Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือ ‘กฎหมายแร่ฉบับใหม่’ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการว่าด้วยการบริหารจัดการแร่ 3 ชุด 3 ระดับ ได้แก่ (1) คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) (2) คณะกรรมการแร่ และ (3) คณะกรรมการแร่จังหวัด โดย คนร. เป็นคณะกรรมการชั้นบนสุดมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯซึ่งนายกฯมอบหมายเป็นประธานกรรมการ กรรมการตำแหน่งอื่นมาจากรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงและอธิบดีหลายกระทรวง โดยเฉพาะกรรมการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมทรัพยากรธรณีที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานในการสำรวจและทำเหมืองแร่ที่เคยเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรมแต่ผู้เดียวตลอดมาตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ที่ถูกยกเลิกใช้บังคับไปแล้ว)

อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของ คนร. ก็คือการเสนอยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.), เสนอแนะแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนแม่บทฯอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ, กำกับดูแล ตรวจสอบให้หน่วยงานรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนแม่บทฯ รวมทั้งในมาตรา 19 ได้กำหนดให้ คนร. มีอำนาจประกาศกำหนดให้การอนุญาตและการกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในการออกประทานบัตรให้ทำเหมืองในพื้นที่และชนิดแร่ใดต้องได้รับความเห็นชอบจาก คนร. ก่อนการอนุญาตเพื่อพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำเหมือง มาตรการในการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งผลกระทบสะสมต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ส่วนคณะกรรมการแร่เป็นคณะกรรมการระดับปลัดกระทรวงลงมา มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รทส.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รวอ.) ในการประกาศให้มีการประมูลเขตแหล่งแร่, ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีฯในการออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่, ให้ความเห็นชอบในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต ต่ออายุ โอน เพิกถอนและกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เกี่ยวกับประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองประเภทที่ 2 และ 3[1]

และคณะกรรมการแร่จังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) เป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาต/ไม่อนุญาต ต่ออายุ โอน เพิกถอน หรือกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เกี่ยวกับประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองประเภทที่ 1, พิจารณาข้อร้องเรียนหรือผลกระทบจากการทำเหมืองประเภทที่ 1, ให้คำปรึกษา คำแนะนำและความเห็นแก่ ผวจ. ในการบริหารจัดการแร่ระดับจังหวัด

เมื่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 กำหนดบทบาท อำนาจและหน้าที่ให้ คนร. เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณาเพื่ออนุญาตหรือไม่อนุญาตประทานบัตรแล้วก็ต้องไปออกอนุบัญญัติเป็น ‘ประกาศ คนร.’ ตามมาตรา 19 ดังที่ได้กล่าวไป แต่เมื่อสำรวจ ตรวจสอบและค้นหาดูทั้งหมด ณ เวลาปัจจุบันที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้อยู่ก็ไม่พบประกาศ คนร. ตามมาตรา 19 แต่อย่างใด พบเพียงประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เรื่องหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจสำหรับการอนุญาตประทานบัตรฉบับที่ 1 และ 2 ที่ออกประกาศเมื่อปี 2561 และประกาศ กพร. เรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำเหมืองที่ออกประกาศเมื่อปี 2561 เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นประกาศที่อธิบดี กพร. สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ลงนามในประกาศดังกล่าวด้วยตัวเอง ซึ่งมีลักษณะจงใจบิดเบือนและตัดตอนอำนาจในการอนุมัติ/อนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นบทบาท อำนาจและหน้าที่ร่วมกันของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรมในโครงสร้าง คนร. ที่ต้องการสร้างดุลยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ใหม่ที่เคยเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรมแต่เพียงผู้เดียวมาอย่างยาวนานอย่างเห็นได้ชัด

ดูเหมือนว่าความจงใจบิดเบือนบทบาท อำนาจและหน้าที่ของ คนร. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเพื่ออนุญาตหรือไม่อนุญาตประทานบัตรไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ รวอ. ยังได้ออกอนุบัญญัติเป็น ‘ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 พ.ศ. 2561’ เพื่อแจกแจงแผนผังขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรว่าตั้งแต่เริ่มต้นยื่นคำขอไปจนถึงอธิบดี กพร. ออกประทานบัตรให้ในขั้นตอนสุดท้ายมีกระบวนการอย่างไรและมีหน่วยงานใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งในประกาศฯฉบับนี้เองที่กำหนดให้ ‘คณะกรรมการแร่’ เข้ามามีบทบาท อำนาจและหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตประทานบัตรฝ่ายเดียวโดยไม่มี ‘คนร.’ ร่วมด้วย ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่ต้องการให้ทั้งคณะกรรมการแร่และ คนร. เข้ามามีบทบาท อำนาจและหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตประทานบัตรทั้งคู่ ไม่ใช่กรรมการชุดใดชุดหนึ่งเท่านั้น

แผนผังขั้นตอนการดำเนินการอนุญาตประทานบัตร

อธิบายแผนผังฯ – จะเห็นได้ชัดเจนว่าขั้นตอนการดำเนินการอนุญาตประทานบัตรตามแผนผังฯที่หน่วยงานใน กพร. จัดทำขึ้นนี้ไม่ปรากฏว่ามี ‘คนร.’ เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตประทานบัตรแต่อย่างใดเลย มีเพียง ‘คณะกรรมการแร่’ ฝ่ายเดียวเท่านั้น

[เอกสารประกอบการบรรยายหัวข้อเรื่อง ‘การดำเนินการพิจารณาสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560’ โดยกองบริการงานอนุญาต กพร. ในงานสัมมนา ‘เจาะลึกกฏหมายว่าด้วยแร่ พ.ศ. 2560 และแนวทางการปฏิบัติงาน’ ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรม เดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ จัดโดย กองกฎหมาย กพร. กระทรวงอุตสาหกรรม]

เมื่อท้วงติงเช่นนี้แล้วอาจจะมีข้อโต้แย้งว่ามาตรา 24 ข้อ (3) ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่เขียนไว้ชัดเจนว่าให้คณะกรรมการแร่มีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต ต่ออายุ โอน เพิกถอนและกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เกี่ยวกับประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองประเภทที่ 2 และ 3 และมาตรา 53 ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ก็เขียนไว้ชัดเจนเช่นเดียวกันว่าการทำเหมืองประเภทที่ 2 และ 3 ให้อธิบดี กพร. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแร่เป็นผู้ออกประทานบัตร ส่วนมาตรา 12 ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ คนร. ไว้โดยตรงถึงแม้ไม่มีข้อใดเลยที่ระบุให้ คนร. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตประทานบัตร แต่การที่ไประบุบทบาท อำนาจและหน้าที่ของ คนร. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตประทานบัตรไว้ในมาตรา 19 (นอกมาตราที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ คนร.) แทนนั่นย่อมชัดเจนว่าไม่ควรมีใคร/หน่วยงานใดไปออกอนุบัญญัติตัดความข้องเกี่ยวของ คนร. ในการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตประทานบัตรออกไปได้  

ดังนี้แล้ว ภายใต้บริบทดังกล่าวอาจจะเป็นการบิดเบือน หรือความผิดพลาดของหน่วยงานทั้งหลายตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่ไม่ละเอียดรอบคอบมากพอจนทำให้ตกหล่นหรือไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญที่ไปออกประกาศฯฉบับดังกล่าวโดยตัดบทบาท อำนาจและหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตประทานบัตรของ คนร. ไปเสียได้ และผลจากการกระทำในกรณีนี้ได้ทำให้ประทานบัตรและประทานบัตรต่ออายุทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตหลังจากกฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ล้วนเป็นโมฆะทั้งสิ้น เพราะได้รับความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตประทานบัตรโดยไม่มี คนร. เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั่นเอง. 
  
           

เชิงอรรถ
[1] พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้แบ่งประเภทการทำเหมืองออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
การทําเหมืองประเภทที่ 1 เป็นการทําเหมืองในเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทํารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีจํานวน 7 ชนิดแร่ ได้แก่ ทรายแก้ว ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์ ดินเหนียวสี ดินเบา ดินมาร์ล บอลเคลย์และดินทนไฟ 
การทําเหมืองประเภทที่ 2 เป็นการทําเหมืองในเนื้อที่ไม่เกิน 625 ไร่ เป็นโครงการที่ต้องจัดทำ EIA แต่ไม่เข้าข่ายเป็นโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) 
การทําเหมืองประเภทที่ 3 เป็นการทําเหมืองที่ไม่ใช่การทําเหมืองประเภทที่ 1 หรือ 2 ได้แก่ การทําเหมืองแร่ในทะเล การทําเหมืองแร่ใต้ดิน การทําเหมืองแร่ทองคํา การทําเหมืองแร่ถ่านหิน การทําเหมืองแร่กัมมันตรังสี การทําเหมืองแร่ที่จะต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี (พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1) และการทําเหมืองแร่ที่มีกิจกรรมโดยตรงหรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) 
โดยการทําเหมืองประเภทที่ 1 ให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ (จรท.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแร่จังหวัดที่มีการทําเหมืองเป็นผู้ออกประทานบัตร การทําเหมืองประเภทที่ 2 และ 3 ให้อธิบดี กพร. เป็นผู้ออกประทานบัตร 
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net