Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความชิ้นนี้อุทิศให้ ผศ.ดร.เมตตา กูนิง ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) ซึ่งเสียชีวิตด้วยเส้นเลือดในสมองแตก ณ โรงพยาบาล มอ.หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560 ผู้จุดประกายการสร้าง “กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเยียวยา” ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และพัฒนาระบบฐานข้อมูลเหตุการณ์และผู้บาดเจ็บเสียชีวิตเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ความรุนแรงและนำไปสู่ความช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางจากหน่วยงานต่างๆ ในท้ายที่สุด

วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์เวทีการเปิดตัว “นักกระบวนการเพื่อการเยียวยา” และหนังสือคู่มือหลักสูตร “การออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเยียวยา” 2 เล่ม ชื่อ “ความสุขมีตัวตน” และ “ชีวิตมีความรู้สึก” (สามารถดาวน์โหลดผ่าน QR Code ได้) โดยมี ผศ.ดร.นิตยา แม็คแนล เป็นหัวหน้าโครงการและอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้รับการสนับสนุนจาก World Bank

หนังสือทั้งสองเล่ม มีขนาด B5 จำนวน 40 กว่าหน้า มีรายชื่อคณะทำงานพัฒนาหลักสูตรและคู่มือยาวเหยียด มาจากหลากหลายองค์กร ทั้งของโรงพยาบาล ทีมมูลนิธิสื่อชาวบ้านมะขามป้อม ทีมงานของ ศวชต. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ พม. ทุกจังหวัดในชายแดนใต้

เนื้อหาด้านในคือ การถอดบทเรียนการทำงานร่วมกับผู้หญิงและผู้ชายซึ่งเคยเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมไปถึงคนทำงานด้านเยียวยาจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ พัฒนาศักยภาพให้เป็นวิทยากรกระบวนการนักเยียวยา (Training the Trainer)

เน้นการฟังเสียงความทุกข์และการสะท้อนปัญหาชีวิตที่แสนจะขมขื่นจากประสบการณ์ชีวิตที่ได้เคยสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ภายใต้แนวคิดที่ว่า “เพียงได้ยินทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป” โดยเน้นการสร้างพลังใจในการดูแลตนเอง และผู้อื่น

คู่มือฉบับนี้จึงเหมาะสมสำหรับ คนที่ทำงานด้านเยียวยาหรือนักเยียวยา ที่ต้องการพัฒนาความรู้และทักษะการเข้าใจ ดูแล และเสริมพลังตนเอง สู่การเข้าใจและพร้อมช่วยเหลือผู้อื่น โดยเนื้อหาจะเป็นเป็นกิจกรรมต่างๆ วัตถุประสงค์ ระยะเวลา ขั้นตอนการทำกิจกรรม

สิ่งที่น่าสนใจสุดๆ คือ ผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ต่างมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกล่าวเป็นเสียเดียวกันว่า กระบวนการนี้ได้ผล ช่วยให้เขาและเธอสามารถมีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางสถาการณ์อันเลวร้ายที่บางคนเคยคิดแม้แต่จะ “ฆ่าตัวตาย”

ที่สำคัญผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เป็นผู้ชาย ที่เคยถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคง ยังร่วมแลกเปลี่ยนว่า ตนเองสามารถก้าวข้ามความโกรธและความก้าวร้าวของตัวเอง จนสามารถนำไปสู่การเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อไฟใต้รายอื่นๆ ได้อีกด้วย

ผู้เข้าร่วมบางคนกล่าวว่า ได้นำหลักสูตรนี้ไปใช้ขยายผลต่อแล้วในหมู่บ้านของตนเอง เพราะเมื่อได้ผลกับตัวเองจึงเห็นประโยชน์ที่จะนำไปใช้ต่อ

บางคนได้นำความรู้ที่ได้ไปทำงานกับลูกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้นำกิจกรรมเยียวยาเหล่านี้ไปใช้

จากเหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 จนมาถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 15 ปี แล้ว ผู้ที่ทำงานด้านเยียวยาหลายคนต่างมีประสบการณ์อยู่ในภาวะ Brown out (เกือบจะหมดพลัง) and Burn out (หมดพลัง)

คู่มือฉบับนี้ พยายามสื่อสารว่า “อะไรที่เกินความสามารถต้องมีทีมช่วย” และต้องตระหนักว่าเราเป็น “มนุษย์ธรรมดา” ต้องรู้จักหยุด ทบทวน ร้องไห้ให้เป็น และทำเรื่องไร้สาระได้

ในช่วงท้ายมีการตั้งคำถามว่า โครงการนี้จะมีกระบวนการพัฒนาต่อเนื่องได้อย่างไร เช่น การพัฒนางานเยียวยานำไปสู่การจัดการความขัดแย้งได้หรือไม่? จะทำอย่างไรให้นักกระบวนการเยียวยามีอาชีพสร้างรายได้? จะสร้างทักษะการเยียวยาให้กับคนรุ่นหลังได้อย่างไร? และการเยียวยาจะสามารถดูแลสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดชีวิตอย่างไร?

เพราะการเยียวยา ไม่ใช่เพียงแค่การชดเชยในลักษณะของการให้ “เงิน” เพียงอย่างเดียว แต่การเยียวยาคือการปรับสมดุลของอารมณ์ ความคิด ร่างกาย และจิตใจ ด้วยการสร้างความเข้มแข็ง และมั่นใจ เพื่อสามารถดูแลตนเอง และผู้อื่นต่อไป ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

อ้างอิง

http://www.mis.sat.psu.ac.th/staff_directory/staff.php?STAFF_ID=0004026

 

 

 

 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ดร.อลิสา หะสาเมาะ, นักสังคมวิทยา เป็นกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ อาจารย์แผนกวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net