Skip to main content
sharethis

คนทำงานบริษัทจัดหาที่นอนให้กับสถานกักกันเด็กผู้อพยพของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ หยุดงานประท้วงบริษัทและร่วมกันชุมนุมในปฏิบัติการที่ชื่อว่า "เวย์แฟร์ วอล์กเอาท์" เพื่อแสดงการต่อต้านเรื่องที่บริษัทของพวกเขาแสวงหาผลกำไรจากการคุมขังเด็ก

ภาพการชุมนุมประท้วงเวย์แฟร์ที่จัตุรัสคอปตัน (ที่มา: twitter/Natalie Shure)

28 มิ.ย. 2562 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (26 มิ.ย.) ตามเวลาในสหรัฐฯ ผู้ประท้วงที่เป็นคนทำงานบริษัทเครื่องเรือนเวย์แฟร์พากันนัดหยุดงานประท้วงและออกมาชุมนุมที่จัตุรัสคอปลีย์ในเมืองบอสตันเพื่อต่อต้านการที่บริษัทแสวงหากำไรจากนโยบายคุมขังเด็กผู้อพยพของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ 

ปฏิบัติการในครั้งนี้มีชื่อว่า "เวย์แฟร์ วอล์กเอาท์" คนงานและผู้สนับสนุนรวมหลายร้อยรายชุมนุมประท้วงทั้งในบอสตันและในเบิร์นสวิคของรัฐเมน การประท้วงในครั้งนี้มีที่มาจากความไม่พอใจกรณีบริษัทเวย์แฟร์ทำสัญญากับบริษัท BCFs ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลจัดการเรื่องสถานกักกันเด็ก

ฝ่ายบริหารของบริษัทเวย์แฟร์แถลงต่อสื่อว่าพวกเขาจะไม่มีการโต้ตอบใดๆ ต่อคนงานที่เข้าร่วมการประท้วง

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 21 มิ.ย. เคยมีการยื่นจดหมายจากกลุ่มคนงาน 547 ราย ถึงคณะผู้นำบริษัทเวย์แฟร์เรียกร้องให้บริษัทปฏิเสธการเซ็นสัญญากับ BCFs เนื่องจาก "การกระทำในปัจจุบันของสหรัฐฯ และบริษัทที่ทำสัญญากับพวกเขาที่ชายแดนทางตอนใต้ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือตามหลักจรรยาบรรณที่บริษัทเวย์แฟร์ควรจะเลือกเป็นส่วนหนึ่งด้วย"

หลังจากที่บริษัทปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเรียกร้องในจดหมาย กลุ่มคนงานก็ขอให้มีการนำผลกำไร 86,000 ล้านดอลลาร์ จากการทำสัญญาในครั้งนี้บริจาคให้กับกลุ่มรณรงค์ด้านกฎหมายผู้อพยพ RAICES แต่กลุ่มผู้นำเวย์แฟร์ประกาศว่าพวกเขาจะบริจาคให้กับสภากาชาด 100,000 ดอลลาร์แทน ซึ่งถูกมองว่าเป็นการพยายามคลี่คลายสถานการณ์ในแบบที่ไม่เหมาะสม

ทวิตเตอร์ของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้คือ @wayfairwalkout ระบุถึงการตัดสินใจบริจาคเงินของผู้บริหารว่าถึงแม้จะเป็น "ข่าวดีมาก" ที่บริษัทเวย์แฟร์ทำอะไรดีๆ ได้ แต่องค์กรอย่างกาชาดก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแหล่งกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐอเมริกา (ICE)

การประท้วงในครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กร RAICES จากส.ส. อเล็กซานเดรีย โอแคซิโอ-คอร์เทซ และฝ่ายก้าวหน้าในสหรัฐฯ อีกหลายคน เช่น ส.ว. อลิซาเบธ วอร์เรน และ ส.ว. เบอร์นี แซนเดอร์ส โดยที่ทั้งสองคนนี้ต่างก็เป็นผู้ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2563

วอร์เรนระบุในทวิตเตอร์ว่า "ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กผู้อพยพเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การต่อสู้ให้ได้มา"

ส่วนแซนเดอร์สกล่าวสนับสนุนการประท้วงว่า "พวกเราไม่ควรจะเป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์ว่าจับเด็กตัวเล็กๆ ไปขัง" นอกจากนี้ยังชื่นชมว่าส่งที่คนงานเหล่านี้ทำเป็นสิ่งที่ "กล้าหาญและมีความจำเป็น"

เรียบเรียงจาก

At #WayfairWalkout Actions, Workers Denounce Company Profiting From Child Detention, Common Dreams, Jun. 26, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net