ศาลกัมพูชาจำคุกนักกิจกรรม 2 ปี ปรับ 5 แสนบาท เหตุช่วยต่างชาติทำสารคดีค้ามนุษย์

ศาลกัมพูชาตัดสินจำคุก-ปรับ รัฐ ร็อท โมนี นักกิจกรรมชาวกัมพูชาที่ถูกจับจากไทยและส่งตัวกลับเมื่อ ธ.ค. 2561 กรณีเป็นล่ามและช่วยจัดทำสารคดีเรื่องที่แม่ชาวกัมพูชาขายลูกสาวให้ธุรกิจบริการทางเพศ ระบุ มีความผิดข้อหายุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติ องค์กรสิทธิจวก ทางการลงโทษผิดฝาผิดตัว กระทบเสรีภาพสื่อและพยายามปิดบังความจริง

รัฐ ร็อท โมนี

27 มิ.ย. 2562 สื่อแขมร์ไทม์รายงานว่าศาลเทศบาลพนมเปญได้ตัดสินให้รัฐ ร็อท โมนี ประธานสหภาพแรงงานก่อสร้างกัมพูชา มีความผิดฐานยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติจากการช่วยเหลือสถานีโทรทัศน์ Russia Today ทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการเอาเปรียบทางเพศต่อเด็กในกัมพูชาในชื่อ “ แม่ขายฉัน กัมพูชา ที่ๆ พรหมจรรย์คือสินค้า (My Mother Sold Me. Cambodia, where virginity is a commodity)” โดยตัดสินให้จำคุกสองปี

ไทยส่งนักกิจกรรมกัมพูชากลับไปดำเนินคดีแล้ว นักสิทธิฯ ชี้ ยุค คสช. มีบ่อย-เยอะ

ผู้พิพากษายังตัดสินให้รัฐต้องจ่ายเงินเป็นค่าชดเชยจำนวน 17,200 เหรียญสหรัฐฯ ให้กับเขียว มาลาย และเทพ สาลิม แม่ของเด็กหญิงที่ปรากฏในสารคดี อย่างไรก็ดีรัฐยังมีสิทธิอุทธรณ์อยู่ โดยรัฐยังคงปฏิเสธความผิดทุกกรณี และบอกว่าเขาถูกจับกุมตัวโดยไม่ยุติธรรม

“คำตัดสินไม่มีความยุติธรรม และผมจะปรึกษากับทนายความของผมทั้งสองคนเพื่อจะยื่นอุทธรณ์” รัฐกล่าว ทั้งนี้ ทนายความของรัฐกล่าวว่าเงินชดเชยดังกล่าวมากเกินกว่าความผิดตามข้อหา

รัฐเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ถูกจับตัวในไทยแล้วส่งกลับกัมพูชาเมื่อ ธ.ค. 2561 หลังถูกกักตัวที่สถานกักตัวคนต่างด้าวสวนพลูตั้งแต่ 7 ธ.ค. 2561

ด้านสาลิมกล่าวว่าเธอพอใจกับเงินค่าชดเชย และก็ควรจะถูกจำคุกให้นานกว่านี้ ส่วนเขียง สเรียมมิช หนึ่งในเด็กหญิงที่ปรากฏในสารคดีก็พูดในทางเดียวกันว่ารัฐควรสำนึกผิดในสิ่งที่ทำลงไป อยากให้คดีจบที่ศาลชั้นต้นโดยไม่ต้องอุทธรณ์เพราะเธออยากจะกลับไปเรียนหนังสือ

ตลอดการไต่สวนบนชั้นศาล ศาลกล่าวหาว่ารัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสารคดีมากไปกว่าหน้าที่การเป็นคนกำหนดนัดหมายและล่ามเพราะว่าชื่อของรัฐอยู่ในรายชื่อผู้จัดทำในตอนท้ายสารคดี เซือง เซน กรุณา เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนอาวุโสจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนชื่อแอดฮอค เชื่อว่ารัฐไม่มีความผิดเนื่องจากรัสเซียทูเดย์เป็นคนกำกับและผลิตสารคดี ดังนั้นคนที่ควรรับผิดคือทีมงานต่างหาก

ด้านฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียขององค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่าคำพิพากษาเป็นความพยายามของกัมพูชาในการปกปิดความจริง และเป็นปัญหากับเสรีภาพสื่อ

“ความจริงก็คือกัมพูชาพยายามปกปิดปัญหาความยากจนสุดขั้วที่ชักนำให้หลายครอบครัวในชุมชนเมืองสนับสนุนให้ลูกสาวของพวกเขาไปข้องเกี่ยวกับธุรกิจบริการทางเพศเพื่อให้มีชีวิตรอดในทางธุรกิจ” ฟิลกล่าวในแถลงการณ์

รัฐเป็นประธานสหพันธ์แรงงานก่อสร้างของประเทศกัมพูชาา (CCTUF) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลก และต่อมาทำหน้าที่เป็นล่ามและผู้ประสานงานให้กับสื่อมวลชนต่างประเทศ โดยได้ผลิตสารคดีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ร่วมกับสำนักข่าวต่างประเทศ ต่อมามีข่าวว่าทางการกัมพูชากล่าวหาทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศ รัฐเข้าเมืองไทยมาเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2561 ด้วยมีหนังสือเดินทางและวีซ่าถูกต้องเป็นการเข้าเมืองถูกกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ประมาณเดือน พ.ย. 2561 เนื่องจากการกดดันทางการเมืองต่อนักกิจกรรมแรงงานในประเทศกัมพูชาอย่างหนัก รัฐได้ยื่นคำร้องขอลี้ภัยไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนและขณะนี้อยู่ในขึ้นตอนการพิจารณาเข้าข่ายเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่จะได้รับการคุ้มครองจากประชาคมระหว่างประเทศและจาก UNHCR 

เมื่อสำนักงาน UNCHR ได้รับข้อมูลว่าผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วถูกจับกุม  เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา จึงได้สัมภาษณ์และพูดคุยกับ รัฐที่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สวนพลู   ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ารัฐอยู่ในการคุ้มครองของ UNHCR ในวันที่ 12 ธ.ค. วันเดียวกับที่รัฐถูกส่งกลับโดยทางเฮลิคอปเตอร์ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานองค์การสหประชาชาติได้ติดต่อขอเข้าพบและทราบว่ารัฐถูกส่งกลับไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท