Skip to main content
sharethis

กรมควบคุมโรค เผยผลตรวจแรงงานชาวเมียนมาร์ไม่ได้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพบแรงงานชาวเมียนมาร์ อายุ 44 ปี สงสัยป่วยด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุด ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าว ไม่ได้ป่วยด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นแต่อย่างใด โดยสาเหตุที่พบเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด

อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการสื่อสารให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ที่มีลักษณะคล้ายกันในชุมชนแต่อย่างใด

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทางน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่างๆ โรคนี้สามารถเกิดได้ทุกวัย แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ อาการคือ มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง อาจมีผื่นแดง จ้ำเลือดขึ้นตามผิวหนังร่วมด้วย และอาจเกิดภาวะช็อกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวและภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคตับไต โรคหัวใจ โรคเลือด ดื่มสุราเป็นประจำ อาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรณีที่พบผู้ป่วยสงสัย สำหรับวิธีป้องกันโรค ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดเป็นเวลานาน เช่น สถานบันเทิง ตลาดที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เป็นต้น ระวังการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลายของผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ ส่วนผู้ที่เดินทางไปทวีปแอฟริกาหรือประเทศในตะวันออกกลาง ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นเพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน หากประชาชนมีอาการป่วยสงสัยว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น ควรรีบพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ที่มา: เนชั่นทันข่าว, 28/6/2562

ชี้เด็กได้รับทุน กสศ. 2,053 ทุน จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

26 มิ.ย. 2562 ที่อาคารเดอะ พอร์ทอล ไลฟ์สไตล์ คอมเพล็กซ์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี - กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงาน "ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" โดยมีผู้นำนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 และผู้บริหาร ครู อาจารย์ จากสถานศึกษาสายอาชีพจำนวน 36 แห่ง เข้าร่วม โดยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ "ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง: สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน" ตอนหนึ่งว่า การเรียนสายอาชีพนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้จริง ประเทศชั้นนำของโลก เช่น เยอรมนี ไต้หวัน สิงคโปร์ ล้วนให้ความสำคัญกับคุณภาพแรงงานในระดับสายอาชีพชั้นสูง โดยถือเป็นกำลังแรงงานกลุ่มสำคัญที่ทำให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากกว่าแรงงานในระดับการศึกษาอื่นๆ และโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. มีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สร้างกำลังคนสายอาชีพ ให้มีสมรรถนะและทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่ให้ความสำคัญกับสาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะอาชีพการทำงานตาม 10 อุตสาหกรรม S Curve และ New S Curve เป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลและความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น อีกทั้งสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีรูปแบบการทำงานที่เป็นนวัตกรรมกับสถานประกอบการและมีความร่วมมือกับต่างประเทศ

นอกจากนี้หลายสถานศึกษายังมีความร่วมมือทวิภาคีกับสถานประกอบการ ภาคเอกชน ซึ่งจากงานวิจัยระดับนานาชาติ พบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการศึกษาสายอาชีพ การพัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการและภาคเอกชนในการพัฒนาทักษะที่ทำให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้จริง มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างเป็นแนวทางการพัฒนาที่สำคัญอย่างยิ่ง

"ผมคาดว่าโครงการนี้จะมีความคุ้มทุนอย่างมาก เพราะเป็นการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้น สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างทั่วถึง ช่วยแก้ปัญหาแรงงานได้ตรงจุด รวมถึงทำให้สถาบันการศึกษาสายอาชีพได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยหากนักเรียนที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูงจำนวน 2,053 ทุน ในปีแรก ออกไปสู่ตลาดแรงงาน ข้อสมมุติฐานที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ก็คือ เมื่อพวกเขาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี พวกเขาจะสามารถสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) ในรูปตัวเงินถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR หรือ Internal Rate of Return) อยู่ที่ร้อยละ 10”ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าว

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สนับสนุนให้เรียนต่อในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ซึ่งปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรกและได้คัดเลือกผู้รับทุนรุ่น 1 เรียบร้อยแล้ว โดยมีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันอุดมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยชุมชน เข้าร่วมโครงการ 36 สถาบัน 26 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ มีผู้รับทุน 2,053 คน แบ่งเป็น ผู้รับทุนในประเภทประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่อง ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)/อนุปริญญา (ทุน 5 ปี) จำนวน 922 ทุน และประเภท ปวส./อนุปริญญา (ทุน 2 ปี) จำนวน 1,131 ทุน เข้าศึกษาต่อใน 30 สาขาวิชาขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของประเทศ โดยสาขาวิชาที่มีจำนวนผู้รับทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สาขาเครื่องกล จำนวน 286 ทุน สาขาเกษตรศาสตร์ จำนวน 220 ทุน สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม จำนวน 200ทุน สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 163 ทุน และสาขาไฟฟ้า จำนวน 161 ทุน

"ตามสถิติพบว่าแต่ละปี มีเด็กประมาณ 7 แสนคน ในจำนวนนี้ 1 แสนคนมีฐานะยากลำบากและมีเพียง 5,000 คนมีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กสศ.ต้องการเข้ามาลดช่องว่างจุดนี้จึงทำให้เกิดเป็นโครงการนี้ขึ้น และนักศึกษาผู้รับทุนทุกคนมาจากครอบครัวยากลำบาก ซึ่งเราก็พบว่านอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจก็ยังมีปัญหาอื่นๆ แฝงมาด้วย ซึ่งในจุดนี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการเรียน ดังนั้น เมื่อเด็กเข้ามาในสถาบันจะต้องมีอาจารย์ช่วยดูแลแทนพ่อแม่ด้วย โดย กสศ.ก็จะมีทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำหน้าที่ในการติดตามดูแลนักศึกษาทุนจนจบการศึกษา"ผู้จัดการ กศศ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ในส่วนของการเตรียมความพร้อมคัดเลือกนักศึกษาทุน รุ่นที่ 2 นั้น ก็อยู่ระหว่างการเริ่มเตรียมการ แต่ กสศ.ยังมีความห่วงใยในเรื่องของงบประมาณ เพราะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งอาจจะทำให้การอนุมัติงบประมาณล่าช้า จึงกังวลว่าอาจจะกระทบต่อการเชิญชวนเด็กมาร่วมโครงการ

ที่มา: ไทยโพสต์, 26/6/2562

ก.แรงงาน พบปะอาสาสมัครแรงงานไทยในบาห์เรน ร่วมมือสถานทูตฯ ดูแลแรงงานใกล้ชิด

นายธวัช เบญจาทิกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางพรปวีณ์ วิชิต ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน นายมโนชญ์ แสงแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางสาวสุมณฑา ไพรสุวรรณา ผู้ตรวจราชการสำนักงานประกันสังคม นาวาตรี วิทวัส กู้ประเสริฐ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สนร.ริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย และนายอาชวิน ปุจฉากาญจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานตรวจราชการ สำนักตรวจและประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานและเยี่ยม Labour Market Regulatory Authority (LMRA) ราชอาณาจักรบาห์เรน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแล ออกใบอนุญาตทำงานและให้ความช่วยเหลือด้านแรงงานแก่แรงงานต่างชาติแบบครบวงจร โดยมี Ausamah Adulla Al Absi (CEO) ให้การต้อนรับ บรรยายสรุปและนำเยี่ยมชมการดำเนินงานของหน่วยงานในการควบคุมดูแลและลงทะเบียนแรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานที่ราชอาณาจักรบาห์เรน ในส่วนข้อมูลของหน่วยงาน LMRA ได้นำเสนอจากฐานข้อมูล พบว่ามีแรงงานไทยเดินทางเข้ามาทำงานที่ราชอาณาจักรบาห์เรน จำนวน 1,742 คน และเป็นแรงงานผิดกฎหมายจำนวน 71 คน

ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะ พร้อมด้วย อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ณ กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เดินทางไปพบผู้ประกอบการร้านอาหารไทย สมาคมพ่อครัวไทยกรุงอาบูดาบีและอาสาสมัครแรงงาน ณ ร้านอาหาร Desert Lotus โรงแรม One to One หลังจากนั้น ได้พบปะและหารือข้อราชการกับ นายวราวุธ ภู่อภิญญา เอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี เพื่อรับทราบสถานการณ์ด้านแรงงานในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และความร่วมมือในการทำงานของฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งทราบว่าฝ่ายแรงงานฯ ได้มีการทำงานร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบีได้อย่างดี

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวน 4,451 คน เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 2,888 คน ผิดกฎหมาย 1,563 คน ในตำแหน่งงานก่อสร้าง พนักงานนวดสปา พ่อครัว/แม่ครัว มีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 15,000 บาท

ที่มา: สยามรัฐ, 26/6/2562

สอศ.จับมือภาคเอกชนติดอาวุธเสริมทักษะครูช่างแอร์อาชีวะเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

24 มิ.ย.2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วยน.ส.จรรยาพร สุนทรวสุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมลงนามความร่วมมือการพัฒนาครูและบุคลากรอาชีวศึกษา และรับมอบชุดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานเครื่องปรับอากาศ จำนวน 10 ชุด ให้กับวิทยาลัยในสังกัด สอศ.รวม 10 แห่ง

ดร.ประชาคม กล่าวว่า สอศ. มีความยินดี ที่บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความสำคัญ และมุ่งมั่น ที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน พัฒนานักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้มีศักยภาพ ประสิทธิภาพ และทักษะด้านเครื่องปรับอากาศให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคบริการ และการพัฒนาประเทศเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรในสถานศึกษาได้รับความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จริง จากสถานประกอบการ

สอศ. มีวิทยาลัยอาชีวะทั่วประเทศที่เปิดสอนในสาขาเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็น และจัดการศึกษามุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านวิชาชีพ เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อจบการศึกษา โดยคำนึงถึงคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาชีพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สำหรับ ร่วมมือกับ บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นแนวทางและแนวปฏิบัติร่วมกัน ในการสนับสนุน ส่งเสริม ปริมาณการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็น ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้ง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องปรับอากาศของไทย

“การที่หน่วยงานต่างๆ เห็นความสำคัญของการอาชีวศึกษา โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษา เสริมสร้างประสบการณ์วิชาชีพ เติมเต็มความรู้ ทักษะ เพื่อความพร้อม ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา เพื่อมีความรู้ก้าวทันการพัฒนาของเครื่องปรับอากาศ จะทำให้ครูบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน นักศึกษาอาชีวะฯก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์การต่อยอดในการนำวิชาความรู้ไปประกอบวิชาชีพดูแลเครื่องปรับอากาศ จะเป็นการช่วยลดพลังงานไฟฟ้าของประเทศด้วย”

ด้าน นายวีระพล สวรรค์พิทักษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิตอล บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทมีความยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐโดยเฉพาะ ได้เข้าร่วมฝึกอบรมพัฒนาครูและบุคลกร และนักเรียน นักษึกษา อาชีวศึกษา ให้มีประสบการณ์ โดยในปี 2561 ทางบริษัทฯได้ตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างแอร์ให้กับครู บุคลากร และนักเรียน นักศึกษา ที่ จ.เชียงใหม่ จำนวน 9 รุ่น ส่วนปี 2562 ทางบริษัทฯมีแผนจัดฝึกอบรมให้ จำนวน 16 รุ่น และได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/6/2562

ค่าส่วนกลาง “บ้าน-คอนโด” ลุ้นระทึก นโยบายหาเสียงค่าแรง 400 บาท ดันต้นทุนพุ่ง 10%

ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าในระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เรียกว่า รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ทางพรรคพลังประชารัฐมีนโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 400 บาท ซึ่งคาดว่ามีผลกระทบสูงต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จุดโฟกัสอยู่ที่การบริหารจัดการนิติบุคคลคอนโดมิเนียมกับนิติบุคคลบ้านจัดสรร ซึ่งมีการใช้แรงงานคนในสัดส่วนสูง หรือใช้แรงงานคนเข้มข้น

จากการสำรวจสถานการณ์การคิดค่าใช้จ่ายส่วนกลางบ้าน-คอนโดฯในปี 2562 เพื่อมองแนวโน้มค่าส่วนกลางรายเดือนในอนาคต หลังมีรัฐบาลใหม่บริหารประเทศจะเพิ่มต้นทุนหรือไม่ เพราะไม่ว่าต้นทุนค่าส่วนกลางจะคงที่ หรือเพิ่มขึ้น ล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อภาวะค่าครองชีพของผู้บริโภค

นายสามภพ บุญนาค นายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการคำนวณจัดเก็บค่าส่วนกลางรายเดือนจะถูกหรือแพง มีโมเดล standard of living เป็นตัวกำหนด ถ้าต้องการคุณภาพของพื้นที่ส่วนกลางดีมากก็ต้องยอมจ่ายมาก ซึ่งคอนเซ็ปต์การบริหารพื้นที่ส่วนกลางเป็นผลดีในระยะยาว ทำให้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่อยู่อาศัยทั้งโครงการ

ตัวอย่างการจัดเก็บค่าส่วนกลาง กรณีคอนโดมิเนียมไฮไรส์ หรือตึกสูง พื้นที่ขาย (salable area) 15,000-25,000 ตารางเมตร ค่าส่วนกลางควรอยู่ที่ 40 บาท/ตารางเมตร เช่น พื้นที่ขาย 15,000 ตารางเมตร ค่าส่วนกลาง 40 บาท/ตารางเมตร ตกเดือนละ 600,000 บาท ถือว่านิติบุคคลพออยู่ได้ เพราะรายได้เพียงพอต่อรายจ่ายจริง

นายสามภพกล่าวถึงนโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทว่า ปกติการทำสัญญาจ้างเหมาหรือเอาต์ซอร์ซ เช่น บริษัท รปภ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาจะระบุในสัญญาชัดเจนว่า ถ้าค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นก็ขอสงวนสิทธิ์ในการปรับขึ้นค่าจ้างด้วย

“จุดนี้อาจมีผลกระทบได้ เพราะการจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุด และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ในปีแรกทางดีเวลอปเปอร์เป็นผู้จัดตั้งให้ หรือเป็นพี่เลี้ยงในการจัดตั้ง นั่นหมายความว่าดีเวลอปเปอร์เป็นผู้คำนวณค่าใช้จ่าย โดยวิธีสำรวจจากหมู่บ้านหรือโครงการใกล้เคียง โดยไม่ได้เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ เพราะมองว่าถ้าต้นทุนเพิ่ม ทางลูกบ้านต้องมาประชุมและตกลงร่วมกัน จุดนี้เป็นปัญหาใหญ่สุด เพราะการขอขึ้นค่าส่วนกลางเป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบากมาก” นายสามภพกล่าว

นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คอนเซ็ปต์การจัดเก็บค่าส่วนกลางรายเดือน มีการจัดเก็บรายได้จากสมาชิกในครงการโดยไม่ได้แสวงกำไร ดังนั้นจึงจัดเก็บให้เพียงพอกับรายจ่าย โดยโครงสร้างหลักของค่าใช้จ่าย คือ จัดจ้างบุคลากร ทั้งพนักงาน รปภ. แม่บ้าน คนทำสวน ค่าฟิกซ์คอสต์ในส่วนของไฟฟ้าแสงสว่าง ฯลฯ โดยค่าจ้างแรงงานคน เฉพาะพนักงาน รปภ. แม่บ้าน คนทำสวน รวมกัน 50%

ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน วันละ 330 บาท ถ้าหากเพิ่มเป็นวันละ 400 บาท ตามนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง เท่ากับเพิ่ม 21% เมื่อคำนวณในภาพรวมจากการจ้างแรงงานคน จึงเทียบเท่านิติบุคคลมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะต้องถูกนำไปถัวเฉลี่ยเก็บค่าส่วนกลางเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ

“สมมุติว่านิติบุคคลคำนวณแล้วต้องเก็บค่าส่วนกลางรวมกันเดือนละ 3 แสนบาท ถ้าหากเก็บได้ครบ 100% เมื่อนำมาหักรายจ่ายจริงอาจมีเหลือไม่ถึง 10% แต่ในทางปฏิบัติ ส่วนใหญ่ไม่สามารถเก็บได้ทุกคน (มีปัญหาเบี้ยวค่าส่วนกลาง) เท่ากับรายได้ไม่ถึง 3 แสนบาท แต่ยังสูงกว่ารายจ่ายหรือพอดีกับรายจ่าย นิติบุคคลก็ทำงานต่อไปได้ พื้นที่ส่วนกลางก็มีการบำรุงรักษาที่ดี คุณภาพชีวิตในโครงการก็ดีตามสภาพ”

กรณีหมู่บ้านจัดสรรในกลุ่มเพอร์เฟค มีทั้งเซ็กเมนต์ต่ำกว่า 5 ล้านบาท, 5-15 ล้าน และเกิน 15 ล้านบาทขึ้นไป โดยจัดเก็บเป็นราคาบาท/ตารางวา ซึ่งการคำนวณค่าส่วนกลางมีตัวแปรในด้านจำนวนยูนิตด้วย เช่น หมู่บ้านที่มี 100 ยูนิต กับ 500 ยูนิต มีตัวหารต่างกัน ทำให้หมู่บ้านใหญ่กว่าได้เปรียบเพราะมีตัวหารเยอะ ค่าส่วนกลางจะถูกกว่าหมู่บ้านเล็ก

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเด็นค่าส่วนกลางในโครงการจัดสรรมองว่าขึ้นกับคุณภาพการบริการที่ลูกค้าได้รับ บางโครงการนำเสนอบริการหลากหลายกว่า ทำให้ต้องมีการจ้างบุคลากรมากกว่า

โดยกลุ่มแสนสิริมีบริษัทลูก คือ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ทำธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้แมเนจเมนต์ หรือบริหารจัดการนิติบุคคลบ้าน-คอนโดฯ มีไอเท็มงานบริการจำนวนมากและหลากหลายกว่าคู่แข่ง เพราะฉะนั้น ถ้าบริหารคอนโดฯที่มีพื้นที่ขาย 30,000 ตารางเมตร ค่าส่วนกลางที่เหมาะสมตก 60-70 บาท/ตารางเมตร เป็นต้น เพราะมีค่า fee (ค่าธรรมเนียม) จากประสบการณ์ที่สะสมมายาวนาน สะท้อนออกมาผ่านคุณภาพงานบริการในพื้นที่ส่วนกลาง

“ประเด็นคือค่าส่วนกลางจะมากหรือน้อย มันต้อง judgement จากผู้ใช้ เดี๋ยวนี้ผมเชื่อว่าถ้าเป็นคนคอนโดฯขนาด 500 ยูนิต พื้นที่ขาย 30,000 ตารางเมตร ผมคิดว่าค่าบริหารส่วนกลางน่าจะตกอยู่ 60-70 บาท/ตารางเมตร เป็นค่าบริหารส่วนกลางอยู่ในจุดที่อาจจะเหมาะสม ขึ้นอยู่กับคนบริหารส่วนกลางว่าจะให้มากหรือน้อย”

นายอุทัยกล่าวต่อว่า แฟลกชิปคอนโดฯระดับลักเซอรี่ของแสนสิริ คือ 98 ไวร์เลส จัดเก็บค่าส่วนกลาง 120 บาท/ตารางเมตร เนื่องจากมีจำนวนยูนิตเพียง 70 ยูนิต ในขณะที่จัดหาบริการเยอะมาก ข้อคำนึงค่าส่วนกลางยังรวมถึงคุณภาพบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญด้วย

“นิติบุคคลคอนโดฯโครงการละ 70 ยูนิต กับ 1,000 ยูนิต ต้องมีผู้จัดการ 1 คนเหมือนกัน แต่การบริหารคอนโดฯ 70 ยูนิต ที่ไฮเอนด์มาก ๆ ต้องใช้ผู้จัดการที่มีความสามารถสูง มีทักษะด้านงานบริการ เป็นคุณสมบัติหายาก ค่า fee ก็ต้องสูงกว่าปกติทั่วไป”

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าส่วนกลางรายเดือนเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ที่เจ้าของบ้าน (หมู่บ้านจัดสรร) และเจ้าของร่วม (คอนโดฯ) ทุกคนต้องปฏิบัติตาม แต่ต้องยอมรับว่าค่าส่วนกลางก็ถือว่าเป็นภาระของผู้ซื้อเป็นอย่างมาก โดยพบว่าหลายโครงการไม่สามารถเก็บค่าส่วนกลางได้ครบ ถ้ามีการค้างค่าส่วนกลางในอัตราสูงอาจกระทบทำให้นิติบุคคลไม่มีเงินสำหรับการนำมาบริหาร จนส่งผลให้พื้นที่ส่วนกลางทรุดโทรม ขาดการดูแลรักษา

โดยอัตราจัดเก็บแต่ละโครงการไม่เท่ากัน ขึ้นกับหลายปัจจัย อาทิ ขนาดของโครงการ จำนวนยูนิต สิ่งอำนวยความสะดวก ราคาขาย ฯลฯ

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ มีผู้ประกอบการบางรายมีการกำหนดหรือระบุไว้ในสัญญาซื้อขายอย่างชัดเจนว่า ราคาค่าส่วนกลางที่จัดเก็บครั้งแรก มีเงื่อนไขเวลาใช้เพียง 3 ปี หลังจากนั้น ปีต่อไปอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อให้นิติบุคคลมีเงินงบประมาณมาใช้จ่ายบริหารจัดการ เฉลี่ยหลังจากโอนแล้วภายใน 3-5 ปี สิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางเริ่มมีความจำเป็นในการบำรุงรักษา หรือซ่อมแซมตามอายุการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าส่วนกลางเป็นเรื่องที่ค่อนข้างทำได้ยาก หากลูกบ้านไม่พร้อมใจกัน เนื่องจากขั้นตอนปกติต้องเรียกประชุมใหญ่เจ้าของร่วม/เจ้าของบ้าน ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงรับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด ถ้าครั้งแรกไม่ผ่าน ให้เรียกประชุมครั้งที่ 2 ภายใน 15 วัน โดยการประชุมครั้งที่ 2 ไม่ต้องถึงกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงทั้งหมด แต่ต้องได้คะแนน 1 ใน 3 ของคะแนนเสียงทั้งหมด

นายภัทรชัยกล่าวต่อว่า จากการสำรวจท็อป 5 ที่มีการจัดเก็บค่าส่วนกลางสูงสุดในทำเลกรุงเทพฯ แยกเป็นบ้านและคอนโดฯ มีดังนี้

ท็อป 5 คอนโดฯอยู่ระหว่างการขายที่มีค่าส่วนกลางแพงที่สุด ประกอบด้วย 1.98 ไวร์เลส ค่าส่วนกลาง 150 บาท/ตารางเมตร/เดือน 2.Banyan Tree Residences Riverside Bangkok 150 บาท/ตารางเมตร/เดือน 3.The Estelle Phrom Phong 140 บาท/ตารางเมตร/เดือน 4.AESTIQ Thonglor 130 บาท/ตารางเมตร/เดือน 5.SHAA ASOKE 120 บาท/ตารางเมตร/เดือน

ส่วนท็อป 5 บ้านจัดสรรที่มีค่าส่วนกลางแพงที่สุด 5 ลำดับ คือ 1.Quarter Thonglor ค่าส่วนกลาง 200 บาท/ตารางวา/เดือน 2.The Urban Reserve 170 บาท/ตารางวา/เดือน 3.Issara Residence Rama 9 160 บาท/ตารางวา/เดือน 4.Head Quarters Ekamai-Ladprao 117 บาท/ตารางวา/เดือน 5.Parc Preva 110 บาท/ตารางวา/เดือน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 25/6/2562

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานมอบโล่เกียรติคุณให้แก่เครือข่ายเอกชน 22 แห่ง หลังช่วยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ลดปัญหาขาดแคลนกำลังคน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2562 กพร.ได้จัดพิธีมอบโล่เกียรติคุณให้แก่เครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 22 แห่ง ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ลดปัญหาขาดแคลนกำลังคน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด บริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา เป็นต้น ที่ได้ให้การสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์การฝึกอบรม รวมมูลค่า 10 ล้านกว่าบาท

พร้อมร่วมกันจัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ช่างฝีมือ พนักงานในสถานประกอบกิจการ และประชาชนทั่วไป อีกจำนวน 8,848 คน เป็นการผลิตกำลังคนป้อนสู่อุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง ยานยนต์และชิ้นส่วน ภาคบริการและท่องเที่ยวด้วย อย่างไรก็ตามความร่วมมือและช่วยเหลือของเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานทั้ง 22 แห่ง เป็นการตอกย้ำว่าภาคเอกชนยังคงมีความสำคัญเสมอในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน มีส่วนในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น มีงานทำอย่างมั่นคง กพร. จึงเดินหน้าสร้างเครือข่ายตามแนวทางประชารัฐกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาฝีมือแรงงานต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 24/6/2562

รับสมัครบุคคลที่ว่างงาน ที่ถูกเลิกจ้าง หรือบุคคลที่ประสงค์จะทำกินในที่ดิน ส.ป.ก. เข้าร่วมอบรมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี พื้นที่ จ.นครราชสีมา

แปลงเกษตรกรรุ่นใหม่ ตำบลปากช่องอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตปฏิรูปที่ดิน จัดตั้งโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ตามโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งรับสมัครและคัดเลือกจากประชาชนที่ว่างงาน ถูกเลิกจ้าง หรือคนที่ประสงค์จะทำกิน โดยจะมีการอบรมและเรียนรู้การทำเกษตรในพื้นที่จริง เพื่อให้ทราบถึงความถนัดของแต่ละบุคคล และเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืนในที่ดิน ส.ป.ก.

นายไพรัตน์ โลหณุต ผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และการปฏิรูปที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นโครงการที่ ส.ป.ก.ทำ MOU ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยทางส.ป.ก.จะรับสมัครบุคคลที่ว่างงาน ที่ถูกเลิกจ้าง หรือบุคคลที่ประสงค์จะทำกินในที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อเข้าร่วมอบรมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สำหรับพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จะอบรมที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา ระยะเวลาอบรม 6 เดือน โดย 3 เดือนแรกจะอบรมให้ความรู้ในด้านวิชาการทั้งหมด ทั้งด้านพืชผัก การเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูป ตลอดจนเรื่องการตลาด จากนั้นอีก 3 เดือน จะเป็นการฝึกปฏิบัติจริงในแปลงเกษตร เมื่อครบ 6 เดือน เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผ่านการฝึกอบรมก็นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริงในแปลงที่ ส.ป.ก.จัดสรรให้ พร้อมกับมอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้ต่อไป

สำหรับในส่วนของอำเภอปากช่อง ทาง ส.ป.ก.ได้จัดแบ่งที่ดินให้เกษตรกรรุ่นใหม่เป็น 2 ประเภท คือแปลงที่อยู่อาศัย 2 งาน และแปลงเกษตรกรรม 2 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่ ส.ป.ก.ยึดคืนจากผู้ที่ขาดคุณสมบัติตั้งแต่ปี 2558 มีเนื้อที่ 635 ไร่ สร้างบ้านให้เกษตรกรจำนวน 40 หลัง โดยได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นที่เรียบร้อย เกษตรกรสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ทันที ส่วนเรื่องของแปลงเกษตรกร 2 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน แหล่งน้ำ การขุดบ่อเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี

ด้าน นางสุภัค พรพิศาล เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เล่าว่า เมื่อก่อนอยู่ที่ปทุมธานี ขับรถส่งของตามบริษัท ซึ่งมีรายได้ ที่ไม่แน่นอนและไม่มีความมั่นคงในอาชีพ จึงสนใจทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง เมื่อทราบข่าวว่า ส.ป.ก. เปิดรับสมัคร ผู้สนใจที่จะทำการเกษตร แต่ไม่มีที่ดินทำกิน เข้าฝึกอบรมเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ เมื่อจบหลักสูตรการอบรมแล้ว ได้รับการจัดสรรที่ดิน

ว่างเปล่า และเริ่มสร้างบ้าน ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกผักควบคู่กับการปลูกพืชระยะสั้น เช่น ปลูกผักบุ้ง สลับกับปลูกดาวเรือง ผักสลัด เป็นต้น โดยเน้นตลาดในพื้นที่เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังเลี้ยงไส้เดือน เพื่อทำปุ๋ยมูลไส้เดือนไว้ใช้ในแปลงเกษตรของตน ทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง และยังมีรายได้เสริมจากการบรรจุปุ๋ยใส่ถุงจำหน่ายให้กับคนเมืองอีกด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และสะดวกในการนำไปใช้ ซึ่งหลังจากที่เข้าร่วมโครงการและเข้ามาทำกินในที่ดินจัดสรรของ ส.ป.ก. ถือว่าชีวิตมีความมั่นคงขึ้น มีรายได้ต่อเนื่องเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3,000 บาท ในขณะที่ รายจ่ายลดลง เพราะสิ่งที่เราปลูกก็สามารถนำมาบริโภคในครัวเรือนได้ จึงอยากขอบคุณ ส.ป.ก.ที่มอบที่ดินและส่งเสริมให้ไปเรียนรู้ เพื่อให้นำกลับมา ใช้ประโยชน์ได้จริงในที่ดินที่ได้รับการจัดสรรนี้

นางสุภัค พรพิศาล จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของเกษตรกรในพื้นที่ แปลงเกษตรกรรุ่นใหม่ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่นำร่องการยกระดับงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรเชิงคุณภาพ ที่ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ทำให้มีความมั่นคงทางด้านอาหาร มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีชีวิตที่ยั่งยืนตลอดไป

ที่มา: แนวหน้า, 24/6/2562

ศก.ดิจิทัลดันใช้เทคโนโลยีแทนมนุษย์ คาด 28 ล้านคนในอาเซียนจ่อตกงาน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาระดับนานาชาติ “Symposium on ASEAN Human Empowerment And Development” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯว่า ขณะนี้ ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคอุตสาหกรรม 4.0 หรือยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) โดยเป็นผลพวงจากการปฏิวัติดิจิทัลผสานการเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมาทดแทนแรงงานมนุษย์ ถือเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ก่อให้เกิดอาชีพที่ใช้ระบบดิจิทัลเป็นพื้นฐาน ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการจากการเพิ่มผลิตภาพการผลิต

"แต่การทดแทนแรงงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้คาดการณ์ว่าแรงงานประมาณ 375 ล้านคนทั่วโลกอาจต้องเปลี่ยนอาชีพภายในปี 2573 สำหรับอาเซียน ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจกระทบต่ออาชีพประมาณ 28 ล้านคนที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปในอนาคต" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น จำเป็นที่อาเซียนต้องสร้างความตระหนัก รู้เท่าทันแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับ 4IR ที่มีต่อแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพในอาเซียน และต้องหารือกันถึงแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยผลที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย จะนำมาใช้ประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบการวิชาชีพอาเซียน เพื่อรับมือกับ 4IR และเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเห็นชอบและเสนอผู้นำอาเซียนรับทราบต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 21/6/2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net