Skip to main content
sharethis

'ปิยบุตร' ระบุ 'กองทัพ - ศาล - คสช.' ควรถูกปฏิรูปที่สุด ชี้แผนปฏิรูปทำให้เกิด 'ซุปเปอร์รัฐบาล - สร้างอุตสาหกรรมปฏิรูป - ส.ว. อยู่เหนือ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง' ขณะที่ 'โรม' อภิปรายแผนปฏิรูปกฎหมาย ชี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อแต่ไม่สะท้อนความเป็นจริง  กฎหมายส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของ คสช.

 

27 มิ.ย.2562 ทีมสื่อพรรคอนาคตใหม่ รายงานว่า วันนี้ 27 มิ.ย.62) ที่รัฐสภาชั่วคราว บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปิยบุตร แสงกนกกุล  ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ที่ให้ ครม.แจ้งความคือบหน้าการปฏิรูปประเทศให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบ ทุก 3 เดือน โดยระบุว่า รายงานแผนปฏิรูปที่พูดมาทั้งหมดตลอด 2 วัน และจากที่ได้ไปอ่านเอกสารจะมีหน่วยงาน 3 หน่วยงานหลักๆ ที่ไม่ถูกพูดถึงในการปฏิรูป ทั้งๆ ที่ผ่านมาทั้ง 3 หน่วยงานนี้ ถูกตั้งคำถามอย่างมากจากประชาชนและสื่อมวลชน นั่นคือ 1.กองทัพ ที่ออกมาทำรัฐประหารบ่อยครั้ง เราต้องปฏิรูปว่าทำอย่างไรให้กองทัพสอดคล้องกับประชาธิปไตย เคารพหลักสิทธิมนุษยชน 2.ศาลถูกตั้งคำถามตลอด 13 ปีที่ผ่านมา และ 3. คสช. ซึ่งหัวหน้า คสช. นั้นเป็นบุคคลที่ควรถูกปฏิรูปที่สุด 

ปิยบุตร กล่าวว่า จากการพิจารณาลักษณะแผนการปฏิรูป มีที่น่าสังเกตอยู่ 3 ข้อ นั่นคือ  1.ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าซุปเปอร์รัฐบาล 2. สร้างอุตสาหกรรมการปฏิรูป  และ 3. ทำให้วุฒิสภาขึ้นมาขี่คออยู่เหนือสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้ 

1.ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าซุปเปอร์รัฐบาล ในสภาวะปกติ เรามีการเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากของ ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรี ได้รัฐบาลมาบริหารประเทศ ซึ่งในบางเรื่องก็เชิญผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาช่วยดำเนินการ เช่นที่ผ่านก็มามีสภาพัฒน์ฯ ที่จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นี่คือระบบปกติซึ่งเราก็สามารถปฏิรูปประเทศกันได้ แต่ก็ถูกทำให้เกิดไม่ปกติ คือ การสร้างการปฏิรูประบบพิเศษขึ้นมา นั่นคือ มีรัฐประหารเกิดขึ้น โดยอ้างเรื่องการปฏิรูป มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป เกิดระบบรัฐซ้อนรัฐ  คือ  1 มีรัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจน้อยมากและถูกลิดรอนลงไปเรื่อยๆ เพราะอีก 1 รัฐคือ รัฐ คสช. ซึ่งเป็นกระบวนการแปลงให้เป็นรัฐทหารมากขึ้น มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ที่มีนายทหารเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก และก็มีคณะปฏิรูปที่มากำกับรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอีกที ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากพวกเดียวกันก็ไปกันด้วยดี แต่ถ้าเป็นคนละฝ่ายเกิดปัญหา

"รัฐซ้อนรัฐแบบนี้ คณะรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เลย เพราะสิ่งที่หาเสียงกับประชาชนอาจไม่ถูกนำไปใช้ถ้าไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ  ทำให้รัฐมนตรีมีสถานะกลายไปเป็นเป็นซุปเปอร์ปลัด ถูกกรรมการหลายๆ คนในแผนการปฏิรูปสั่งข้ามหัวไปหมด คำถามคือคณะรัฐมนตรี ซึ่งสภาผู้แทนเลือกนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเลือกคณะรัฐมนตรีมาบริหารประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับประชาชนนั้น ทำหน้าที่อะไร แค่ติดตามงานตามแผนปฏิรูปที่ถูกวางไว้แล้วแค่นั้นเหรอ แบบนี้ ตำแหน่ง รัฐมนตรี ซึ่งควรจะเป็นผู้บริหารจะกลายเป็นเพียงคนติดตามงาน เป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างมาก" ปิยบุตร กล่าว 

2. สร้างอุตสาหกรรมการปฏิรูป โดยหลังจากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา มีการตั้งหน่วยงาน มีการประชุม มีการจ่ายเงินเดือน จ่ายเบี้ยประชุมต่างๆ  ทำรายงานออกมาปึกๆ ซึ่งจะวนเวียนอยู่อย่างนี้ โดยได้ผลลัพธ์ของการปฏิรูปคือกองกระดาษโตๆ และมีคนเดิมๆ ที่วนเวียนซ้ำไปซ้ำมาในอุตสาหกรรมการปฏิรูป

3. ทำให้วุฒิสภาขึ้นมาขี่คออยู่เหนือสภาผู้แทนราษฎร  ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 บอกว่า คณะรัฐมนตรีต้องมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศต่อสภาผู้แทนราษฎรทุกๆ 3 เดือน ส.ส.ทำได้เพียงนั่งและอภิปรายแบบนี้ เสร็จแล้ว 3 เดือนค่อยมาพบกันใหม่ หากแต่วุฒิสภา หรือ ส.ว. กลับมีอำนาจติดตามเสนอแนะและเร่งรัด และที่สำคัญคือเวลาที่มีการออกกฎหมายปฏิรูปก็ใช้กระบวนการนิติบัญญัติแบบพิเศษ คือใช้ที่ประชุมร่วมกันของ 2 สภา  ปกติเริ่มสภาผู้แทนราษฎรแล้วไปที่วุฒิสภา คุณทำได้เพียงถ่วงดุลเล็กๆ น้อยๆ สุดท้ายอำนาจอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น นี่คือการลิดรอนอำนาจ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างชัดเจน  รวมถึงหากเกิดมีข้อสงสัยว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปใช่หรือไม่ ก็สามารถเข้าชื่อประธานร้องต่อสภา ให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่วมกัน โดยที่ประธานกรรรมาธิการชุดนั้น คือ ประธานวุฒิสภา  นี่คือตัวอย่างที่ ส.ว. เข้ามาครอบงำ ส.ส. มากขึ้นเรื่อยๆ 

"ทุกวันนี้ ส.ส. กำลังถูกลิดรอนอำนาจ เราถูกดูถูก ถูกกล่าวหาตลอดเวลาว่าไม่ดี จนทำให้เกิดการยึดอำนาจโดยอ้างว่าต้องเข้ามาปฏิรูปประเทศ ผมอยากบอกกับ ส.ส.ทุกท่านว่า นักการเมืองจากการเลือกตั้ง เรามาจากการเลือกตั้งของประชาชน  ต้องผนึกกำลังป้องกันไม่ให้องค์กรแปลกปลอมเข้ามา มิใช่ คอยเปิดประตูให้เขาเข้ามาแทรกแซงอยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดาย เช่น การที่ไม่มีการบรรจุญัติตรวจสอบที่มา ส.ว.ในการพิจารณา" ปิยบุตรกล่าว 

ปิยบุตร กล่าวว่า เรื่องการปฏิรูปประเทศในประเทศไทย แยกไม่ออกจากการรัฐประหาร การปฏิรูปประเทศครั้งนี้เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 การรัฐประหารทุกครั้งไม่มีความชอบธรรม ก็จะต้องมีการหาข้ออ้างให้ชอบธรรม ซึ่งทุกครั้งก็คือ นักการเมืองไม่ดี มีความขัดแย้ง คณะรัฐประหารจำเป็นต้องมาปฏิรูป คำว่าปฏิรูปของไทยไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่ารีฟอร์ม แต่เป็นเพียงข้ออ้างการรัฐประหาร คำว่าปฏิรูปเป็นเพียงข้ออ้างครองอำนาจรัฐประหาร เป็นกลไกการสืบทอดอำนาจ และที่สำคัญคือ เป็นการนำเอาระบอบรัฐประหารมาฝังตัวในรัฐธรรรมนูญฉบับนี้  ทำให้การรัฐประหารถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเสมอ นี่คือการปฏิรูปที่เกิดขึ้นในยุค คสช.

"การปฏิรูปที่ไม่เห็นหัวประชาชน เวียนวนกับคนไม่กี่คนซ้ำๆเดิมๆ กับเทคโนแครตเจ้าประจำ กับข้าราชการประจำ กับนักวิชาการหน้าเดิม กับ ส.ว. ตลอดชีพที่แต่งตั้งวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาตลอด ซึ่งถ้าลองไล่เรียงดูตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ก็จะเห็นแต่คนเหล่านี้แทบเดินชนกัน เห็นรายชื่ออยู่ในเอกสารการประชุมทุกครั้ง ความเวียนวน ซ้ำไปซ้ำมาของสิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปนี้เอง  ส่งผลให้เกิดซุปเปอร์รัฐบาล ทำให้ราชการเหนือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาน เกิดรัฐซ้อนรัฐ เกิดการที่วุฒิสภาขี่คอสภาผู้แทนราษฎร 

ดังนั้น ผมอยากเชิญชวน ส.ส.ทุกท่าน  เราเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐเพียงองค์กรเดียวที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้อำนาจแทนประชาชน นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เราสามารถปฏิรูปได้ในระบบปกติ ไม่ต้องใช้ระบบพิเศษ ไม่ต้องเปิดประตูเชิญคณะรัฐประหารเข้ามาปฏิรูป เราแข่งขันกันในระบบปกติ รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากมาเป็นรัฐบาล เสียงข้างน้อยเป็นฝ่ายค้าน มีรัฐบาลเข้าบริหารประเทศ ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ นี่คือการปฏิรูปในระบบปกติ  อยากเชิญชวนมาเริ่มต้นปฏิรูปด้วยกันเอง ด้วยแรงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากประชาชน ไม่จำเป็นต้องอาศัยทหาร ไม่จำเป็นต้องอาศัย ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง" ปิยบุตร อภิปราย

'โรม' ระบุแผนปฏิรูปกฎหมายเป็นโฆษณาชวนเชื่อ กม.ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของ คสช.

ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ที่ให้ ครม.แจ้งความคือบหน้าการปฏิรูปประเทศให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบ ทุก 3 เดือน โดยร่วมอภิปรายวิจารณ์ในด้านของการปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการปราบปรามการทุจริต โดยระบุว่า จากการอ่านรายงานความคืบหน้า พบว่ามีความสวยหรูดูดี แต่ไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

โดยในเรื่องของกฎหมาย รายงานฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคหลายฉบับ แต่ทว่าภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการออกประกาศและคำสั่งต่างๆมากมาย เช่นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีเนื้อหาปิดปากประชาชนมากขึ้น, การออก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่สร้างกฎเกณฑ์และความหวาดกลัวให้กับผู้ต้องการแสดงออกทางการเมือง, การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ให้ทหารค้นเคหะสถานหรือควบคุมตัวได้ 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายศาล, 

"นอกจากนี้ยังมีการออกคำสั่งอีกหลายคำสั่งที่มีผลกระทบในด้านอื่นๆ เช่น การยกเว้นกฎหมายผังเมืองเพื่ออนุญาตให้สร้างโรงงานบางประเภท ลัดขั้นตอนประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, การให้อำนาจ กสทช.ควบคุมเนื้อหาและสั่งลงโทษสื่อมวลชน, การออกคำสั่งยืดหนี้ค่ายมือถือแบบไม่มีดอกเบี้ยนานถึงสิบปี, การออกคำสั่งทวงคืนผืนป่า จนมีประชาชนชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดีทั้งๆที่อาศัยอยู่มาก่อนจะมีอุทยานแห่งชาติ, ไม่นับรวมการออกคำสั่งปิดเหมืองทองที่ สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ ถ้าไม่ออกโดย พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกโดย สนช.ซึ่งเป็นสภาตรายาง แต่ไม่มีเรื่องเหล่านี้ในรายงานฉบับนี้เลย" รังสิมันต์ กล่าว 

รังสิมันต์ กล่าวว่าในส่วนของความยุติธรรม แม้ในรายงานจะระบุถึงความคืบหน้าด้านการปรับปรุงให้สถานีตำรวจต้องรับแจ้งความทุกท้องที่, ห้ามนำผู้ต้องหาออกแถลงข่าว, ให้มีทนายความประจำทุกสถานีตำรวจ, ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการ แต่กลับไม่มีการพูดถึงคดีในศาลทหารที่ จับกุม พิจารณาดี และพิพากษาเองโดยทหารทั้งหมดเลย วันนี้ จากข้อมูลของไอลอว์ ยังคงมีคดีพิจารณาอยู่ในศาลทหารถึง 1,723 คดี และยังมีปัญหาจากกระบวนการยุติธรรมภายใต้ คสช.อีกเป็นจำนวนมาก เราจะทำอย่างไรกับประชาชนที่ต้องกลายเป็นจำเลยจากกฎหมายของ คสช. เช่นชาวบ้านเทพาที่ต้องเป็นจำเลยจากการคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือการที่นักกิจกรรมที่อยู่ตรงข้ามของ คสช. ถูกทำร้ายร่างกายอย่างเป็นระบบ และการที่ชนกลุ่มน้อยที่ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรมหน้ากล้องวงจรปิดที่ภาพหายไป

“ปัญหาของกระบวนการยุติรรมไทยคือการใช้เป็นเครื่องมือจากผู้มีอำนาจทางการเมืองใช้เล่นงานกลุ่มตรงข้าม รายงานฉบับนี้จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร? นี่ไม่ใช่การปฏิรูป เป็นแค่การปรับปรุง ปรุงแต่งเท่านั้น ในฐานะนักกฎหมายเราต่างรู้ว่าการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้รับ แต่รายงานนี้เอามาโฆษณาว่าเป็นการปฏิรูปแล้ว อย่าเอาความไม่สะดวกของราชการมาบอกว่านี่เป็นความสำเร็จแล้ว ปล่อยให้คนจำนวนมากต้องถูกขังในวันเสาร์อาทิตย์ตอนที่ท่านอยู่บ้านดูทีวีหรือทำอย่างอื่น นี่ไม่ใช่การปฏิรูป

รังสิมันต์ กล่าวเพิ่มเติ่มว่า สำหรับในด้านการป้องกันและแราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ แม้จะมีการโฆษณาว่าต้องการให้ประชาชนรังเกียจการทุจริต แต่เมื่อมีประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องการตรวจสอบการทุจริต กลับถูกจับกุมดำเนินคดี เช่นในกรณีการเดินทางไปตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ด้วยรถไฟ นี่ยังไม่รวมถึงการตีแผ่การทุจริตของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา กรณีตั้งธุรกิจในค่ายทหาร ที่ไม่มีการดำเนินการใดๆต่อ หรือกรณีนาฬิกา 22 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ไม่สามารถทำอะไรต่อได้ มากไปกว่านั้น เราจะพบว่าการตรวจสอบคอรัปชั่นโดยองค์กรภาครัฐ ไม่ว่าคดีไหนจะออกมามีลักษณะเหมือนกันหมด คือโปร่งใสไม่มีความทุจริต ในสภาวะที่ คสช.ออกมาให้คุณให้โทษกับองค์กรตรวจสอบเหล่านี้ได้หมด แล้วทุกวันนี้หลายคนก็ได้เป็น ส.ว.กันถ้วนหน้า

“ถ้าการปฏิรูปเหมือนการรีโนเวทบ้าน แต่บ้านเรามีขยะเน่าเหม็นเต็มไปหมด การคุยว่าจะเอาของหรูๆเฟอร์นิเจอร์สวยๆมาลง แต่ไม่คิดจะอุดรุรั่วบนหลังคา เราจะเรียกว่านี่เป็นการรีโนเวทได้อย่างไร เช่นเดียวกับการปฏิรูปด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ถ้าเราไม่จัดการกับสิ่งที่ คสช.ทำมาในอดีต เราจะเรียกมันว่าการปฏิรูปไม่ได้เลย” รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net