Skip to main content
sharethis

ชวนคุยกับ 'วริตตา ศรีรัตนา' อาจารย์อักษรศาสตร์ จุฬาฯ คนไทยคนแรกและอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัล Gratias Agit Award จากสาธารณรัฐเช็ก ในประเด็น 'Franz Kafka' นักเขียนชาวยิวชื่อก้องแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้ผลิตงานที่บรรจุความย้อนแย้งระหว่างสิ่งที่ต่างกันสุดขั้ว พร้อมมุมมองต่อ ยุโรปกลาง/ตะวันออก รางวัลที่ได้รับ และการเมืองไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วริตตา ศรีรัตนา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ และเป็นประธานหลักสูตรปริญญาเอกสาขายุโรปศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนไทยคนแรกและอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัล Gratias Agit Award จากสาธารณรัฐเช็ก

หากพูดถึง ฟรันทซ์ คัฟคา (Franz Kafka) ในแวดวงวรรณกรรมและศิลปะอาจรู้จักนักเขียนชาวยิวชื่อก้องแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้นี้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะผ่านงานเขียนของเขาเองหรืองานแปลและแปลงหลายแขนง รวมถึงงาน Kafka Festival ที่จัดมาแล้วทั่วทุกมุมโลก อย่างในปี 2557 ไทยเองก็มีงาน 'Kafka Festival in Bangkok' จัดขึ้นโดยสถานทูตเช็กและสถานทูตของประเทศต่างๆ ที่พูดภาษาเยอรมันซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่และดีที่สุดที่ไทยเคยจัดมา มีความครบเครื่องทั้งด้านศิลปะและวิชาการ ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นไม่กี่วันหลังเกิดรัฐประหารและกำลังมีเคอร์ฟิวอยู่ แต่ก็ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และในปีนี้ 'Kafka Festival' ก็ได้เดินทางมาถึงย่างกุ้งและทักทายชาวเมียนมาเป็นครั้งแรกภายใต้ชื่องาน 'Finding Kafka in Myanmar' แม้ว่างานของคัฟคาไม่โด่งดังในหมู่นักอ่านชาวเมียนมาเท่างานของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) แต่การเกิดขึ้นของเทศกาลนี้ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่มุมมองต่องานคัฟคาจะขยายกว้างขึ้นไปอีกในบริบทของเมียนมา

ในงานนี้ทางผู้จัดงานได้เชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วริตตา ศรีรัตนา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ และเป็นประธานหลักสูตรปริญญาเอกสาขายุโรปศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาบรรยายในหัวข้อ 'The Absurd in Translation: Reading and Teaching Kafka in Thailand' เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการศึกษาเรื่อง คัฟคา กับชาวเมียนมา

ในส่วนแรกที่วริตตาพูดถึงคือ The Absurd & (There’s) the Absurd in Translation จริงอยู่ว่าเราได้ยินสำนวน lost in translation ที่ว่าการแปลนั้นมันต้องมีอะไรที่หายไป ไม่ครบความ หรือบางอย่างไม่สามารถแปลได้ แต่ในการบรรยายครั้งนี้วริตตาบอกว่า Milan Kundera (นักเขียนชาวเช็ก) โต้แย้งว่าแล้วการแปลเป็นกลวิธีที่สามารถถนอมรักษาสิ่งที่ไม่ควรหายไปหรือไม่ควร get lost in translation (หรือใจความบางส่วนตกหายระหว่างการแปล) เพียงแต่หลายครั้งนักแปลละเลยข้อนี้และตัวบทถูกแปลเกินความหมาย Kundera โต้แย้งว่าจริงๆ แล้วใจความสำคัญของงานวรรณกรรมสามารถแปลได้แต่มักถูกแปลตามรสนิยมของผู้แปล และสิ่งที่แย่กว่านั้นคือคำและความหมายต่างๆ อาจถูก “โหน” หรือถูกนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ส่วนตัวบางอย่างที่แตกต่างจากความหมายของคำต้นทาง เธอยกตัวอย่างว่าหลายครั้งนักอ่านจะติดภาพอันหดหู่มืดมนของ คัฟคา โดยที่อาจจะไม่เคยอ่านงานของเขามากนัก ส่วนหนึ่งเพราะ คัฟคา กลายเป็นแบรนด์ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะสำนวนการแปล โดยเฉพาะสำนวนภาษาอังกฤษที่อาจฟังดูลอยๆ เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้และอิงศาสนาจัดของสามีภรรยาชาวสก็อตแลนด์ Edwin & Willa Muir ผู้ที่ทำให้ คัฟคา เป็นที่รู้จักในโลกภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้วริตตายังตั้งคำถามถึงความย้อนแย้งในการแปลว่าสามารถแปลความย้อนแย้งข้ามบริบททางวัฒนธรรมได้หรือไม่ แน่นอนว่าความหมายบางอย่างจะตกหล่นหายไปในขั้นตอนของการแปล แต่ก็น่าสนใจมากเมื่อมองความย้อนแย้งนี้ในบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน (ที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง) อย่างที่ปรากฎในการแปลเรื่องการสอบความของสุนัขตนหนึ่ง (Investigations of a Dog) ของ ดลสิทธิ์ บางคมบาง ที่แปลและตีพิมพ์ในช่วงปี 2557 ที่เกิดรัฐประหารขึ้นในเมืองไทย นอกจากนี้เธอยังพูดถึงคำว่า "Odradek" ที่ คัฟคา ใช้เรียกสิ่งที่ไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นในการมีอยู่ ซึ่งเป็นคำที่แปลยากหรือไม่สามารถแปลออกมาได้เพราะ คัฟคา ตั้งใจเขียนบรรยายให้แปลไม่ได้นั่นเอง และเธอยังได้ยกตัวอย่างเรื่อง The Great Wall of China ที่ คัฟคา ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่เขาเห็นกำแพงที่มีอยู่จริงๆ ในกรุงปราก เป็นเรื่องที่ว่าด้วยการสร้างกำแพงที่ไม่มีวันสำเร็จเพราะพื้นที่กว้างมากและเป็นการสร้างที่ทำลายจุดประสงค์ของการเป็นป้อมปราการไป โดยมีตำนานเล่าว่าสมัยจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 4 กษัตริย์ของโบฮีเมียผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักด์สิทธิ์มีบัญชาให้พสกนิกรที่ยากจนและอดอยากสร้างกำแพงแลกกับอาหารเพราะจักรพรรดิไม่อยากมอบทรัพยากรช่วยเหลือพสกนิกรอย่างให้เปล่า อยากให้พสกนิกรคิดว่าได้ของกินของใช้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน แม้ว่าตำนานนี้ไม่ใช่ความจริงแต่ความไม่จริงนี้กลับส่งผลให้เกิดคำภาษาเช็กที่ว่า ฮลาโดวา เซ็ดจ์ หรือ “กำแพงแห่งความหิว” (หมายถึงงานเพื่อสาธารณะที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลอะไรโดยแท้จริง) ใช้กันจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเธอชวนให้ตั้งคำถามว่าสำนวนอะไรหลายอย่างที่เราใช้กันในภาษาของเรานั้นมีอะไรที่จริงแท้บ้าง?

ในส่วนที่สอง Reading Kafka in Thailand เธอกล่าวถึงเรื่อง The Trial (ฉบับแปลภาษาไทยคือ คดีความ) ซึ่งเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่ตื่นขึ้นมาก็พบว่าถูกจับกุมโดยที่ไม่ได้ทำความผิดอะไรและไม่มีคำอธิบายใดๆ ว่าทำไมเขาถึงต้องถูกจับ ซึ่งเธอกล่าวว่าเรื่องนี้สำคัญมากกับสภาพสังคมไทยทุกวันนี้ โดยได้ยกกรณีของ ไผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งถูกตัดสินจำคุกในฐานความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาเป็นตัวอย่าง และจุดนี้ทำให้นักอ่านรุ่นใหม่หันมาอ่านงานของ คัฟคา กันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง 'The Trial' ที่แสดงถึงสภาพความเป็นจริงที่คนไทยต้องเจอ และในส่วนสุดท้ายเธอพูดถึงเรื่อง 'Dissidence' ในเมืองไทย โดยยกตัวอย่างการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่มีความประหลาดและความไม่เป็นเหตุเป็นผลต่างๆ มากมายตามที่ทุกคนคงทราบดี อย่าง 250 ส.ว. หรือการคำนวณคะแนนเลือกตั้ง เรื่องที่นายกฯ ออกมาแนะนำให้คนไทยอ่าน 'Animal Farm' และบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการเมือง เรื่องนาฬิกาหรูยืมเพื่อนมาของรองนายกฯ รวมถึงพานไหว้ครูของเด็กรุ่นใหม่ที่ทำออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น รถถัง ชูสามนิ้ว หน้าเหมือนของนายกฯ

งานของคัฟคามีความโดดเด่นทั้งในด้านเทคนิคและเนื้อหาที่ส่งอิทธิพลมหาศาลไปทั่วโลก จนคัฟคากลายเป็นไอคอนหนึ่งที่มีคำคุณศัพท์ Kafkaesque ในการอธิบายหรือบ่งบอกสภาวะหรือความรู้สึกบางอย่างที่ย้อนแย้ง แปลกแยก หดหู่ สิ้นหวัง การถูกอำนาจบางอย่างกดทับ ฯลฯ ตามสไตล์ที่ปรากฎอยู่ในงานเขียนของเขา (คำว่า "Kafkaesque" ไม่มีคำแปลในภาษาไทย) แต่อย่างไรก็ดีวริตตาอยากให้นักอ่านมอง คัฟคา ในบริบทที่เฉพาะเจาะจง คำแปล Kafkaesque เช่นเดียวกับคำว่า "Woolfian" หรือ "Joycean" เป็นคำคุณศัพท์ที่สื่อความหมายเกินจริงหากเราไม่อ่านงานของนักเขียนเหล่านี้และวิเคราะห์ตัวบทพร้อมบริบทการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของนักเขียน อย่างกรณีเวลากล่าวถึง คัฟคา หลายคนอาจมีภาพของเยอรมันขึ้นมาในหัว จริงอยู่ที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางศิลปะและความคิดแบบ German Expressionism แต่เขาเกิดและเติบโตมาในสังคมของกรุงปราก อาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี และใช้ชีวิตในฐานะชาวปราก ในฐานะชาวออสเตรีย-ฮังการี และในฐานะพลเมืองชาวเชโกสโลวะเกีย (ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1) อย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อเราพูดถึงเช็กเราอาจจะนึกออกแค่ปราสาทสวยๆ ในกรุงปราก หรือการประท้วงครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์เช็กเพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกเมื่อ 23 มิถุนายนที่ผ่านมาตามหน้าเว็บข่าวบางสำนัก เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศนี้ รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรปกลาง/ตะวันออกมากนัก

แต่ด้วยความตั้งใจของวริตตาที่พยายามทำให้สาธารณรัฐเช็กและภูมิภาคนี้เป็นที่รู้จักในมิติอื่นๆ มากขึ้นในหมู่คนไทย จึงทำให้เธอเป็นคนไทยคนแรกและเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัล "The Gratias Agit Award" จากสาธารณรัฐเช็กเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจบการบรรยายผู้รู้น้อยอย่างผู้สัมภาษณ์จึงไม่รอช้าที่จะชวนวริตตามาพูดคุยกัน ทั้งเรื่อง คัฟคา ยุโรปกลาง/ตะวันออก รางวัลที่ได้รับ และการเมืองไทย ที่รู้สึกว่าออกรสออกชาติมากเมื่อถูกพูดในต่างแดน โดยมีรายละเอียดดังนี้

รางวัลที่เพิ่งได้รับมีความสำคัญอย่างไร?

วริตตา : รางวัลที่ได้เพิ่งได้รับชื่อรางวัล Gratias Agit Award เป็นรางวัลที่กระทรวงการต่างประเทศเช็กมอบให้บุคคลหรือหน่วยงาน มักจะเป็น NGOs หน่วยงานอิสระที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมเช็กในต่างแดน ผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้ได้แก่ King of Cambodia, Madeleine Albright (นักการเมือง/การทูตอเมริกัน), Josef Škvorecký (นักเขียนเช็กที่มีชื่อเสียง), Miloš Forman (ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเช็ก) ฯลฯ ปกติแล้วรางวัลนี้จะมอบให้กับชาวเช็กที่ย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศหรือคนที่เคยมาเรียนที่สาธารณรัฐเช็ก เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ตกใจมากเมื่อรู้ว่าได้รับรางวัลนี้เพราะไม่เคยเรียนที่เช็กมาก่อน เพียงแต่ตอนเรียนปริญญาเอกได้มีโอกาสเดินทางไปที่นั่นแล้วพยายามเรียนภาษา ปกติรางวัลนี้เป็นรางวัล lifetime award ให้กับคนที่ทำงานมาเป็นระยะเวลานาน แม้หลังๆ มานี้นิยามขอบเขตความหมายและเกณฑ์การให้รางวัลก็เริ่มขยายมากขึ้น คือไม่ได้ให้เพียงเฉพาะชาวเช็กหรือนักเรียนเก่าที่เคยเรียนที่เช็กแล้ว แต่มอบให้บุคคลหรือหน่วยงานที่ส่งเสริมให้วัฒนธรรมของเช็กเป็นที่รู้จักทั่วโลก

แต่นะ เราเป็นอาจารย์สอนวรรณคดีศึกษา ศาสตร์ที่หลายคนนับวันไม่เห็นความสำคัญ ถูกบดบังโดยภาษาศาสตร์หรือถูกยุบรวมจนคณะอักษรศาสตร์หรือศิลปศาสตร์และมหาวิทยาลัยหลายแห่งจะกลายเป็นโรงเรียนสอนภาษาอย่างเดียวอยู่แล้ว เราไม่ใช่ผู้กำกับ ไม่ใช่ทนาย ไม่ใช่หมอ ไม่ใช่นักการทูต แล้วยังอายุเท่านี้ ก็อดไม่ได้ที่จะตกใจเมื่อรู้ข่าว แถมเป็นคนไทยด้วย ซึ่งเอาจริงๆ ประเทศของเราไม่เหมือนเวียดนามที่มีสายใยยึดโยงเกี่ยวข้องกับเชโกสโลวะเกียในเชิงการเมืองหรือวัฒนธรรม หลายคนคงทราบว่าในช่วงสงครามเย็น ชาวเวียดนามจำนวนมากเคยได้รับทุนไปเรียนและทำงานที่เชโกสโลวะเกีย อย่างตอนไปทำงานที่เวียดนาม เราสามารถสื่อสารกับคนขับรถที่มารับที่สนามบินและผู้คนอายุห้าสิบขึ้นไปส่วนใหญ่ด้วยภาษาเช็กหรือสโลวัก แทนภาษาเวียดนามนะ

แล้วคิดว่าทำไมเขาถึงมอบรางวัลให้?

คือปกติเวลาเรานึกถึงยุโรป เราจะมีภาพของฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน สำหรับคนไทยนั่นคือยุโรป แต่พอพูดถึงยุโรปกลาง/ตะวันออก ภาพมันต่างกันโดยสิ้นเชิง สมัยเรียนปริญญาเอกอยู่ปีหนึ่งขึ้นปีสอง เราได้ส่งงานชิ้นสำคัญให้อาจารย์และเขาบอกโปรดให้รางวัลตัวเองด้วยการไปเสนอเปเปอร์ที่ประเทศที่เราไม่เคยไปเยือนและไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย ก็เลยสุ่มเลือกไปสโลวาเกีย แถมไม่ไปเมืองหลวงด้วยนะ เลือกไปภาคตะวันออกของสโลวาเกียด้วยคิดว่าเดินทางง่าย สื่อสารง่ายเหมือนไปอังกฤษหรือฝรั่งเศส ที่ไหนได้ภาพที่เราเห็นไม่เหมือนกับภาพยุโรปที่การเรียนการสอนที่ประเทศไทยหล่อหลอมให้ติดอยู่ในหัวสมองของเรา สถานีรถไฟเมืองหลวงเก่าซอมซ่อมีภาพสัจสังคมนิยมกว้างหรา คืนแรกที่ไปถึงเราถูกชาวโรมาวิ่งไล่ เจอสกินเฮดนีโอนาซีโดยไม่รู้ตัว เจอกลุ่มโฮมเลสที่ช่วยพาเราไปส่งโรงแรม ไม่มีใครใช้ภาษาอังกฤษเลย ภาษาที่เรียนมาอย่างฝรั่งเศสก็ไร้ประโยชน์ ภาษารัสเซียฟังกันไม่รู้เรื่อง ภาษาเยอรมันพื้นฐานไปคุยกับคนขายบัตรเข้ามิวเซียมกลางแจ้งแค่นั้น สโลวาเกียเป็นตินแดนลับแลสำหรับเรา ทริปนี้เป็นรางวัลและเป็นรางวัลที่งดงามที่สุดในชีวิต เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นช่วงที่แยกประเทศจากเชโกสโลวาเกียแล้วผันตัวเป็นรัฐบริวารนาซีนั้นเป็นตัวแปรสำคัญของความแตกต่างระหว่าง mentality เช็กกับสโลวัก นอกจากเรื่องนิกายศาสนาน่ะนะ เป็นการเปิดหูเปิดตาครั้งใหญ่ เราจะเรียกตัวเองว่าศึกษาเชี่ยวชาญ European Modernism ได้อย่างไรเมื่อเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับยุโรปกลางเลย เราก็เลยสนใจภาษาและวัฒนธรรมเช็กและสโลวักตั้งแต่นั้นมา สนใจสะสมอ่านวรรณคดีของเขาด้วย เล่มแรกที่ได้อ่านจนจบเล่มภายในหนึ่งค่ำคืนคือ The Joke ของ Milan Kundera หลังจากนั้นก็บินจากเอดินเบอระไปบราติสลาวา เดินทางทั่วสโลวาเกียและข้ามไปเช็กอยู่บ่อยๆ หลังเรียนจบก็ขอทุนหลังปริญญาเอกไปอยู่ที่บราติสลาวา ระหว่างนั้นก็เรียนภาษา สอนหนังสือ และเดินสายไปพูดและทำงานแทบทุกมหาวิทยาลัยในประเทศ เขียนหนังสือจบไปหนึ่งเล่ม

นอกจากนั้นก็ขยายขอบเขตความสนใจไปศึกษาโปแลนด์และโรมาเนีย พอกลับมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ก็เกิดคำถามว่าทำไมเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับภูมิภาคนี้เลย ทำไมเรามียุโรปศึกษา ที่เน้นยุโรปตะวันตกเป็นศูนย์กลาง ไทยศึกษา เอเชียศึกษา …ศึกษาเยอะแยะไปหมด ทำไมเราถึงไม่มียุโรปกลางศึกษา? เราก็เลยเขียนโครงการขึ้นใหม่คนเดียวเพื่อขอทุนจัดตั้งหน่วยยุโรปกลางและตะวันออกจากมหาวิทยาลัย

เมื่อจัดตั้งโครงการความร่วมมือจุฬาฯ-วิเชกราด จึงได้ร่วมงานกับสถานทูตกลุ่มประเทศวิเชกราด (Visegrád Group) 4 ประเทศ คือ สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี โปแลนด์ และสโลวาเกีย โดย 4 ประเทศนี้รวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆ ตอนแรกหมายจะเกาะกลุ่มกันเตรียมตัวเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน แต่ปัจจุบันเป็นการรวมกลุ่มร่วมมือกันเชิงวัฒนธรรมและการศึกษามากกว่า เราก็เริ่มจัดงานกับสถานทูตและแนะนำประเทศวิเชกราดให้เป็นที่รู้จักของคนไทยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การฉายภาพยนตร์ อ่านวรรณคดี จัดเสวนา ฯลฯ เราได้ใช้โครงการนี้ส่งเสริมให้คนไทยรู้จักสาธารณรัฐเช็กในฐานะ heavy weight ด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาพยนตร์คลื่นลูกใหม่ของเช็กช่วงยุค 60s-70s หรือตอนแรกๆ มีการจัดงานเสวนาที่ reading room เราก็เอางานเขียนของ Milan Kundera เรื่องโปรดคือ The Joke อันเป็นเรื่องที่หลายคนมักไม่ได้อ่านกันแพร่หลายมาพูดและฉายหนังด้วย The Joke เป็นเรื่องของคนที่อยู่ในระบอบการเซ็นเซอร์อย่างหนักหน่วง ถูกล่าแม่มด แล้วคิดอยากแก้แค้นระบอบ แต่อะไรคือระบอบนอกจากคน คนที่ต้องเอาตัวรอดอยู่เหมือนกัน ไม่อยากสปอยล์ ได้ข่าวว่าจะมีหนังสือแปลภาษาไทย ช่วยโปรโมทๆ อยากให้อ่านกัน เอาเป็นว่าสุดท้ายก็แก้แค้นไม่สำเร็จ หลังอ่านครั้งแรกเราคิดว่าแนวคิดเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองในเรื่องมันน่าสนใจดี อยากให้อ่านกัน อยากเขียนงานวิจัยที่วิเคราะห์งานนี้ ก็เลยเริ่มจากตรงนั้น

แล้วพอมีโอกาสในการแปลวรรณกรรมเช็กด้วยทุนสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมเช็กและโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของคุณรังสิมา ตันสกุลซึ่งตอนนั้นอยู่ Bookmoby Press ตอนนี้เป็นหัวเรือ Library House เราได้แปลเรื่องความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน (จากเรื่อง Příliš Hlučná Samota ของ Bohumil Hrabal) จนช่วยให้ Hrabal เป็นที่รู้จักของคนไทยมากขึ้น นั่นอาจจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระทรวงต่างประเทศของเช็กเห็นว่าสำคัญ ด้วยเป็นหนังสือที่แปลจากภาษาเช็กโดยตรง แปลยากลำบากมากเพราะเราเชี่ยวชาญภาษาสโลวักมากกว่าภาษาเช็ก ต้องเปิดดิกชันนารี ต้องเขียนไปถามศัพท์เพื่อนชาวเช็กและสโลวัก สำนวนภาษาโมราเวียของฮราบัลอันเป็นการผสมเช็กและสโลวักช่วยได้มาก แต่อย่างไรก็ดีเนื้อหาของนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ซับซ้อนมาก กว่าจะเข้าใจสำนวนภาษาและบริบทสังคม การเมือง และชีวิตนักเขียน อีกทั้งบริบทการเซ็นเซอร์งานวรรณกรรมอันเฉพาะเจาะจงได้ต้องวิจัยและขอทุนเดินทางไปวิจัยกับศาสตราจารย์นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่ปรากเพื่อย้อนรอยเส้นทางเคล้าเบียร์ของตัวละครจนเลือดตาแทบกระเด็น เราคิดว่าเค้ารู้มันยากขนาดไหน และคงตัดสินใจมอบรางวัลให้เพราะเหตุนี้ด้วย

จากตอนนั้นถึงตอนนี้วัฒนธรรมของภูมิภาคยุโรปกลาง/ตะวันออก เป็นที่รู้จักมากขึ้นไหมหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?

ไม่รู้สิ ต้องถามคุณ(หัวเราะ) รู้สึกว่ามากขึ้น มันมีหลายมิติ อย่างตอนที่พิมพ์ความเปลี่ยวดายฯ ก็มีคนพูดถึง รีวิว สนใจภูมิภาคนี้กันมากขึ้น หรือหากจะพูดถึงหลักฐานที่จับต้องได้เลย เช่น ความร่วมมือทางการค้ามีมากขึ้น อย่างโปแลนด์ มีคนรู้จักและอยากไปเที่ยวมากขึ้น มีแบรนด์สินค้าที่ไปถ่ายแบบที่โปแลนด์ ตกใจมากเลย ตอนที่เรากลับมาใหม่ๆ ไม่มีใครอยากไปที่เหล่านี้เลยเพราะคนไทยมี mindset ว่ายุโรปกลางคือล้าหลัง ไปทำไม แต่ทุกวันนี้รู้สึกว่ามันชิค ฝรั่งเศส เยอรมัน มันธรรมดาไปแล้ว เราต้องไปโครเอเชีย ยูเครน อะไรอย่างนี้ มันมี wave จากตรงนั้น และเป็นสถานทูตต่างๆ ด้วยที่โปรโมทประเทศตัวเอง ไม่แน่นะในอนาคตอาจมีบินตรงจากกรุงเทพไปปรากก็ได้

ทำไมคนไทยถึงต้องรู้จักยุโรปกลาง/ตะวันออก?

จริงๆ เราได้รับอิทธิพลจากยุโรปกลางมาโดยที่เราไม่รู้ตัว ที่จับต้องได้จริงอย่างเช่นรองเท้าบาจา (หัวเราะ) โดยที่เราไม่ได้คิดว่ารองเท้าบาจามีจุดกำเนิดจากเชโกสโลวะเกียแล้วคนที่ก่อตั้งเค้าคิดสร้างโรงงานในเชิงของอุตมรัฐเลยนะ คือโรงงานในแต่ละเมืองจะมีสวัสดิการสำหรับคนงานของเค้าในแบบที่เป็นรากฐานสำคัญของรัฐสวัสดิการด้วยซ้ำ แต่นะ โอเคเรารู้จักแต่รองเท้าบาจา บางคนนึกด้วยซ้ำว่าเป็นยี่ห้อของไทย ความเป็นเช็กหรือยุโรปกลางอยู่ใกล้ตัวเรามากอย่างเวลาเราเห็นราคาสินค้าต่างๆ ที่ลงท้ายด้วย 9 เช่น 39 99 199 499 999 เหล่านี้เค้าเรียกว่า bata price เพราะ Thomas Bata เป็นผู้เริ่มต้นใช้กลยุทธ์นี้จูงใจให้ผู้บริโภคซื้อของมากขึ้น คำว่า Robot ก็คำภาษาเช็ก นักเขียนเช็กเด่นด้านบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์(Sci-fi) มาก นอกจากเรื่องปกิณกะพวกนี้ เราควรรู้วัฒนธรรมเค้าเพื่อให้เห็นว่าเราอยู่ในโลกเดียวกัน และเมื่อเราอยู่ในโลกเดียวกันเราควรจะมีความเห็นอกเห็นใจและเคารพซึ่งกันและกัน การแบ่งแยกอะไรต่างๆ ควรจะเป็นเชิงแบ่งแยกยุทธศาสตร์ในการศึกษาเท่านั้น เป็น strategic essentialism จุดประสงค์ของการแบ่งศาสตร์หรือภูมิภาคศึกษานั้นย้อนแย้ง คือแบ่งเพื่อให้เราเห็นว่าไม่ควรมีพรมแดนที่จะกั้นระหว่างกัน เมื่อเราเห็นความสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ แล้วใกล้ๆ กันอย่างพม่าเราก็ต้องมีความสัมพันธ์พิเศษที่เราไม่ค่อยรู้เหมือนกันสิ เรามักศึกษาเรื่องไกลตัวเพื่อที่เราจะได้มองอะไรที่มันใกล้ตัว

เพราะเราไม่รู้หรือไม่เข้าใจวัฒนธรรมจริงๆ เลยยังเห็นการนำสัญลักษณ์นาซีหรือสิ่งที่อ่อนไหวต่อผู้คนในภูมิภาคนี้มาใช้อยู่ด้วยหรือเปล่า?

เราไม่รู้ประวัติศาสตร์มากกว่า อย่างชาวเช็กกับชาวสโลวักเค้าผ่านระบอบอะไรมาตั้งหลายระบอบ ทั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย จนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สาธารณรัฐสโลวักกลายเป็นรัฐบริวารของนาซี และต่อมาในระบอบคอมมิวนิสต์ และนั่นคือข้อแตกต่างของ mentality ระหว่างเช็กกับสโลวัก หลายคนคงดูไม่ออกแล้วนึกว่าเป็นประเทศเดียวกัน มี mentality เดียวกัน ซึ่งการผ่านมาหลายระบอบแบบนี้ Timothy D. Snyder (นักวิชาการเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุโรปกลาง/ตะวันออก) มองว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกากับทรัมป์ หรือผู้นำ strong men ต่างๆ ชาวยุโรปกลางมองว่าไม่เห็นแปลก เพราะเค้าผ่านมาหมดแล้ว ปัญหาคือเราได้เรียนรู้จากอดีตบ้างไหม? ตัวเค้าเองก็ตาม ตอนนี้การเมืองภูมิภาคเค้าก็มีปัญหาอยู่ เหมือนเป็นลูกตุ้มจากขวาจัดสุดโต่งก็จะกลับมาซ้ายอะไรแบบนี้ นักเขียนเช็ก Milan Kundera ยังบอกว่าภูมิภาคนี้คล้ายเป็น Laboratory of Twilight คือเป็นห้องแล็ปที่เราสามารถดูการทดลองห้วงคำนึงของผู้คนและอิทธิพลของระบอบต่างๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้แหละที่คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับชาวไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ถ้าสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงนี้มันก็ไม่มีหรอกการมายกย่องฮิตเลอร์หรือมองว่าประเทศในภูมิภาคนี้ล้าหลัง

จากคนไทยได้รับรางวัลจากเช็กสู่การเป็น lecturer ในงาน Kafka Festival ที่เมียนมาได้อย่างไร?

เป็น connection จากทางเช็กอีกนั่นแหละ มันเคยมีงาน Kafka Festival in Bangkok หลังจากที่เพิ่งเกิดรัฐประหาร ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสถานทูตเช็ก เยอรมัน ออสเตรีย และสวิส ซึ่งเวลาเราพูดถึง คัฟคา ในเมืองไทยหลายคนจะไม่คิดถึงเช็กเลย จะคิดว่าเค้าเป็นนักเขียนเยอรมัน เพราะเขียนเป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งก็จริง เค้าเขียนแบบ expressionism ของเยอรมันจริง แม้กระทั่งคนที่อ่านเยอรมันได้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเขียนของเค้ามีความพิเศษอยู่ มันไม่ใช่ภาษาเยอรมันที่จะใช้กันทั่วไป แต่เพราะ คัฟคา เกิดและใช้ชีวิตอยู่ในปราก ภาษาเยอรมันที่เค้าใช้ก็จะมีลักษณะแบบปรากอยู่ หลายคนก็ไม่ได้เอะใจ แต่ Kafka Festival ในไทยพิเศษมากเพราะสถานทูตเช็กผลักดันให้เกิดขึ้นมา ทั้งหมดก็ต้องขอบคุณภริยาของทูตเช็กในขณะนั้น คือ Renata Greplová ที่คิดว่าเราควรจะต้องร่วมมือกัน งานนี้ประสบความสำเร็จมาก แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีอีก อาจจะเป็นเพราะมีการเคลมจากเยอรมันว่า คัฟคา เป็นเยอรมันประจวบกับที่ Renata ย้ายไปเวียดนามด้วย เมื่อเธอไปอยู่เวียดนามก็จัดงาน Kafka Festival in Hanoi ขึ้นซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ตอนนั้น Renata เชิญไปพูดที่นั่น 2 หัวข้อ คือปรัชญา คัฟคา และอิทธิพลของ คัฟคา ในไทย งานแรกคนมาเยอะมาก แต่งานหลังทางมหาวิทยาลัยฮานอยที่เป็นเจ้าภาพกลัวในสิ่งที่เราจะพูด เค้าเลยไม่ประชาสัมพันธ์และไม่กล้าออกข่าว เพราะหัวข้อมัน อ่อนไหว (sensitive) เกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ ปีนี้ Reneta ก็เลยเชิญมาพูดที่เมียนมา เพราะอยู่ในชะตากรรมคล้ายๆ กันกับไทย

ตอนนั้นที่ไปพูดในงาน Kafka in Hanoi หัวข้อที่พูดเป็นประมาณไหน ทำไมเค้าถึงกลัว?

ก็พูดเรื่อง Kafka in Thailand คล้ายๆ ที่พูดในวันนี้ แต่ข้อมูลยังไม่อัพเดตเท่าวันนี้ ซึ่งตอนแรกเค้าอยากตีพิมพ์งานของเรา แต่พอเค้าเห็นเนื้อหาเค้าก็ปฏิเสธ เพราะมันอ่อนไหว มากจริงๆ ความอ่อนไหว ตรงนี้เป็นเพราะเราพูดถึงมาตราหนึ่งที่มีบทลงโทษทำให้เราทุกคน metamorphose เป็น Josef K. ตัวละครในเรื่อง The Trial ที่ชัดเจนแต่ก็ไม่ชัดเจนอีกนั่นแหละ หลายคนถูกจับโดยที่ยังงงๆ อยู่ว่าทำอะไรผิด ในสังคมไทยเกิดวาทกรรมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายประชาธิปไตยที่มุ่งต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ แทนที่จะรื้อถอนวาทกรรมเหล่านี้กลับกลายไปตอกย้ำวาทกรรมซะเองว่าคนเราก็ทำผิดกันได้ ถ้าเราอยากให้ประเทศดีขึ้น มันไม่ควรต้องให้ประชาชนตกอยู่ในความกลัว ความกลัวที่ถูกโปรแกรมในหัวมาแล้วว่าหัวข้อที่ไม่อาจเอ่ยนามนี้ sensitive แล้วทำให้เราต้องลดความดังของเสียงเป็นเสียงกระซิบแม้ตอนนี้อยู่ย่างกุ้งก็ตาม

ความแตกต่างของกระแส คัฟคา ในไทยกับเมียนมาเป็นอย่างไรบ้าง?

ต่างนะ คือไทยเราตื่นเต้นกับคัฟคามาก เป็นมากกว่าแบรนด์ไปแล้ว มีการจัดเสวนา มีการแปลหนังสือมากมาย หรืออย่างเวลาสอนเรื่อง The Metamorphosis ที่คณะ นักเรียนก็จะมองว่าเออ คัฟคาตลกเนาะ คนคนหนึ่งแปลงร่างมาเป็นแมลง (หรือ ungeziefer สิ่งที่ต่ำต้อยสกปรกจนไม่มีค่าแม้แต่จะนำมาเผาในพิธีกรรมบูชาเทพองค์ใด) แต่ไม่เห็นกังวลกับวิกฤตการณ์ที่ปกติเราจะคิดว่าหนักหนาที่สุดนั้น มัวแต่คิดกังวลว่าเราจะไปทำงานได้ไหม ผู้บังคับบัญชาจะมาที่บ้านแล้วพ่อแม่ต้องอาย อะไรทำนองนี้ มันมีความตลก ในขณะที่นักวิชาการเมียนมาหรือศิลปิน (เท่าที่ฟังมา) เค้ามอง คัฟคา ในแบบที่ดาร์กมากจริงๆ หดหู่มาก ไม่มีความตลกอะไรอยู่เลย เค้าจะมอง คัฟคา ในมิติของความ absurd ความสิ้นหวัง แต่ไทยนี่หลายครั้งจะมีความตลก ทั้งในการแปล บทความ วิธีการเรียนการสอน เช่น ในห้องเรียน นักเรียนของเราจะตกใจและชอบใจเมื่อรู้ว่า คัฟคา เป็นมังสวิรัติ หมกมุ่นกับชีวิตกลางคืน ชอบออกกำลังกาย บริบทจะขับให้เห็นมิติของความขบขันและขันขื่นในตัวงานมากกว่าที่เราเห็นคนวิเคราะห์ คัฟคา แบบชวนหดหู่ที่เมียนมา

ฟรันทซ์ คัฟคา (Franz Kafka) ที่มาภาพ wikipedia.org

ทำไมต้องเป็น คัฟคา ?

คัฟคา คล้ายๆ เป็นแบรนด์ไปแล้ว มิติแรกอาจเป็นเพราะว่าเค้ามีส่วนผสมของยิว เยอรมัน เช็ก อยู่ในตัว หลากหลายมากๆ ส่วนผสมเหล่านี้ทำให้เค้ามีความเป็น cosmopolitan (ความเป็นสากล)ซึ่งง่ายที่ทางสถานทูตหรือหน่วยงานต่างๆ จะเคลม คัฟคาและจัดงานโปรโมทเค้า ในมิติทางวรรณคดีคือ ความเป็น คัฟคา เด่นมากในเชิงเทคนิควิธีการเขียนและเนื้อหาของงานแต่ละงาน มันเลยไม่แปลกที่ทำไมคนถึงใช้คำว่า Kafkaesque พอพูดถึง คัฟคา มันก็จะปึ้งขึ้นมาทันทีว่ามันมีความ absurd อ่านยาก อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง เค้าเขียนงานเยอะ และแต่ละงานก็มีเอกลักษณ์มาก เช่น The Trial เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งตื่นมาแล้วมีคนบอกว่า you are under arrest คุณทำผิด แต่ไม่บอกว่าทำผิดเรื่องอะไร ต้องไปขึ้นศาลที่เปลี่ยนที่ไปเรื่อย สุดท้าย (ถ้ายึดตามการเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ของ Max Brod นะ) ก็ต้องรับโทษและถูกประหาร ตายเยี่ยงสุนัข มันก็แสดงให้เห็นถึงความไร้อำนาจของตัวละคร ความอัดอั้นตันใจและความไร้อำนาจนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้ หรืออย่าง The Metamorphosis ที่ผู้ชายคนหนึ่งตื่นมานับวันยิ่งกลายเป็นสัตว์ประหลาดในสายตาคนใกล้ตัว เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารังเกียจของครอบครัว หรือบางทีเราอาจมองในแง่ของเพศสภาพและเพศวิถีก็ได้ เอาตัวเราไปอยู่ในห้วงคำนึงของลูกชายที่เป็นเกย์ก็ได้ พ่อแม่พี่น้องรับไม่ได้ ที่นานวันเข้าครอบครัวก็มองเราแปลกแยกแตกต่าง ความอัดอั้นตันใจของความเป็นอื่นเป็นสิ่งที่ คัฟคา บรรยายไว้อย่างดี และ คัฟคาเองก็ส่งอิทธิพลต่อการผลิตงานศิลปะแขนงต่างๆ ทั่วโลกเยอะมาก

แต่สิ่งที่อยากเห็นมากกว่านี้คือการนำ คัฟคา มาใส่ในบริบทของเมืองที่เค้าใช้ชีวิตอยู่จริงๆ คือกรุงปราก เพราะมันทำให้เราเห็น คัฟคา ในฐานะมนุษย์เงินเดือนธรรมดาคนหนึ่งที่เดินกลับบ้านอย่างเหนื่อยหน่าย ชอบสังสรรค์ในร้านกาแฟ เกลียดการไปว่ายน้ำกับพ่อ คัฟคา ที่ออกไปสูดอากาศตรงระเบียงยามต้องรับมือกับแรงกดดันจากครอบครัว ไม่มีอิสระ คัฟคา ที่เหมือนเราคือไม่อยากตื่นไปทำงาน ที่นั่งวาดรูป doodle ที่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนและทุ่มทุนทำทุกอย่างทั้งที่ใจหวั่นว่าจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ไหม ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนและเราทุกคนน่าจะเข้าใจ คัฟคา ได้ดี

ทำไมเวลาพูดถึง คัฟคา ต้องมาพร้อมกับความย้อนแย้ง?

อย่างที่บอก คัฟคา เป็น modernist ที่ผลิตงานที่บรรจุความย้อนแย้งระหว่างสิ่งที่ต่างกันสุดขั้วอย่างน้อยสองสิ่ง ความ absurd ความไม่มีคำตอบตายตัวมันอยู่ในนั้น ถามว่าทำไมต้องมาพร้อมกับความ absurd ก็เพราะงานหลายงานของเขาเป็นเช่นนั้น บางทีเราใช้คำว่า absurd กับ คัฟคา มากเกินไปเหมือนกันนะ อาจเป็นการยัดงานเขาใส่กรอบมากเกินไป ที่เราต้องระวังก็เพราะ คัฟคา เองพยายามก้าวข้ามแม้กระทั่งแนวคิดความ absurd นี้ด้วยซ้ำ เราอาจต้องจินตนาการว่า Sisyphus ของ Albert Camus มีความสุขกับการเข็นครกขึ้นเขาเพียงเพื่อให้ครกกลิ้งลงไปทับหัวเราทุกวัน แต่ดูเหมือน คัฟคา จะไม่ให้ทางออกเช่นนั้น ทั้งหมดนี้สะท้อนในความพยายามทำความเข้าใจภาพของวัตถุที่ชื่อ Odradek ในเรื่องสั้นของเขา โดยพยายามทำอย่างนักวิชาการหรือนักภาษาศาสตร์ทั่วไปคือเริ่มสำรวจวิเคราะห์รากศัพท์ คัฟคา หัวเราะเยาะการทำเช่นนี้ คัฟคา รื้อถอนแม้กระทั่งความพยายามของผู้แสวงหาความจริง เพราะไม่มีความจริงที่สัมบูรณ์ตายตัว (หรือเปล่า) เรามีแต่คำที่ลอยไปลอยมาในอากาศแล้วขึ้นอยู่กับว่าใครเอื้อมไปโหนมัน เอาคำคำนั้นมาปั้นนิยาม มาใช้อย่างไร ซึ่งเป็นความคิดที่ค่อนข้างจะทันสมัยมากสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต้นศตวรรษที่ 20 นักเขียนคนนี้เป็นคนแรกๆ ที่เขียนในบริบทที่เฉพาะเจาะจงมากคือชุมชนยิวในปราก โบฮีเมีย ส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่พูดภาษาเยอรมัน แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถก้าวข้ามความเฉพาะเจาะจงของวัฒนธรรมและเมืองเล็กๆ ของตนมาสื่อความหมายให้คนทั่วโลกได้สัมผัสและตีความ ตรงนี้เป็นอะไรที่ทำให้ คัฟคา พิเศษ

ในมุมมองของอาจารย์ Kafkaesque และ Odradek มีลักษณะอย่างไร จากที่มีคนพยายามนิยามไว้เยอะมาก?

คนส่วนใหญ่จะนิยาม Kafkaesque ว่าดำมืด หดหู่ อย่างการที่เราต้องเข้าคิวในสถานที่ราชการก็สามารถเป็น Kafkaesque ได้แล้ว จะพูดว่าไม่จริง 100% ก็ไม่ได้ แต่อันตรายอยู่ที่การที่เราพยายามโยง คัฟคา ไปสู่คำว่า Kafkaesque เพราะสิ่งที่เค้าทำในงานเขียนของเค้าคือการไม่ให้คำตอบอะไรเลย คิดว่าเสน่ห์ของเค้าอยู่ตรงนี้ที่ไม่มีคำตอบตายตัว ซึ่งมันเปิดกว้างต่อการตีความ เช่นเดียวกับ Odradek คำนิยามนี่ตกลงเป็นสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิต ตกลงมันเป็นพูดหรือมันไม่พูด หรือมันอย่างไร ตรงนี้แหละที่เราสามารถมองความเป็น Kafkaesque ผ่านคำบรรยายของ Odradek ได้เหมือนกัน ถึงแม้ว่า คัฟคา จะอยู่ในสาย expressionism แต่เค้าก็มีความเป็น modernism ที่มักจะมองโลกแบบทวิลักษณ์หรือคู่ตรงข้าม เอามาไว้ในที่เดียวกันเพื่อให้มันต่อสู้กันเอง ประณีประนอมกันเอง ซึ่งในงาน คัฟคา จะมีความโบราณและความเป็นสมัยใหม่อยู่ มีความใช่และความไม่ใช่ และสิ่งที่ คัฟคา ทำในงานคือคำแต่ละคำสามารถที่จะถูกโหนหรือนิยามในแบบที่เราต้องการให้มันเป็น แล้วผู้ที่มีอำนาจนี่แหละสามารถใช้เป็นอาวุธในการส่งเสริมอำนาจให้ตัวเอง

ฉะนั้นถ้าเราโยง คัฟคา ไปสู่ Kafkaesque เรากำลังทำในสิ่งที่ คัฟคา ไม่ทำในงานเขียนของเค้า คำแต่ละคำมันมีชีวิตของมัน คำแต่ละคำเป็น Odradek นั่น และ คัฟคา พยายามชี้ให้เห็นว่าการยึดมั่นในสิ่งสิ่งหนึ่งจนเป็นสรณะนั้นอันตรายและน่าขัน จริงๆ อารมณ์ขันของ คัฟคา นี่ใช้ได้ทีเดียว เขาชอบเล่นคำพอๆ กับที่เล่นกับความคาดหวังของคน การเขียนของเขาเป็นสไตล์งานเขียนแนวนักสืบ สืบสวนสอบสวน ชวนให้เราหากุญแจมาไขปริศนา ต่างกันที่สำหรับพวกคำใบ้และเงื่อนงำต่างๆ นำพามายังประตูหรือแม่กุญแจที่ไม่มีที่ให้ไข ไม่มีการเฉลยคำตอบ เขาอาจอยากให้เราตั้งคำถามว่าอะไรเล่าคือคำตอบหรือคำเฉลยในสังคมอันขื่นขัน เราเหมือนตัวละครทุกเรื่องของ คัฟคา คืออยากจะเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่ออยู่แล้วไม่ใช่หรือ

เราสามารถใช้คำว่า Kafkaesque มาอธิบายภาพเมืองไทยทุกวันนี้ได้ไหม?

ก็ได้ มันมีความย้อนแย้ง ดูจากการคำนวณตัวเลขของคนที่นั่งในรัฐสภาก็ได้ มันก็มีความ Kafkaesque เหมือนกัน สมมติเรื่องสส.เชียงใหม่ เราเลือกคนคนหนึ่งมาแล้วทำไมเราได้อีก 2 คนมาด้วย แบบฮะมาจากไหน (หัวเราะ) หรืออย่างในเรื่อง The Castle ที่ตัวละครหนึ่งกำลังเดินทางไปพบผู้อำนาจในปราสาท แต่ว่าทั้งเรื่องตกลงไปได้หรือไม่ได้ ตกลงจะได้พบผู้มีอำนาจหรือไม่ เหมือนกันกับเรื่องเลือกตั้งซึ่งเราคิดว่าเรามีอำนาจอยู่ในมือในการออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง แต่เราก็ไร้อำนาจ สูตรคำนวณที่แปลกประหลาดนี้ก็ใช้คำว่า Kafkaesque แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนเถียงได้ว่ามีความ Kafkaesque ตรงไหน นี่คือบริบทในสังคมไทย ไม่ใช่สังคมสมัยที่คัฟคาอยู่ ตรงนี้แหละคือเสน่ห์ของความพยายามไม่แปล Kafkaesque

กับความย้อนแย้งของสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าไม่ปกติ แต่ทำไมเรายังทนอยู่กับมันได้?

ถ้าตามประวัติศาสตร์ยุโรปกลาง สิ่งที่ทำให้คนโปแลนด์ออกมาเดินขบวนต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์คือความอดอยาก คือความไม่มีกินจริงๆ มองมาที่ประเทศไทย เรายังสามารถที่จะไปพารากอน เราสบาย และเรามีคล้ายๆ โลกคู่ขนาน จักรวาลของเมืองไทยเป็นจักรวาลของการฟังข่าว 2 สำนักที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงแบบปรองดองกันไม่ได้ ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญ ถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยตอนนี้เกิดขึ้นกับประเทศอื่นเค้าเดินขบวนกันไปเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นเพราะเราสบายมาก และสถาบันต่างๆ แนวคิดชาตินิยมต่างๆ ถูกโหน ทำให้เกิดภาพว่าอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ดีเป็นอย่างไร สิ่งนี้แหละที่เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เรามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ถามว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานไหม ก็คิดว่าไม่นะ มันจะต้องมีจุดเปลี่ยนแปลง เราอาจจะต้องลำบากกว่านี้ จริงๆ เนื้อหาของ คัฟคา ร่วมสมัยกับสังคมของเรามากๆ เลย ปัญหาของเราคือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งก็ไม่ได้อนาทรร้อนใจอะไรตราบใดที่น้ำไม่ได้ท่วมบ้านของเค้าแต่ไปท่วมที่อื่น ถ้าเค้ายังสามารถทำธุรกิจได้ต่อไปและอยู่อย่างมีความสุข อย่างคุณคำผกาเคยพูดถึงชนชั้นกลางว่าสร้างตัวเองขึ้นมาจากการมีอภิสิทธิ์ต่างๆ เน้นการสะสมแต้มเพื่อที่จะมีอะไรยึดโยง วัตถุนิยมมากๆ และเมื่อชนชั้นกลางยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่ ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะไปคิดเรื่องสวัสดิการ หรือเรื่องส่วนรวมว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร จนกว่าตัวเองจะเดือดร้อน

วรรณกรรมของ คัฟคา รวมถึงนักเขียนอื่นๆ ช่วยอธิบายหรือเยียวยาเราให้อยู่กับสภาวะสังคมแบบนี้ได้อย่างไร?

งานวรรณกรรมในตัวของมันเองคล้ายเป็นพื้นที่ที่เราได้มาสัมผัสวัฒนธรรมที่ต่างออกไป เพื่อที่จะนำมาตั้งคำถามกับตัวเอง เพราะบางทีเรามองตัวเองจากบริบทที่เราคุ้นเคยเราจะไม่ค่อยเอะใจ แต่วรรณกรรมมันคล้ายพื้นที่พิเศษที่เราไปแล้วทำให้เกิดสภาวะฉุกคิดขึ้นมาว่าแบบ เรารู้สึกเหมือน คัฟคา ไหม เหมือนตัวละครในหนังสือ Kundera ไหม ถ้าใช่แล้วเค้าก็อยู่ในระบอบนี้ซึ่งมีการเซ็นเซอร์ สังคมที่เราอยู่เป็นแบบเดียวกันไหม เหล่านี้มันนำไปสู้เส้นทางของการตั้งคำถามกับตัวเองต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net