Skip to main content
sharethis

28 มิ.ย. 2562  วานนี้ เวลา 10.00 น. ที่ศาลาประชาคมบ้านโคกพยอม ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุญหาญ จ.ศรีสะเกษ กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ ประมาณ 100 กว่าคน ได้จัดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์โรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณ อ.ไพรบึง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เพื่อประเมินสถานการณ์ หลังจากนั้น ทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ ได้อ่านคำประกาศ โดยทองแดง พิมูลชาติ กรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ในพื้นที่อ.ขุนหาญ อ.ขันธ์ และอ.ไพรบึง จะมีโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมาทางบริษัทมีกระบวนการในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2561 ณ ห้องประชุมเทศบาลต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ และการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2562 ณ หอประชุมเทศบาลต.สำโรงพลัน ซึ่งผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบในเขตจ.ศรีสะเกษ ประกอบด้วย บ้านตาจวน บ้านชำแระ บ้านหัวช้าง ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง และบ้านโคกพยอม ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่รอบรัศมี 5 กิโลเมตรที่จะได้รับผลกระทบ ไม่มีหน่วยงานใดมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับผู้ได้รับผลกระทบเลย

ดังนั้นจึงมีการรวมตัวกันลุกขึ้นมาคัดค้านการจัดเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทดังกล่าว ภายใต้ชื่อ “กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ” และได้รวบรวมข้อมูลพร้อมตั้งข้อสังเกตุดังนี้

1.สถานที่ตั้งโรงงานไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้กับชุมชนซึ่งห่างไม่ถึง 1 กิโลเมตร อาจจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน พื้นที่เกษตรอินทรีย์ และทรัพยากรที่ชุมชนได้พึ่งพาอาศัย

2.ชาวบ้านไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อน ซึ่งจากกระบวนการจัดทำEnvironmental Impact Assessment: EIA (การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงกับชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านนำไปประกอบการตัดสินใจด้วย

3.จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ในเขตภาคอีสานนั้น จะมีอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล จำนวนกว่า 29 แห่ง ชาวบ้านที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร มีการลุกขึ้นมาคัดค้านและแสดงจุดยืนถึงการคัดค้าน นั้นแสดงให้เห็นว่ากระบวนการของการจัดทำโครงการอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาลนั้นไม่ได้รับฟังความคิดเห็นหรือเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่อย่างแท้จริง จากข้อมูลของพื้นที่จ.ศรีสะเกษพบว่าเป็นพื้นที่การเกษตรการทำนา และพื้นที่สวน เช่น การทำสวนทุเรียน เงาะ ยางพารา การปลูกพืช หอม กระเทียม จนทำให้จ.ศรีสะเกษมีชื่อเสียงของพืชสวน จนเป็นที่มาของคำว่า “ทุเรียนภูเขาไฟ” และยังมีคำขวัญที่ว่า “หอม กระเทียมดี” ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่เป็นตัวตนของชาวศรีสะเกษ แต่ตามแผนพบว่าพื้นที่ศรีสะเกษจะมีโรงงานอุตสาหกรรม 3 พื้นที่ ซึ่งครอบคลุมอำเภอต่างๆ ได้แก่ พื้นที่ขอบเขตอ.ขุนหาญ อ.ไพรบึง อ.ขุขันธ์ อ.กันทรลักษณ์ และ อ.กันทรารมย์ ตามแผนที่จะมีการสร้างโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งนั้นสื่อให้เห็นว่า การเข้ามาของอุตสาหกรรมโรงน้ำตาลนั้น กำลังขัดแย้งกับความเป็นตัวตนและขัดต่อวิถีชีวิตของคนในจ.ศรีสะเกษ

จากเหตุการณ์และสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทาง“กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ” จึงต้องออกมาประกาศเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะชนต่อไปว่า “กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ” ขอยืนหยัดคัดค้านอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาลและข้อต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต ของคนศรีสะเกษ ตลอดไป ขอเรียกร้องให้ทางจังหวัดควรมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ Strategic Environmental Assessment: SEA (การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์)โดยให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อประเมินศักยภาพพื้นที่ให้ชัดเจน เพราะว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาชนในพื้นที่ ชาวบ้านในพื้นที่ขอแสดงเจตจำนงค์และจะมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อโต้แย้งรายงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโครงการไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ของบริษัทที่เกี่ยวข้อง เพราะเห็นว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ สร้างภาพและมีการใช้กลอุบาย หลอกล่อ อีกทั้งขาดการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ ขอประกาศจุดยืนต่อผืนแผ่นดินเกิด ว่าจะปกป้องรักษาทรัพยากรและรากเหง้าวิถีของชาวศรีสะเกษไว้ เพื่อให้ลูกหลานและคนรุ่นหลังได้ภาคภูมิในความเป็น คนศรีสะเกษตราบนานเท่านาน

ด้านสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่า การมาร่วมเวทีวิเคราะห์ประเด็นสถานการณ์โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในวันนี้สังเกตุเห็นหน่วยงานความมั่นคงมาสังเกตุการณ์กันเยอะมากทางก็พร้อมที่จะอธิบายและให้เข้ามารับฟังข้อมูลที่จะนำเสนอ ซึ่งวันนี้มีข้อเสนอชัดต่อเรื่องคือ

1.ให้รัฐต้องทบทวนเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 ครั้ง เพราะชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลมาก่อน

2.รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง อย่างรอบด้าน เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ใช้ประกอบในการตัดสินใจ

3.จังหวัดต้องตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงโดยให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

4.รัฐต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ SEA เครื่องมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับ และถูกใช้อย่างกว้างขวางในประเทศต่างๆ มิได้มีแต่เพียงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA) เท่านั้น แต่ในปัจจุบันการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net