกันแน่" พรรณิการ์ กล่าว 

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า กรณีของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้นชัดเจนว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนเลขาธิการ กสทช. เป็นองค์กรอิสระ แต่ผลงาน กสทช.รอบ 5 ปีที่ผ่านมา จากการรวบรวมสถิติของ ไอลอว์ พบว่ามีการลงโทษสื่อไปแล้วอย่างน้อย 59 ครั้ง ถามว่าเอนเอียงทางการเมืองหรือไม่นั้นไม่ขอตัดสิน แต่อยากให้พิจารณาจากสถิติที่รวบรวมโดยไอลอว์ ระหว่าง 22 พ.ค. 57 ถึง 22 ก.พ. 62 พบว่า สถานีที่ถูกลงโทษมากสุดคือ วอยซ์ทีวี 24 ครั้ง พีชทีวี 14 ครั้ง ทีวี 24 3 ครั้ง ทีวีธรรมกาย 2 ครั้ง สปริง 1 ครั้ง เนชั่น 1 ครั้ง ฟ้าวันใหม่ 1 ครั้ง และสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ 1 ครั้ง  นี่คือผลงาน กสทช. ที่เลขาฯ จะไปนั่งในสภาวิชาชีพสื่อ ที่จะมีวาระต่อไปอีก 4 ปี 

"ด้วยเหตุผลที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่แปลกที่ร่างกฎหมายจะถูกต่อต้านโดยสมาคมสื่อ 30 องค์กร โดยให้เหตุผลว่า ร่างกฎหมายนี้ ไม่ได้อยู่บนหลักฐานคุ้มครองเสรีภาพสื่อ นั่นคือการกำกับคุ้มครองกันเอง สมาคมสื่อบอกตรงกันว่านี่คือการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงการทำหน้าที่อย่างอิสระของสื่อมวลชน คำพูดนายกสมาคมวิทยุและโทรทัศน์ ระบุว่า ร่างกฎหมายนี้ มีการตั้งสภาวิชาชีพสื่อ เห็นได้ชัดว่าต้องการเข้ามาควบคุมสื่ออย่างชัดเจนไม่มีเหนียมอาย ต่างจากรัฐบาลในอดีตที่ต้องการควบคุมสื่อ ก็ต้องทำอย่างลับๆ" พรรณิการ์ กล่าว

พรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า  ในยุค คสช. สื่อมวลชนถูกควบคุม มีการปล่อยให้สื่อที่สนับสนุน คสช. โจมตีฝั่งตรงข้ามโดยข้อมูลเท็จ บิดเบือน เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่มีการลงโทษ แต่นั่นคือเรื่องในอดีต เป็นสิ่งที่เกิดในยุคที่เป็นเผด็จการไม่มีสภาผู้แทนราษฎร แต่วันนี้ เราในฐานะสภาผู้แทนราษฎร จะไม่ให้การลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ ปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนแบบที่เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. เกิดขึ้นอีก  แผนการปฏิรูปสื่อแบบประชารัฐที่อาจหมายถึงปิดหูประชาชนจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้ในยุคที่มีสภาผู้แทนราษฎร เราต้องปกป้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท