เนติวิทย์-55 นิสิตขอคณบดีรัฐศาสตร์ทบทวนวิธีสอนวิชาพื้นฐานสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นตัวแทน 55 นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เข้าชื่อส่งคณบดี ให้ทบทวนเรื่องอาจารย์ผู้สอนวิชาความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เหตุมีข้อกังขาเรื่องแนวทางการสอน พูดนอกประเด็นไม่สอดคล้อง ข้อสอบออกนอกเหนือจากที่สอน มีอคติ ตำราเนื้อหาไม่อัพเดท ขอให้หาทางออกเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (ที่มา:วิกิพีเดีย)

2 ก.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) เป็นตัวแทนกลุ่มนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จำนวน 55 คน ยื่นหนังสือถึง รศ.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ เรื่องขอให้ทบทวนอาจารย์ผู้สอนรายวิชาความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่สอนโดยศิริรัตน์ แอดสกุล อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เนื่องจากมีข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องแนวทางการสอน การสอบและตำราเรียน

เบื้องต้นในช่วงบ่ายวันนี้ ผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถามไปยัง ศิริรัตน์ ได้ความว่ายังไม่ทราบเรื่องการยื่นหนังสือ 

ขณะที่ช่วงเย็นผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง รศ.เอก คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผ่านเบอร์โทร 662-218-7228 ที่เป็นเบอร์แนะนำทางเว็บไซต์ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่ยังติดต่อไม่ได้ 

โดยหนังสือที่เนติวิทย์และพวก ร้องเรียนคณะบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ขอให้มีการทบทวนอาจารย์ผู้สอนรายวิชา 2400113 มีใจความดังนี้ :

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 1 กรกฎาคม 2562

เรื่อง  ขอให้มีการทบทวนอาจารย์ผู้สอนรายวิชา 2400113 ความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

เรียน  รศ.ดร. เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำเนาถึง ผศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิ่งที่แนบมาด้วย รายชื่อนิสิตผู้ลงนามจำนวน 55 คนและ ความเห็นนิสิตบางส่วนต่อผู้สอนวิชา 2400113 

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นิสิตในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ความบกพร่องของอาจารย์ศิริรัตน์ แอดสกุล ผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา 2400113 ความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นรายวิชาบังคับสำหรับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ปัญหาความบกพร่องที่ปรากฏส่งผลกระทบต่อองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ทุกคนพึงได้รับอย่างมีนัยสำคัญ แม้นิสิตจะประเมินการสอนใน CU-CAS หรือวิพากษ์วิจารณ์ผ่านพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ปัญหาความบกพร่องของอาจารย์ผู้สอนก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงหรือลดน้อยถอยลงเลย กลุ่มนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในฐานะที่เป็นวิชาพื้นฐานที่จำเป็นในการเรียนวิชารัฐศาสตร์ในระดับที่สูงขึ้นไป นิสิตควรได้รับความรู้จากวิชานี้อย่างแท้จริง วิชานี้ไม่ควรต้องเสียไปเพราะความบกพร่องของอาจารย์ผู้สอน เพื่อประโยชน์ของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ทุกคน จึงขอให้คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิจารณาทบทวนอาจารย์ผู้สอนรายวิชาความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  โดยมีเหตุผล 3 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1 ด้านการสอน ในแต่ละครั้งของการสอนอาจารย์ผู้สอนได้บรรยายนอกประเด็นเนื้อหาตามแผนการสอนในชั้นเรียนเป็นระยะเวลานานโดยมิได้ก่อประโยชน์ใด ๆ แก่นิสิตเลย เช่น เล่าถึงเรื่องลูกสาวของตัวเอง เป็นต้น

ประการที่ 2 ด้านการสอบ อาจารย์ผู้สอนได้นำประเด็นที่อยู่นอกเหนือจากเนื้อหาหลักสูตรบทเรียนโดยไม่มีความจำเป็นไปออกในข้อสอบทั้งในการสอบกลางภาคและปลายภาค ทั้งคำถามยังเป็นคำถามในลักษณะท่องจำที่ไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ แก่นิสิตเลย ยกตัวอย่างคำถามเช่น ครูท่านนี้มีคุณธรรมในข้อใด, ข้อใดเป็นปรัชญาชีวิตของผู้สอน, อาจารย์ท่านนี้อยู่ภาคใดของคณะรัฐศาสตร์, ท่านสุชัชวีร์เสนอโครงการใดแก่ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และคำถามยังมีความกำกวม เช่น ประเภทของทัศนคติใดจะแก้ปัญหาของสังคมได้ดีที่สุด แต่ตัวเลือกของคำถามในข้อดังกล่าวกลับเป็นเพียงตัวเลข คือ ประเภทที่ 1, ประเภทที่ 2  ซึ่งคำถามเหล่านี้ไม่ได้กระตุ้นให้นิสิตได้ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบ ข้อสอบในลักษณะดังกล่าวเพียงแต่วัดความจำว่านิสิตคนไหนจดจำได้เก่งกว่ากัน (รวมทั้งต้องจดจำในสิ่งที่อาจารย์บรรยายในชั้นเรียน ทั้ง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาตามหลักสูตรเลย) และคำถามบางข้อยังสะท้อนความมีอคติทางการเมืองของตัวอาจารย์ผู้สอน ชี้นำโดยจำกัดกรอบการตอบให้เป็นไปตามอคติทางการเมืองของผู้สอน เช่น นิสิตจุฬาฯ ชูป้ายใส่นายกฯ เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนแบบใด เป็นต้น  

ประการที่ 3 ด้านตำราเรียน ตำราเรียนของผู้สอนมีเนื้อหาที่ขาดตกบกพร่อง และไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เช่น ประเภทของการฆ่าตัวตายตัวที่ Emile Durkheim ได้เสนอไว้ทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ Egoistic suicide, Altruistic suicide, Anomic suicide, และ Fatalistic suicide แต่ในหนังสือความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยา ซึ่งเป็นหนังสือประกอบการเรียนในรายวิชานี้กลับเสนอไว้เพียง 3 ประเภท ได้แก่ Altruistic suicide, Egoistic suicide, และ Anomic suicide อีกทั้งตำราไม่มีการปรับปรุงให้ความรู้ถึงนิยามใหม่ ๆ ในการมองสังคม ในสภาพปัจจุบันที่มีความเป็นพหุนิยมมากขึ้น เช่น การระบุว่าการเบี่ยงเบนทางเพศ (sexual deviance) เป็นหนึ่งในพฤติกรรมเบี่ยงเบน ยกนิยามของนักคิดบางคนมาสนับสนุนว่าเป็น “พฤติกรรมที่ต้องได้รับการลงโทษ” ซึ่งอาจจะทำให้นิสิตที่เรียนเข้าใจผิดต่อบุคคลที่แตกต่างจากตนได้หรือเข้าใจทฤษฎีทางสังคมวิทยาแบบตายตัวไม่เข้ากับโลกที่พวกเขาอยู่ จริง ๆ เรื่องนี้เคยมีนิสิตที่แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้แล้วทั้งในทางสาธารณะ และบอกแก่อาจารย์ แต่ก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ทั้งที่หนังสือนี้เป็นหนังสือประกอบการเรียนสำคัญที่สุด และจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯด้วย

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ พวกเราจึงรวบรวมรายชื่อ ขอเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว รวมทั้งขอให้คณะหาทางออกที่มีส่วนร่วมโดยนิสิต และคณาจารย์ได้ร่วมอภิปรายถึงปัญหาที่เกิดขึ้น สร้างการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพยิ่งกว่าเดิมเพื่อประโยชน์ของนิสิตที่จะเรียนรายวิชานี้อย่างมีคุณภาพในรุ่นต่อ ๆ ไป

ขอแสดงความนับถือ

(นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล)

ตัวแทนกลุ่มนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จำนวน 55 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท