นักเศรษฐศาสตร์มองรัฐบาลประยุทธ์ 2 อาจไม่มีเสถียรภาพดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ-การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองรัฐบาลประยุทธ์ 2 อาจไม่มีเสถียรภาพมากนักส่งผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การจัดทำงบประมาณปี 2563 ล่าช้าและประเทศมีข้อจำกัดเรื่องฐานะการคลังมากขึ้นจากการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการที่ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายและด้อยประสิทธิภาพ  

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ)

30 มิ.ย. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังในปี พ.ศ. 2562 ว่าประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยหลังการเจรจาเพื่อลดความขัดแย้งสงครามการค้ามีความคืบหน้าระดับหนึ่งและคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและกลุ่มอียูในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจฯ ได้ปรับลดการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2562 จาก 3.3-4% (ประมาณการช่วงปลายปี 2561) ลงมาที่ระดับ 2.8-3.3% เนื่องจากมีการชะลอตัวของการบริโภค การลงทุนในประเทศ การส่งออกหดตัวและรายได้จากการท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ มองว่ารัฐบาลประยุทธ์ 2 อาจไม่มีเสถียรภาพมากนักส่งผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การจัดทำงบประมาณปี 2563 อาจล่าช้าและประเทศมีข้อจำกัดเรื่องฐานะการคลังมากขึ้นจากการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการที่ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายและด้อยประสิทธิภาพ จากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างสิ้นเปลือง ขาดการตรวจสอบ ไม่เป็นไปตามกระบวนงานงบประมาณปรกติ (ใช้มาตรา 44) และไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐ (ชดเชยความเสียหายให้กับการลงทุนและการทำโครงการของภาคเอกชนเกินความเหมาะสม) จากการสูญเสียรายได้ส่วนเพิ่มหรือรัฐได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นจากการเปิดประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และภาระทางงบประมาณจากการต้องจ่ายค่าชดเชยของค่าโง่ต่างๆของโครงการในอดีตหรืออนาคต เป็นต้น ขณะเดียวกัน ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอาจนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางสังคมได้หากเราคนไทยไม่เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยแนวคิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและแนวคิดภราดรภาพนิยม

นอกจากนี้ไทยยังเผชิญภาวการณ์แข็งค่าของเงินบาทซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวหากไม่ทบทวนการดำเนินนโยบายการเงินขณะที่หลายประเทศเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทิศทางเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2562 แม้นเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นจากโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ความไม่สมดุลในการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง มีอำนาจผูกขาดสูง ความเหลื่อมล้ำสูง เศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอด้วยรายได้ไม่เพียงพอและก่อหนี้สูง ปัจจัยความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะคุณภาพทรัพยากรมนุษย์อ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง ที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยก้าวจาก “ระบอบรัฐประหาร” สู่ “ระบอบกึ่งประชาธิปไตย” และ จัดให้มีการเลือกตั้ง จะทำให้ ไทย สามารถเปิดเจรจาทางการค้าและทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจต่างๆทำให้เกิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น  

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าแรงงานจำนวนหนึ่งจะถูกลดชั่วโมงการทำงาน รวมทั้งยังคงเกิดปัญหาการว่างงานจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และโครงสร้างประชากรในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมส่งออกที่หดตัว ภาคการท่องเที่ยว  กิจการสื่อสารมวลชน ธุรกิจธนาคาร กิจการการศึกษา ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนอัตราการว่างงานโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำ มีอัตราการว่างงานต่ำกว่า 2% ของกำลังแรงงาน 

นอกจากนี้ในประเด็นที่ระบบเศรษฐกิจโลกจะเคลื่อนตัวสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)มากขึ้นตามลำดับ ธุรกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในโลกออนไลน์และตลาดเสมือนจริงมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังจากเงินสกุลดิจิทัลอย่าง “ลิบรา” ถูกนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2563 การเกิดขึ้นของเงินดิจิทัลอย่าง ลิบรา โดย Facebook และพันธมิตรองค์กรธุรกิจระดับโลก 27 องค์กรจะทำให้

ระบบการเงินโลกเปลี่ยนแปลงไป มีผลเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจธนาคารแบบเดิมและการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ลิบรา ซึ่งเป็น Stable Coin จะมีบทบาทเข้ามาแทนที่ เงินสกุลหลักอย่างดอลลาร์ ยูโร และ เยน มากขึ้นในอนาคต และ รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็กจะสูญเสียความสามารถในการควบคุมปริมาณเงิน รวมทั้ง สูญเสียความสามารถในการบริการจัดการรายได้ภาษีให้มีประสิทธิภาพ หากประเทศเหล่านั้นไม่เตรียมตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท